พระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต ติสฺโส)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระครูพิศาลวิริยคุณ

(สิงห์โต ติสฺโส)
ชื่ออื่นพระอาจารย์สิงห์โต, หลวงปู่สิงห์โต
ส่วนบุคคล
เกิด4 เมษายน พ.ศ. 2469 (92 ปี)
มรณภาพ28 มิถุนายน พ.ศ. 2561
นิกายมหานิกาย
การศึกษานักธรรมโท
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดบึงทองหลาง กรุงเทพมหานคร
อุปสมบทพ.ศ. 2489
พรรษา72
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง พ.ศ. 2501-2546

พระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต ติสฺโส) เป็นพระสงฆ์นักพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาวัด และพวัฒนาศาสนา โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนมัธยมวัดบึงทองหลาง วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ (วัดบึงทองหลาง) และสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนวัดบึงทองหลาง ให้ตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์รวมกว่า 80 ไร่ ร่วมทั้งอนุเคราะห์ให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยเพื่อการสงเคราะห์จากวัดในพระพุทธศาสนาในชุมชนต่าง ๆ ในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัด อาทิ ชุมชนท่าแรง ชุมชนลาดพร้าว 87 (จันทราสุข) และชุมชนลาดพร้าว 101 (หน้าวัดบึงทองหลาง) รวมทั้งริเริ่มเรี่ยไร่ที่ดินขนาดหน้ากว้าง 20 เมตร เป็นทางยาว 2.8 กิโลเมตร รวมเนื้อที่ดินกว่า 30 ไร่ มูลค่ารวมในปัจจุบันหลายพันล้านบาท จากถนนลาดพร้าว ถึงวัดบึงทองหลาง และนำเงินวัดพร้อมงบประมาณจัดสร้างถนนลาดพร้าว 101 ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เป็นต้น เป้าหมายเพื่อเป็นการดำเนินกิจกรรมด้านการสังคมสงเคราะห์เพื่อส่วนรวม

ประวัติ[แก้]

เดิมชื่อสิงห์โต เทศกาล เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2469 ณ บ้านเลขที่ 65 หมู่ 3 บ้านบางคลอง ตำบลปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย บิดาชื่อคุณพ่อชม เทศกาล มารดาชื่อคุณแม่เชื่อม เทศกาล ท่านจึงเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน พี่น้อง 6 คน ดังนี้คือ [1]

ชาติภูมิ[แก้]

เป็นชาวจังหวัดสุโขทัยโดยกำเนิด เกิดและโตที่ที่บ้านเกิดคือตำบลบางคลอง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ในวัยเยาว์เรียนจบการศึกษาชั้นปีที่ 4 จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2487 สิงห์โต มีอายุราว 18 ปี นายเหรียญ ซึ่งเป็นศึกษาธิการจังหวัดสุโขทัย และสนิทสนมกับกำนันแดง เทศกาล ซึ่งเป็นลุงแท้ ๆ ของสิงห์โตได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครู แต่พ่อของสิงห์โต ไม่อนุญาตด้วยว่าเคยเป็นครูมาก่อน จึงทราบดีว่าการเป็นครูสมัยนั้นลำบากกับเงินเดือนเพียงแค่ 6 บาท (พ.ศ. 2487) ซึ่งไม่พอใช้จ่าย ทำอาชีพอื่น ๆ มีรายได้มากกว่าเป็นครู

ใน พ.ศ. 2489 เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว สิงห์โต ได้อุปสมบทตามความปรารถนา ของพ่อแม่และญาติมิตร งานอุปสมบทนาคสิงห์โต สมเกียรติกับที่ท่านเป็นหลานกำนันแดง ตามสมัยนิยมคือมีหมอทำขวัญนาค ลิเก และกลองยาว เป็นงานอันยิ่งใหญ่ นาคสิงห์โตทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางคลอง ตำบลปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย โดยมีพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย วัดราชธานี (เดิมดำรงตำแหน่งที่พระโบราณวัตถาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินัยสารโสภิต (พระครูโต) วัดไทยชุมพล เป็นพระกรรมมาวาจารย์ และ พระครูปลัดทองคำ วัดบางคลอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อโต ติสฺโส ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบางคลอง โดยมีท่านพระครูปลัดทองคำ เป็น เจ้าอาวาส ได้ 3 พรรษา และได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี โท ตามลำดับ เห็นว่าการเล่าเรียนพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนามากพอที่จะรักษาตนไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว จึงใคร่จะลาสิกขาสำเร็จตามใจคิด บังเอิญหลวงปู่แถม (หลวงปู่หนอ) โสภธมฺโม น้องชายแท้ ๆ ของพระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) ซึ่งสมัยที่ครองเพศฆราวาสอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกับหลวงพ่อโต ได้ขึ้นไปจากกรุงเทพ ฯ เพื่อเยี่ยมบ้านเกิด ก่อนที่หลวงปู่แถมจะกลับก็ชวนพระสิงห์โตลงไปเที่ยวกรุงเทพ ฯ หลวงพ่อโตจึงตัดสินใจเข้ามาเที่ยวตามคำชวน ครั้นมาถึงวัดบึงทองหลาง ก็เข้าไปกราบนมัสการพระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) เจ้าอาวาส ในฐานะอาคันตุกะพระผู้น้อย เมื่อหลวงปู่พักทราบว่าหลวงพ่อโตเป็นบุตรของใคร มาจากไหน และด้วยอัธยาศัยเป็นที่ถูกใจ หลวงปู่พักจึงชวนให้จำพรรษากับท่านที่วัดบึงทองหลาง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ครั้งแรกหลวงพ่อโต ก็ยังยืนกรานที่จะสิกขา หลวงปู่พักก็หว่านล้อมด้วยธรรมะต่าง ๆ ประกอบกับความเมตตาที่หลวงปู่พักมอบให้หลวงพ่อโต จึงตัดสินใจจำพรรษา ณ วัดบึงทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2491 จนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่หลวงพ่อโต ได้เข้ามาอยู่อาศัยใบบุญของหลวงปู่พักใน วัดบึงทองหลาง ก็ได้รับเมตตาอนุเคราะห์ด้านต่าง ๆ จากหลวงปู่ประดุจดังลูกหลาน ทั้งในด้านหน้าที่การงานและด้านคำสอน หลวงปู่มอบให้หลวงพ่อโต ด้วยความเมตตาอาทิเช่น เสนอแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรภายในวัด พอมีอายุครอบ 5 พรรษา หลวงปู่จึงแต่งตั้งให้เป็นพระครูสวด พระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) ผู้เป็นเสมือนเบ้าหลอมดวงใจแห่งศรัทธา เจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง เจ้าคณะแขวงวังทองหลาง และเป็นพระอุปัชฌาย์เพียงรูปเดียวในเขตบางกะปิ สมัยนั้นได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันพฤหัสบดี ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2501 สิริอายุได้ 82 ปี ยังความโศกเศร้าให้แก่คณะสงฆ์วัดบึงทองหลางโดยเฉพาะหลวงพ่อโต มีความโทรมนัสเป็นอย่างยิ่งด้วยด้วยการจากไปและความอาลัยรักในหลวงปู่ คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพของหลวงปู่ไว้สักการะเป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน กับอีก 1 วัน จึงได้ขอพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2503

หลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้วคณะสงฆ์และคณะศรัทธาวัดบึงทองหลางได้เสนอให้หลวงพ่อโต ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รักษาการเจ้าอาวาสอยู่เป็นเวลา 9 ปี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2510 ท่านได้ร่วมมือกับคณะสงฆ์และชาวบ้านช่วยกันพัฒนาวัด และจัดสร้างถาวรวัตถุ โดยมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างกุฏิ ศาลา อุโบสถวิหาร ห้องสุขา ขุดคลอง สร้างสะพาน สร้างหอระฆัง สร้างเมรุเผาศพ สร้างกำแพงวัด สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขุดบ่อน้ำบาดาล สร้างสุสานบรรจุศพ รวมเป็นเงินงบประมาณค่าก่อสร้างทั้งสิ้นหลายสิบล้านบาท งานพิเศษที่พระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต ติสฺโส) ทำ เช่นการสงเคราะห์ฌาปนกิจศพผู้มีรายได้น้อยฐานะยากจน โดยท่านจะบริจาคโลงศพให้รายละ 1 โลง พร้อมเงิน 1,000 บาท พร้อมทั้งมีอาหารเลี้ยงแขกที่มาในงานอาทิเช่นข้าวต้ม กระเพาะปลา ปลาท่องโก๋ พร้อมทั้งกาแฟเสร็จ และขนาดว่าเสียชีวิตที่ใดไม่มีพาหนะจะนำศพมาวัด ทางวัดจะจัดรถไปรับศพถึงที่ และทำการฌาปนกิจศพโดยไม่คิดมูลค่า และค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยถือว่าเป็นบุญกุศลแก่ประชาชนผู้ยากจนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา จนสำนักเลขาธิการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดพิมพ์เผยแพร่การจัดงานศพแบบประหยัด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบและเป็นแบบอย่างแก่วัดอื่น ๆ ต่อไปตั้งแต่วันที่๒๓ สิงหาคม พ.ศ. 2525 รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็น “วัดพัฒนาตัวอย่าง” ใน พ.ศ. 2543 อีกด้วย [2]

มรณกาล[แก้]

พระครูพิศาลวิริยคุณ อายุ 92 ปี (พ.ศ. 2468-2561) อดีตเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง (พ.ศ. 2501-2546) กทม. อดีตประธานมูลนิธิพระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยชราภาพ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 เวลา 06.00 น. ที่กุฏิ ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ที่ศาลาการเปรียญวัดบึงทองหลาง กทม ระหว่าง 28 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2561

การศึกษา[แก้]

  • พ.ศ. 2479 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดบางคลอง ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย
  • พ.ศ. 2489 นักธรรมตรี สำนักเรียนวัดราชธานี ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย
  • พ.ศ. 2490 นักธรรมโท สำนักเรียนวัดราชธานี ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย

สมณศักดิ์[แก้]

  • 30 เมษายน 2509 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูพัธกิจ ฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กทม.
  • 5 ธันวาคม 2514 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี มีพระราชทินนามว่า พระครูพิศาลวิริยคุณ เจ้าอาวาสวัดอารามราษฎร์
  • 5 ธันวาคม 2521 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท (ในพระราชทินนามเดิม)
  • 30 มกราคม 2531 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และได้นำนาคสมชาย ชัยปัญญา เข้ารับการอุปสมบทเป็นนาคแรก วันที่ 31 มกราคม 2531 พระคุณท่านตั้งปณิธานว่าปัจจัยซึ่งได้มาจากการเป็นพระอุปัชฌาย์จะไม่นำมาใช้เป็นการส่วนตัว จึงจัดตั้งกองทุนการศึกษา สำหรับพระภิกษุสามเณร และนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ เงินทุนการศึกษาก้อนนี้ได้ฝากเงินไว้กับธนาคารกรุงเทพ ฯ จำกัด สาขาลาดพร้าว 99 มีเงินสะสมหลายหมื่นบาท ต่อมาได้มีการจดทะเบียนกองทุนนี้เป็นมูลนิธิพระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต เทศกาล) ได้ทำกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์เป็นจำนวนมาก ดังปรากฏต่อสาธารณะ
  • 5 ธันวาคม 2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก (ในพระราชทินนามเดิม)
  • 5 ธันวาคม 2541 ได้รับแต่งตั้งเทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก [3]

งานการปกครอง[แก้]

งานพิเศษ[แก้]

  • ประธานมูลนิธิพระครูธรรมสมาจารย์ (อุปัชฌาย์พัก ธมฺมทตฺโต)
  • ประธานมูลนิธิพระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต ติสฺโส)

การยกย่อง[แก้]

งานพัฒนา[แก้]

- จัดสร้างวัดพัฒนาวัดสืบต่อจากหลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต ที่มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2501 และดำรงตำแหน่งพัฒนาวัดในตำแหน่งรักษาการและเจ้าอาวาส ระหว่าง พ.ศ. 2501-2547 เช่น การสร้างเมรุ การสร้างอาคารโรงเรียนปริยัติธรรม การสร้างอุโบสถรูปเรือทรงสำเภา การสร้างอาคารอเนกประสงค์ เป็นต้น

- อุปถัมภ์การจัดการศึกษาโรงเรียนวัดบึงทองหลาง (ฝ่ายประถม) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ในสมัยหลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2445-2501)

- รับบริจาคที่ดินเพื่อจัดสร้างถนนความยาว 3 กิโลเมตร หน้ากวาง 20 เมตร (รวมเนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ มูลค่ารวมในปัจจุบันประมาณกว่า 3 พันล้านบาทตามราคาประเมินในปัจจุบัน) เชื่อมระหว่างถนนลาดพร้าว และวัดบึงทองหลาง เมื่อ พ.ศ. 2508

- ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนมัธยมวัดบึงทองหลาง ในที่ธรณีสงฆ์วัดบึงทองหลาง เมื่อ พ.ศ. 2522

- ริเริ่มจัดตั้งวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ ฯ ในที่ธรณีสงฆ์วัดบึงทองหลาง เมื่อ พ.ศ. 2545

- จัดสร้างพระพุทธรูปใหญ่ ที่วัดโสภาราม จ.สุโขทัย

- ในนามมูลนิธิพระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) วัดบึงทองหลาง อุปถัมภ์จัดสร้างอาคารที่พักอาคันตุกะ 92 ปี ปัญญานันทภิกขุ ภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 1 ล้านบาท

- ในนามมูลนิธิพระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต ติสฺโส) วัดบึงทองหลาง อุปถัมภ์จัดสร้างอาคารที่พักอาคันตุกะ 92 ปี ปัญญานันทภิกขุ ภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แสนบาท

- ในนามมูลนิธิพระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) วัดบึงทองหลาง อุปถัมภ์จัดสร้างวิทยาลัยบาฬีศึกษาพุทโฆษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.นครปฐม จำนวน 1 ล้านบาท

- ในนามมูลนิธิพระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) วัดบึงทองหลาง อุปถัมภ์จัดสร้างและบูรณะอุโบสถวัดสระเกศวรวิหาร กรุงเทพ ฯ จำนวน 1 ล้านบาท

- ในนามมูลนิธิพระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) วัดบึงทองหลาง อุปถัมภ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึมามิ ผ่านสถานีโทรทัศน์ ITV ในขณะนั้น จำนวน 1 ล้านบาท แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547

อ้างอิง[แก้]

  1. ผศ.ดร.พิเชฐ ทั่งโต,ปกิณกะคำสอนหลวงพ่อโต, (กรุงเทพ ฯ ,สำนักพิมพ์สินธนา,2549 : พิมพ์เนื่องในงานครบรอบ 80 ปี พระครูพิศาลวิริยคุณ) หน้า 115-120
  2. คณะสงฆ์วัดบึงทองหลาง. (2552). หนังสือที่ระลึกงานสมโภชน์ยกช่อฟ้าและฉลองมณฑปธรรมสมาจารย์นุสรณ์ วัดบึงทองหลาง เขตบางกะปิ กทม. วันที่ 30 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2552,กรุงเทพ ฯ , สำนักพิมพ์ธรรมสภา,2552, หน้า 20-30.
  3. ผศ.ดร.พิเชฐ ทั่งโต,ปกิณกะคำสอนหลวงพ่อโต, (กรุงเทพ ฯ ,สำนักพิมพ์สินธนา,2549 : พิมพ์เนื่องในงานครบรอบ 80 ปี พระครูพิศาลวิริยคุณ) หน้า 130
  4. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554 http://deka.supremecourt.or.th/search
  5. ประเด็นข้อพิพาทว่าด้วยเรื่องเงินผาติกรรมวัดบึงทองหลาง https://pantip.com/topic/34653327
  6. รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม [บรรณาธิการ] (2561). บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาชุมชนและสังคม. ที่ระลึกในงานประชุมเพลิงศพพระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต ติสฺโส) ณ ฌาปนสถานวัดบึงทองหลาง ลาดพร้าว 101 บางกะปิ กรุงเทพ ฯ 7 กรกฎาคม 2561. พระนครศรีอยุธยา : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]