วัดศรีบุญเรือง (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำหรับวัดศรีบุญเรืองแห่งอื่น ดูที่ วัดศรีบุญเรือง
วัดศรีบุญเรือง
วัดศรีบุญเรือง (กรุงเทพมหานคร).jpg
Map
ที่ตั้งเลขที่ 594 ซอยรามคำแหง 107 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระศรีสุโขทัย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดศรีบุญเรือง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

วัดศรีบุญเรืองเดิมมีชื่อว่า วัดทำนบ สาเหตุที่ชื่อวัดนี้เนื่องมาจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้าร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เพื่อเข้าตีกรุงเวียงจันทน์ที่ก่อกบฏเมื่อ พ.ศ. 2371 ระหว่างเดินทัพออกจากพระนคร ได้มาหยุดตั้งทัพครั้งแรกที่บริเวณวัดนี้ และทหารได้รับคำสั่งให้ตั้งค่ายพักและบุกร้างถางพงตลอดจนขุดเป็นสำโหรกทำเป็นทำนบกั้นน้ำในคลองแสนแสบ เมื่อทัพเดินทางออกไป ชาวบ้านได้เข้ามาจับจองเป็นที่ทำกิน แล้วได้สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ. 2373 นิมนต์พระสงฆ์ให้มาจำพรรษา จึงได้ตั้งชื่อว่า "วัดทำนบ" ตามสิ่งที่กองทหารได้สร้างไว้บริเวณหน้าวัด ขณะเดียวกันก็มีผู้เรียกชื่อวัดว่า วัดหัวไผ่ ตามชื่อของชุมชนที่อาศัยอยู่ติดกับวัดด้านทิศใต้ จนในปี พ.ศ. 2508 วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้รับชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดศรีบุญเรือง"[1]

อาคารเสนาสนะและพระศรีสุโขทัย[แก้]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอุโบสถหลังเก่าที่สร้างด้วยไม้ ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นพระอุโบสถปูนเมื่อปี พ.ศ. 2508 หลังคาทรงไทย มีช่อฟ้าใบระกา มุงกระเบื้องเกล็ด หน้าบันถือปูนปั้นลาย

สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ พระศรีสุโขทัย หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า หลวงปู่สุโขทัย ประดิษฐานอยู่หน้าองค์พระประธานในอุโบสถ[2] เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย (หรือปางชนะมาร) กรมศิลปากรระบุว่าสร้างในสมัยสุโขทัยยุคต้น ตามตำนานเล่าว่า หลวงปู่ได้ลอยน้ำมาตามคลองแสนแสบและลอยมาอยู่บริเวณหน้าวัดทำนบ แต่ไม่สามารถระบุปีที่แน่นอนได้ โดยมีชาวญวนซึ่งมีอาชีพจับปลาและล่าจระเข้ ได้ลากติดอวน จึงอัญเชิญขึ้นมาไว้บนตลิ่ง ใต้ต้นจิก ต่อมาชาวบ้านได้สร้างเพิงเพื่อบังแดดบังฝนถวาย แล้วจึงได้อัญเชิญหลวงปู่เข้าไปประดิษฐานไว้หน้าองค์พระประธานในอุโบสถ[1]

ศาลาการเปรียญเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ แบบจากกรมศิลปากร เป็นคอนกรีตขนาด 9 ห้อง สูง 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่ประชุม ชั้นสองเป็นที่ทำบุญตักบาตร ชั้นสามใช้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญ สร้างเมื่อ พ.ศ 2514 อาคารหอไตร สร้างคอนกรีตพื้นหินอ่อน ลักษณะทรงไทยตรีมุข มีช่อฟ้าใบระกา หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด สูง 3 ชั้น กุฏิทรงปั้นหยาสองชั้น ครึ้งตึกครึ้งไม้ อาคารหอปริยัติทรงไทย มุงกระเบื้องเกล็ด หอระฆังทรงไทย สูง 3 ชั้น ศาลาท่าน้ำลักษณะทรงไทยมีช่อฟ้าใบระกา

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอธิการทรัพย์ พุทธสโร
  • พระปฏิเวทวิศิษฏ์
  • พระครูสุนทรวีรวงศ์ (จันดา รวิวํโส)

งานประเพณี[แก้]

วัดมีการจัดงานสมโภชถวายหลวงปู่ เริ่มงานตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 เป็นต้นไป นานครึ่งเดือน แต่ต่อมาลดเหลือ 9 วัน 9 คืน ต่อมาเหลือ 7 วัน 7 คืน และในระยะหลังนี้ได้ลดการจัดงานลงเป็นการตายตัว เหลือ 5 วัน 5 คืน[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "หลวงปู่สุโขทัยวัดศรีบุญเรืองศักดิ์สิทธิ์มากว่า๑๐๐ปี!". คมชัดลึก. 1 กุมภาพันธ์ 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  2. "วัดศรีบุญเรือง". กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร.[ลิงก์เสีย]