ข้ามไปเนื้อหา

ยุทธการที่วอเตอร์ลู

พิกัด: 50°40′48″N 4°24′43″E / 50.680°N 4.412°E / 50.680; 4.412
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการที่วอเตอร์ลู
ส่วนหนึ่งของ การทัพวอเตอร์ลู

ยุทธการที่วอเตอร์ลู โดยวิลเลียม แซดเลอร์ที่ 2
วันที่18 มิถุนายน ค.ศ. 1815[1]
สถานที่
วอเตอร์ลู เนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันคือ ประเทศเบลเยียม)
50°40′48″N 4°24′43″E / 50.680°N 4.412°E / 50.680; 4.412
ผล ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ
คู่สงคราม
ฝรั่งเศส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
นโปเลียนที่ 1
มีแชล แน
ปีแยร์ ก็องบรอน
สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ดยุกแห่งเวลลิงตัน
ราชอาณาจักรปรัสเซีย บลึชเชอร์
กำลัง

รวม: 72,000[1]-73,000 นาย[2]

  • ทหารราบ 50,700 นาย
  • ทหารม้า 14,390 นาย
  • ทหารปืนใหญ่และทหารยุทธโยธา 8,050 นาย
  • ปืนใหญ่ 252 กระบอก

รวม: 118,000-120,000 นาย[1]
กองทัพเวลลิงตัน: 68,000 นาย[3][4]

  • สหราชอาณาจักร: 31,000 นาย (อังกฤษ 25,000 นายและทหารเยอรมัน 6,000 นาย)
  • เนเธอร์แลนด์: 17,000 นาย
  • ฮันโนเฟอร์: 11,000 นาย
  • เบราน์ชไวค์: 6,000 นาย
  • นัสเซา: 3,000 นาย[5]
  • ปืน 156 อัน[6]

กองทัพบลึชเชอร์:

  • ปรัสเซีย: 50,000 นาย[7]
ความสูญเสีย

รวม: 41,000-42,000 นาย[1]

  • บาดเจ็บและเสียชีวิต 24,000 ถึง 26,000 นาย รวมผู้ถูกจับกุม 6,000 ถึง 7,000 นาย[8]
  • สูญหาย 15,000 นาย[9]
  • imperial eagle standards ถูกจับ 2 กลุ่ม

รวม: 23,000[1]-24,000 นาย
กองทัพเวลลิงตัน: 17,000 นาย

  • ถูกฆ่า 3,500 นาย
  • บาดเจ็บ 10,200 นาย
  • สาบสูญ 3,300 นาย[10]

กองทัพบลึชเชอร์: 7,000 นาย

  • ถูกจับ 1,200 นาย
  • บาดเจ็บ 4,400 นาย
  • สาบสูญ 1,400 นาย[10]
ทั้งสองฝั่ง: ม้าถูกฆ่า 7,000 ตัว

ยุทธการที่วอเตอร์ลู (อังกฤษ: Battle of Waterloo) เกิดขึ้นเมื่อ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1815 ที่หมู่บ้านวอเตอร์ลู ประเทศเบลเยียม (ส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์) กองทัพฝรั่งเศสในบัญชาของจักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้ต่อสองกองทัพฝ่ายสหสัมพันธมิตร กองทัพแรกคือทัพผสมระหว่างบริเตน, เนเธอร์แลนด์, ฮันโนเฟอร์, เบราน์ชไวค์ และนัสเซา ในบัญชาของจอมพลดยุกแห่งเวลลิงตัน กองทัพที่สองคือทัพปรัสเซียในบัญชาของจอมพลเก็พฮาร์ท ฟ็อน บลึชเชอร์ ยุทธการครั้งนี้เป็นจุดจบของสงครามนโปเลียน ยุทธการนี้มีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า ยุทธการที่มงแซ็ง-ฌ็อง (ฝรั่งเศส) หรือ พันธมิตรอันงดงาม (ปรัสเซีย)[11]

เมื่อนโปเลียนหนีออกจากเกาะเอลบาและคืนสู่อำนาจในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1815 ประเทศทั้งหลายรีบตัวกันจัดตั้งกองทัพสหสัมพันธมิตรเพื่อต่อต้านนโปเลียน กองทัพเวลลิงตันและกองทัพบลึชเชอร์ตั้งค่ายอยู่ใกล้ชายแดนทางเหนือของฝรั่งเศส นโปเลียนวางแผนทั้งคู่ก่อนที่ทั้งคู่จะรวมตัวกับกองทัพพันธมิตรอื่นและบุกเข้าฝรั่งเศส ในวันที่ 16 มิถุนายน นโปเลียนประสบความสำเร็จในการรุกตีกองทัพปรัสเซียในยุทธการที่ลิงงี (Ligny) ด้วยกองหลัก ทำให้ปรัสเซียต้องถอยร่นขึ้นเหนือในวันต่อมา แต่ศึกด้านเวลลิงตันจบลงที่ผลเสมอ นโปเลียนส่งกำลังราวหนึ่งในสามเพื่อไล่ตีกองทัพปรัสเซียจนเกิดเป็นยุทธการที่วาฟ (Wavre) เมื่อวันที่ 18–19 มิถุนายน ทำให้ทหารฝรั่งเศสหน่วยดังกล่าวอยู่ในภาวะรบติดพันและมาที่วอเตอร์ลูไม่ได้

ดยุกแห่งเวลลิงตันทราบเรื่องดังกล่าวและมองเห็นเป็นโอกาสดี เขาตัดสินใจตั้งทัพที่เนินมงแซ็งฌ็อง (Mont-Saint-Jean)[12] บนทางหลวงเชื่อมบรัสเซลส์ ใกล้หมู่บ้านวอเตอร์ลู เวลลิงตันรับการโจมตีอย่างต่อเนื่องของฝรั่งเศสตลอดบ่าย 18 มิถุนายน เมื่อทหารปรัสเซียมาถึง กองทัพปรัสเซียเข้าตีปีกข้างของกองทัพฝรั่งเศสและสร้างความเสียหายอย่างมาก เมื่อตกค่ำ นโปเลียนสั่งทหารราบรักษาพระองค์ (Garde Impériale) ซึ่งเป็นกองหนุนหน่วยสุดท้ายที่เหลืออยู่เข้าโจมตีแถวทหารอังกฤษ อีกด้านหนึ่ง ทหารปรัสเซียรุกฝ่าเข้ามาทางปีกขวาของกองทัพฝรั่งเศส ทหารอังกฤษสามารถยันกองพันทหารราบฝรั่งเศสไว้ได้ กองทัพฝรั่งเศสแพ้ราบคาบ

วอเตอร์ลูเป็นการสู้รบที่เด็ดขาดในการทัพวอเตอร์ลูและเป็นการสู้รบครั้งสุดท้ายของนโปเลียน นโปเลียนสละราชสมบัติในอีกสี่วันให้หลัง กองทัพผสมเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงปารีสในวันที่ 7 กรกฎาคม ความพ่ายแพ้ที่วอเตอร์ลูปิดฉากการปกครองของนโปเลียนในฐานะจักรพรรดิฝรั่งเศส เป็นจุดจบของสมัยร้อยวัน และเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 สนามรบตั้งอยู่ในเทศบาลเบรนลาเลอ (Braine-l'Alleud) และลาน (Lasne) ของประเทศเบลเยียม[13] ตั้งอยู่ทางใต้ของบรัสเซลล์ประมาณ 15 กิโลเมตร (9.3 ไมล์) และจากเมืองวอเตอร์ลูประมาณ 2 กิโลเมตร (1.2 ไมล์) บริเวณที่เป็นอดีตสนามรบ ปัจจุบันกลายเป็นอนุสรณ์เนินดินเทียมที่สร้างขึ้นจากดินในยุทธบริเวณ ส่วนภูมิประเทศของสนามรบใกล้เนินดินไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้

ภูมิหลัง

[แก้]

นโปเลียนหลบหนีออกจากเกาะเอลบาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 ขณะนั้น ประเทศมหาอำนาจอยู่ระหว่างการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาเพื่อจัดระเบียบทวีปยุโรป เมื่อที่ประชุมรับทราบข่าวการหลบหนีของนโปเลียน จึงประกาศให้นโปเลียนเป็นบุคคลนอกกฎหมายในวันที่ 13 มีนาคม และในอีกสี่วันต่อมา กองทัพของสหราชอาณาจักร, รัสเซีย, ออสเตรีย และปรัสเซีย เริ่มเคลื่อนกำลังเพื่อล้มล้างนโปเลียน[14] และเนื่องจากกองทัพข้าศึกมีจำนวนในภาพรวมเหนือกว่าอย่างขาดลอย นโปเลียนจึงทราบดีว่าโอกาสเดียวของเขาคือการชิงโจมตีก่อนที่กองทัพข้าศึกจะสนธิกำลังเป็นกองทัพขนาดใหญ่[15]

ถ้าหากนโปเลียนทำลายกองทัพข้าศึกที่อยู่ทางใต้ของกรุงบรัสเซลล์ก่อนที่ข้าศึกจะได้รับกำลังเสริม เขาก็อาจจะสามารถผลักดันกองทัพอังกฤษกลับไปยังชายฝั่งมหาสมุทร และเอาชนะกองทัพปรัสเซีย สถานการณ์นี้จะช่วยให้เขามีเวลาฝึกฝนกำลังพลและจัดเตรียมกองทัพให้พร้อมรบกับกองทัพผสมของออสเตรีย-รัสเซีย[16][17] นอกจากนี้ ถ้าหากนโปเลียนได้รับชัยชนะในศึกนี้ ก็อาจจะเป็นแรงผลักดันให้ประชากรเบลเยียมที่พูดภาษาฝรั่งเศส ก่อการปฏิวัติขึ้นในประเทศเบลเยียม ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อเขาเช่นกัน ไม่เท่านั้น กำลังทหารข้าศึกในเบลเยียมก็ไม่ใช่ทหารชั้นดี เนื่องจากหน่วยทหารชั้นดีมากประสบการณ์ถูกส่งไปทวีปอเมริกาเหนือเพื่อร่วมรบในสงคราม ค.ศ. 1812[15]

ทางด้านแม่ทัพอังกฤษอย่างจอมพลดยุกแห่งเวลลิงตัน ในตอนแรกวางแผนจะรับมือภัยคุกคามจากนโปเลียนโดยการเคลื่อนกำลังผ่านเมืองมงส์ (Mons) ไปยังตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงบรัสเซลล์[18] การกระทำนี้มีข้อดีคือจะทำให้กองทัพของเวลลิงตันอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับกองทัพปรัสเซียในบัญชาของจอมพลบลึชเชอร์ แต่ก็มีข้อเสียคืออาจจะทำให้สูญเสียการติดต่อกับฐานทัพอังกฤษที่เมืองโอสต็องด์ (Ostend) ซึ่งตั้งอยู่ติดชายฝั่งช่องแคบอังกฤษ นโปเลียนชะลอการเคลื่อนกำลังของจอมพลเวลลิงตัน โดยการปล่อยข่าวเท็จเพื่อลวงว่าฝรั่งเศสตัดสายส่งกำลังจากช่องแคบอังกฤษถึงกองทัพของเวลลิงตัน[19]

นโปเลียนเคยมีสรรพกำลังถึงประมาณสามแสนนายในเดือนมิถุนายน แต่บัดนี้เขามีกำลังที่วอเตอร์ลูมีไม่ถึงหนึ่งในสามของจำนวนที่ว่า กระนั้น กำลังพลเกือบทั้งหมดก็เป็นทหารชาญศึกที่มีความจงรักภักดียิ่ง[20] นโปเลียนแบ่งกำลังออกเป็นสามส่วน ได้แก่ปีกซ้ายในบัญชาของจอมพลมีแชล แน, ปีกขวาในบัญชาของจอมพลแอมานุแอล เดอ กรูชี และกำลังสำรองซึ่งบัญชาโดยตัวพระองค์เอง กองทัพฝรั่งเศสข้ามเส้นเขตแดนใกล้กลับเมืองชาร์เลอรัว (Charleroi) ภายในเช้าวันที่ 15 มิถุนายน และรีบบุกครองชัยภูมิสำคัญ ทำให้นโปเลียนอยู่ในตำแหน่งตรงกลางระหว่างกองทัพเวลลิงตันกับกองทัพบลึชเชอร์ เพื่อยับยั้งไม่ให้สองทัพข้าศึกทำการสนธิกำลัง นโปเลียนตั้งใจจะทำลายกองทัพบลึชเชอร์เสียก่อน แล้วจึงทำลายกองทัพเวลลิงตัน[21][22][23][24]

ในคืนวันที่ 15 มิถุนายน ดยุกแห่งเวลลิงตันแน่ใจแล้วว่าหน่วยทหารที่รุกขึ้นเหนือมายังชาเลอรัวเป็นกำลังหลักข้าศึก ในเช้าของวันที่ 15 มิถุนายน จอมพลเจ้าชายแห่งออเรนจ์ทำการส่งกำลังส่วนแยกมาให้แก่ดยุกแห่งเวลลิงตัน แต่แล้วเวลลิงตันก็ต้องตกใจกับความเร็วการรุกของนโปเลียน ดยุกแห่งเวลลิงตันจึงรีบสั่งการให้รวมกำลังไว้ที่หมู่บ้านกาทร์บรา (Quatre Bras) สิบเก้ากิโลเมตรทางเหนือของชาเลอรัว อันเป็นตำแหน่งที่เจ้าชายแห่งออเรนจ์และเจ้าชายแบร์นฮาร์ดแห่งซัคเซิน-ไวมาร์ตั้งทัพอยู่ ตำแหน่งดังกล่าวแทบไม่มีผลดีในการต่อต้านปีกซ้ายของจอมพลแน[25]

การเตรียมพร้อม

[แก้]
จอมพลดยุกแห่งเวลลิงตัน แห่งสหราชอาณาจักร
จอมพลบลึชเชอร์ แห่งปรัสเซีย

จอมพลดยุกแห่งเวลลิงตันตื่นในเวลา 02:00 ถึง 03:00 ของวันที่ 18 มิถุนายน และเขียนเอกสารจนถึงรุ่งเช้า ก่อนหน้านี้เขาได้เขียนถึงจอมพลบลึชเชอร์ของปรัสเซียเพื่อยืนยันว่าเขาจะสู้รบที่มงต์-แซงต์-ฌอง ถ้าหากบลึชเชอร์สามารถส่งกำลังทหารมาช่วยได้อย่างน้อยหนึ่งกอง; มิฉะนั้นเขาจะถอยทัพไปยังบรัสเซลส์ ในการประชุมยามดึก นายพลกไนเซอเนา เสนาธิการของบลึชเชอร์ สงสัยในกลยุทธ์ของเวลลิงตัน แต่บลึชเชอร์ก็โน้มน้าวเห็นควรให้เดินทัพไปสนธิกำลังกับเวลลิงตัน ต่อมาในตอนเช้า เวลลิงตันได้รับจดหมายจากบลึชเชอร์ สัญญาว่าจะสนับสนุนเขาด้วยกำลังสามกอง

ตั้งแต่ 06:00 น. เวลลิงตันอยู่ในสนามรบควบคุมการจัดวางกำลังพล ส่วนที่วาฟร์ กองทัพปรัสเซียที่สี่ภายใต้การนำของนายพลบือโล ถูกกำหนดให้นำขบวนไปยังวอเตอร์ลูเนื่องจากมีสภาพดีที่สุด เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมในยุทธการที่ลินญี แม้จะไม่มีการบาดเจ็บ กองทัพน้อยที่ 4 ได้เดินทัพมาเป็นเวลาสองวัน ครอบคลุมการถอยของอีกสามกองทัพน้อยปรัสเซียจากสนามรบลินญี พวกเขาถูกจัดให้อยู่ไกลที่สุดจากสนามรบ และการเคลื่อนทัพเป็นไปอย่างช้า ๆ

ถนนอยู่ในสภาพแย่หลังฝนตกหนักในคืนที่ผ่านมา ทหารของนายพลบือโลต้องผ่านถนนที่แออัดในวาฟร์และย้ายปืนใหญ่ 88 กระบอก สถานการณ์แย่ลงเมื่อเกิดไฟไหม้ในวาฟร์ ขัดขวางถนนหลายสายที่บือโลวางแผนจะใช้ในการเดินทัพ ส่งผลให้ส่วนสุดท้ายของกองทัพออกเดินทางในเวลา 10:00 หกชั่วโมงหลังจากที่กลุ่มแรกได้เคลื่อนทัพไปยังวอเตอร์ลู ทหารของบือโลตามไปยังวอเตอร์ลูโดยกองทัพน้อยที่หนึ่งและที่สอง

นโปเลียนเสวยอาหารเช้าที่บ้านเลอแกยู (Le Caillou) บ้านพักและกองบัญชาการสนามของนโปเลียน เมื่อจอมพลซูลต์แนะนำว่าควรเรียกตัวจอมพลกรูชีกลับมาสนธิกำลังกับกองกำลังส่วนหลัก นโปเลียนตอบว่า “แค่เพราะพวกเจ้าถูกเวลลิงตันเล่นงาน เจ้าเลยคิดว่าเขาเป็นแม่ทัพที่เก่ง ข้าบอกเจ้าแล้วไงว่าเวลลิงตันเป็นแม่ทัพที่ห่วย พวกอังกฤษเป็นทหารห่วย และเรื่องนี้ก็เป็นแค่มื้อเช้า” คำพูดของนโปเลียนที่ดูเหมือนไม่เก็บมาใส่ใจนี้ อาจเป็นการแสดงออกทางยุทธศาสตร์ตามภาษิตของพระองค์ที่ว่า “ในสงคราม จิตวิญญาณคือทุกสิ่ง” ดังที่ตัวพระองค์เคยทำมาก่อน

ต่อมาเมื่อเฌอโรม น้องชายของเขาเล่าว่าได้ยินข่าวลือจากพนักงานเสิร์ฟระหว่างทหารอังกฤษขณะรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรมคิงออฟสเปนในเกอนัปป์ ว่าทหารปรัสเซียกำลังจะเดินทัพมาจากวาฟร์ นโปเลียนกล่าวว่าทหารปรัสเซียจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองวันในการฟื้นกำลังและจอมพลกรูชีจะจัดการกับพวกเขาเอง อย่างน่าประหลาดใจ นอกจากข่าวลือที่เฌอโรมได้ยินแล้ว แม่ทัพฝรั่งเศสที่เข้าร่วมการประชุมก่อนการรบที่บ้านเลอแกยู ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความใกล้ชิดที่น่ากังวลของทหารปรัสเซียและไม่สงสัยว่าทหารของบลึชเชอร์จะเริ่มเข้าสู่สนามรบในอีกเพียงห้าชั่วโมงต่อมา

นโปเลียนเลื่อนการเปิดศึกออกไปเนื่องจากพื้นดินเปียกชื้น ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายทหารม้าและปืนใหญ่ทำได้ยาก นอกจากนี้ กองกำลังหลายส่วนของเขาได้ตั้งค่ายพักแรมอยู่ไกลออกไปทางใต้ของลาเบลอลิยองซ์ (La Belle Alliance) เวลาประมาณ 10:00 เพื่อตอบสนองต่อข้อความที่เขาได้รับจากกรูชีเมื่อหกชั่วโมงก่อนหน้า เขาส่งใบบอกกรูชีให้ “มุ่งหน้าไปยังวาฟร์ [ทางเหนือของกรูชี] เพื่อจะได้มาตั้งอยู่ใกล้ข้า” และให้ “ผลักดันพวกปรัสเซีย” เพื่อที่จะมาถึงวอเตอร์ลูโดยเร็วที่สุด

เวลา 11:00 นโปเลียนได้จัดทำคำสั่งทั่วทัพ: กองทัพของเรย์ล์ทางซ้ายและกองทัพของเดอเออร์ลองทางขวาจะโจมตีหมู่บ้านมงต์-แซงต์-ฌอง และรักษาการเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน คำสั่งนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่ากองทัพของเวลลิงตันอยู่ในหมู่บ้านนั้น แทนที่จะอยู่ที่ตำแหน่งล่วงหน้าบนเนินเขา

เพื่อให้การโจมตีนี้เป็นไปได้ กำลังของเฌอโรมจะประเดิมทำการโจมตีที่อูโกมองต์ ซึ่งนโปเลียนคาดว่าจะดึงกองหนุนของเวลลิงตันเข้ามา เนื่องจากการสูญเสียจะเป็นภัยต่อการติดต่อสื่อสารของเขากับทะเล ปืนใหญ่ขนาดใหญ่ของปืนใหญ่สำรองจากกองทัพน้อยที่ 1, 2, และ 6 จะเริ่มระดมยิงศูนย์กลางของตำแหน่งของเวลลิงตันในเวลาประมาณ 13:00 จากนั้นกองทัพของเดอเออร์ลองจะโจมตีทางซ้ายของเวลลิงตัน ทะลวงผ่าน และม้วนแนวรบจากทิศตะวันออกไปตะวันตก ในบันทึกความทรงจำของเขา นโปเลียนเขียนว่าจุดประสงค์ของเขาคือเพื่อแยกกองทัพของเวลลิงตันออกจากทหารปรัสเซียและผลักดันให้กลับไปทางทะเล

การรบ

[แก้]
แผนที่แสดงยุทธการที่วอเตอร์ลู

สมรภูมิวอเตอร์ลูมีแนวสันเขาตามทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก มีถนนไปบรัสเซล์ตัดผ่านตรงกลางในแนวตั้งฉาก ทางยอดเขามีถนนโออังและหุบเหวตื้น ที่จุดตัดของถนนไปบรัสเซล์มีต้นเอม ซึ่งเวลลิงตันได้ควบคุมการรบที่นั่น โดยใช้การรบบนเนินเขา[26]ความยาวของกองทัพนั้นประมาณ 2.5 ไมล์ (4.0 กิโลเมตร) เวลลิงตันจึงสามารถนำกองทัพของเขารุกขึ้นมาได้ ซึ่งเขาทำในช่วงตอนกลางและฝั่งขวาไปยังหมู่บ้านแบรน์-ลาลเลอดโดยหวังใช้กองทัพปรัสเซียมาถึงให้ทันเวลา[27] ด้านหน้าสันเขามีจุดสำตัญที่สามารถใช้ป้องกันการโจมตีได้ ฝั่งขวาสุดมีชาโต สวน และสวมผลไม้ที่อูโกมองต์มีบ้านที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางต้นไม้ซึ่งหันไปทางทิศเหนือ ตามแนวร่องเหว ฝั่งซ้ายสุดมีหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อปาปล็อต(Papelotte) ซึ่งอูโกมองต์และปาปล็อตได้มีทหารประจำการ ซึ่งทำให้การโจมตีตามแนวขอบใช้ไม่ได้ และปาปล็อตยังยึดถนนไปวาเวรอ ซึ่งทหารปรัสเซียใช้เดินทางมา ทิศตะวันตกของถนนไปบรัสเซล์มีฟาร์มชื่อว่าลาแอย์แซงต์มีทหารเบาแห่งกองทหารแห่งกษัตริย์เยอรมัน 400 นายประจำการอยู่.[28] ด้านตรงข้ามของถนนมีเหมืองทราย ที่หน่วยไรเฟิลที่ 95ประจำการเป็นพลแม่นปืน[29] ตำแหน่งของกองทัพเช่นนี้เป็นสิ่งที่ลำบากใจในการโจมตี การโจมตีต้องโจมตีที่อูโกมง ถ้าโจมตีตรงกลางจะถูงยิงทั้งสองด้าน คือทางอูโกมงและลาแอย์แซงต์ ฝั่งซ้ายจะถูกโจมตีที่ลาแอย์แซงต์ และเมืองปาปล็อต [30] กองทัพฝรั่งเศสอยู่ทางใต้ของสันเขา นโปเลียนไม่เห็นตำแหน่งของเวลลิงตัน จึงเดินทัพไปทางถนนบรัสเซล ปีกขวามีกองที่ 1 นำทัพโดยเดอลงมีทหารราบ 1,600 นาย ทหารม้า 1,500 นาย และสำรองอีก 4,700 ปีกซ้ายนำโดยรายยี มีทหารราบ 1,300 นาย ทหารม้า 1,300 นายและสำรองอีก 4,600 นาย ตรงกลางถนนไปยังลา แบล อาลายยังมีกำลังเสริมของโลโบ ประกอบด้วยทหารราบ 6,000 ทหารรักษาพระองค์ 1,300 นาย และทหารท้าอีก 1,200 นาย[31]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Bodart 1908, p. 487.
  2. Hofschröer 1999, pp. 68–69.
  3. Hofschröer 1999, p. 61 cites Siborne's numbers.
  4. Hamilton-Williams 1994, p. 256 gives 168,000.
  5. Barbero 2005, pp. 75–76.
  6. Hamilton-Williams 1994, p. 256.
  7. Chesney 1874, p. 4.
  8. Barbero 2006, p. 312.
  9. Barbero 2005, p. 420.
  10. 10.0 10.1 Barbero 2005, p. 419.
  11. Albert Smith, Charles Dickens, William Harrison Ainsworth (eds.) (1851) Bentley's Miscellany, Volume 30, Publisher, Richard Bentley, p. 57
  12. "Battle of Waterloo – The Battles of Quatre-Bras and Ligny | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-01.
  13. Marcelis 2015.
  14. Hamilton-Williams 1993, p. 59.
  15. 15.0 15.1 Chandler 1966, pp. 1016, 1017, 1093.
  16. Siborne 1895, pp. 320–323.
  17. "The campaign of 1815: a study – A fundamental choice: a defensive or offensive war" (PDF). Waterloo Campaign NL. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2022. สืบค้นเมื่อ 8 April 2020.
  18. Siborne 1895, p. 82.
  19. Hofschröer 2005, pp. 136–160.
  20. Herold 1967, pp. 53, 58, 110.
  21. "Battle of Waterloo – Opening moves". National Army Museum. สืบค้นเมื่อ 17 April 2020.
  22. Mark Simner (15 May 2015). An Illustrated Introduction to the Battle of Waterloo – Quatre Bras and Ligny. Amberley Publishing Limited. ISBN 978-1-4456-4667-1.
  23. John Hussey (30 September 2017). Waterloo: The Campaign of 1815, Volume II: From Waterloo to the Restoration of Peace in Europe. Pen and Sword. pp. 178–. ISBN 978-1-78438-202-5.
  24. Alasdair White. The Road to Waterloo: a concise history of the 1815 campaign. Academia. สืบค้นเมื่อ 19 April 2020.
  25. Longford 1971, p. 508.
  26. Barbero 2005, pp. 78, 79.
  27. Barbero 2005, p. 80.
  28. Barbero 2005, p. 149.
  29. Parry 1900, p. 58.
  30. Barbero 2005, pp. 141, 235.
  31. Barbero 2005, pp. 83–85.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Battle of Waterloo
  • นิยามแบบพจนานุกรมของ meet one's Waterloo ที่วิกิพจนานุกรม
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Battle of Waterloo