ข้ามไปเนื้อหา

ยุคเอโดะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยุคเอโดะ (ญี่ปุ่น: 江戸時代โรมาจิEdo-jidai) หรือ ยุคโทกูงาวะ (徳川時代 Tokugawa-jidai; ค.ศ. 1603 - ค.ศ. 1868) คือยุคที่มีไดเมียวตระกูลโทกูงาวะเป็นโชกุน เริ่มเมื่อโทกูงาวะ อิเอยาซุ ได้รวบอำนาจและตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นที่เอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) ใน ค.ศ. 1603 และหลังจากนั้นอีก 260 ปี การปกครองทั้งหลายก็ตกอยู่ในอำนาจของตระกูลโทกูงาวะ รัฐบาลเอโดะได้ลิดรอนอำนาจจากจักรพรรดิ เชื้อพระวงศ์ และพระสงฆ์จนหมดสิ้น และปกครองเกษตรกรไปทีละเล็กละน้อย เมื่อเกษตรกรอันเป็นฐานอำนาจของรัฐบาลเอโดะยากจนลงจนเดือดร้อน การปกครองของตระกูลโทกูงาวะก็เริ่มสั่นคลอนลงตั้งแต่เข้าศตวรรษที่ 19

ยุคนี้เป็นยุคที่วัฒนธรรมของราษฎรสามัญเจริญจนถึงที่สุด ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นศตวรรษที่ 18 เป็นยุคของวัฒนธรรมเก็นโรกุ (元禄文化 Genroku-bunka) ซึ่งเป็นของนักรบผสมกับราษฎรสามัญ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองใหญ่ ๆ อย่างเกียวโตหรือโอซากะ เอกลักษณ์คือละครหุ่น ละครคาบูกิ และหัตถกรรมต่าง ๆ มีศิลปินกำเนิดจากราษฎรสามัญมากมาย เช่น นักเขียนอย่างอิฮาระ ไซกากุ (井原西鶴 Ihara Saikaku) นักกลอนไฮกุอย่างมัตสึโอะ บาโช (松尾芭蕉 Matsuo Bashou) นักแต่งบทละครหุ่น ละครคาบูกิอย่างชิกามัตสึ มนซาเอมง (近松門左衛門 Chikamatsu Monzaemon) จนเมื่อศตวรรษที่ 19 ศูนย์กลางของวัฒนธรรมได้ย้ายไปอยู่เอโดะ เป็นยุคของวัฒนธรรม คะเซ (化政文化 Kasei-bunka) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชนชาวเมือง อันได้แก่ นวนิยาย ละครคาบูกิ ภาพอูกิโยะ บุนจิงงะ เป็นต้น

การศึกษาและวิชาการก็เจริญรุ่งเรือง ชนชั้นนักรบเล่าเรียนปรัชญาของขงจื๊อและหลักคำสอนจูจื่อ (朱子学 Shushi-gaku) ซึ่งเป็นปรัชญาพื้นฐานที่ค้ำจุนการปกครองของรัฐบาลเอโดะ การศึกษาเกี่ยวกับญี่ปุ่นและดัตช์ (ฮอลันดา) (蘭学 Ran-gaku) เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีการเปิดโรงเรียนตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อลูกหลานของชนชั้นนักรบ ราษฎรสามัญเองก็นิยมส่งลูกหลานเรียนหนังสือเช่นกัน

ประวัติศาสตร์

[แก้]
ยุทธการที่เซกิงาฮาระ

ใน ค.ศ. 1600 ยุทธการที่เซกิงาฮาระ (ญี่ปุ่น: 関ヶ原の戦いโรมาจิSekigahara-no-tatakai) ทำให้โทกูงาวะ อิเอยาซุ ไดเมียวผู้มีอำนาจหลังจากการอสัญกรรมของไทโกโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (ญี่ปุ่น: 豊臣秀吉โรมาจิToyotomi Hideyoshi) กลายเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นโดยเบ็ดเสร็จปราศจากไดเมียวที่จะท้าทายอำนาจ และอิเอยาซุยังสามารถอ้างการสืบเชื้อสายจากตระกูลมินาโมโตะโบราณได้ จึงได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเกียวโตให้เป็นเซอิไทโชกุน (ญี่ปุ่น: 征夷大将軍โรมาจิSeii Taishōgun) ใน ค.ศ. 1603 เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลเอโดะหรือ เอโดบากูฟุ (ญี่ปุ่น: 江戸幕府โรมาจิEdo bakufu) ที่ปกครองโดยตระกูลโทกูงาวะเป็นระยะเวลาประมาณสองร้อยห้าสิบปี

การติดต่อกับชาวตะวันตกและการปิดประเทศ

[แก้]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ด ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษได้เข้ามาติดต่อค้าขายที่เมืองนางาซากิ ซึ่งโชกุนอิเอยาซุก็ได้ให้การต้อนรับอย่างดี ด้วยเหตุที่ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษเข้ามาทำการค้าขายเพียงอย่างเดียวไม่เผยแผ่ศาสนา ในค.ศ. 1604 โชกุนอิเอยาซุมีคำสั่งให้วิลเลียม อดัมส์ (William Adams) ต่อเรือแบบตะวันตกให้แก่ญี่ปุ่นครั้งแรก และอนุญาตให้ชนชั้นพ่อค้าล่องเรือออกไปค้าขายยังอาณาจักรต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เรียกว่าเรือตราแดงหรือชูอินเซ็ง (ญี่ปุ่น: 朱印船โรมาจิShuinsen) ทำให้พ่อค้าชาวญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งรายสำคัญของชาวฮอลันดาในภูมิภาค และใน ค.ศ. 1609 โอโงโชอิเอยาซุได้ออกประกาศอนุญาตให้บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่เมืองฮิราโดะ (ญี่ปุ่น: 平戸โรมาจิHirado) ใกล้กับเมืองนางาซากิ และใน ค.ศ. 1613 ไดเมียวดาเตะ มาซามูเนะ (ญี่ปุ่น: 伊達政宗โรมาจิDate Masamune) ได้ส่งฮาเซกูระ สึเนนางะ (ญี่ปุ่น: 支倉常長โรมาจิHasekura Tsunenaga) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรป เรียกว่า คณะทูตปีเคโจ (ญี่ปุ่น: 慶長使節โรมาจิKeichō shisetsu)

เรือตราแดงหรือชูอินเซ็ง

ใน ค.ศ. 1605 โชกุนอิเอยาซุได้สละตำแหน่งโชกุนให้แก่บุตรชายคือโทกูงาวะ ฮิเดตาดะ (ญี่ปุ่น: 徳川秀忠โรมาจิTokugawa Hidetada) แต่อำนาจการปกครองยังคงอยู่ที่อิเอยาซุซึ่งดำรงตำแหน่งโอโงโช (ญี่ปุ่น: 大御所) หรือโชกุนผู้สละตำแหน่ง โอโงโชอิเอยาซุถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1616 เมื่อโชกุนฮิเดตาดะขึ้นมามีอำนาจ ได้ดำเนินการปราบปรามชาวคริสเตียนอย่างรุนแรง ในค.ศ. 1622 ได้ทำการสังหารชาวคริสเตียนจำนวนห้าสิบคนที่เมืองนางาซากิ (Great Martyrdom of Nagasaki) เรียกว่า การปราบปรามชาวคริสเตียนปีเง็นนะ (ญี่ปุ่น: 元和の大殉教โรมาจิGenna-no-daijungyō) ใน ค.ศ. 1615 โชกุนฮิเดตาดะได้ออกกฎหมายซามูไรหรือบูเกชูฮัตโตะ (ญี่ปุ่น: 武家諸法度โรมาจิฺBuke shuhatto) ออกมาเป็นฉบับแรกของสมัยเอโดะ ในค.ศ. 1623 โชกุนฮิเดตาดะได้สละตำแหน่งให้แก่บุตรชายคือโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ (ญี่ปุ่น: 徳川家光โรมาจิTokugawa Iemitsu) แล้วลงมาดำรงตำแหน่งเป็นโอโงโช การปราบปรามชาวคริสต์ระลอกใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1629 ที่เมืองนางาซากิ โดยทางบากูฟุได้บังคับให้ชาวเมืองกระทำการฟูมิเอะ (ญี่ปุ่น: 踏み絵โรมาจิfumi-e) คือการเหยียบย่ำลงบนรูปของพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้เป็นคริสเตียน

ฮะเซะกุระ สึเนะนะงะ

โอโงโชฮิเดตาดะถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1632 ทำให้โชกุนอิเอมิตสึมีอำนาจเต็มในการปกครองญี่ปุ่น โชกุนอิเอมิตสึเป็นโชกุนคนแรกที่เติบโตมาอย่างนักปราชญ์และไม่เคยผ่านประสบการณ์สงครามมาก่อน ใน ค.ศ. 1635 โชกุนอิเอมิตสึได้ออกกฎหมายซังกิงโกไต (ญี่ปุ่น: 参勤交代โรมาจิฺSankin-kōtai) บังคับให้ไดเมียวของทุกแคว้นต้องพำนักอยู่ในเมืองเอโดะหนึ่งปีสลับกับอยู่ในแคว้นของตนอีกหนึ่งปี เป็นการลดทอนอำนาจของไดเมียวไม่ให้มีการซ่องสุมอำนาจหรือกำลังทหารในแคว้นของตนได้ การกดขี่ชาวคริสเตียนอย่างหนักและภาวะอดอยากทำให้ชาวคริสเตียนบนแหลมชิมาบาระและเกาะอามากูซะ อันเป็นส่วนหนึ่งของเกาะคีวชู ได้ก่อกบฏขึ้นในค.ศ. 1637 เรียกว่า กบฏชิมาบาระ (ญี่ปุ่น: 島原の乱โรมาจิShimabara-no-ran) ทัพของบากูฟุใช้เวลาถึงหนึ่งปีจนกระทั่งเข้ายึดปราสาทฮาระอันเป็นฐานที่มั่นของกบฏได้ใน ค.ศ. 1638

โชกุนอิเอมิตสึได้รับอิทธิพลจากที่ปรึกษาที่เป็นปราชญ์ขงจื๊อ โดยเฉพาะฮายาชิ ราซัง (ญี่ปุ่น: 林羅山โรมาจิHayashi Razan) ให้ดำเนินนโยบายการปิดประเทศหรือไคกิง (ญี่ปุ่น: 海禁โรมาจิKaikin) ซึ่งต่อมาภายหลังเรียกว่าซาโกกุ (ญี่ปุ่น: 鎖国โรมาจิSakoku) โดยการเลิกการค้าขายของเรือตราแดง เลิกการค้ากับชาวโปรตุเกส อนุญาตให้มีการค้าขายกับชาวจีนและฮอลันดาที่เมืองนางาซากิเท่านั้น และย้ายสถานีการค้าของฮอลันดาออกไปยังเกาะเดจิมะ (ญี่ปุ่น: 出島โรมาจิDejima) รวมทั้งการห้ามชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศโดยระวางโทษถึงประหารชีวิต นโยบายปิดประเทศของโชกุนอิเอมิตสึส่งผลต่อการต่างประเทศของญี่ปุ่นไปเป็นเวลาอีกสองร้อยปี โดยที่มีชาวฮอลันดาเป็นชาวตะวันตกเพียงชาติเดียวที่ทำการค้ากับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย โดยมีไดเมียว 3 แคว้นเท่านั้นที่ได้รับการปิดตาข้างเดียวในการติดต่อกับต่างชาติ ได้แก่ ไดเมียวแคว้นเอโซ, เกาะสึชิมะ และแคว้นซัตสึมะ[1]

อิทธิพลของลัทธิขงจื๊อและวัฒนธรรมเก็นโรกุ

[แก้]

ช่วงสมัยของโชกุนสามคนแรกนั้นเรียกว่าสมัยการปกครองของทหาร (ญี่ปุ่น: 武断政治โรมาจิButen seishi) การติดต่อกับเกาหลีและจีนในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ดทำให้ลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) แพร่เข้ามาในชนชั้นซามูไรอันเป็นชนชั้นปกครองของญี่ปุ่น ประกอบกับสภาพว่างเว้นสงครามเป็นเวลานานถึงสองร้อยปี ทำให้ชนชั้นซามูไรผันตนเองจากชนชั้นนักรบมาเป็นชนชั้นนักปราชญ์ ในค.ศ. 1651 โชกุนอิเอมิตสึถึงแก่อสัญกรรม โชกุนโทกูงาวะ อิเอ็ตสึนะ (ญี่ปุ่น: 徳川家綱โรมาจิTokugawa Ietsuna) อายุเพียงเก้าปีสืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อมา ทำให้อำนาจการปกครองตกอยู่ที่ขุนนางไดเมียวฟูไดและปราชญ์ขงจื๊อ ซึ่งเข้าครอบงำบากูฟุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการปกครอง สังคมและวัฒนธรรมไปในทางของพลเรือนมากขึ้นเรียกว่าสมัยการปกครองของพลเรือน (ญี่ปุ่น: 文治政治โรมาจิBunchi seishi) ปรัชญาของลัทธิขงจื๊อทำให้สังคมญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นสี่ชนชั้นอย่างชัดเจน และมีผลให้สังคมญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดและพิธีรีตองมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สำนักยูชิมะ

ภาวะว่างเว้นสงครามทำให้เกิดปัญหาของโรนิน (ญี่ปุ่น: 浪人โรมาจิRōnin) หรือซามูไรตกงานจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซามูไรที่เคยรับใช้ฝ่ายตระกูลโทโยโตมิ ซึ่งทางบากูฟุได้กีดกันและไม่ให้การสนับสนุนเนื่องจากเห็นว่าเป็นภัยสังคมและโรนินเหล่านี้ก็ไม่ได้รับโอกาสในสังคมขงจื๊อแบบใหม่ ทำให้โรนินกลายเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของการต่อต้านการปกครองของโชกุนตระกูลโทกูงาวะ

ในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ดเป็นช่วงเวลาของปราชญ์ขงจื๊อชาวญี่ปุ่นคนสำคัญหลายคนได้แก่ฮายาชิ ราซัง (ญี่ปุ่น: 林 羅山โรมาจิHayashi Razan) และยามาซากิ อันไซ (ญี่ปุ่น: 山崎闇斎โรมาจิYamazaki Ansai) เป็นปราชญ์ขงจื๊อที่ส่งเสริมให้บากูฟุยึดลัทธิขงจื๊อสำนักของจูซื่อ (Zhu Xi ญี่ปุ่น: 朱子学โรมาจิShushi gaku) ให้เป็นศาสนาประจำชาติ โดยเฉพาะตระกูลฮายาชิ ซึ่งผูกขาดตำแหน่งที่ปรึกษาของโชกุน และยังมีปราชญ์ขงจื๊อที่เป็นโรนินต่อต้านลัทธิขงจื๊อสำนักของจูซื่อซึ่งเป็นสำนักที่บากูฟุยึดถือ ยกตัวอย่างเช่นคูมาซาวะ บันซัง (ญี่ปุ่น: 熊沢蕃山โรมาจิKumazawa Banzan) ผู้ยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อสำนักของหวังหยางหมิง (Wang Yangming) อันเป็นสำนักคู่แข่งของจูซื่อ และยามางะ โซโก (ญี่ปุ่น: 山鹿素行โรมาจิYamaga Sokō) ผู้ซึ่งนำลัทธิขงจื๊อมาประยุกต์เข้ากับหลักบูชิโดอันเป็นหลักการของชนชั้นซามูไรในสมัยก่อน

โรนินสี่สิบเจ็ดคน

ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ สึนาโยชิ (ญี่ปุ่น: 徳川綱吉โรมาจิTokugawa Tsunayoshi) ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยเอโดะเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เรียกว่า สมัยเก็นโรกุ (ญี่ปุ่น: 元禄時代โรมาจิGenroku jidai) และวัฒนธรรมเก็นโรกุ (ญี่ปุ่น: 元禄文化โรมาจิGenroku bunka) ประกอบด้วยการศึกษาอักษรศาสตร์และหลักปรัชญาตามลัทธิขงจื๊อ งานศิลปกรรมต่างๆ และการบันเทิงอย่างเช่นละครคะบุกิ และละครโนะ ทั้งสามเมืองได้แก่ เอโดะ เกียวโต และโอซากะ เจริญขึ้นเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

แต่ชาวญี่ปุ่นกลับมองว่าสมัยเก็นโรกุเป็นสมัยที่มีความเสื่อมโทรมในด้านสังคมและจริยธรรมมากที่สุดสมัยหนึ่ง ด้วยการเรืองอำนาจของขุนนางไดเมียวฟูไดในบากูฟุทำให้มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์โรนินสี่สิบเจ็ดคน (Forty-Seven Ronins; ญี่ปุ่น: 元禄赤穂事件โรมาจิGenroku Akō jiken) โชกุนสึนาโยชิได้ปราบปรามและลดอำนาจกลุ่มขุนนางฟูไดอย่างหนัก และดึงกลุ่มขุนนางคนสนิทหรือโซบาโยนิน (ญี่ปุ่น: 側用人โรมาจิSobayōnin) เข้ามามีอำนาจแทน โชกุนสึนาโยชิยังได้ส่งเสริมลัทธิขงจื๊อด้วยการก่อตั้งสำนักยูชิมะ (ญี่ปุ่น: 湯島聖堂โรมาจิYushima Seidō) ในค.ศ. 1691 ให้เป็นสำนักขงจื๊อประจำชาติของญี่ปุ่น ตลอดช่วงสองร้อยปีในยุคเอโดะรัฐบาลโชกุนดำเนินนโยบายปิดประเทศโดยทำการค้าขายกับจีนและฮอลันดาในปริมาณที่จำกัด อิทธิพลของลัทธิขงจื้อทำให้สถาบันโชกุนในยุคเอโดะมิได้เป็นเพียงผู้นำเผด็จการทหารเพียงอย่างเดียวแต่เป็นรัฏฐาถิปัตย์ผู้ทรงธรรมและศักดิ์สิทธิ์ตามหลักขงจื้อ

ปัญหาเศรษฐกิจสังคมและการปฏิรูป

[แก้]
ความรุ่งเรืองของตลาดปลานิฮงบาชิ (สมัยเอโดะ) โดย Utagawa Kuniyasu
ตลาดข้าวเป็นที่อยู่ของพ่อค้าคนกลางขายข้าว ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากในยุคเอโดะ

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาภาวะค่าเงินแข็งตัวอันเนื่องมาจากเงินทองที่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศญี่ปุ่นรั่วไหลออกไปทางการค้ากับต่างประเทศ คนสนิทของโชกุนได้แก่อาราอิ ฮากูเซกิ (ญี่ปุ่น: 新井白石โรมาจิArai Hakuseki) และมานาเบะ อากิฟูสะ (ญี่ปุ่น: 間部詮房โรมาจิManabe Akifusa) ออกนโยบายเพิ่มปริมาณเงินในระบบด้วยการออกเงินกษาปณ์ชุดใหญ่ชุดใหม่ในค.ศ. 1714 และกำจัดการนำเงินไปใช้จ่ายในการค้ากับต่างประเทศ หลังจากที่โชกุนโทกูงาวะ อิเอ็ตสึงุ (ญี่ปุ่น: 徳川家継โรมาจิTokugawa Ietsugu) ถึงแก่กรรมโดยปราศจากทายาทในค.ศ. 1716 ทำให้ตระกูลโทกูงาวะสาขาหลักต้องสูญสิ้นไป และโทกูงาวะ โยชิมูเนะ (ญี่ปุ่น: 徳川吉宗โรมาจิTokugawa Yoshimune) ไดเมียวแห่งแคว้นคีอิจากสาขาย่อยของตระกูลโทกูงาวะได้ขึ้นครองตำแหน่งโชกุน โชกุนโทกูงาวะ โยชิมูเนะ ออกนโยบายการปฏิรูปปีเคียวโฮ (ญี่ปุ่น: 享保の改革โรมาจิKyōhō no kaikaku) ขึ้นในค.ศ. 1721 เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นส่งเสริมบทบาทของข้าวไว้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงิน รวมทั้งการผ่อนคลายความเข้มงวดของลัทธิขงจื้อทำให้ชนชั้นพ่อค้ามีบทบาทมากขึ้นและผ่อนคลายการปิดประเทศทำให้สื่อและองค์ความรู้ตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่นได้มากขึ้นเกิดเป็นรังงากุ (ญี่ปุ่น: 蘭学โรมาจิRangaku) หรือศิลปศาสตร์ตะวันตก ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอฮารุ (ญี่ปุ่น: 徳川家治โรมาจิTokugawa Ieharu) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในค.ศ. 1760 อำนาจการปกครองในรัฐบาลโชกุนเป็นของทานูมะ โอกิตสึงุ (ญี่ปุ่น: 田沼意次โรมาจิTanuma Okitsugu) เป็นสมัยที่รัฐบาลโชกุนมีความเสรีนิยมมากขึ้น ชนชั้นพ่อค้ามีอำนาจมากขึ้นและศิลปศาสตร์รังงากุเจริญรุ่งเรือง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความเสื่อมถอยของคุณธรรมเกิดการทุจริตติดสินบนขึ้นอย่างกว้างขวางโดยมีทานูมะ โอกิตสึงุ เป็นศูนย์กลางของความฉ้อฉลเหล่านั้น

ในสมัยเอโดะมีการอพยพของชาวญี่ปุ่นเข้าไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะเอโซะ (ญี่ปุ่น: 蝦夷โรมาจิEzo) หรือเกาะฮกไกโดในปัจจุบัน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลโชกุนและชาวญี่ปุ่นกับฝ่ายชาวไอนุ (Ainu) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมบนเกาะเอโซะ ชาวไอนุพื้นเมืองลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของรัฐบาลโชกุนในปีค.ศ. 1669-1672 กบฎของชากูชาอิน (Shakushain's revolt) และในค.ศ. 1789 กบฎเมนาชิ-คูนาชีร์ (Menashi-Kunashir rebellion)

ในสมัยของทานูมะเป็นสมัยที่ชนชั้นพ่อค้าเรืองอำนาจ แม้วัตถุเจริญรุ่งเรืองแต่สังคมกลับถดถอยลง เมื่อโชกุนอิเอฮารุถึงแก่กรรมในค.ศ. 1786 ทำให้ทานูมะ โอกิตสึงุสูญสิ้นอำนาจไป โชกุนคนต่อมาคือโทกูงาวะ อิเอนาริ (ญี่ปุ่น: 徳川家斉โรมาจิTokugawa Ienari) อำนาจการปกครองอยู่ที่โรจูมัตสึไดระ ซาดาโนบุ (ญี่ปุ่น: 松平定信โรมาจิMatsudaira Sadanobu) มัตสึไดระ ซาดาโนบุ มีความยึดมั่นในลัทธิขงจื้อและต้องการที่จะฟื้นฟูความเรียบร้อยในสังคมญี่ปุ่นให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามธรรมนองเดิม นำไปสู่การปฏิรูปปีคันเซ (ญี่ปุ่น: 寛政の改革โรมาจิKansei no kaikoku) ในค.ศ. 1790 เน้นย้ำความสำคัญของหลักการลัทธิขงจื้อในสังคมโดยการประกาศให้ลัทธิขงจื้อของจูซื่อเป็นศาสนาประจำชาติ ลดอำนาจของชนชั้นพ่อค้าและปราบปรามอิทธิพลของรังงากุ ในค.ศ. 1842 โรจูมิตซูโนะ ทาดากูนิ (ญี่ปุ่น: 水野忠邦โรมาจิMizuno Tadakuni) ออกนโยบายการปฏิรูปปีเทมโป (ญี่ปุ่น: 天保の改革โรมาจิTenpō no kaikoku) ลดความฟุ่มเฟือยต่างๆในสังคม

ภาพวาดเรือมอร์ริสันเทียบท่าอ่าวอูรางะในค.ศ. 1837

ในค.ศ. 1792 ญี่ปุ่นมีการติดต่อกับจักรวรรดิรัสเซียเป็นครั้งแรก เรือของรัสเซียซึ่งนำโดยนายอดัม แลกซ์แมน (Adam Laxman) มาเทียบท่าเมืองมัตสึมาเอะบนเกาะฮกไกโดเพื่อเจรจาขอทำการค้าขายกับญี่ปุ่น โรจูมะสึไดระ ซะดะโนะบุ ปฏิเสธที่จะให้รัสเซียค้าขายที่ฮกไกโดแต่ให้อนุญาตให้เรือสินค้ารัสเซียไปเทียบท่าที่นางาซากิแทน การยอมให้สิทธิการค้าแก่รัสเซียทำให้มะสึไดระ ซะดะโนะบุ ถูกโจมตีอย่างหนักจนพ้นจากอำนาจไปในค.ศ. 1793 หลังจากนั้นมีเหตุการณ์เรือของชาติตะวันตกหยั่งเชิงเข้าเทียบท่าที่ญี่ปุ่นหลายครั้งเพื่อท้าทายนโยบายการปิดประเทศและเปิดโอกาสการทำสนธิสัญญาการค้า แต่รัฐบาลโชกุนเพิกเฉยไม่สนใจต่อชาวตะวันตกเหล่านั้น ในค.ศ. 1837 เรือของสหรัฐอเมริกาชื่อว่ามอร์ริสัน (Morrison) ได้เข้าเทียบท่าที่เมืองคาโงชิมะและอ่าวอูรางะใกล้เมืองเอโดะ ฝ่ายรัฐบาลโชกุนทำการตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการยิงปืนใหญ่เรียกว่า เหตุการณ์มอร์ริสัน (Morrison Incident)

ในช่วงปลายยุคเอโดะในขณะที่ชนชั้นซามูไรและรัฐบาลโชกุนให้การสนับสนุนแก่ลัทธิขงจื้อของจูซื่อและชื่นชมวัฒนธรรมจีนโบราณ เกิดแนวความคิดที่หันกลับมาศึกษาและชื่นชมวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม เรียกว่า "โคกูงากุ" (ญี่ปุ่น: 国学โรมาจิKokugaku) นักปราชญ์ในปลายยุคเอโดะได้แก่ โทกูงาวะ มิตสึกูนิ (ญี่ปุ่น: 徳川光圀โรมาจิTokugawa Mitsukuni) ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ และโมโตโอริ โมรินากะ (ญี่ปุ่น: 本居宣長โรมาจิMotoori Norinaga) เป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดโคกูงากุ โดยที่นักปราชญ์สำนักนี้ให้ความสำคัญแก่ศาสนาชินโตและยกย่องสถาบันพระจักรพรรดิซึ่งอยู่คู่ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ แนวความคิดแบบโคกูงากุจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองในช่วงปลายยุคเอโตะในสมัยต่อมา

ปลายยุคเอโดะ: บากูมัตสึ

[แก้]
พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพร์รี ผู้นำเรือรบของสหรัฐอเมริกาเข้าเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเพื่อทำการค้า

ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอโยชิ (ญี่ปุ่น: 徳川家慶โรมาจิTokugawa Ieyoshi) ปีค.ศ. 1853 พลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี (Matthew C. Perry) นำเรือรบของสหรัฐอเมริกาจำนวนสี่ลำ ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า "เรือดำ" (ญี่ปุ่น: 黒船โรมาจิKurofune) เข้ามาจอดปิดอ่าวอูรางะใกล้กับนครเอโดะ เรียกร้องให้รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศทำการค้าขายกับสหรัฐอเมริกา มิฉะนั้นจะนำเรือติดอาวุธปืนใหญ่เข้าโจมตีเมืองเอโดะ พลเรือจัตวาแมทธิว เพร์รี ใช้วิธีทางการทูตแบบเรือปืน (Gunboat diplomacy) ข่มขู่รัฐบาลโชกุนให้ยอมเปิดประเทศ รัฐบาลโชกุนภายใต้การนำของโชกุนอิเอโยชิและโรจูอาเบะ มาซาฮิโระ (ญี่ปุ่น: 阿部正弘โรมาจิAbe Masahiro) ตื่นตระหนกอย่างมากกับการข่มขู่จากเรือดำ โชกุนอิเอโยชิล้มป่วยจนถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้น บุตรชายของโชกุนอิเอโยชิคือ โทกูงาวะ อิเอซาดะ (ญี่ปุ่น: 徳川家定โรมาจิTokugawa Iesada) ซึ่งสุขภาพอ่อนแอเช่นเดียวกันขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนคนต่อมา ในปีค.ศ. 1854 โรจูอาเบะ มาซาฮิโระ ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องของนายแมทธิวเพร์รี นำไปสูงการลงนามในข้อตกลงเมืองคานางาวะ (Convention of Kanagawa) โดยรัฐบาลโชกุนยอมเปิดเมืองท่าชิโมดะ (Shimoda) และฮาโกดาเตะ (Hakodate) ให้แก่เรือของสหรัฐอเมริกาเข้ามาทำการค้าขาย เท่ากับเป็นการสิ้นสุดการปิดประเทศญี่ปุ่นาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี การที่รัฐบาลโชกุนยินยอมลงนามเปิดประเทศค้าขายนั้น มิได้ทำเรื่องขึ้นทูลถวายฯพระจักรพรรดิแต่อย่างใด ทำให้นายอาเบะ มาซาฮิโระ และรัฐบาลโชกุนถูกตำหนิอย่างมากว่ากระทำโดยพลการ จนอาเบะ มาซาฮิโระต้องลาออกจากตำแหน่งโรจูไปในค.ศ. 1855 นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วรัฐบาลโชกุนยังทำสนธิสัญญาการค้ากับประเทศตะวันตกอื่นๆอีกได้แก่ อังกฤษ รัสเซีย และฝรั่งเศส

การที่รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศญี่ปุ่นให้แก่ชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขาย สร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ โดยเฉพาะกลุ่มซามูไรในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ได้ใช้การเปิดประเทศญี่ปุ่นมาโจมตีรัฐบาลโชกุนในทางการเมืองและให้การสนับสนุนแก่พระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต ภายใต้คติพจน์ "ซนโนโจอิ" (ญี่ปุ่น: 尊皇攘夷โรมาจิSonnō jōi) หรือ "เชิดชูองค์จักรพรรดิ ต่อต้านอนารยชน" โดยเฉพะซามูไรในแคว้นซัตสึมะ (ญี่ปุ่น: 薩摩โรมาจิSatsuma) และแคว้นโจชู (ญี่ปุ่น: 長州โรมาจิChōshū) ซึ่งมีความเห็นว่าการยินยอมทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบทางการค้ากับชาติตะวันตกเกิดผลเสียแก่ประเทศ ในค.ศ. 1858 โชกุนอิเอซาดะถึงแก่กรรมโดยที่ปราศจากบุตรและทายาท ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโชกุนนำโดยโทกูงาวะ นาริอากิ (ญี่ปุ่น: 徳川斉昭โรมาจิTokugawa Nariaki) ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ ต้องการผลักดันให้บุตรชายของตนคือ โทกูงาวะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 徳川慶喜โรมาจิTokugawa Yoshinobu) ขึ้นเป็นโชกุนคนต่อมาแต่ไม่สำเร็จ ฝ่ายรัฐบาลโชกุนซึ่งนำโดยอิอี นาโอซูเกะ (ญี่ปุ่น: 井伊直弼โรมาจิIi Naosuke) สามารถผลักดันให้ตำแหน่งโชกุนเป็นของโทกูงาวะ อิเอโมจิ (ญี่ปุ่น: 徳川家定โรมาจิTokugawa Iemochi) ได้สำเร็จ ทำให้อิอี นาโอซูเกะ เรืองอำนาจขึ้นในรัฐบาลโชกุน ไทโรอิอี นาโอซูเกะ นำประเทศญี่ปุ่นเข้าทำสนธิสัญญาเพื่อมิตรภาพและการค้า (Treaty of Amity and Commerce) กับสหรัฐอเมริกาซึ่งมีนายทาวน์เซนด์ แฮร์ริส (Townsend Harris) เป็นตัวแทนในค.ศ. 1858 เรียกว่า สนธิสัญญาแฮร์ริส (Harris Treaty) เปิดเมืองท่าเพิ่มเติมได้แก่เมืองคานางาวะและนางาซากิให้แก่เรือของอเมริกา และมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ชาวอเมริกันในญี่ปุ่น อิอี นาโอซูเกะ กำจัดคู่แข่งทางการเมืองกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลโชกุน เรียกว่า การกวาดล้างทางการเมืองปีอันเซ ไดเมียวโทกูงาวะ นาริอากิ ถูกกักบริเวณ ขุนนางซามูไรกลุ่มซนโนโจอิต่างต้องโทษต่างๆนานาตั้งแต่ประหารชีวิตจนถึงเนรเทศ อิอี นาโอซูเกะ ถูกลอบสังหารโดยซามูไรจากแคว้นมิโตะ ในเหตุการณ์ที่ประตูซากูระดะ (Sakuradamon Gate Incident) ที่ปราสาทเอโดะในปีค.ศ. 1860

ภาพวาดในค.ศ. 1861 แสดงถึงคติ"ซนโนโจอิ"

รัฐบาลโชกุนแต่งตั้งคณะทูตเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในค.ศ. 1860 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเรียนรู้วิทยาการตะวันตก แม้ว่าจะสูญเสียอำนาจทางการเมืองแต่ซามูไรกลุ่มซนโนโจอิยังคงดำเนินการต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะอย่างต่อเนื่อง โดยเข้ายึดอำนาจในนครเกียวโตและทำร้ายขุนนางจากรัฐบาลโชกุน ในค.ศ. 1863 พระจักรพรรดิโคเมมีพระราชโองการให้ขับไล่ชาวตะวันตกออกไปจากญี่ปุ่น ในค.ศ. 1864 กองกำลังจากแคว้นโจชูเข้ารุกรานพระราชวังหลวงเมืองเกียวโตเพื่อจะยึดถวายอำนาจคืนแด่พระจักรพรรดิในเหตุการณ์ที่ประตูคิมมง (Kinmon Incident) แต่ไม่สำเร็จ ในค.ศ. 1866 รัฐบาลโชกุนนำโดยโชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ นำทัพของรัฐบาลโชกุนเข้ารุกรานตอบโต้แคว้นโจชู (Second Chōshū Expedition) โดยมีแคว้นซัตสึมะคอยช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาล แต่ทว่าโชกุนอิเอโมจิกลับล้มป่วงลงจนถึงแก่กรรมที่ปราสาทโอซากะในปีเดียวกัน โทกูงาวะ โยชิโนบุ ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนคนต่อมาเป็นโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลโทกูงาวะ ซากาโมโตะ เรียวมะ (ญี่ปุ่น: 坂本龍馬โรมาจิSakamoto Ryōma) เป็นคนกลางนำซามูไรจากแคว้นซัตสึมะ นำโดยไซโง ทากาโมริ (ญี่ปุ่น: 西郷隆盛โรมาจิSaigō Takamori) และแคว้นโจชู นำโดยคัตสึระ โคโกโร (ญี่ปุ่น: 桂小五郎โรมาจิKatsura Kogorō) มาทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกัน (ญี่ปุ่น: 薩長同盟โรมาจิSatchō dōmei) เพื่อล้มการปกครองของรัฐบาลโชกุน

ในปีค.ศ. 1867 โชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ประกาศสละตำแหน่งโชกุนและถวายอำนาจคืนแด่พระจักรพรรดิเมจิ เป็นการสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะที่มีมาเป็นเวลาสองร้อยห้าสิบกว่าปี แต่ความขัดแย้งทางการเมืองและการทหาร ระหว่างฝ่ายตระกูลโทกูงาวะและฝ่ายซนโนโจอิยังคงดำเนินต่อไป จนนำไปสู่สงครามโบชิง (Boshin War)

สังคม

[แก้]

สังคมญี่ปุ่นในยุคเอโดะแตกต่างจากสังคมญี่ปุ่นในยุคอื่น ๆ เนื่องจากลัทธิขงจื๊อใหม่เข้ามามีอิทธิพล สังคมยุคเอโดะแบ่งออกเป็นสี่ชนชั้นเรียกว่าชิโนโกโช (ญี่ปุ่น: 侍農工商โรมาจิShinōkōshō) ประกอบด้วย ชนชั้นซามูไร ชนชั้นชาวนา ชนชั้นช่างฝีมือ และชนชั้นพ่อค้า แต่ละชนชั้นมีบทบาทและหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจนเคร่งครัด และการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ในยุคเอโดะสถาบันพระจักรพรรดิและราชสำนักที่เมืองเกียวโตยังคงเป็นสถาบันสูงสุดของประเทศในทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติราชสำนักเมืองเกียวโตมีบทบาททางการเมืองและสังคมน้อย

ชนชั้นทั้งสี่

[แก้]
  • ชนชั้นซามูไร (ญี่ปุ่น: โรมาจิShi) เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ชนผู้ปกครองประเทศ และเป็นตัวอย่างในทางจริยธรรมให้แก่ชนชั้นอื่น โดยมีจำนวนเป็นส่วนน้อยของประชากร ชนชั้นซามูไรได้รับอภิสิทธิ์ในการถือครองอาวุธต่างๆเช่น ดาบ ปืน (ชนชั้นอื่นไม่สามารถถือครองอาวุธได้) ในยุคเอโดะที่ปราศจากการสู้รบ ชนชั้นซามูไรได้ผันตนเองจากนักรบมาเป็นนักปราชญ์ หน้าที่หลักของชนชั้นซามูไรอยู่ที่การบริหารบ้านเมือง รายได้และผลผลิตของชนชั้นซามูไรเกิดจากรายได้ประจำจากรัฐบาลโชกุน และการเรียกเก็บผลผลิตจากชาวนาตามระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (feudalism) ในหมู่ชนชั้นซามูไรมีการแบ่งออกเป็นลำดับขึ้นตามยศถาบรรดาศักดิ์ ซามูไรชั้นสูงมีบทบาทในรัฐบาลโชกุนหรือตามแคว้นต่างๆ ในขณะที่ซามูไรระดับล่างประกอบอาชีพเป็นพนักงานต่างๆ เช่น เสมียน ผู้รักษาความปลอดภัย เป็นต้น
  • ชนชั้นชาวนา (ญี่ปุ่น: โรมาจิ) เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ มีหน้าที่เพาะปลูกเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองและมอบให้แก่ชนชั้นซามูไร รัฐบาลโชกุนมีการควบคุมกำลังคนที่เข้างวด ชาวนาไม่สามารถเดินทางเคลื่อนย้ายออกจากแคว้นได้หากไม่ได้รับการอนุญาตจากไดเมียว
  • ชนชั้นช่างฝีมือ (ญี่ปุ่น: โรมาจิ) และชนชั้นพ่อค้า (ญี่ปุ่น: โรมาจิShō) มีศักดิ์ต่ำกว่าชนชั้นชาวนาตามหลักของลัทธิขงจื๊อ เนื่องจากชนชั้นช่างฝีมือผลิตสิ่งที่เป็นไปเพื่อความสวยงามเท่านั้น และชนชั้นพ่อค้าหารายได้จากผลผลิตของผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่ในทางปฏิบัติในยุคเอโดะชนชั้นช่างฝีมือและชนชั้นพ่อค้ามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี ชนชั้นพ่อค้าอาศัยอยู่ในเมือง (ญี่ปุ่น: โรมาจิMachi) เช่นโอซากะหรือเอโดะ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของไดเมียวแต่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลโชกุนโดยตรง ชนชั้นพ่อค้าซึ่งร่ำรวยมีการแสดงออกทางฐานะโดยการใช้ของหรูหราฟุ่มเฟือยหรือประพฤติตนเช่นเดียวกับชนชั้นซามูไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลโชกุนมีความพยายามในการห้ามปรามความฟุ่มเฟือยของชนชั้นพ่อค้าตลอดมา

นอกเหนือจากสี่ชนชั้น ยังมีกลุ่มคนอื่นๆในสังคมญี่ปุ่นในสมัยเอโดะได้แก่

  • โรนิง คือ ชนชั้นซามูไรซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลโชกุนด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น กระทำความผิดกลายเป็นนักโทษ
  • นักบวชและพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและศาสนาชินโต
  • เอตะ (ญี่ปุ่น: 穢多โรมาจิEta) หรือ ฮินิง (ญี่ปุ่น: 非人โรมาจิHinin) เป็นกลุ่มคนที่สังคมให้ความรังเกียจ เนื่องจากมีพฤติกรรมหรือประกอบอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือขัดต่อศีลธรรมจรรยาของสังคม ได้แก่ เพชฌฆาต นักฆ่าสัตว์ ผู้ทำความสะอาดสิ่งปฏิกูล เป็นต้น เอตะหรือฮินิงมักอาศัยอยู๋รวมกันเป็นชุมชนตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งชาวเมืองคนอื่น ๆ ให้ความรังเกียจเช่นกัน

หลังจากการการฟื้นฟูเมจิ รัฐบาลเมจิได้ออกกฎหมายในปีค.ศ. 1871 เลิกระบอบชนชั้นต่าง ๆ ของยุคเอโดะ ทำให้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ของประเทศมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย

ศาสนาและวัฒนธรรม

[แก้]

ลัทธิขงจื้อใหม่

[แก้]
พระภิกษุฟูจิวาระ เซกะ (Fujiwara Seika) ผู้นำลัทธิขงจื้อใหม่มาสู่ญี่ปุ่นในยุคเอโดะ

การติดต่อกับจีนและเกาหลีในช่วงการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่นทำให้ลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) เผยแพร่เข้ามาสู่ญี่ปุ่นในยุคเอโดะลัทธิขงจื้อใหม่เกิดขึ้นจากนักปราชญ์ชาวจีนในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง ซึ่งนำเอาหลักการฝึกจิตและพัฒนาตนเองของพุทธศาสนาและลัทธิเต๋าเข้ามาผสมผสานกับหลักปรัชญาการอยู่ร่วมกันในสังคมของลัทธิขงจื้อดั้งเดิม ลัทธิขงจื้อใหม่ในยุคเอโดะเริ่มต้นขึ้นจากฟูจิวาระ เซกะ (ญี่ปุ่น: 藤原 惺窩โรมาจิFujiwara Seika) เดิมเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซ็น ฟูจิวาระ เซกะ มองว่าลัทธิขงจื้อมีความเป็นเหตุผลและอยู่บนพื้นฐานของความจริงมากกว่าพุทธศาสนานิกายเซ็นซึ่งมีหลักการฝึกตนอยู่ในอุดมคติ และได้เรียนรู้ลัทธิขงจื้อใหม่สำนักของจูซือ (จีน: 朱熹; พินอิน: Zhū Xī) จากนักปราชญ์ชาวเกาหลี[2][3]ซึ่งเป็นเชลยศึก ต่อมาลูกศิษย์ของฟูจิวาระ เซกะ ชื่อว่าฮายาชิ ราซัง (ญี่ปุ่น: 林羅山โรมาจิHayashi Razan) ได้เข้ารับราชการในรัฐบาลโชกุนตระกูลโทกูงาวะในสมัยของโชกุนอิเอมิตสึ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นไดงากุ-โนะ-กามิ (ญี่ปุ่น: 大学の頭โรมาจิDaigaku-no-kami) และก่อตั้งสำนักเซนเซเด็ง (ญี่ปุ่น: 先聖殿โรมาจิSensei-den อยู่ในเขดอูเอโนะเมืองโตเกียวในปัจจุบัน) ฮายาชิ ราซัง ทำให้ชนชั้นซามูไรในรัฐบาลโชกุนหันมาศึกษาหลักของลัทธิขงจื้อเพื่อใช้ในการปกครอง และแบ่งสังคมญี่ปุ่นออกเป็นสี่ชนชั้นตามหน้าที่ต่างๆ ตำแหน่งไดงากุ-โนะ-กามินั้นสืบทอดตามสายเลือดภายในตระกูลฮายาชิ ทำให้ตระกูลฮายาชิลูกหลานของฮายาชิ ราซัง มีอำนาจในการปกครองนักปราชญ์ขงจื้อญี่ปุ่น

ในสมัยเอโดะขุนนางซามูไรที่เข้ารับราชการในรัฐบาลโชกุนต้องมีความรู้เกี่ยวกับหนังสือทั้งสี่และวรรณกรรมคลาสสิกทั้งห้า (Four Books and Five Classics) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของลัทธิขงจื้อ ทำให้ชนชั้นซามูไรผันตนเองจากนักรบในยุคเซงโงกุมาเป็นนักปราชญ์ในยุคเอโดะ แต่เดิมนั้นในญี่ปุ่นมีเพียงพระสงฆ์และชนชั้นขุนนางในเมืองเกียวโตเท่านั้นที่สามารถเรียนรู้หนังสือได้ ชนชั้นซามูไรนักรบไม่รู้หนังสือแต่ในยุคเอโดะด้วยอิทธิพลของลัทธิขงจื้อทำให้ซามูไรรู้หนังสือ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะรับรองสำนักของจูซือ (ญี่ปุ่น: 朱子学โรมาจิShushi-gaku) ให้เป็นสำนักที่มีหลักคำสอนที่ถูกต้อง ในค.ศ. 1691 โชกุนโทกูงาวะ สึนาโยชิ มีคำสั่งให้ย้ายสถานที่ตั้งของสำนักเซนเซเด็งจากอูเอโนะมาตั้งที่บริเวณเขตบุงเกียว ตั้งชื่อใหม่ว่าสำนักโชเฮโก (ญี่ปุ่น: 昌平黌โรมาจิShōheikō) หรือยูชิมะ เซโด ไว้เป็นสำนักขงจื้อประจำชาติ และแต่งตั้งฮายาชิ โฮโก (ญี่ปุ่น: 林 鳳岡โรมาจิHayashi Hōkō) หลานชายของฮายาชิราซังขึ้นเป็นอธิการบดีแห่งยูชิมะเซโดผู้ดูแลปรัชญาขงจื้อทั้งมวลในญี่ปุ่น ตระกูลฮายาชิมีอำนาจจากการถือครองตำแหน่งไดงากุ-โนะ-กามิซึ่งมีฐานะเทียบเท่าไดเมียวและครองตำแหน่งนี้ไปตลอดสมัยเอโดะ ในค.ศ. 1790 โรจูมัตสึไดระ ซาดาโนบุ ประกาศให้ลัทธิขงจื้อสำนักจูซือเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ

โอกีว โซไร (Ogyū Sorai) นักปราชญ์ขงจื้อผู้ได้รับยกย่องว่าทรงอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดในปลายยุคเอโดะ

แม้ว่ารัฐบาลโชกุนจะให้การสนับสนุนแก่สำนักของจูซือแต่ในกลุ่มซามูไรระดับล่างและในกลุ่มโรนิง มีการศึกษาเล่าเรียนลัทธิขงจื้อของหวังหยางหมิง ซึ่งเป็นนักปราชญ์ขงจื้อในสมัยราชวงศ์หมิงมีแนวความคิดขัดแย้งกับสำนักของจูซือ ในขณะที่สำนักของจูซือสอนว่ามนุษย์ต้องแสวงหาความรู้สำนักของหวังหยางหมิงสอนว่ามนุษย์มีความรู้แจ้งอยู่แล้วภายในตัวตั้งแต่เกิด นากาเอะ โทจู (ญี่ปุ่น: 中江藤樹โรมาจิNakae Tōju) นำปรัชญาของสำนักหวังหยางหมิงเข้าสู้แวดวงชั้นปกครอง ศิษย์ของนากาเอะ โทจู คือคูมาซาวะ บันซัน (ญี่ปุ่น: 熊沢蕃山โรมาจิKumazawa Banzan) โจมตีหลักการของสำนักจูซือและอำนาจของตระกูลฮายาชิ ลัทธิขงจื้อสำนักของหวังหยางหมิงกลายเป็นศูนย์รวมของกลุ่มผู้ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะโดยเฉพาะกลุ่มโรนิง ทำให้รัฐบาลโชกุนและตระกูลฮายาชิเข้าทำการปราบปรามนักปราชญ์สำนักหวังหยางหมิงอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ในยุคเอโดะยามางะ โซโก (ญี่ปุ่น: 山鹿素行โรมาจิYamaga Sokō) ยังนำเอาหลักของลัทธิขงจื้อมาประยุกต์กับหลักวิถีของนักรบซามูไรดังเดิม นำไปสู่การกำเนิดลัทธิบูชิโด (ญี่ปุ่น: 武士道โรมาจิBushidō) หรือหลักการของนักรบ ซึ่งเน้นในเรื่องการถือเกียรติยศความซื่อสัตย์จงรักภักดีสำคัญยิ่งกว่าชีวิต

ในยุคเอโดะตอนปลายนักปราชญ์ขื่อว่าโอกีว โซไร (ญี่ปุ่น: 荻生徂徠โรมาจิOgyū Sorai) มีความเห็นว่าลัทธิขงจื้อสำนักของจูซือแบบราชวงศ์ซ่งไม่ใช่ลัทธิขงจื้อที่แท้จริงเนื่องจากมีเรื่องคุณธรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาเข้ามา ลัทธิขงจื้อดั้งเดิมจากยุควสันตสารทเน้นเรื่องรัฐศาสตร์การปกครองและพิธีกรรมเป็นหลัก โอกีว โซไร วิจารณ์สำนักจูซือว่าให้ความสำคัญแก่แนวความคิดในยุคราชวงศ์ซ่งมากเกินไปจนละเลยหลักของขงจื้อแท้ดั้งเดิม และมีเห็นว่าปัญหาเรื่องการปกครองของรัฐบาลโชกุนในยุคปลายสมัยเอโดะควรจะแก้ปัญหาด้วยหลักรัฐศาสตร์แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยคุณธรรม โอกีว โซไร ส่งเสริมการศึกษาหลักปรัชญาขงจื้อแท้บริสุทธิ์ของจีนโบราณได้แก่หนังสือทั้งสี่และวรรณกรรมคลาสสิกทั้งห้า

แนวความคิดโคกูงากุ

[แก้]

ในยุคเอโดะซามูไรชนชั้นปกครองศึกษาลัทธิขงจื้อเป็นหลักและชื่นชมสังคมจีนโบราณว่าเป็นแบบอย่างแห่งคุณธรรมและการปกครอง ในช่วงปลายยุคเอโดะเกิดแนวความคิดสวนกระแสหันมาศึกษาและชื่นชมความเป็นญี่ปุ่นโบราณดั้งเดิม เรียกว่า แนวความคิดโคกูงากุ (ญี่ปุ่น: 国学โรมาจิKokugaku) หรือ "ชาติศึกษา" ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระจักรพรรดิและศาสนาชินโต โทกูงาวะ มิตสึกูนิ (ญี่ปุ่น: 徳川光圀โรมาจิTokugawa Mitsukuni) ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณและรวบรวมจัดทำหนังสือเรื่อง "มหาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น" (ญี่ปุ่น: 大日本史โรมาจิDai Nihonshi) ขึ้นในค.ศ. 1657 นำไปสู่การจัดตั้งสำนักมิโตะ (ญี่ปุ่น: 水戸学โรมาจิMitogaku) โทกูงาวะ มิตสึกูนิ ใช้หลักของลัทธิขงจื้อเข้าตีความประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณ โดยมองว่าญี่ปุ่นในสมัยโบราณอันมีองค์พระจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางเป็นการปกครองที่มีธรรมภิบาลและสังคมญี่ปุ่นมีความดีงามอย่างที่ลัทธิขงจื้อเชิดชู ในค.ศ. 1798 โมโตโอริ โนรินางะ (ญี่ปุ่น: 本居宣長โรมาจิMotoori Norinaga) นักปราชญ์โคกูงากุ แต่งอรรถาธิบายเกี่ยวกับโคกิจิ (ญี่ปุ่น: 古事記伝โรมาจิKojiki-den) โมโตโอริ โนรินางะ มีความเห็นแตกต่างจากโอกีว โซไร ในขณะที่โอกิวโซไรเชิดชูจีนโบราณและลัทธิขงจื้อบริสุทธิ์ โมโตโอโร โนรินางะ ยกความสำคัญของญี่ปุ่นโบราณขึ้นมา

ในค.ศ. 1841 โทกูงาวะ นาริอากิ ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ ก่อตั้งโคโดกัง (ญี่ปุ่น: 弘道館โรมาจิKōdōkan) หรือสำนักศึกษามิโตะทำให้แคว้นมิโตะกลายเป็นแหล่งประชุมของผู้เชิดชูสถาบันพระจักรพรรดิและต่อต้านรัฐบาลโชกุน ลัทธิโคกูงากุมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวความคิดซนโน-โจอิ ซึ่งส่งผลต่อการล่มสลายของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ และมีอิทธิพลต่อลัทธิชาตินิยมในยุคเมจิสมัยต่อมา

พุทธศาสนา

[แก้]

ในยุคเอโดะพุทธศาสนามหายานในญี่ปุ่นยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโชกุนและยังคงดำรงอยู่ต่อมา เนื่องจากซามูไรชนชั้นปกครองหันไปศึกษาลัทธิขงจื้อทำให้การศึกษาพุทธศาสนาในยุคเอโดะคงที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย แต่พุทธศาสนาญี่ปุ่นในยุคเอโดะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พุทธศาสนาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโชกุนผ่านระบบดังกะ (ญี่ปุ่น: 檀家制度โรมาจิDanka Seido) เนื่องจากรัฐบาลโชกุนต้องการปราบปรามศาสนาคริสต์ จึงจัดตั้งระบบลงทะเบียนประชาชนชาวบ้านญี่ปุ่นทุกคนไว้กับวัดในบริเวณนั้นๆ เพื่อให้วัดเป็นผู้สอดส่องดูแลมิให้เกิดการเผยแพร่และปฏิบัติกิจกรรมของศาสนาคริสต์ขึ้น โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าชาวบ้านจะต้องจ่ายค่าทำนุบำรุงวัดที่ตนเองอยู่ในสังกัด เรียกว่าระบบดังกะ ทำให้วัดในพระพุทธศาสนาในยุคเอโดะยังคงได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ

ในยุคเอโดะมีการนำเข้าพุทธศาสนานิกายเซ็นสำนักใหม่ เนื่องจากรัฐบาลโชกุนจำกัดการค้าเรือสำเภาจีนไว้ที่เมืองนางาซากิ ทำให้เมืองนางาซากิเกิดชุมชนชาวจีนขึ้น ในค.ศ. 1654 พระภิกษุนิกายเซ็นสำนักหลินจี้ชาวจีนฟูเจี้ยนชื่อว่าอิ่นหยวนหลงฉี (จีน: 隱元隆琦; พินอิน: Yǐnyuán Lóngqí) หรือพระภิกษุอินเก็ง (ญี่ปุ่น: 隱元โรมาจิIngen) ได้รับเชิญมายังเมืองนางาซากิเพื่อสั่งสอนพระธรรมให้แก่ชาวจีนในเมืองนางาซากิ ต่อมาพระภิกษุอินเก็งมีชื่อเสียงมากขึ้นในวงการพุทธศาสนาญี่ปุ่น จึงได้รับเชิญให้มาก่อตั้งสำนักนิกายเซ็นขึ้นใหม่ เรียกว่าสำนักโอบากุ (ญี่ปุ่น: 黄檗โรมาจิŌbaku) ตั้งชื่อตามภูเขาซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระภิกษุอินเก็งในประเทศจีน ภิกษุอินเก็งสร้างวัดมัมปูกุ (ญี่ปุ่น: 萬福寺โรมาจิManpuku-ji) ขึ้นที่เมืองอูจิใกล้กับเมืองเกียวโต ให้เป็นศูนย์กลางของสำนักโอบากุ เดิมก่อนหน้านี้ในญี่ปุ่นมีพุทธศาสนานิกายเซ็นอยู่แล้วสองสำนัก ได้แก่ สำนักริงไซ (ญี่ปุ่น: 臨濟โรมาจิRinzai ) หรือหลินจี้ และสำนักโซโต ซึ่งเข้ามาประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคคามากูระ แม้ว่าสำนักโอบากุจะมีต้นกำเนิดจากสำนักหลินจี้ของจีนเช่นเดียวกับสำนักริงไซแต่ทั้งสำนักริงไซและโอบากุมีความแตกต่างกันในรายละเอียดพิธีกรรม สำนักโอบากุมีการประกอบพิธีกรรมแบบจีนราชวงศ์หมิงและมีการสวดอมิตาพุทธ ในขณะที่นิกายเซ็นในญี่ปุ่นมีการแบ่งแยกจากนิกายแดนสุขาวดีอย่างชัดเจนในประเด็นเรื่องการสวดอมิตาพุทธ

ศาสนาคริสต์

[แก้]
รูปปั้นพระแม่มารีของชาวคากูเระคริสเตียน ซึ่งดัดแปลงให้คล้ายคลึงกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในพุทธศาสนามหายาน แสดงถึงการปิดบังซ่อนเร้นความเชื่อของตนจากรัฐบาลโชกุน

ในยุคเซงโงกุมิชชันนารีคณะเยซูอิตชาวโปรตุเกสและสเปนเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกในญี่ปุ่น ทำให้มีศาสนิกชนในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะบนเกาะคีวชูและภูมิภาคทางฝั่งตะวันตกของประเทศ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ พยายามจะปราบปรามศาสนาคริสต์หลายครั้งแต่ศาสนิกชนคริสเตียนยังดำรงอยู่ ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอยาซุ ศาสนิกชนชาวคริสต์ในญี่ปุ่นมีเสรีภาพในการนับถือและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ต่อมาในค.ศ. 1614 โอโงโชอิเอยาซุออกประกาศห้ามการนับถือและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ ฮิเดตาดะ ด้วยอิทธิพลของลัทธิขงจื้อใหม่ทำให้รัฐบาลโชกุนปราบปรามศาสนาคริสต์มากขึ้น ในค.ศ. 1622 เกิดการสังหารชาวคริสเตียนจำนวนห้าสิบคนที่เมืองนางาซากิเรียกว่า การปราบปรามชาวคริสเตียนปีเง็นนะ (ญี่ปุ่น: 元和の大殉教โรมาจิGenna-no-daijungyō) และในค.ศ. 1629 เกิดการปราบปรามชาวคริสเตียนที่นางาซากิอีกครั้ง รัฐบาลบากูฟุได้บังคับให้ชาวคริสเตียนทำการฟูมิเอะ (ญี่ปุ่น: 踏み絵โรมาจิfumi-e) เหยียบย่ำลงบนรูปของพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้เป็นคริสเตียน ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ มีนโยบาลการปิดประเทศและขับไล่ชาวโปรตุเกสและสเปนออกไปจากญี่ปุ่น ทำให้บาทหลวงชาวยุโรปไม่สามารถเข้ามาประกอบพิธีทางศาสนาในญี่ปุ่นได้ การกดขี่ชาวคริสเตียนอย่างหนักและภาวะอดอยากทำให้ชาวคริสเตียนที่แหลมชิมาบาระบนเกาะคีวชูก่อกบฏขึ้นในค.ศ. 1637 เรียกว่า กบฏชิมาบาระ (ญี่ปุ่น: 島原の乱โรมาจิShimabara-no-ran) ผู้นำกบฎได้ใช้ศาสนาคริสต์เป็นศูนย์รวมในการต่อต้านรัฐบาลโชกุน

หลังจากที่กบฎชิมาบาระถูกรัฐบาลโชกุนปราบปรามลง ทำให้ศาสนาคริสต์เกือบสูญสิ้นไปจากญี่ปุ่น รัฐบาลโชกุนเข้าตรวจสอบและควบคุมกิจกรรมของศาสนาคริสต์อย่างหนัก โดยใช้ระบบดังกะให้ประชาชนลงทะเบียนกับวัดในพื้นที่เพื่อให้วัดเป็นผู้สอดส่องดูแล อย่างไรก็ตามศาสนิกชนขาวคริสเตียนที่ยังเหลืออยู่จำต้องประกอบพิธีทางศาสนาและนับถือศาสนาคริสต์อย่างเป็นความลับ กลายเป็นชาวคริสเตียนลับ หรือคากูเระคริสเตียน (ญี่ปุ่น: 隠れキリシタンโรมาจิKakure Kirishitan) ซึ่งชาวคากูเระคริสเตียนใช้วิธีการต่างๆเพื่อหลบซ่อนและปิดบังกิจกรรมทางศาสนาของตนไม่ให้รัฐบาลโชกุนล่วงรู้ ยกตัวอย่างเช่นการสร้างรูปพระแม่มารีให้คล้ายคลึงกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือการดัดแปลงบทสวดมิสซาให้คล้ายคลึงกับการสวดในพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากชาวคากูเระคริสเตียนขาดผู้นำทางศาสนาและมีคฤหัสถ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเนื่องจากขาดบาทหลวง ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมของชาวคากูเระคริสเตียนเบี่ยงเบนไปจากเดิมกลายเป็นลัทธิบูชารูปปั้นหรือลัทธิบูชาบรรพบุรุษ

ในค.ศ. 1865 ปลายยุคเอโดะ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อว่าแบร์นาร์ เปตีฌ็อง (Bernard Petitjean) ผู้ก่อตั้งโบสถ์โออูระที่เมืองนางาซากิ ได้พบกับชาวคากูเระคริสเตียน บาทหลวงเปตีฌ็องพบว่าหลักความเชื่อและพิธีกรรมของชาวคากูเระคริสเตียนมีความแตกต่างจากศาสนาคริสต์ที่แท้จริงอย่างมาก บาทหลวงเปตีฌ็องจึงชักชวนให้ชาวคากูเระคริสเตียนกลับเข้าสู่ศาสนาคริสต์กระแสหลัก ชาวคากูเระคริสเตียนจำนวนมากจึงกลับเข้าสู่คริสตจักรโรมันคาทอลิกอีกครั้ง อย่างไรก็ตามมีชาวคากูเระคริสเตียนจำนวนหนึ่งปฏิเสธที่จะกลับเข้าสู่คริสตจักรโรมันคาทอลิกและยึดมั่นในความเชื่อและพิธีกรรมเดิมของตน กลายเป็นชาวฮานาเระคริสเตียน (ญี่ปุ่น: 離れキリシタンโรมาจิHanare Kirishitan)

ดูเพิ่ม

[แก้]
  1. ดิษฐาน, กรกิจ. ปฏิวัติเมจิ หน้า 31.
  2. https://www.encyclopedia.com/environment/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/fujiwara-seika
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-12. สืบค้นเมื่อ 2019-12-02.