ซาโกกุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ซาโกกุ (อังกฤษ: Sakoku; ญี่ปุ่น: 鎖国) เป็นนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะเป็นระยะเวลา 265 ปีในช่วงยุคเอโดะ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1603 ถึง 1868) ความสัมพันธ์และการค้าระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ถูกจำกัดอย่างรุนแรงและชาวต่างชาติเกือบทั้งหมดถูกห้ามไม่ให้เข้ามาในประเทศขณะที่คนญี่ปุ่นถูกกันไม่ให้ออกนอกประเทศ

นโยบายดังกล่าวประกาศใช้โดยรัฐบาลโชกุนภายใต้การปกครองของโทกูงาวะ อิเอมิตสึ ผ่านกฤษฎีกาหลายฉบับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1633 ถึง ค.ศ. 1639 และสิ้นสุดลงหลังจาก ค.ศ. 1853 เมื่อ "การเดินทางของเพร์รี" ของพลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รีบังคับให้เปิดประเทศญี่ปุ่นเพื่อการค้ากับอเมริกาผ่านสนธิสัญญาที่เรียกว่าสนธิสัญญาคานางาวะ

ช่วงเวลาของการค้าขายที่ไม่จำกัด กะลาสีเรือและพ่อค้าชาวญี่ปุ่นเดินทางไปทั่วเอเชีย บางครั้งก่อตัวเป็นชุมชนนิฮอนมาชิในบางเมือง เช่น หมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยา ในขณะที่ทูตอย่างเป็นทางการไปเยือนรัฐต่าง ๆ ในเอเชีย นิวสเปน (รู้จักกันในนามเม็กซิโกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19) และยุโรป ช่วงนี้มีพ่อค้าและโจรสลัดต่างชาติจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและทำงานในน่านน้ำญี่ปุ่น

คำว่า ซาโกกุ มีต้นกำเนิดมาจากงานเขียนต้นฉบับชื่อ ซาโกกุ-รง ที่เขียนโดยนักดาราศาสตร์และนักแปลชาวญี่ปุ่นชื่อ ชิซูกิ ทาดาโอะ ในปี ค.ศ. 1801 ชิซูกิ ได้คิดคำขึ้นในขณะที่แปลผลงานของ เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ นักเดินทางและแพทย์ชาวเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น[1]หลังจากเดินทางมาจากอาณาจักรอยุธยา

ญี่ปุ่นไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างสมบูรณ์ภายใต้นโยบายซาโกกุ ซาโกกุเป็นระบบที่มีการวางกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยรัฐบาลโชกุนและแคว้นศักดินาบางแห่ง มีการค้าขายกับจีนอย่างกว้างขวางผ่านท่าเรือนางาซากิทางตะวันตกสุดของญี่ปุ่น นโยบายดังกล่าวระบุว่าอิทธิพลของยุโรปเพียงแห่งเดียวคือโรงงานของดัตช์ที่เดจิมะในนางาซากิ นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคนิค และการแพทย์ของตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นผ่าน รังงากุ (ดัตช์ศึกษา) การค้ากับเกาหลีจำกัดอยู่ที่ แคว้นศักดินาสึชิมะ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนางาซากิ) และการแลกเปลี่ยนทางการทูตได้กระทำผ่าน โชซ็อน ทงชินซา จากเกาหลี การค้ากับชาวไอนุถูกจำกัดไว้ที่แคว้นศักดินามัตสึมาเอะในฮอกไกโด และการค้ากับอาณาจักรริวกิวเกิดขึ้นในแคว้นศักดินาซัตสึมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดคาโงชิมะ)[2] นอกเหนือจากการติดต่อทางการค้าโดยตรงเหล่านี้ในต่างจังหวัด ประเทศคู่ค้ายังส่งคณะทูตไปพบโชกุนที่ปราสาทเอโดะและที่ปราสาทโอซากะ

นอกจากนี้ จีนภายใต้ราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง และเกาหลีภายใต้ราชวงศ์โชซ็อนได้ดำเนินนโยบายการโดดเดี่ยวก่อนที่ญี่ปุ่นจะทำ โดยเริ่มจากราชวงศ์หมิงที่ดำเนินนโยบายไห่จินในปี ค.ศ. 1371 ซึ่งต่างจากซาโกกุ อิทธิพลจากต่างประเทศนอกเอเชียตะวันออกถูกห้ามโดยจีนและเกาหลี ในขณะที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้มีการศึกษาแนวความคิดแบบตะวันตกหรือ รังงากุ ยกเว้นศาสนาคริสต์ จีนถูกบังคับให้เปิดประเทศโดยสนธิสัญญานานกิงและสนธิสัญญาที่ตามมาภายหลังความพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง โชซ็อนซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะอาณาจักรฤๅษีถูกบังคับออกจากการโดดเดี่ยวโดยญี่ปุ่นโดยสนธิสัญญาญี่ปุ่น–เกาหลี ค.ศ. 1876 โดยใช้การทูตด้วยเรือปืนซึ่งสหรัฐเคยใช้บังคับญี่ปุ่นให้เปิดประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  1. Gunn, Geoffrey C (2003), First globalization: the Eurasian exchange, 1500 to 1800, p. 151, ISBN 9780742526624
  2. Jalal, Ibrahim (2021) Hokkaido - A History of Japan's Northern Isle and its People. Earnshaw Books. pp 43-44