สุขาวดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตรกรรมฝาผนัง พุทธเกษตรของพระอมิตาภะ ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเบอร์มิงแฮม

ตามคติศาสนาพุทธนิกายมหายาน สุขาวดี (สันสกฤต: सुखावती, สุขาวตี) คือพุทธเกษตรของพระอมิตาภพุทธะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโลก สุขาวดีไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นภูมิที่สาวกของพระอมิตาภะใช้ปฏิบัติธรรมต่อหลังจากสิ้นชีวิตบนโลกเพื่อบรรลุนิพพานต่อไป

ความเชื่อ[แก้]

แดนสุขาวดี รูปลักษณ์ประติมากรรม

ในอมิตาภสูตรซึ่งเป็นพระสูตรมหายาน ได้พรรณนาลักษณะของสุขาวดีพุทธเกษตรไว้ว่า[1] เป็นดินแดนที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจบารมีของพระอมิตาภพุทธะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอดีตย้อนไปก่อนหน้าพระโคตมพุทธเจ้าไป 10 กัป ที่ได้ชื่อว่าสุขาวดีก็เพราะผู้อยู่ในดินแดนนี้ย่อมไม่มีความทุกข์เลย แต่เสวยสุขอยู่เสมอ สุขาวดีเป็นดินแดนที่สวยงามและสุขสบาย กล่าวคือ มีล้อมรอบด้วยภูเขาแก้ว กำแพงแก้ว มีสระโบกขรณีที่ประดับด้วยแก้วมณี มีดนตรีทิพย์บรรเลงอยู่เสมอ มีนกร้องออกมาเป็นเสียงธรรมเทศนา บรรยากาศต่าง ๆ นี้ทำให้ผู้อาศัยเกิดพุทธาสุสติ ธัมมานุสสติ และสังฆานุสสติ และตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพพานในดินแดนแห่งนี้

ส่วนอมิตายุรัธยานสูตรระบุว่าผู้ไปเกิดในแดนสุขาวดีแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือผู้ศรัทธาในมหายาน สาวกยาน และพวกมิจฉาทิฏฐิ แต่ละชั้นยังแบ่งออกเป็น 3 ระดับ จึงรวมทั้งสิ้นมี 9 ระดับ ผู้เกิดในระดับสูงจะใช้เวลาบำเพ็ญบารมีต่ออีกไม่นานก็จะได้บรลุธรรม ส่วนระดับต่ำลงไปก็จะใช้เวลานานขึ้นตามลำดับ โดยชั้นต่ำสุดจะใช้เวลา 12 กัปจึงจะบรรลุธรรม[2]

การตีความ[แก้]

แต่เดิมนิกายสุขาวดีถือว่าสุขาวดีเป็นพุทธเกษตรที่ดำรงอยู่จริง ๆ ทางกายภาพ และมีลักษณะดังที่พระสูตรได้อธิบายไว้ ต่อมามีการผสมผสานความเชื่อของนิกายนี้เข้ากับนิกายเซน ทำให้แนวคิดสุขาวดีถูกอธิบายในเชิงธรรมาธิษฐาน[3] ว่าแท้จริงแล้วสุขาวดีเป็นเพียงแดนที่ถูกสมมติขึ้น เพื่อเป็นอุบายให้พุทธศาสนิกชนใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจว่าการหลุดพ้นจากทุกข์ไม่ใช่เรื่องยากลำบากเกินไป การระลึกถึงพระอมิตาภะและพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ในสุขาวดีก็เพื่อเป็นอุบายให้นักปฏิบัติปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน พระอมิตาภะแท้จริงหมายถึงธรรมชาติพุทธะที่มีอยู่ในตัวคนทุกคนอยู่แล้ว การระลึกถึงพระอมิตาภะก็เพื่อน้อมนำจิตของผู้นั้นให้กลับก้าวไปสู่ความเป็นพุทธะต่อไป และแดนบริสุทธิ์สุขาวดีถูกตีความใหม่เป็นภาวะที่จิตที่บริสุทธิ์ที่มีอยู่แล้วในจิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย การปฏิบัติต่าง ๆ จึงทำเพื่อน้อมจิตให้กลับไปสู่สภาพบริสุทธิ์ดั้งเดิม[4] การสวดพระนามพระอมิตาภะเป็นพุทธานุสติแบบหนึ่ง ซึ่งต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการรักษาศีลและศึกษาพระธรรม

ลัทธิอนุตตรธรรม[แก้]

ลัทธิอนุตตรธรรมมีความเชื่อเกี่ยวกับสุขาวดีต่างจากพระพุทธศาสนา ในพระโอวาทพระอนุตตรธรรมมารดาสิบบัญญัติ (จีน: 皇母訓子十誡) ซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มหนึ่งของลัทธิอนุตตรธรรมระบุว่าสุขาวดีคือนิพพาน เรียกอีกอย่างว่าอนุตตรภูมิ (จีน: 理天 หลี่เทียน) เป็นที่ประทับของพระแม่องค์ธรรม พระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่ง และให้กำเนิดจิตจำนวน 9,600,000,000 ดวง[5] สุขาวดีจึงเป็นต้นกำเนิดของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย พระแม่และดวงจิตทั้งหมดได้เสวยสุขร่วมกันบนสุขาวดีเป็นเวลานาน จนเมื่อพระแม่สร้างโลกขึ้นจึงส่งดวงจิตทั้งหมดลงมาเกิดบนโลก เพื่อใหช่วยกันพัฒนาโลกให้เจริญขึ้น แต่สรรพสัตว์กลับหลงลืมธรรมชาติบริสุทธิ์ดั้งเดิมของตน จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปและไม่สามารถกลับสู่สุขาวดีได้ พระแม่องค์ธรรมจึงต้องส่งพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเซียนทั้งหลาย ลงมาชี้แนะมนุษย์และนำพาเวไนยสัตว์กลับสู่นิพพานคือสุขาวดีซึ่งเป็นบ้านเดิมต่อไป[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. อมิตาพุทธสูตร เก็บถาวร 2011-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หลวงจีนวิศวภัทร มณีปัทมเกตุ แปล, พ.ศ. 2552
  2. อมิตายุรัธยานสูตร[ลิงก์เสีย], หลวงจีนวิศวภัทร มณีปัทมเกตุ แปล, พ.ศ. 2552
  3. เสถียร โพธินันทะ, ปรัชญามหายาน, กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2548, หน้า168-170
  4. สุมาลี มหณรงค์ชัย, พุทธศาสนามหายาน, กรุงเทพฯ:ศยาม, 2546, หน้า 236-248
  5. "พระโอวาทพระอนุตตรธรรมมารดาสิบบัญญัติ : ข้อหนึ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-10. สืบค้นเมื่อ 2014-02-05.
  6. The Organization and Ideologies of the White Lotus Sects