หัสตินาปุระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Hastinapur)
หัสตินาปุระ

Hastinapur
เมือง
วัดในหัสตินาปุระ
วัดในหัสตินาปุระ
หัสตินาปุระ
หัสตินาปุระ
หัสตินาปุระ
ที่ตั้งเมืองหัสตินาปุระใน รัฐอุตตรประเทศ
พิกัด: 29°10′N 79°01′E / 29.17°N 79.02°E / 29.17; 79.02พิกัดภูมิศาสตร์: 29°10′N 79°01′E / 29.17°N 79.02°E / 29.17; 79.02
ประเทศธงของประเทศอินเดีย อินเดีย
รัฐอุตตรประเทศ
ภาษาราชการฮินดี
ความสูง202 เมตร (663 ฟุต)
ประชากร
 (2544)
 • ทั้งหมด21,248 คน

กรุงหัสตินาปุระ (เทวนาครี: हस्‍तिनापुर) เป็นเมืองหนึ่งในเรื่องมหาภารตะ ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในอดีตมีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ อันประกอบไปด้วย

  1. ท้าวปุรูรพ โอรสของนางอิลา(ท้าวอิลราชที่ต้องคำสาปพระศิวะเมื่อล่วงเข้าไปในสวนต้องห้ามกลายเป็นสตรีไป)กับพระพุธ ปฐมกษัตริย์แห่งจันทรวงศ์ ครองกรุงประดิษฐาน ได้นางอัปสรอุรวศีเป็นมเหสี มีโอรสองค์โตชื่อ ท้าวอายุ และบุตรองค์อื่นๆอีก 5 องค์ คือ ท้าวอมาวสุ ท้าววิศวายุ ท้าวศรุตายุ ท้าวศตายุ ท้าวทฤธายุ
  2. ท้าวอายุ เป็นกษัตริย์องค์ที่สอง เป็นโอรสของท้าวปุรุรพ กับนางอัปสรอุรวศี มีบุตรนามว่า ท้าวนหุษะ เกิดจากพรของพระทัตตาเตรยะมหามุนี
  3. ท้าวนหุษะ เป็นกษัตริย์องค์ที่สาม เป็นโอรสของท้าวอายุ กับนางอินทุมดี มีมเหสีนามว่า นางอโศกสุนทรี(ธิดาพระศิวะกับพระแม่อุมาเทวี เกิดจากการขอธิดาจากต้นกัลปพฤกษ์) มีโอรสชื่อ ยาติ ยยาติ สัมยาติ อยาติ วิยาติ กฤติ ต่อมาเกิดเรื่องบนสวรรค์จนพระอินทร์ต้องหนีไปบำเพ็ญตบะ หายไปจากสวรรค์ชั่วคราว เหล่าเทพจึงเชิญราชานหุษะขึ้นไปครองสวรรค์ แต่ต่อมาราชานหุษะอยากได้พระนางอินทราณีศจีมเหสีพระอินทร์เป็นชายา จึงหาทางหว่านล้อม สุดท้ายอินทราณีออกอุบายให้ราชานหุษะนั่งคานหามที่ให้สัปตฤๅษีเป็นคนแบกมาในพิธีวิวาห์ แต่เหล่าฤๅษีนั้นชรามาก จึงไปได้ช้า ราชานหุษะหน้ามืดตามัว ถีบฤๅษีวศิษฐ์ล้มลง และกล่าวบริพาทฤๅษีอคัสตยะ ผู้มีรูปร่างเตี้ย เหล่าสัปตฤๅษีจึงสาปให้ราชานหุษะกลายเป็นงูหล่นลงมาจากสวรรค์ และยุธิษฐิระมาแก้คำสาปให้ในมหาภารตะนั่นเอง
  4. ท้าวยยาติ เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่ โอรสของท้าวนหุษะ กับพระนางอโศกสุนทรี ได้เป็นถึงพระจักรพรรดิ มีมเหสีสององค์คือ นางศรมิษฐา(ธิดาท้าววฤษบรรพ์ ราชาแห่งพวกทานพ) มีลูกชื่อ ท้าวทรุห์ยุ (ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรตวิประ) ท้าวอนุ (ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรมเลจฉะและราชอาณาจักรไกเกยะ) ท้าวปุรุ (ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรเปารวะ) และนางเทวยานี(ธิดาพระศุกร์) มีลูกชื่อ ท้าวยทุ (ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ยาทพ) ท้าวตุรวสุ (ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรยาวนะ) และนางมาธวี แต่ต่อมาราชายยาติให้ความรักแก่เทวยานีน้อยกว่าศรมิษฐา พระศุกร์ซึ่งเป็นบิดาจึงสาปให้ราชายยาติแก่เร็วกว่ากำหนด ทางแก้คำสาปคือให้โอรสรับคำสาปแทน ท้าวปุรุรับคำสาปแทนบิดา จึงได้ครองกรุงประดิษฐาน ส่วนท้าวยทุโดนขับไล่ออกจากเมือง จึงแยกออกไปเป็นราชวงศ์ยาทพ(ต้นวงศ์ของพระกฤษณะกับพระพลรามนั่นเอง)
  5. ท้าวปุรุ เป็นกษัตริย์องค์ที่ห้า โอรสของท้าวยยาติ กับนางศรมิษฐา มีบุตรนามว่า ท้าวมนัสยุ
  6. ท้าวมนัสยุ เป็นกษัตริย์องค์ที่หก โอรสของท้าวปุรุ กับนางเกาศัลยา มีบุตรนามว่า ท้าวอิลีนะ
  7. ท้าวอิลีนะ เป็นกษัตริย์องค์ที่เจ็ด โอรสของท้าวมนัสยุ มีบุตรนามว่า ท้าวทุษยันต์
  8. ท้าวทุษยันต์ เป็นกษัตริย์องค์ที่แปด โอรสของท้าวอิลีนะ กับนางรฐันตรา มีมเหสีชื่อศกุนตลา (ธิดาของฤๅษีวิศวามิตรกับนางอัปสรเมนกา) มีบุตรนามว่า ท้าวภรตะ
  9. ท้าวภรตะ เป็นกษัตริย์องค์ที่เก้า ได้เป็นถึงพระจักรพรรดิ ครองทั่วทั้งแคว้น อินเดียจึงถูกขนานนามว่า ดินแดนภารตะ เป็นโอรสของท้าวทุษยันต์ กับนางศกุนตลา มีบุตรนามว่า ท้าวภูมันยุ
  10. ท้าวภูมันยุ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบ โอรสของท้าวภรตะ กับนางสุนันทา มีบุตรนามว่า ท้าวสุโหตระ
  11. ท้าวสุโหตระ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบเอ็ด โอรสของท้าวภูมันยุ กับนางสุวรรณา มีบุตรนามว่า ท้าวหัสติน
  12. ท้าวหัสติน เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบสอง เป็นผู้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงประดิษฐาน มาก่อตั้งกรุงหัสตินาปุระ โอรสของท้าวสุโหตระ กับนางชยันตี มีบุตรนามว่า ท้าววิกัณชะ
  13. ท้าววิกัณชะ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบสาม โอรสของท้าวหัสติน กับนางยโสธรา มีบุตรนามว่า ท้าวอัชมีธะ
  14. ท้าวอัชมีธะ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบสี่ โอรสของท้าววิกัณชะ กับนางสุนันทา มีบุตรนามว่า ท้าวอิรุศะ
  15. ท้าวอิรุศะ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบห้า โอรสของท้าวอัชมีธะ มีน้องชายสองพันคน และมีบุตรนามว่า ท้าวสังวรณ์
  16. ท้าวสังวรณ์ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบหก โอรสของท้าวอิรุศะ มีมเหสีชื่อ พระนางตัปตี มีบุตรนามว่า ท้าวกุรุ
  17. ท้าวกุรุ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบเจ็ด โอรสของท้าวสังวรณ์ กับนางตัปตี เป็นปฐมกษัตริย์ของกุรุราชวงศ์ มีบุตรนามว่า ท้าววิธูรถะ
  18. ท้าววิธูรถะ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบแปด โอรสของท้าวกุรุ กับนางศุพังคี มีบุตรนามว่า ท้าวประตีปะ
  19. ท้าวประตีปะ เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบเก้า โอรสของท้าววิธูรถะ กับนางอมฤตา เป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ ไม่เคยพูดเท็จ มีบุตรนามว่า ท้าวศานตนุ
  20. ท้าวศานตนุ เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบ โอรสของท้าวประติปะ กับนางสุนันทา มีพี่ชายชื่อ เทวาปิ มีน้องชายชื่อ ท้าวพาหลีกะ มีมเหสีสององค์ คือ พระแม่คงคา มีโอรสนามว่า ภีษมะ หรือเทวพรต หรือศานตนพ และพระนางสัตยวดีมีโอรสสององค์ คือ จิตรางคทะ และวิจิตรวีรยะ
  21. ท้าวจิตรางคทะ เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบเอ็ด โอรสของท้าวศานตนุ กับพระนางสัตยวดี ต่อมาสู้กับคนธรรพ์ชื่อ จิตรางคทะ เหมือนกัน จนสิ้นชีพลง
  22. ท้าววิจิตรวีรยะ เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบสอง น้องชายของจิตรางคทะ มีสุขภาพไม่ดี ต่อมาแต่งงานกับนางอัมพา นางอัมพิกา และนางอัมพาลิกา ธิดากษัตริย์แคว้นกาศี ได้เพียง 1 คืนก็สิ้นชีพลง
  23. ท้าวปาณฑุ เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบสาม เกิดจากการนิโยคจากฤๅษีวยาส กับ เจ้าหญิงอัมพาลิกา มีผิวซีดขาว มีมเหสีสองคน คือ พระนางกุนตี และ พระนางมาทรี และมีโอรส 5 คน คือ ห้าพี่น้องปาณฑพ
  24. ท้าวธฤตราษฎร์ เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบสี่ เกิดจากการนิโยคจาก ฤๅษีวยาส กับ เจ้าหญิงอัมพิกา มีนัยน์ตาบอดสนิทแต่กำเนิด มีมเหสี คือ พระนางคานธารี โดยมีโอรสองค์โต คือ ทุรโยธน์ กับอนุชาอีก 99 คน รวมเป็น พี่น้องเการพ และธิดาองค์สุดท้อง ชื่อ ทุหศาลา
  25. ท้าวยุธิษฐิระ (ยุ-ทิด-สะ-ถิ-ระ) เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบห้า เป็นพี่ชายคนโตของเหล่าพี่น้องปาณฑพ บุตรของท้าวปาณฑุ และยังเป็นผู้ก่อตั้งกรุงอินทรปรัสถ์ หลังจากได้ชัยชนะในสงครามมหาภารตะที่ทุ่งกุรุเกษตรแล้ว ก็ได้ปกครองกรุงหัสตินาปุระและกรุงอินทรปรัสถ์ต่อมา จนกระทั่งสละบัลลังก์ให้ปรีกษิต หลานของอรชุนขึ้นครองแทน และออกเดินทางกลับสวรรค์พร้อมกับพระเทราปตี และเหล่าพี่น้องปาณฑพในที่สุด
  26. ท้าวปรีกษิต(ปะ-ริก-สิด) เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบหก เป็นโอรสของ อภิมันยุ (โอรสของอรชุนกับเจ้าหญิงสุภัทรา น้องสาวพระกฤษณะ) และ นางอุตตรา (มหาภารตะ) บุตรีของท้าววิราฎ มีโอรสนามว่าชนเมชัย สิ้นชีพจากคำสาปของบุตรมหาฤๅษีองค์หนึ่ง เพราะโดนปีศาจกลี(ปีศาจแห่งกลียุค บางตำราว่าปีศาจกลี อดีตชาติก็คือ ทุรโยธน์)เข้าสิงในมงกุฎ และยุยงให้ท้าวปรีกษิต ลบหลู่มหาฤๅษีโดยการเอาซากงูไปคล้องคอ บุตรของมหาฤๅษีเห็นเข้าจึงโกรธ และสาปให้ต้องตายด้วยน้ำมือของพญาตักษกนาคราช(นาคตัวเดียวกับเมื่อคราวที่พระกฤษณะและอรชุนเผาป่าขาณฑวะปรัสถ์) ในอีก 7 วัน ราชาปรีกษิตจึงรับคำสาปแต่โดยดี และตายด้วยไฟกรดของพญานาคตักษกะนั้นเอง
  27. ท้าวชนเมชัย เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบเจ็ด โอรสของท้าวปรีกษิต กับนางอิรวดี มีน้องชายสามคนคือ ศรุตเสน อุครเสน ภีมเสน เขามีความแค้นเคืองนาคตักษกะมาก ถึงกับตั้งพิธีสรรปะสัตระยัชนา เรียกนาคทั้งสามพิภพมาบูชายัญในกองไฟ ตักษกะหนีไปยังสวรรค์หลบใต้บัลลังก์ของพระอินทร์ แต่อำนาจของพิธีจึงดึงตักษกะมาพร้อมกับบัลลังก์และพระอินทร์ จนกระทั่งเหล่านาคไปขอความช่วยเหลือจากฤๅษีอัสติกะ(บุตรพระแม่มนสาเทวี) และ ฤๅษีศุกะเทพ(บุตรของมหาฤๅษีวยาส) จึงมาให้ความช่วยเหลือ และเล่าเรื่องศรีมัท ภาควัตปุราณะ จนราชาชนเมชัยสงบลง และได้ครองราชย์สืบต่อมา
  28. ท้าวอัศวเมธทัตต์ เป็นกษัตริย์องค์ที่ยี่สิบแปด พระองค์สุดท้ายแห่งจันทรวงศ์ เป็นโอรสของท้าวชนเมชัย กับนางศตานีกา เขาเกิดจากการกระทำพิธีอัศวเมธ แต่ไร้ผู้สืบบัลลังก์ ราชวงศ์ของกรุงหัสตินาปุระก็สิ้นสุดลง เชื้อพระวงศ์ที่เหลืออยู่ย้ายไปพำนักที่กรุงเกาศัมพี หรือ โกสัมพี แคว้นวัตสะ(ปัจจุบัน คือ เมืองอัลลาฮาบัด) กรุงหัสตินาปุระต่อมาก็จมลงสู่แม่น้ำคงคา เป็นอันหมดสิ้นซึ่งราชอาณาจักรกุรุ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 29°10′N 78°01′E / 29.17°N 78.02°E / 29.17; 78.02{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. ภารตนิยาย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แม่คำฝาง, 2547.