เจ้าแม่สองนาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าแม่สองนาง เป็นตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณผู้หญิงสองคนในชุมชนอีสานและกลุ่มชาติพันธุ์ลาว โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำแถบลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำชี เช่น อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเมืองหนองคายและอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ บ้านแพงใต้ ตำบลบ้านแพง อำเภอบ้านแพง บ้านนาเขท่า ตำบลนาเข อำเภอบ้านแพง บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น บ้านสิงห์ท่า และบ้านสิงห์โคก อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

โครงเรื่องหลักกล่าวว่าเจ้าแม่สองนางซึ่งเป็นพี่น้องหรือฝาแฝด เป็นธิดาของเจ้าเมืองเวียงจันทน์หรือหลวงพระบาง มีการเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ช่วงพระเจ้าฟ้างุ้มและพระไชยเชษฐาธิราช มีการอ้างศึกสงครามซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าแม่สองนางหนีมาและทำให้เรือล่มเสียชีวิต ต่อมาวิญญาณได้ปรากฏให้ชาวบ้านตามชุมชนต่าง ๆ หรือเป็นผู้ติดตามนักรบไปทางบก[1] จากเรื่องในตำนานทำให้ผู้คนชาวอีสานเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของตน

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ขึ้นทะเบียนตำนานเจ้าแม่สองนางเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2555 ในสาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ประเภทนิทานพื้นบ้าน[2]

ผลกระทบ[แก้]

ในแต่ละชุมชนท้องถิ่นมีความเชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ปรากฏเป็นตำนานเรื่องเล่า พิธีกรรม ศาล สิ่งก่อสร้าง รูปเคารพ เป็นต้น ได้แก่

ลัทธิพิธีเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางที่มีต่อชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขงในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร พิธีกรรมประกอบด้วยสัญลักษณ์ที่แสดงสถานภาพของเจ้าแม่สองนางที่เป็นเสมือนเจ้าเมืองมุกดาหารและบรรพบุรุษในอดีต ให้ความหวังเรื่องความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่งแก่ชุมชน ขจัดปัดเป่าเคราะห์ภัยและสร้างขวัญกำลังใจ

สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตำนานเช่น เจดีย์ศรีสองนางที่วัดหอสองนาง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ศาลเจ้าแม่สองนางที่วัดหายโศก อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย หอเจ้าแม่สองนางที่ปากห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ศาลสองนางที่จังหวัดบึงกาฬ เจดีย์ศรีสองนางที่วัดกลาง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ศาลเจ้าแม่สองนางสถิตย์ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ศาลเจ้าแม่สองนางที่บ้านเกิ้ง อำเภอเมืองจังหวัดมหาสารคาม ศาลเจ้าแม่สองนาง บ้านเชียงเหียน อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม หอสองเจ้านาง บ้านหัวขัว ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง บ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ตำนานเจ้าแม่สองนาง". มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-06. สืบค้นเมื่อ 2023-01-06.
  2. "รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน "ตำนานเจ้าแม่สองนาง"". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
  3. ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี (พฤษภาคม–สิงหาคม 2557). "เจ้าแม่สองนาง : การสร้างความหมายของความเชื่อ และบทบาทการเสริมพลังท้องถิ่น" (PDF). วารสารวิชาการแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์. 1 (2).{{cite journal}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]