พิชัยสงคราม
พิชัยสงคราม เป็นคำที่ใช้เรียกหนังสือหรือเอกสารที่มีการรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับกลยุทธ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการรบต่าง ๆ อาทิ การรุก การตั้งรับ การแปรขบวนทัพ การใช้อุบายทำลายข้าศึก เป็นต้น หนังสือจำพวกนี้ในบางแห่งมักจะมีการใส่เนื้อหาที่เป็นความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์เข้ามาประกอบ เช่น การดูฤกษ์ยามในการเคลื่อนทัพ การทำพิธีข่มขวัญข้าศึกและบำรุงขวัญฝ่ายตน ฯลฯ รูปแบบเนื้อหานั้นอาจอยู่ในลักษณะของร้อยแก้วหรือร้อยกรองก็ได้
ในสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำจำกัดความของตำราพิชัยสงครามไว้ว่า "พิชัยสงคราม - ตำรา เป็นตำราว่าด้วยวิธีการเอาชนะข้าศึกในสงคราม ซึ่งนักปราชญ์ทางทหารสมัยโบราณ ได้แต่งขึ้นจากประสบการณ์ และจากการทดลอง เพื่อให้แม่ทัพนายกองใช้ศึกษา และเป็นคู่มือในการอำนวยการรบให้หน่วยทหารมีชัยชนะแก่ข้าศึก "[1]
ตำราพิชัยสงครามที่มีชื่อเสียงมากในระดับโลก ได้แก่ พิชัยสงครามซุนจื่อ (ซุนวู) ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล อันอยู่ในช่วงยุครณรัฐของจีน ทั้งนี้ หนังสือพงศาวดารจีนบางเรื่องที่มีการกล่าวถึงการรบและการใช้อุบาย เช่น สามก๊ก ก็อาจนับว่าเป็นตำราพิชัยสงครามได้เช่นกัน ส่วนตำราพิชัยสงครามสมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงและถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรเสนาธิการของหลายประเทศคือ ว่าด้วยสงคราม (Vom Kriege) โดยนายพลเคลาเซอวิทซ์
ตำราพิชัยสงครามของไทย
[แก้]หลักฐานเกี่ยวกับตำราพิชัยสงครามในประเทศไทย ปรากฏบันทึกในพระราชพงศาวดารครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2041 ในปีนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระและรวบรวมตำราพิชัยสงครามต่าง ๆ ขึ้นเป็นฉบับหลวงครั้งแรก และได้มีการปรับปรุงตำราในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเพื่อใช้ในสงครามยุคนั้น[2] เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 ปรากฏว่าตำราพิชัยสงครามได้กระจัดกระจายสูญหายจำนวนมาก คงเหลืออยู่แต่ฉบับที่มีผู้คัดลอกไว้บ้างเพียงบางตอนไม่ครบชุด บางส่วนก็ได้มีการแต่งขึ้นใหม่ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้มีการคัดลอกตำราพิชัยสงครามฉบับปลีกที่ยังเหลืออยู่ไว้จำนวนหลายสิบเล่มสมุดไทยเพื่อรักษาฉบับไว้ไม่ให้สาบสูญ[1]
ถึงปี พ.ศ. 2368 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงโปรดให้มีการชำระตำราพิชัยสงครามให้สมบูรณ์ โดยเชิญพระตำรับพิชัยสงครามฉบับข้างที่ (ฉบับหลวง) มาสอบสวนชำระ 14 เล่มสมุดไทย เมื่อชำระเสร็จแล้วได้คัดลงสมุดไทยจำนวน 2 ชุด รวม 10 เล่มสมุดไทย นับเป็นตำราพิชัยสงครามฉบับสุดท้ายที่ชำระอย่างสมบูรณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์[1]
ในสมัยต่อมากองทัพไทยได้ปรับรูปแบบกองทัพตามอย่างชาติตะวันตก ตำราพิชัยสงครามแบบโบราณจึงลดความสำคัญลงเพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 กองทัพไทยได้เปลี่ยนไปใช้ตำรายุทธศาสตร์แบบตะวันตกซึ่งทันสมัยกว่าแทน ผู้เป็นเจ้าของตำราพิชัยสงครามจึงนำตำราเหล่านี้มามอบให้หรือขายให้หอสมุดแห่งชาติเป็นจำนวนมาก ตามบัญชีมีอยู่ 219 เล่ม ส่วนมากเป็นคำร้อยกรองแบบฉันท์ โคลง กลอน และร่ายบ้าง แต่งเป็นคำร้อยแก้วบ้าง[1] ล่าสุดได้มีการค้นพบตำราพิชัยสงครามสมัยกรุงธนบุรีในสภาพสมบูรณ์มากจำนวน 5 เล่ม ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551[3]
เนื้อหาในตำราพิชัยสงครามของไทยโบราณแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) เหตุแห่งสงคราม 2) อุบายสงคราม 3) ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อทางด้านโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ ซึ่งปรากฏมาตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว โดยเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจะปรากฏความเชื่อในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก[1]
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2341 สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังได้มีการแปลตำราพิชัยสงครามของพม่าเป็นภาษาไทยด้วย[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 พิชัยสงคราม - ตำรา ใน สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 21 พายุ - ภักดี หน้า 13237 เก็บถาวร 2008-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เว็บไซต์หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม)
- ↑ การทหารของไทยสมัยอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2147) เก็บถาวร 2008-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม
- ↑ ตะลึง! พบ"ตำราพิชัยสงคราม" อายุ200 ปี คาดเคยใช้ในศึกรบจริงมาแล้ว "ภาพ-ตัวอักษร" คมชัดสมบูรณ์แบบ มติชนออนไลน์ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2551
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ตำราพิชัยสงคราม ๒๑ กลยุทธ์ไทย เก็บถาวร 2008-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (http://www.taharn.net)
- การทหารของไทยสมัยอยุธยา เก็บถาวร 2008-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม)