นางโภควดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นางโภควดี เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่แพร่หลายทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีแนวคิดผสมผสานคติพราหมณ์กับคติพุทธได้อย่างชัดเจน คือ กล่าวถึงพระอิศวรได้ชุบนางโภควดีขึ้นมาและกล่าวถึงนางโภควดียินยอมสละร่างกายและเลือดเนื้อให้เป็นทานเพื่อเกิดสรรพสิ่งขึ้นบนโลกและจักรวาล[1]

ฉบับ[แก้]

ทางภาคใต้ พบต้นฉบับที่แพร่หลายในภาคใต้หลายฉบับล้วนคัดลอกสืบต่อกันมา ประพันธ์ด้วยกาพย์ยานีสิบเอ็ดและกาพย์สุรางคนางยี่สิบแปดและสำนวนภาษาเป็นของท้องถิ่น เช่น ฉบับตำบลนาท่อม อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ฉบับที่เก็บรักษาไว้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา ฉบับนายท้าม เจริญพงษ์ ชาวบ้านตำบลวัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และฉบับที่เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี เนื้อหาทุกฉบับส่วนใหญ่เหมือนกัน แตกต่างกันบ้างในรายละเอียดซึ่งน่าจะแต่งเติมภายหลัง[2]

สำหรับต้นฉบับในภาคกลางและภาคตะวันออกพบอยู่น้อยมาก พบต้นฉบับที่วัดวรุณดิตถาราม จังหวัดตราด อีกที่หนึ่งคือที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ฉบับ 4 เล่มสมุดไทย มีลักษณะเป็นกลอนสวด[3] วรรณกรรมจักร ๆ วงศ์ ๆ ของกลุ่มโรงพิมพ์วัดเกาะ ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้าและที่หก มีปรากฏรายชื่อนางโภควดี ได้เคยจัดพิมพ์ขึ้นเช่นกัน[4]

เนื้อเรื่อง[แก้]

นางโภควดีเป็นนางสนมพระอินทร์ มีผิวเปล่งปลั่ง สดใสดังเนื้อทอง มีกลิ่นกายหอมไกลเป็นโยชน์ วันหนึ่งพระอินทร์ได้บอกกับพระนางโภควดีว่า นางใกล้จุติเพื่อได้ไปสร้างยอดแห่งทานบารมีแล้วจะได้กลับมาเกิดบนสวรรค์ใหม่อีกครั้ง พระอินทร์ให้พระนางโภควดีเลือกว่าจะไปจุติเป็นอะไร แต่ก็คิดไม่ออก จึงได้ระลึกถึงฤๅษีตาไฟที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งเก่งกล้าวิชาอาคมนั่งหลับตาบำเพ็ญตะบะอยู่ช้านานมาแล้ว หากลืมตามองไปที่ใดที่นั่นก็จะไหม้เป็นเถ้าถ่าน นางโภควดีจึงไปหาพระฤๅษี

พระฤๅษีซึ่งบำเพ็ญเพียรบารมีมาช้านานพอได้กลิ่นหอมของดอกไม้ทั้ง ๆ ที่เป็นฤดูร้อนก็นึกสงสัยลืมตาขึ้นดู พระนางโภควดีที่นั่งอยู่ก็เลยไหม้เป็นเถ้าถ่านกองอยู่ ฤๅษีไม่ทราบว่ากองเถ้าถ่านอะไรที่ตนเผาไปนั้นคืออะไร จึงได้นั่งสมาธิเพ่งมองในญาณ จึงทราบว่าเป็นนางโภควดี จึงถามนางว่ามาทำไมมีเรื่องเดือดร้อนอะไร พระนางโภควดีจึงบอกแก่ฤๅษีว่าพระอินทร์จะให้นางลงไปเกิดแล้วให้เลือกว่าจะเกิดเป็นอะไรที่สามารถสร้างยอดแห่งทานได้ ฤๅษีบอกให้นางตั้งจิตให้แน่วแน่อธิษฐานตามตนว่า เรือนร่างทั้งหมดจะให้เป็นทานแก่มนุษย์และสัตว์โลก จบคำอธิษฐานของพระนางโภควดี พระฤๅษีจึงใช้ไม้เท้าตีเถ้าถ่านของนางแตกกระจายสู่พื้นโลก

อ้างอิง[แก้]

  1. ชวน เพชรแก้ว. "วัฒนธรรมการสร้างและที่มาของแนวคิดของวรรณกรรมทักษิณ". วารสารราชบัณฑิตยสถาน: 275.
  2. "ตำนานนางโภควดี". มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-18. สืบค้นเมื่อ 2022-10-18.
  3. "ภูมิหลังต้นฉบับเรื่องนางโภควดี" (PDF). p. 22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-10-18. สืบค้นเมื่อ 2022-10-18.
  4. ประทีป ชุมพล. "นางโภควดี วรรณกรรมที่สอนให้ผู้อ่านรักในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดของสยามประเทศ". ผู้จัดการออนไลน์.