เจ้าหลวงคำแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าหลวงคำแดง เป็นตำนานและเรื่องเล่า รวมถึงการประกอบพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ไทลื้อ และไทใหญ่ ฯลฯ แพร่หลายอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย รวมถึงชาวไทลื้อในสิบสองปันนา ชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ชาวไทใหญ่ในดินแดนอาหม และชาวไทน้อยในลาว เป็นต้น

ในแต่ละท้องที่เรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ชาวไทยวนและชาวลัวะ เรียก สุวัณณะคำแดง (สุวรรณคำแดง) ชาวไทยวนแถบวัดพระนั่งดิน จังหวัดพะเยา เรียก พระญาคำแดง ชาวไทยวน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เรียก เจ้าพ่อคำแดง ชาวไทยวน อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เรียก เจ้าหม่อมคำแดง และ ขุนคำแดง ชาวไทลื้อ บ้านแพด อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เรียก เจ้า (พ่อ) พญาคำแดง[1]

ปรากฏเป็นฉบับลายลักษณ์ ตัวอย่างเช่น ตำนานโบราณนิทานปถมเหตุการตั้งเชียงใหม่, ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และ ตำนานสุวรรณคำแดง หรือ ตำนานเสาอินทขีล เนื้อหาหลักระบุว่าเจ้าหลวงคำแดง เป็นบุคคลในยุคก่อนสมัยประวัติศาสตร์มีฐานะเป็นปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองล้านนา ยังกล่าวถึงอดีตชาติที่เกิดเป็นพระยาหมูชื่ออุตรจุนทะ จากนั้นเกิดมาเป็นบุตรพระยาโจรณีชื่อ สุวัณณะคำแดงราชบุตร พระวิสสุกรรมได้เนรมิตรกายเป็นกวางทองให้สุวัณณะคำแดงไปตามจับ เป็นเหตุให้ได้พบนางอินเหลาที่ดอยอ่างสรง จากนั้นเหล่าเสนาอำมาตย์ไปพบสระบัวและสร้างเมืองล้านนาขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เจ้าหลวงคำแดงเป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองล้านนา ต่อมาปลายชีวิตได้สละสมบัติไปอยู่ถ้ำเชียงดาวกับนางอินเหลา

ความเชื่อ[แก้]

ชาวล้านนาเชื่อว่าเจ้าหลวงคำแดงมีฐานะเป็นอารักษ์เมืองของล้านนา มีความยิ่งใหญ่กว่าอารักษ์อื่น ๆ[2]

ปรากฏเป็นพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีกรรมบวงสรวงเจ้าหลวงคำแดงประจำปีของชาวไทยวนที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยา พิธีกรรมเลี้ยงผีเจ้าหลวงคำแดงของชาวไทลื้อที่จังหวัดพะเยา จังหวัดน่านและจังหวัดเชียงราย พิธีกรรมเลี้ยงผีเมืองของชาวไทใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฯลฯ โดยอำเภอเชียงดาว โดยเฉพาะดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญที่สุดในความเชื่อเรื่องเจ้าหลวงคำแดง พบว่ามีศาลเจ้าหลวงคำแดงในอำเภอเชียงดาวถึง 4 แห่ง มีการสักการะบูชาและจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. เพ็ญสุภา สุขคตะ. ""เจ้าหลวงคำแดง" – "ตำนาน" หรือ "เรื่องจริง"". มติชนสุดสัปดาห์.
  2. "ตำนานเจ้าหลวงคำแดง". มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-06. สืบค้นเมื่อ 2023-01-06.
  3. นิตยา วรรณกิตร์. "พลวัตของลัทธิพิธีการนับถือเจ้าหลวงคำแดงของกลุ่มไทยวนและ ไทลื้อในภาคเหนือ" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์.