นางผมหอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นางผมหอม เป็นตำนานพื้นบ้านที่มีทั้งฉบับล้านนา ฉบับล้านช้างและฉบับไทลื้อ เป็นวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยม เช่นเดียวกับเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย กาฬเกษ จำปาสี่ต้น สุริวงศ์ ฯลฯ แต่เรื่องนางผมหอมนี้ค่อนข้างจะสั้นกว่าเรื่องอื่น ๆ ตำนานเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อชาวอีสานมาก ดังเห็นได้ว่ามีการตั้งชื่อภูมินามหลายแห่ง[1]

ฉบับ[แก้]

ฉบับล้านนา[แก้]

นางผมหอม หรือ ช้างโพงนางหอม มีเค้าโครงจากปัญญาสชาดกตอนพหลาคาวีชาดก โดยเนื้อเรื่องพระนางผมหอมจับเอาเรื่องตอนปลายของพหลาคาวีชาดกมาดัดแปลง เนื้อเรื่องของฉบับล้านนา มุ่งเน้นไปในทางความกตัญญูของลูกสาว ที่มีต่อพ่อซึ่งไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นช้าง[2]

มีเรื่องเล่าว่า พระยาพรหมทัตแห่งเมืองศรีสัตนุมหานคร มีธิดาทรงนามว่า สีดากุมารี เมื่ออายุได้ 12 ปี นางขออนุญาตพระบิดา ไปเที่ยวป่าพร้อมนางสนม สาวใช้แต่ละนางพลัดหลงกัน กลับเมืองไม่ถูก บังเอิญไปพบน้ำตกอยู่ในรอยเท้าช้างจึงได้ดื่มน้ำนั้น เมื่อกลังเมืองมาตั้งครรภ์และประสูติพระธิดาชื่อว่า นางผมหอม อยู่มาอีกสองปีก็ประสูติพระธิดาอีกองค์หนึ่งชื่อว่า นางแพงสี เมื่อโตขึ้นมาเด็ก ๆ ถูกล้อว่าเป็นลูกชายในป่าหิมพานต์ ไม่ควรมาเล่นกับมนุษย์ ควรกลับไปหาพ่อ ทั้งสองจึงกลับไปถามมารดา นายสีดาจึงเล่าให้ฟังถึงเรื่องการหลงป่าและกินน้ำใน รอยเท้าช้างจนตั้งครรภ์

นางผมหอมจึงชวนน้องไปตามหาพ่อในป่า เมื่อพบช้างเชือกหนึ่งคิดว่าคงเป็นพ่อของตน จึงบอกช้างว่าตนเป็นลูก ช่างบอกว่าหากใครปีนขึ้นบนงาได้ จะเป็นลูกของตน นางผมหอมปีนขึ้นได้ แต่นางแพงสี ปีนไม่ได้ ตกลงมาช้างจึงฆ่าแล้วกินเสีย นางผมหอมจึงได้อยู่กับช้าง ช้างได้สร้างปราสาทให้อยู่

วันหนึ่งนางได้เอาผมใส่ผอบ ลอยน้ำไปอธิษฐานว่าถ้าใครเป็นผู้ครอง ขอให้ได้พบผอบ ผอบลอยไปติดที่เมืองหนึ่งของพระโพธิสัตว์ชื่อเมืองธุรโต (เมืองหล้านนาธุรโต) กษัตริย์ทรงชราแล้วจึงมอบราชสมบัติให้พระโอรส วันหนึ่งพวกเสนาได้พบผอบแต่เก็บไม่ได้จึงไปทูลพระราชา พระราชารีบเสด็จแล้วสามารเก็บผอบได้อย่างง่ายดาย เมื่อเปิดดูพบเส้นผมมีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ จึงทูลว่าจะไปตามหานางผมหอมตามลำพัง ระหว่างทางพบนางผีโพงปลอมตัวมาเป็นนางผมหอม แต่พระโพธิสัตว์ทรงทราบว่าไม่ใช่นางผมหอมจึงรีบหนีไป กระทั่งได้พบนางผมหอมจึงอยู่กินกันเป็นสามีภรรยาแต่ไม่ให้พ่อช้างรู้ มีโอรสชื่อ สีลา มีธิดาชื่อ สุชาดา แล้วจึงชวนกลับหนีกลับเมืองเดิมของพระโพธิสัตว์ แต่พ่อช้างของให้นางกลับแต่นางไม่กลับช้างจึงตรอมใจตาย ก่อนตายได้ให้ถอดเอางามาใช้ งาข้างหนึ่งสามารถเนรมิตเป็นเรือลอยน้ำได้ งาอีกข้างใช้เป็นอาวุธ

ระหว่างทางกลับบ้านพบนางผีโพง นางผีโพง ได้แปลงเป็นดอกบัว สุชาดาอยากได้ดอกบัวจึงร้องให้แม่เก็บให้ นางผมหอมถูกนางผีโพงฉุดตกน้ำแล้วแปลงตัวเป็นนางผมหอมเข้าไปในเมืองพร้อมพระโพธิสัตว์ ครั้นเมื่อรู้ความจริงจากลูกจึงออกอุบายว่ามีกองทัพยกมาจะออกไปสู้รบด้วย แล้วไปรับนางผมหอมตัวจริง ส่วนนางผีโพงสั่งให้อำมาตย์ฆ่าเสีย

ฉบับล้านช้าง[แก้]

นางผมหอมฉบับล้านช้างน่าจะได้รับอิทธิพลจากช้างโพงนางผมหอมฉบับล้านนา เนื้อเรื่องนางผมหอมของล้านนาและล้านช้างมีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งตัวละครในเรื่องก็ไม่ต่างกัน ตอนจบแบบเดียวกัน แต่แตกต่างกันบ้างด้านสำนวนภาษา พอใช้ภาษาถิ่นที่ต่างกันไปบ้างเล็กน้อย[2]

ฉบับไทลื้อ[แก้]

ฉบับไทลื้อ มีเนื้อเรื่องแตกต่างจากนางผมหอมของล้านนาล้านช้างมาก ไม่เน้นการสอนธรรมะ ในเรื่องไม่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เลย เนื้อเรื่อง การดำเนินเรื่อง เหตุการณ์และตัวละครต่างกันมาก จะมีก็เฉพาะนางผมหอมเท่านั้นที่เหมือนกันคือมีผมซึ่งมีกลิ่นหอม และผมนี่เองเป็นเหตุ ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตจนได้เป็นถึงราชินี[2]

มีเรื่องเล่าว่า เมืองหนึ่งชื่อ จิตนคร มีบ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองนัก อยู่มาวันหนึ่งละอินได้จุติลงมาเกิดในท้อง คลองมาเป็นบุตรชาย อายุได้เพียงครึ่งเดือนพ่อก็ตายไป แม่ตั้งชื่อบุตรชายว่า องค์คำธิราช อยู่มาวันหนึ่ง แม่ได้พาลูกไปในป่าเพื่อตัดหวายขาย ลูกได้นำไก่ไปด้วย ไก่เดินไปจนถึงเมืองนาคแล้วนาคจับตัวเอาไว้ ขณะที่นำกลับไปบ้านพบยักษ์กลางทาง ยักษ์ได้แย่งไก่นั้นไป

เมื่อชายไม่พบไก่จึงตามไก่ไปจนถึงเมืองนาค พบลูกสาวนาคจึงได้ใจความว่าไก่ถูกยักษ์แย่งไป จึงไปตามไก่ที่เมืองยักษ์ก็ได้พบนางผมหอมซึ่งเป็นลูกสาวยักษ์ที่เกิดมาจากดอกเกงทองซึ่งยักษ์เก็บมาจากป่า ขณะที่ยักษ์ไม่อยู่นางผมหอมได้ดูแลไก่ เมื่อองค์คำธิราชไปพบก็เกิดรักใคร่กัน ได้รับความช่วยเหลือจากนางผมหอมโดยขโมยพระขรรค์และไก่แล้วหลับหนีกันไปด้วยกัน เมื่อยักษ์ตื่นจึงตามไป นางผมหอมได้สู้กับยักษ์ด้วยมนต์วิเศษต่าง ๆ ที่ยักษ์สอนให้จนยักษ์ถูกฆ่า

ทั้งคู่กลับบ้านมาเป็นสามีภรรยา แต่เมื่อนางผมหอมได้สระผมในแม่น้ำ ผมหลุดลอยไปทำให้ผู้คนรู้เรื่องผมหอม ความรู้ไปถึงพระราชาจึงจะรับนางมาเป็นมเหสีแต่นางไม่ยอมไปจึงเกิดการสู้รบในที่สุดนางผมหอมฆ่าพระราชาตาย ท้ายสุดทั้งสองได้ปกครองบ้านเมือง

สถานที่อันเนื่องจากตำนาน[แก้]

ภูหอ ในตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ด้วยความเชื่อที่ว่าที่ภูเขาแห่งนี้เป็นที่ตั้งปราสาทของนางผมหอมซึ่งพญาช้างสารได้สั่งให้ไพร่พลช้างสร้างให้แก่นางผมหอมผู้เป็นที่ธิดาของตน ถ้ำเอราวัณอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู[3] ที่บ้านหนองบัว ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เชื่อว่านางผมหอมชอบไปอาบน้ำที่หนองบัวนี้ รวมถึงและที่ลำธารห้วยหอม ตำบลหนองคัน อำเภอภูหลวง ส่วนผอบก็ลอยที่แม่น้ำเลยมาถึงเมืองเซไล เชื่อว่าคือบ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง ผอบลอยทวนน้ำขึ้นไปยังต้นน้ำปากห้วยหอมที่ป่าภูหอ[4] และหนองน้ำตาช้าง หนองน้ำแห่งหนึ่งในภูหอ เป็นที่ที่พญาช้างตาย[5]

ปรางค์นางผมหอม จังหวัดลพบุรี เชื่อว่าเป็นที่เก็บศพของนางผมหอม ทุกครั้งที่สระผมนางมักจะไปนั่งที่ก้อนหิน บริเวณที่ก้อนหินนั้นตั้งอยู่จึงเรียกว่า ท่านางสระผม[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. คมกฤษณ์ วรเดชนัยนา และปฐม หงษ์สุวรรณ. "ช้างในวรรณกรรมนิทานอีสาน: การสร้างอัตลักษณ์สัตว์และความหมายทางวัฒนธรรม". คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
  2. 2.0 2.1 2.2 เกษร สว่างวงศ์. "การศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมเรื่องนางผมหอม ฉบับล้านนาอีสานและไทยลื้อ" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  3. "นางผมหอม". กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-04-17.
  4. เรือนอินทร์ หน้าพระลาน. ""พญาช้าง-นางผมหอม" ตำนานของชาวภูหลวง". คมชัดลึก.
  5. "ตำนานพญาช้าง – นางผมหอม ตำนานความรักระหว่างคนและช้าง". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-08. สืบค้นเมื่อ 2022-04-17.
  6. "ปรางค์นางผมหอม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).

ดูเพิ่ม[แก้]