ปู่แสะย่าแสะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปู่แสะย่าแสะ เป็นตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงยักษ์สองผัวเมียซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นเค้าบรรพบุรุษของชาวลัวะที่ได้กลายมาเป็นผู้พิทักษ์รักษาเมืองเชียงใหม่

ตำนานปู่แสะย่าแสะมีปรากฏทั้งในเอกสารโบราณ เช่นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ธรรมตำนานวัดนันทาราม รวมถึงเอกสารร่วมสมัย เช่น ตำนานพระธาตุดอยคำ นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นมุขปาฐะสำนวนชาวบ้าน ซึ่งมักมีเนื้อหาพิสดารออกไป ทุกตำนานให้ความสำคัญกับปู่แสะย่าแสะในฐานะที่เป็น "เก๊าผี" หรือ ต้นตระกูลของผีที่สำคัญทั้งปวงของเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากมีลูกมากถึง 32 ตน บรรดาลูก ๆ เช่น เจ้าหลวงคำแดง ผู้เป็นใหญ่ในผีทั้งปวงของล้านนา เจ้าสร้อยดูแลรักษาเมืองแม่แจ่ม (อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่) เจ้าบัวระพาดูแลรักษาเมืองแหง (อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่) เจ้าสมภะมิตรดูแลรักษาดง แม่คะนิล (อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่) ฯลฯ

การที่ปู่แสะย่าแสะเคยเป็นยักษ์มาก่อนจึงขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้าที่จะกินสัตว์ตามสัญชาติญาณยักษ์ความเชื่อดังกล่าวนำมาสู่การฆ่าควายเพื่อเซ่น สังเวยปู่แสะย่าแสะ[1]

เนื้อหา[แก้]

เมืองระมิงค์นครหรือบุพพนครเป็นเมืองชนชาติลัวะตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง มียักษ์ 3 ตน พ่อแม่ลูก จับชาวเมืองไปกินทุก ๆ วัน จนชาวเมืองต้องหนีออกจากเมือง ต่อมาพระพุทธเจ้ารับรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวลัวะในเมืองระมิงค์นคร จึงได้เสด็จมาโปรดและแสดงอภินิหารและแสดงธรรม ปรากฏว่ายักษ์สามตนนั้นเกิดความเลื่อมใส และให้ยักษ์ทั้งสามตนสมาทานศีลห้าสืบไป แต่ยักษ์ทั้งสามตนได้ทูลขอกับพระพุทธเจ้าว่า พวกตนเป็นยักษ์ต้องประทังชีวิตด้วยการกินเนื้อมนุษย์ หากมิได้ก็ขอกินเนื้อสัตว์จึงได้ขอพระพุทธเจ้ากินควายปีละ 1 ตัว แต่พระพุทธองค์ไม่ตอบอะไร ยักษ์ทั้งสามตนจึงได้ไปขอกับเจ้าเมืองลัวะ ซึ่งทางเจ้าเมืองก็ได้นำควายมาเซ่นสังเวยให้ปีละ 1 ตัว โดยตั้งข้อแม้ว่า ยักษ์ต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี ตลอดจนปกปักรักษาชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข

พระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้ยักษ์สองผัวเมียดูแลรักษาดอยคำและดอยอ้อยช้าง ส่วนลูกยักษ์ได้บวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาลาสิกขาออกมาถือเพศเป็นฤๅษี มีนามว่า สุเทพฤๅษี ส่วนดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) สุเทพฤๅษีได้บำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำฤๅษีหลังดอยสุเทพ (ปัจจุบันปรากฏร่องรอยของบ่อน้ำ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อฤๅษี)[2]

ภายหลังปู่แสะย่าแสะได้สิ้นอายุขัยแล้วแต่ชาวเมืองระมิงค์นครยังคงเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์ และต้องการให้วิญญาณปู่แสะย่าแสะช่วยรักษาพระศาสนาและปกป้องคุ้มครองชาวเมือง จึงจัดให้มีพิธีเซ่นสรวงหรือประเพณีเลี้ยงผีดงเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (เป็งเดือนเก้า) และชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะชาวบ้านแม่เหียะ ยังเชื่อว่ายักษ์ทั้งสองยังคงสถิตอยู่ในป่าทั้งสองดอย มีดอยคำ และดอยสุเทพ ให้ฝนตกตามฤดูกาลชาวบ้านทำเกษตรได้ผลดี

อ้างอิง[แก้]

  1. อาสา อำภา. "ปู่แสะย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่".
  2. "ตำนานปู่แสะย่าแสะ". ข้อมูลมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-21. สืบค้นเมื่อ 2022-07-21.