คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน 中国共产党中央委员会 | ||
---|---|---|
| ||
![]() | ||
ภาพรวม | ||
รูปแบบ | หน่วยงานบริหารการเมือง | |
ผู้แต่งตั้ง | สภาแห่งชาติ | |
วาระ | 5 ปี | |
จำกัดวาระ | ไม่จำกัดวาระ | |
ประวัติศาสตร์ | ||
สถาปนา | โดยการประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 2 เมื่อ 23 กรกฎาคม 1922 | |
ประชุมครั้งแรก | 23 กรกฎาคม 1922 | |
โครงสร้าง | ||
เลขาธิการ | สี จิ้นผิง, เลขาธิการใหญ่คณะกรรมาธิการกลางพรรค | |
ฝ่ายบริหาร | กรมการเมือง | |
ฝ่ายธุรการ | สำนักเลขาธิการ | |
ฝ่ายทหาร | คณะกรรมการการทหารส่วนกลาง | |
สมาชิก | ||
ทั้งหมด | 205 | |
สมาชิกสำรอง | ||
ทั้งหมด | 171 | |
การเลือกตั้ง | ||
ครั้งล่าสุด | การประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 20 (2022) | |
ที่ประชุม | ||
![]() | ||
โรงแรมจิงซี ปักกิ่ง (สมัยประชุมทำงาน) มหาศาลาประชาชน ปักกิ่ง | ||
รัฐธรรมนูญ | ||
ธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน | ||
ระเบียบข้อบังคับ | ||
ระเบียบข้อบังคับการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน |
คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน | |||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 中国共产党中央委员会 | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวเต็ม | 中國共產黨中央委員會 | ||||||
| |||||||
คำย่อ | |||||||
ภาษาจีน | 中共中央 | ||||||
ความหมายตามตัวอักษร | กลางคอมมิวนิสต์จีน | ||||||
| |||||||
คำย่ออื่น ๆ | |||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 党中央 | ||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 黨中央 | ||||||
ความหมายตามตัวอักษร | กลางพรรค | ||||||
| |||||||
คำย่อที่สุด | |||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 中央 | ||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 中央 | ||||||
ความหมายตามตัวอักษร | กลาง | ||||||
|
คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (จีน: 中国共产党中央委员会) เป็นองค์กรสูงสุดเมื่อสภาแห่งชาติไม่ได้อยู่ในสมัยประชุมและมีหน้าที่ดำเนินการตามมติสภา กำกับดูแลงานของพรรคทั้งหมด และเป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการติดต่อกับภายนอก ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกเต็มตัว 205 คนและสมาชิกสำรอง 171 คน (ดูรายชื่อ) สมาชิกได้รับการเลือกตั้งในนามทุก ๆ ห้าปีโดยสภาแห่งชาติพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในทางปฏิบัติ กระบวนการคัดเลือกนั้นดำเนินการเป็นการส่วนตัว ปกติแล้วจะผ่านการปรึกษาหารือของกรมการเมืองและคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[1]
คณะกรรมาธิการกลางเป็น "องค์กรอำนาจสูงสุดของพรรค" อย่างเป็นทางการเมื่อสภาแห่งชาติไม่ได้อยู่ในสมัยประชุมเต็มสภา ตามธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะกรรมาธิการกลางมีอำนาจในการเลือกเลขาธิการใหญ่และสมาชิกของกรมการเมืองและคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง รวมถึงคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง พรรคให้การรับรององค์ประกอบของสำนักเลขาธิการและคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลาง นอกจากนี้ยังกำกับดูแลการทำงานของหน่วยงานบริหารระดับชาติหลายแห่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย กิจกรรมด้านธุรการของคณะกรรมาธิการกลางดำเนินการโดยสำนักงานทั่วไปของคณะกรรมาธิการกลาง สำนักงานทั่วไปเป็นหน่วยงานสนับสนุนขององค์กรส่วนกลางที่ทำงานในนามของคณะกรรมาธิการกลางระหว่างการประชุมเต็มคณะ
คณะกรรมาธิการมักประชุมกันอย่างน้อยปีละครั้งในการประชุมเต็มคณะ และทำหน้าที่เป็นเวทีระดับสูงสุดสำหรับการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการดำเนินตามหลักการรวมศูนย์ประชาธิปไตย กล่าวคือ เมื่อมีการตัดสินใจแล้ว องค์กรทั้งหมดจะพูดเป็นเสียงเดียวกัน บทบาทของคณะกรรมาธิการกลางมีการเปลี่ยนแปลงไปตามประวัติศาสตร์ แม้โดยทั่วไปจะใช้อำนาจผ่านระเบียบการที่กำหนดไว้ในธรรมนูญพรรค แต่ความสามารถในการส่งผลต่อผลลัพธ์ของการตัดสินใจเกี่ยวกับบุคลากรระดับชาตินั้นมีจำกัด เนื่องจากในทางปฏิบัติ หน้าที่ดังกล่าวมักดำเนินการโดยกรมการเมืองและผู้อาวุโสของพรรคที่เกษียณอายุแล้วซึ่งยังคงมีอิทธิพลอยู่ ถึงกระนั้น การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการกลางทำหน้าที่เป็นสถานที่ซึ่งมีการอภิปรายนโยบาย การปรับแต่งอย่างละเอียด และการเผยแพร่ต่อสาธารณะในรูปแบบของ "ข้อมติ" หรือ "การตัดสินใจ"
ประวัติศาสตร์
[แก้]ช่วงต้น
[แก้]บทบาทของคณะกรรมาธิการกลางมีการเปลี่ยนแปลงไปตามประวัติศาสตร์ มันถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1927 ในฐานะองค์กรสืบทอดจาก "คณะกรรมาธิการบริหารกลาง" (中央执行委员会) กลุ่มผู้นำพรรคที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานของพรรคในช่วงก่อนการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงหลายทศวรรษต่อมา มันมีบทบาทในการยืนยันรายชื่อผู้นำพรรคและให้ความชอบธรรมแก่การตัดสินใจด้านการทหาร ยุทธศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพรรค ในทางปฏิบัติ อำนาจถูกรวมศูนย์อยู่ในกลุ่มผู้นำทางทหารและการเมืองกลุ่มขนาดเล็ก (สำนักเลขาธิการหรือกรมการเมือง) และตั้งแต่การประชุมจุนอี้ใน ค.ศ. 1935 เหมา เจ๋อตงก็กุมอำนาจส่วนตัวอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สองและสงครามกลางเมืองจีนระหว่าง ค.ศ. 1927 ถึง 1949 คณะกรรมาธิการกลางแทบไม่ได้ประชุม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยุ่งยากด้านการขนส่งในการรวบรวมแกนนำหลักที่เกี่ยวข้องกับสมรภูมิต่าง ๆ และการเคลื่อนไหวทางการเมือง
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1949 ปีที่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมาธิการกลางค่อย ๆ เปลี่ยนจากองค์กรปฏิวัติไปเป็นองค์กรปกครอง อย่างไรก็ตาม งานประจำวันและอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในมือของผู้นำเพียงไม่กี่คน โดยเฉพาะกรมการเมือง ซึ่งขณะนั้นมีหลิว เช่าฉีเป็นประธานโดยพฤตินัย และสำนักเลขาธิการ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง แม้คณะกรรมาธิการกลางจะมีข้อกำหนดให้ประชุมอย่างน้อยปีละครั้ง แต่ไม่ได้มีการประชุมเลยใน ค.ศ. 1951–53, 1960, 1963–65, และ 1967 บางครั้งมีการใช้กลไกที่ไม่เป็นทางการและ "พิเศษ" เพื่อวัตถุประสงค์ในการหารือนโยบายของพรรค ตัวอย่างเช่น การประชุมเจ็ดพันแกนนำใน ค.ศ. 1962 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนจากการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า เหมาไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือคณะกรรมาธิการกลาง ดังที่เห็นได้จากข้อถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายก้าวกระโดดไกล รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 อย่างไรก็ตาม เหมาใช้การประชุมคณะกรรมาธิการกลางเป็นเวทีในการแสดงอำนาจหรือสร้างความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น ในการประชุมหลูชาน ค.ศ. 1959 เมื่อคณะกรรมาธิการกลางรับรองการตัดสินใจประณามเผิง เต๋อหวย ผู้ซึ่งออกมาคัดค้านนโยบายก้าวกระโดดไกล
ในช่วงต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรม คณะกรรมาธิการกลางโดยพื้นฐานแล้วหยุดทำงาน มีการประชุมในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1966 (การประชุมใหญ่ครั้งที่ 11 ของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 8) เพื่อยืนยันการตัดสินใจที่เสร็จสิ้นแล้วโดยเหมาเกี่ยวกับการเปิดตัวการปฏิวัติวัฒนธรรม เหมาเผชิญกับการต่อต้านบ้างในการประชุมแต่ท้ายที่สุดผู้แทนส่วนใหญ่ก็ถูกกระตุ้นให้รับรองการตัดสินใจของเหมา สมาชิกจำนวนมากถูกทำให้เสียชื่อเสียงทางการเมืองหรือถูกกวาดล้างหลังจากนั้น คณะกรรมาธิการประชุมกันอีกครั้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1968 (การประชุมใหญ่ครั้งที่ 12) เพื่อรับรองการตัดสินใจขับหลิว เช่าฉี ประมุขแห่งรัฐในขณะนั้น ออกจากพรรค การประชุมมีสมาชิกเข้าร่วมไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากสมาชิกจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการปฏิวัติวัฒนธรรม ในจดหมายถึงเหมาซึ่ง "ประเมิน" สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางในขณะนั้น คัง เชิงเขียนว่าสมาชิกประมาณร้อยละ 70 ถูกพิจารณาว่าเป็น "คนทรยศ สายลับ หรือบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจทางการเมือง"[2] การเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางในการประชุมพรรคครั้งที่ 9 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1969 นั้น ส่วนใหญ่ถูกเลือกโดยเหมาและกลุ่มพันธมิตรหัวรุนแรงขนาดเล็ก การตัดสินใจในการประชุมครั้งนั้นต่อมาถูกนักประวัติศาสตร์ของพรรคอย่างเป็นทางการพิจารณาว่า "ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิงและแน่นอน"
ตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจ
[แก้]นับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1978 คณะกรรมาธิการกลางมักประกอบด้วยบุคคลสำคัญของพรรค รัฐบาล มณฑล และกองทัพ ต่างจากการประชุมพรรค ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นเพียงพิธีการเสมอมา การประชุมเต็มคณะกรรมาธิการกลางบางครั้งปรากฏขึ้นในฐานะเวทีที่มีการอภิปรายและตัดสินใจอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับนโยบายของพรรค ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือการประชุมเต็มคณะครั้งที่สามของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 ใน ค.ศ. 1978 ซึ่งประเทศจีนเริ่มโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ เติ้ง เสี่ยวผิงยังพยายามเพิ่มระดับ "ประชาธิปไตยภายในพรรค" ในคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยการนำวิธีการเลือกตั้งที่เรียกว่า "ผู้สมัครมากกว่าจำนวนที่นั่ง" (ชาเอ๋อเสฺวียนจู่) มาใช้ วิธีแบบชาเอ๋อทำให้มั่นใจได้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับการเสนอชื่อจะได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลาง
แม้จะมีการทดลองแยกใช้อำนาจในวงกว้างในคริสต์ทศวรรษ 1980 รวมถึงการแยกตำแหน่งผู้นำพรรคและรัฐ แต่อำนาจการตัดสินใจที่แท้จริงยังคงอยู่ในมือชนชั้นนำของพรรคประมาณสิบกว่าคน รวมถึงผู้อาวุโสพรรคที่รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลาง (ภายหลังถูกยุบ) ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจปราบปรามการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 และการเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับสูงที่ตามมา เช่น การกวาดล้างจ้าว จื่อหยาง เลขาธิการใหญ่ในขณะนั้นถูกตัดสินใจโดย "ผู้อาวุโสพรรค" และผู้นำระดับสูงกลุ่มเล็ก ๆ โดยไม่ได้เรียกประชุมคณะกรรมาธิการกลางก่อน จ้าวตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทางกฎหมายของการถูกปลดจากตำแหน่งของเขาในบันทึกความทรงจำที่เผยแพร่ใน ค.ศ. 2006
แม้การประชุมของคณะกรรมาธิการกลางโดยปกติแล้วจะไม่ใช่เวทีสำหรับการอภิปรายเชิงเนื้อหาอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็มีการ "ปรับแก้" นโยบายที่ตกลงกันไว้ในระดับกรมการเมือง แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว คณะกรรมาธิการกลางจะไม่ยกเลิกนโยบายที่ตัดสินใจในระดับสูงกว่า คณะกรรมาธิการกลางมีขนาดใหญ่กว่าและมีความเห็นทางอุดมการณ์หลากหลายกว่ากรมการเมือง ด้วยการที่การประชุมเต็มคณะเป็นเหตุการณ์รวมผู้นำระดับสูงของจีนที่เกิดขึ้นยาก จึงอาจมองได้ว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับการเจรจาต่อรองอย่างไม่เป็นทางการ
คริสต์ศตวรรษที่ 21
[แก้]การบริหารของหู จิ่นเทา (ค.ศ. 2002–2012) พยายามนำระบบการนำแบบรวมหมู่มาใช้ รวมถึง "ประชาธิปไตยภายในพรรค" ที่มากขึ้น หูไม่ได้เป็น "แกนผู้นำ" ที่แข็งแกร่งในความหมายเดียวกับเหมา เจ๋อตงหรือเติ้ง เสี่ยวผิง ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการกลางจึงมีบทบาทมากขึ้นในฐานะองค์กรปรึกษาที่แท้จริง ใน ค.ศ. 2003 หูยังยกเลิกการประชุมพักผ่อนประจำเดือนสิงหาคมของผู้นำที่เมืองชายฝั่งเป่ย์ไต้เหอ ขณะเดียวกันก็ให้การรายงานข่าวในสื่อมากขึ้นแก่การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการกลางที่จัดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง สิ่งนี้ถูกมองว่าเป็นสัญญาณว่าหูต้องการหลีกเลี่ยงการตัดสินใจแบบไม่เป็นทางการโดยกลุ่มชนชั้นนำขนาดเล็กโดยการสนับสนุน "ประชาธิปไตยภายในพรรค" ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรต่าง ๆ เช่น คณะกรรมาธิการกลาง อย่างไรก็ตาม การประชุมเป่ย์ไต้เหอกลับมาจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 โดยมีการหารือทางการเมืองเกิดขึ้นเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมพรรคครั้งที่ 17 และการประชุมพักผ่อนที่เป่ย์ไต้เหอครั้งเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 2011 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมพรรคครั้งที่ 18 ด้วยเช่นกัน[3] สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับบุคลากรที่สำคัญและนโยบายต่าง ๆ ยังคงเป็นขอบเขตอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำขนาดเล็กที่อยู่บนสุดของลำดับชั้นของพรรค
นับตั้งแต่การประชุมพรรคครั้งที่ 17 คณะกรรมาธิการกลางมีจำนวนผู้นำจากระดับภูมิภาคมากขึ้น คณะกรรมการกลางชุดที่ 17 ถูกจัดตั้งขึ้นโดยที่เลขาธิการพรรคและผู้ว่าการระดับมณฑลทุกคนได้รับที่นั่งเต็มในคณะกรรมาธิการกลาง การเพิ่มขึ้นของการเป็นตัวแทนของพรรคในระดับภูมิภาคแลกมาด้วยการลดลงของการเป็นตัวแทนของกระทรวงต่าง ๆ ในรัฐบาล[4] นับตั้งแต่สี จิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจในการประชุมพรรคครั้งที่ 18 การประชุมเต็มคณะกรรมาธิการกลางใน ค.ศ. 2013 และ 2014 ได้รับการรายงานข่าวจากสื่ออย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นรอบใหม่ของการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมอย่างครอบคลุม (2013) และการปฏิรูปกฎหมาย (2014) ตามลำดับ
ใน ค.ศ. 2016 มีการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการกลางโดยมุ่งเน้นหลักไปที่วินัยและการกำกับดูแลภายในพรรค การประชุมเต็มคณะครั้งนี้ได้รับการรายงานข่าวอย่างมีนัยสำคัญทั้งในจีนและต่างประเทศ[5]
การทำงาน
[แก้]ตามธรรมนูญพรรค คณะกรรมาธิการกลางมีหน้าที่ "ดำเนินการตามมติของสภาแห่งชาติ นำงานของพรรค และเป็นตัวแทนพรรคในระดับนานาชาติ"[6] คณะกรรมาธิการกลางจึงเป็น "องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของพรรค" ในทางเทคนิคเมื่อสภาแห่งชาติไม่ได้อยู่ในสมัยประชุม เนื่องจากสภาแห่งชาติประชุมเพียงทุกห้าปี คณะกรรมาธิการกลางจึงสามารถประชุมในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อทำการตัดสินใจที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้ความชอบธรรมกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางที่ได้รับมอบหมายจากกรมการเมืองหรือผู้นำพรรคอื่น ๆ คณะกรรมาธิการกลางจะต้องมีการประชุมตามทฤษฎีเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสภาแห่งชาติด้วย เช่น เพื่อกำหนดวัน เวลา การคัดเลือกผู้แทน วาระการประชุม และอื่น ๆ
คณะกรรมาธิการกลางมีอำนาจในการเลือกเลขาธิการใหญ่และสมาชิกของกรมการเมือง คณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง และคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง[6] การเลือกเหล่านี้เกิดขึ้นในรูปแบบของการลงมติยืนยัน กล่าวคือ มีผู้สมัครเพียงคนเดียว ผู้แทนสามารถเลือกลงคะแนนเห็นด้วย คัดค้าน หรืองดออกเสียงสำหรับผู้สมัครคนนั้นได้[ต้องการอ้างอิง] ในบางกรณี ผู้สมัครที่เขียนชื่อเองก็อาจได้รับอนุญาต[ต้องการอ้างอิง] ในทางปฏิบัติ สำหรับตำแหน่งสำคัญ เช่น เลขาธิการใหญ่ หรือคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง ไม่ปรากฏว่ามีครั้งใดนับตั้งแต่ ค.ศ. 1949 ที่คณะกรรมาธิการกลางลงมติคัดค้านผู้สมัครที่ได้รับการตรวจสอบล่วงหน้าจากผู้นำระดับสูงของพรรคแล้ว[ต้องการอ้างอิง]
คณะกรรมาธิการกลางยังรับรองสมาชิกของสำนักเลขาธิการ องค์กรที่รับผิดชอบการดำเนินนโยบายของพรรค โดยสมาชิกของสำนักเลขาธิการได้รับการกำหนดผ่านการเสนอชื่อโดยคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง[7]
กรรมการของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่สุด 50 แห่งของจีนได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากคณะกรรมธิการกลาง และมีตำแหน่งเทียบเท่ากับรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ[8]: 302
การประชุมเต็มคณะ
[แก้]
โดยปกติแล้วคณะกรรมาธิการจะประชุมกันอย่างน้อยปีละครั้งในการประชุมเต็มคณะ[9]: 57 การประชุมเต็มคณะโดยทั่วไปจะเปิดและปิดในโถงรัฐพิธีจัดเลี้ยงของมหาศาลาประชาชน โดยการประชุมทำงานของคณะกรรมาธิการกลางจะจัดขึ้นที่โรงแรมจิงซีในปักกิ่งซึ่งดำเนินการโดยกองทัพ[10][11] การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการกลางเป็นเหตุการณ์ประจำปีที่สำคัญที่สุดในการเมืองจีน[12]: 23 โดยปกติแล้ว การประชุมเต็มคณะถูกจัดขึ้นเจ็ดครั้งในช่วงวาระห้าปีของคณะกรรมาธิการกลาง สองครั้งจัดขึ้นในปีที่มีการประชุมสภาแห่งชาติ อีกสองครั้งจัดขึ้นในปีถัดไป และครั้งละหนึ่งครั้งในอีกสามปีที่เหลือ[13] การประชุมเต็มคณะครั้งที่แรก สอง และเจ็ดโดยทั่วไปจะจัดการกับขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจทุกห้าปี ไม่มีการประกาศนโยบายสำคัญใด ๆ[13]

การประชุมเต็มคณะครั้งแรก จัดขึ้นหนึ่งวันหลังสิ้นสุดการประชุมสภาแห่งชาติพรรค จะเลือกผู้นำระดับสูง รวมถึงกรมการเมือง คณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง และเลขาธิการใหญ่ การประชุมเต็มคณะครั้งที่สอง จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของปีถัดไป โดยทั่วไปจะอนุมัติรายชื่อผู้สมัครสำหรับตำแหน่งในรัฐ รวมถึงแผนปฏิรูปองค์กรของพรรคและรัฐ ซึ่งจะได้รับการอนุมัติในระหว่างการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติที่จัดขึ้นทันทีหลังจากนั้น[13] การประชุมเต็มคณะครั้งที่สาม โดยทั่วไปจัดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงของปีถัดจากการประชุมสภาแห่งชาติพรรค มุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางเศรษฐกิจ และโดยทั่วไปเป็นการประชุมที่การตัดสินใจและประกาศนโยบายเศรษฐกิจและการปฏิรูปที่สำคัญถูกกำหนดและประกาศ การประชุมเต็มคณะครั้งที่ห้ามุ่งเน้นไปที่การสรุปแผนห้าปีที่จะมาถึง ซึ่งจะได้รับการอนุมัติโดยสภาประชาชนแห่งชาติในฤดูใบไม้ผลิถัดไป[13] การประชุมเต็มคณะครั้งที่สี่และหกไม่มีหัวข้อกำหนดตายตัว และมักมุ่งเน้นไปที่อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือการสร้างพรรค[13] การประชุมเต็มคณะครั้งที่เจ็ด เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดวาระของคณะกรรมาธิการกลาง มุ่งเน้นไปที่การเตรียมการสำหรับการประชุมสภาแห่งชาติพรรคที่จะมาถึง[13]
โครงสร้างและการเลือกสมาชิก
[แก้]คณะกรรมาธิการกลางเป็นที่ตั้งหน่วยงานสำคัญของพรรคสามหน่วยงาน ได้แก่ (1) กรมองค์การ (2) กรมโฆษณาชวนเชื่อ และ (3) กรมงานแนวร่วม[9]: 57 มีสำนักเลขาธิการซึ่งทำงานประจำรวมถึงการจัดตารางเวลาของผู้นำและการไหลเวียนเอกสาร[9]: 57
สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางได้รับการเลือกตั้งทุกห้าปีในระหว่างการประชุมพรรค และพวกเขาจะลงคะแนนเลือกกรมการเมือง คณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง และเลขาธิการใหญ่คนใหม่[9]: 57 คณะกรรมาธิการกลางมีสมาชิกเต็มตัว (委员 – weiyuan) และสมาชิกสำรองหรือสมาชิกผู้สมัคร (候补委员 – houbuweiyuan) การปฏิบัติที่มีสมาชิก "เต็มตัว" และสมาชิก "สำรอง" นั้นสอดคล้องกับพรรคลัทธิเลนินอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตหรือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม สมาชิกได้รับการเลือกตั้งโดยสภาแห่งชาติผ่านการลงคะแนนยืนยัน (เช่น ลงคะแนน "เห็นด้วย" "ไม่เห็นด้วย" หรือ "งดออกเสียง") ในรายชื่อผู้สมัคร ซึ่งจำนวนผู้สมัครมีมากกว่าจำนวนที่นั่งว่าง ต่างจากกรมการเมือง ซึ่งการเป็นสมาชิกในอดีตถูกกำหนดโดยการหารืออย่างไม่เป็นทางการที่รวมถึงสมาชิกกรมการเมืองที่ดำรงตำแหน่งอยู่และสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองที่เกษียณอายุแล้ว วิธีการคัดเลือกผู้สมัครสำหรับสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางได้รับการรายงานข่าวน้อยกว่า แม้ดูเหมือนว่าจะได้รับการจัดการโดยกรมการเมืองที่ดำรงตำแหน่งอยู่และคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมนั้น[1] ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 รูปแบบการสมาชิกภาพในคณะกรรมาธิการกลางค่อย ๆ มีเสถียรภาพขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ว่าการมณฑลและเลขาธิการพรรคประจำมณฑลแทบจะได้รับการรับประกันที่นั่งในคณะกรรมาธิการกลาง[ต้องการอ้างอิง]
ความต่างหลักระหว่างสมาชิกเต็มตัวกับสมาชิกสำรองคือสมาชิกเต็มตัวมีสิทธิ์ออกเสียง สมาชิกสำรองเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการกลาง และอาจแสดงความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน ในการประชุมเต็มคณะของพรรค สมาชิกกรมการเมืองจะนั่งแถวหน้าของหอประชุมหรือห้องประชุม หันหน้าเข้าหาคณะกรรมาธิการกลางที่เหลือ สมาชิกเต็มตัวถูกจัดลำดับตามระเบียบการ และจัดที่นั่งตาม "ลำดับขีดของนามสกุล" (ซิ่งชื่อปี่ฮฺว่าไผซฺวี่) ระบบการจัดลำดับที่เป็นกลางที่เทียบเท่ากับการเรียงชื่อตามตัวอักษรโดยประมาณ[ต้องการอ้างอิง] สมาชิกสำรองปฏิบัติตามระเบียบพิธีการที่ต่างกัน กล่าวคือ พวกเขาถูกจัดเรียงตามจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับเมื่อได้รับการเลือกตั้งในการประชุมครั้งก่อน
สมาชิกสำรองอาจได้รับการเลื่อนขั้นเป็นสมาชิกเต็มตัวหากสมาชิกเต็มตัวเสียชีวิตในตำแหน่ง ลาออก หรือถูกถอดถอน ลำดับความสำคัญในการเลื่อนสถานะเป็นสมาชิกเต็มตัวจะมอบให้กับสมาชิกสำรองที่ได้รับการลงคะแนนเห็นชอบมากที่สุดในการประชุมพรรคครั้งก่อน[16]
การเปลี่ยนแปลงสมาชิกภาพ เช่น การขับไล่สมาชิกเต็มตัวหรือการเลื่อนตำแหน่งสมาชิกสำรอง จะได้รับการยืนยันโดยการผ่านมติที่รับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมเต็มคณะกรรมาธิการกลาง
องค์ประกอบร่วมสมัย
[แก้]สมาชิกเต็มตัว
[แก้]สมาชิกส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการกลางเป็นผู้ว่าการมณฑลหรือรัฐมนตรีในรัฐบาล[9]: 57 ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ที่ดำรงตำแหน่ง หรือคาดว่าจะดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ณ เวลาที่มีการประชุมพรรคครั้งใหม่โดยทั่วไปคาดว่าจะได้รับที่นั่งในคณะกรรมาธิการกลาง
- หัวหน้าพรรคและผู้ว่าการมณฑล (นายกเทศมนตรีนครปกครองโดยตรงและประธานเขตปกครองตนเอง)
- รัฐมนตรีและกรรมาธิการระดับรัฐมนตรีของคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน
- หัวหน้าองค์กรระดับภูมิภาคทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชน รวมถึงหัวหน้าหน่วยงานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนภายใต้คณะกรรมการการทหารส่วนกลาง
- หัวหน้าองค์กรพรรคระดับรัฐมนตรีฐงซึ่งรายงานตรงต่อคณะกรรมาธิการกลาง รวมถึงหัวหน้าสำนักงานทั่วไปที่รับใช้กลุ่มผู้นำหลักของพรรค
- หัวหน้าในระดับชาติของสถาบันพลเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่ระดับรองรัฐมนตรีก็อาจได้รับสมาชิกภาพในคณะกรรมาธิการกลางได้เช่นกัน แม้จะเป็นในสถานการณ์หายากและพิเศษเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หม่า ซิ่งรุ่ย หัวหน้าพรรคประจำเชินเจิ้น (ณ ค.ศ. 2015) เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 18
แม้กฎเกณฑ์เชิงสถาบันจะมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าผู้ดำรงตำแหน่งเฉพาะใด ๆ จะได้รับที่นั่งในคณะกรรมาธิการกลาง หากสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น พวกเขายังคงรักษาสมาชิกภาพในคณะกรรมาธิการกลางของตนไว้ ตัวอย่างเช่น ผู้ว่าการมณฑลชานตงที่ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่มีความสำคัญน้อยกว่าจะไม่เสียที่นั่งในคณะกรรมาธิการกลาง และผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากเขาก็จะไม่ได้รับที่นั่งในคณะกรรมาธิการกลางด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ได้สร้างสถานการณ์ที่บุคคลซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะกรรมาธิการกลางเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำระดับมณฑล บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเบื้องต้นสำหรับตำแหน่งผู้นำระดับมณฑล อาจถูกปฏิเสธได้ด้วยวิธีการลงคะแนนแบบ "ผู้สมัครมากกว่าจำนวนที่นั่ง" เช่นเดียวกับที่ดูเหมือนจะเป็นกรณีของหลี่ ยฺเหวียนเฉา (หัวหน้าพรรคเจียงซูในขณะนั้น) ใน ค.ศ. 2002 และหยาง สฺยง (นายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้) ใน ค.ศ. 2012[17]
สมาชิกสำรอง
[แก้]เมื่อเทียบกับการเป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการกลาง การเป็นสมาชิกสำรองของคณะกรรมาธิการกลางนั้นมีความหลากหลายในองค์ประกอบมากกว่า และมีกฎเกณฑ์เชิงสถาบันที่ควบคุมรายชื่อสมาชิกน้อยกว่า โดยทั่วไปแล้วตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา สมาชิกสำรองในคณะกรรมาธิการกลางประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับมณฑล-รัฐมนตรี หรือระดับรองมณฑล (รองรัฐมนตรี) พวกเขาได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากประสบการณ์และสถาบันที่พวกเขาเป็นตัวแทนประกอบกัน หลายคนเป็นหัวหน้าหน่วยงานพรรคประจำมณฑลหรือหัวหน้าพรรคประจำเมืองใหญ่ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงซึ่งไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองและประธานเจ้าหน้าที่บริหารรัฐวิสาหกิจมักดำรงตำแหน่งสมาชิกสำรองในคณะกรรมาธิการกลาง สมาชิกสำรองบางคนจึงไม่มีตำแหน่งทางการเมืองอื่นใดเลย สมาชิกสำรองอายุน้อยมักถูกมองว่าเป็นผู้นำระดับชาติที่ "กำลังมาแรง"[18]
การเลือกตั้งสมาชิก
[แก้]แม้การเสนอชื่อทั้งหมดสำหรับคณะกรรมาธิการกลางจะถูกตัดสินใจไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ตั้งแต่การประชุมพรรคครั้งที่ 13 ใน ค.ศ. 1987 ด้วยจิตวิญญาณของการส่งเสริม "ประชาธิปไตยภายในพรรค จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งสำหรับทั้งสมาชิกเต็มตัวและสมาชิกสำรองมีมากกว่าจำนวนที่นั่งว่าง[19] ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่คณะกรรมาธิการกลางที่ได้รับคะแนนเสียงต่ำที่สุดจากผู้แทนในการประชุมพรรคจึงไม่สามารถเข้าสู่คณะกรรมาธิการกลางได้ ในการประชุมพรรคครั้งที่ 18 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกเต็มตัวคณะกรรมาธิการกลางทั้งหมด 224 คนสำหรับตำแหน่งสมาชิกเต็มตัวทั้งหมด 205 ที่นั่ง ผู้สมัครทั้งหมด 190 คนลงสมัครรับเลือกตั้งสำหรับที่นั่งสำรองทั้งหมด 171 ที่นั่ง นี่หมายความว่าผู้สมัครสมาชิกเต็มตัวร้อยละ 9.3 และผู้สมัครสมาชิกสำรองร้อยละ 11.1 ไม่ได้รับเลือกตั้ง[20]
อายุและอัตราการหมุนเวียนสมาชิก
[แก้]นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา สมาชิกภาพของคณะกรรมาธิการกลางได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นผลจากการวางระบบสถาบันของการเลื่อนตำแหน่งสำหรับเจ้าหน้าที่พรรครวมถึงอายุเกษียณที่กำหนดอย่างไม่เป็นทางการ ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 65 ปีสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรี (ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการกลาง) อายุเฉลี่ยของสมาชิกในคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 18 คือ 56.1 ปี ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 สมาชิกเฉลี่ยร้อยละ 62 ของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่กำลังจะหมดวาระถูกเปลี่ยนตัวในการประชุมพรรคแต่ละครั้ง[19] เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่มีอายุอย่างน้อย 50 ปีเมื่อเข้ารับตำแหน่งในองค์กรนี้ อายุเกษียณตามข้อบังคับจึงทำหน้าที่เสมือน "การจำกัดวาระ" สำหรับสมาชิกทั้งหมดของคณะกรรมาธิการกลาง โดยที่สมาชิกหรือกลุ่มสมาชิกใด ๆ ก็ตามไม่สามารถดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการกลางได้นานเกินกว่าสามวาระ มันยังทำให้การก่อตั้งฝ่ายการเมืองที่ยั่งยืนเป็นเรื่องยาก เฉิง ลี่ นักวิเคราะห์การเมืองจีนตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งนี้ทำให้องค์กรมีความคล่องตัวมากกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติส่วนใหญ่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง[19]
คณะกรรมาธิการกลางชุดปัจจุบัน
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Bo, Zhiyue (2007). China's Elite Politics: Political Transition and Power Balancing. World Scientific. p. 300. ISBN 9789812700414. OCLC 664685160. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 August 2023. สืบค้นเมื่อ 18 October 2017.
- ↑ Wang, Nianyi (1989). 大动乱的年代(Times of Great Turmoil). Henan People's Publishing House. p. 310.
- ↑ "死去活来的北戴河会议(林保华)". Radio Free Asia (ภาษาจีน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29.
- ↑ Li, Cheng (January 28, 2008). "A Pivotal Stepping-Stone: Local Leaders' Representation on the 17th Central Committee". Brookings Institution. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 3, 2016. สืบค้นเมื่อ May 9, 2020.
- ↑ Lai, Christina (26 October 2016). "In China's sixth plenum, Xi strives to polish image abroad". Asia Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 August 2024. สืบค้นเมื่อ 11 November 2016.
- ↑ 6.0 6.1 "Constitution of the Communist Party of China: Chapter 3 Central Organizations of the Party". People's Daily. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-18. สืบค้นเมื่อ 2014-11-18.
- ↑ Joseph, William A. (2010). Politics in China: An Introduction (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. p. 168. ISBN 978-0-19-533530-9. OCLC 609976883. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-08-22. สืบค้นเมื่อ 2020-05-09.
- ↑ Hirata, Koji (2024). Making Mao's Steelworks: Industrial Manchuria and the Transnational Origins of Chinese Socialism. Cambridge Studies in the History of the People's Republic of China series. New York, NY: Cambridge University Press. ISBN 978-1-009-38227-4.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Li, David Daokui (2024). China's World View: Demystifying China to Prevent Global Conflict. New York, NY: W. W. Norton & Company. ISBN 978-0393292398.
- ↑ "Behind closed doors: China's most powerful politicians gather for a secretive conclave". The Economist. November 8, 2013. ISSN 0013-0613. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 2, 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-05-09.
- ↑ Lau, Mimi (13 November 2012). "The truth about Beijing's Jingxi Hotel's corridors of party power". South China Morning Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2017. สืบค้นเมื่อ 20 October 2017.
- ↑ Šebok, Filip (2023). "China's Political System". ใน Kironska, Kristina; Turscanyi, Richard Q. (บ.ก.). Contemporary China: a New Superpower?. Routledge. ISBN 978-1-03-239508-1.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 Dang, Yuanyue (13 November 2023). "China's Communist Party plenums: what is the cycle and what can we expect?". South China Morning Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 November 2023. สืบค้นเมื่อ 13 November 2023.
- ↑ "京西宾馆密会 习近平表情严肃 孙政才案有隐情?". Forbidden News Network. สืบค้นเมื่อ 21 January 2025.
- ↑ "非凡的领航丨习近平:遇到的困难很多,有的困难是空前的,但是我们做到了". Hangzhou.com. Hangzhou Network Media Co., Ltd. สืบค้นเมื่อ 21 January 2025.
- ↑ "媒体揭秘哪些中央候补委员有望"转正"(全文)". Netease. Radio China. November 11, 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2014. สืบค้นเมื่อ November 20, 2014.
- ↑ "十八大落选中委已经令习近平难堪!". Radio Free Asia (ภาษาจีน). 2017-06-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-16.
- ↑ "令计划政治生命三个月后将真正终结". Duowei News. 2015-07-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-25. สืบค้นเมื่อ 2015-07-23.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 Li, Cheng (2012-08-09). "Leadership Transition in the CPC: Promising Progress and Potential Problems". China: An International Journal (ภาษาอังกฤษ). 10 (2): 23–33. doi:10.1353/chn.2012.0027. ISSN 0219-8614. S2CID 152562869. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-31. สืบค้นเมื่อ 2020-05-09.
- ↑ "十八届中央委员会候选委员选举差额比例9.3%". Caixin. 2012-11-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2014-11-18.