วัดไก่จ้น

พิกัด: 14°33′21.11″N 100°45′33.77″E / 14.5558639°N 100.7593806°E / 14.5558639; 100.7593806
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไก่จ้น
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไก่จ้น
ที่ตั้งตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 18270
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อแสนสุข
เจ้าอาวาสพระครูวิสุทธิธรรมากร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดไก่จ้น ถิ่นกำเนิด สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)1 [1] ตั้งอยู่ เลขที่ 1 บ้านไก่จ้น หมู่ 10 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[2] วัดตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควป่าสัก ทิศใต้ยาว 150 เมตร ติดต่อกับทางสาธารณะและที่ดินของเอกชน[3] อาณาเขตทิศเหนือยาว 110 เมตร ติดต่อกับชลประทานท่าหลวงและแม่น้ำแควป่าสัก ทิศตะวันออกยาว 198 เมตร ติดต่อกับชลประทานท่าหลวงและทางสาธารณะ ทิศตะวันตกยาว 980 เมตร ติดต่อกับที่ดินของเอกชนและแม่น้ำแควป่าสัก พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมแม่น้ำแควป่าสัก

ประวัติ[แก้]

วัดไก่จ้นเป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตั้งขึ้นเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. 2375 เดิมเรียกว่า "วัดบ้านไก่จ้น" มีหลักฐานประกฎอยู่ในใบพระราชทานวิสุงคามสีมา ของอุโบสถหลังเก่า ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่ "วัดบ้านไก่จ้น" แควนครน้อย แขวงกรุงเก่า ซึ่งมี "เจ้าอธิการดิส" เป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. 2431 เมื่อคราวพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสวัดสะตือซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดบ้านไก่จ้น เจ้าอธิการดิสได้แต่งซุ้มรับเสด็จฯ ที่หน้าวัดบ้านไก่จ้น โดยแต่งซุ้มเป็นรูปไก่ ประดับไฟตะเกียง พร้อมทั้งเขียนโครงยอพระเกียรติไว้ 1 บท มีผู้จำได้เพียงตอนท้ายบทว่า "ดับร้อนราษฎร์เกษม" พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเจ้าอธิการดิสเจ้าอาวาสวัดบ้านไก่จ้น ที่เขียนคำโครงยอพระเกียรติ แต่งซุ้มรับเสด็จฯ ประกอบทั้งคุณงามความดีของเจ้าอธิการดิสในด้านการศึกษาและพัฒนาวัด จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาไปอยู่วัดสุวรรณดาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระสุวรรณวิมลศิล" และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 จนถึงมรณภาพในปี พ.ศ. 2468

วัดไก่จ้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลัง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ปัจจุบัน "พระครูวิสุทธิธรรมากร" ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลท่าหลวง

วัดไก่จ้นมีวัตถุมงคลหลายรุ่นที่มีชื่อเสียง เช่น พระเครื่องบางรุ่นได้มวลสารมาจากสมเด็จบางขุนพรหมกรุ พ.ศ. 2500 หลวงพ่อลำภูวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม ได้นำมาสร้างเป็นพระพิมพ์สมเด็จหลายพิมพ์[1] เช่น ปี พ.ศ. 2501 สมเด็จโอ๊ก ปี พ.ศ. 2502 โด่งดังมาก ปี พ.ศ. 2516 ปี พ.ศ. 2517 ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้น

ปีที่สำคัญของวัด[แก้]

  • พ.ศ. 2521 – เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินวัดไก่จ้น ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ ทรงตัดลูกนิมิตร ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เกตุพระประธานในอุโบสถ ทรงลงนามพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยที่แผ่นศิลา ทรงพระสุหร่ายพระประธานในอุโบสถ และพระประธานจำลอง ณ อุโบสถ พระราชทานของแก่ผู้มีจิตศรัทธาโดยพระราชกุศล ทรงปลูกต้นพิกุลด้านหน้าอุโบสถ 2 ต้น พระราชทานทรัพย์ทำบุญบำรุงวัด 10,000 บาท
  • พ.ศ. 2523 – เมื่อวันที่ 8 เมษายน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินวัดไก่จ้น ทรงประกอบพิธีวาศิลาฤกษ์วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ทรงเททองหล่อพระพุทธรูปจำลองพระประธานอุโบสถ ทรงลงพระนามาภิไธยที่แผ่นศิลา พระราชทานของแก่ผู้มีจิตศรัทธาโดยเสด็จพระราชกุศล ทรงปลูกต้นพิกุลด้านหน้าอุโบสถ 2 ต้น และเสด็จฯ เยี่ยมประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จฯ
หมายเหตุ:

^1 กล่าวกันว่าสมเด็จโตเกิดในเรือซึ่งในขณะนั้นกำลังลอยลำอยู่หน้าวัดไก่จ้น

สมุดภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "เปิดประวัติ'หลวงปู่ลำภู' : ข่าวสดออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.
  2. วัดไก่จ้น - ข้อมูลสารสนเทศระดับโรงเรียน[ลิงก์เสีย]
  3. "วัดร้างใต้ดิน เมืองลพบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-01. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

14°33′21.11″N 100°45′33.77″E / 14.5558639°N 100.7593806°E / 14.5558639; 100.7593806