สาวเครือฟ้า
สาวเครือฟ้า | |
---|---|
กำกับ | มารุต |
เขียนบท | บทประพันธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ |
อำนวยการสร้าง | แท้ ประกาศวุฒิสาร |
นักแสดงนำ | วิไลวรรณ วัฒนพานิช (เครือฟ้า) ชลิต สุเสวี (ร้อยตรีพร้อม) สอางค์ ทิพยทัศน์ สมพงษ์ พงษ์มิตร สุจิตรา ทิพยทัศน์ (จำปา) รัตนา ทิพยทัศน์ (พี่เลี้ยงเครือฟ้า) ฉัตร โหสุภา (พระรามพลพ่าย) [1] สถิตย์ เสียงมหาราช สนิท เหมือนประสิทธิเวช |
กำกับภาพ | แท้ ประกาศวุฒิสาร |
ผู้จัดจำหน่าย | มารุตฟิล์ม |
วันฉาย | 1 มกราคม พ.ศ. 2496 ที่โรงภาพยนตร์นิวโอเดียน [2] รอบปกติ 16 มกราคม พ.ศ. 2496 |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
สาวเครือฟ้า เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2496 เป็นภาพยนตร์สี 16 มม. สร้างจากบทละครร้องเรื่อง สาวเครือฟ้า พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยทรงใข้พระนามปากกาว่า ประเสริฐอักษร ซึ่งเคยจัดแสดงที่ โรงละครปรีดาลัย
เรื่องสาวเครือฟ้านี้ดัดแปลงมาจากอุปรากร เรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย ของจาโกโม ปุชชีนี ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของจอห์น ลูเธอร์ ลอง อีกต่อหนึ่ง[3] เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 ทอดพระเนตรอุปรากรเรื่องนี้ เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงเล่าให้กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง กรมพระนราธิปฯ ทรงดัดแปลงเป็นบทละครร้องแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง โดยเปลี่ยนสถานที่จากญี่ปุ่น เป็น เชียงใหม่ เปลี่ยนบทนางเอกจากสาวญี่ปุ่น โจโจซัง เป็น เครือฟ้า เปลี่ยนบทพระเอกจากนายทหารเรืออเมริกัน นายเรือเอกพิงเคอร์ตัน เป็น ร้อยตรีพร้อม
ภาพยนตร์สาวเครือฟ้า ฉบับ พ.ศ. 2495 กำกับโดย มารุต นำแสดงโดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช, ชลิต สุเสวี, สอางค์ ทิพยทัศน์, สมพงษ์ พงษ์มิตร ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างชื่อเสียงให้กับวิไลวรรณ จนได้รับฉายาว่า "นางเอกเจ้าน้ำตา" ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2500 ทำให้มีการสร้างภาคต่ออีกหลายภาค เช่น ลูกเครือฟ้า พ.ศ. 2498 และ ปีศาจเครือฟ้า พ.ศ. 2503 นำแสดงโดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช, ชลิต สุเสวี และล้อต๊อก
ครูมารุต ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาสร้างใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2508 ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. นำแสดงโดย พิศมัย วิไลศักดิ์, มิตร ชัยบัญชา ร่วมด้วย ประจวบ ฤกษ์ยามดี, น้ำเงิน บุญหนัก, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม พร้อมกับและผู้ให้เกียรติมาร่วมแสดง ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง 3 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และพากย์เสียงยอดเยี่ยม
ในปี พ.ศ. 2523 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ทรงนำเรื่องนี้กลับมาสร้างอีกครั้ง ใช้ชื่อเรื่องว่า เครือฟ้า ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. นำแสดงโดย สุพรรษา เนื่องภิรมย์, นิรุตต์ ศิริจรรยา และวิยะดา อุมารินทร์
เรื่องสาวเครือฟ้า สร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้ง ครั้งหนึ่งนำแสดงโดย ปาหนัน ณ พัทลุง และรอน บรรจงสร้าง
เรื่องย่อ
[แก้]ร้อยตรีพร้อม (ชลิต สุเสวี) นายทหารหนุ่มชาวใต้ ย้ายมารับราชการที่เชียงใหม่ เกิดรักใคร่กับ เครือฟ้า (วิไลวรรณ วัฒนพานิช) หญิงช่างฟ้อนชาวเชียงใหม่ เป็นลูกของคนเลี้ยงช้าง แล้วก็ได้ผูกสมัครรักใคร่กันขึ้น เพราะร้อยตรีพร้อมชอบให้เครือฟ้าพาไปเที่ยวป่า จากนั้นทั้งคู่อยู่กินฉันได้เป็นสามีภรรยากันชั่วระยะสั้น ๆ จนให้กำเนิดบุตรชื่อ เครือณรงค์
ต่อมาจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ไทยเข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรและมีการระดมทหารอาสาไปรบที่ยุโรป ข่าวมาถึงเชียงใหม่ ร้อยตรีพร้อมได้คำสั่งย้ายกลับกรุงเทพฯ ร้อยตรีพร้อมเลยอาสาไปรบ ก่อนจากได้ร่ำลากันด้วยความรักและอาลัย เครือฟ้าร้องไห้ปิ่มว่า น้ำตาจะเป็นสายเลือด แต่ร้อยตรีพร้อมก็สัญญาว่าจะกลับมาเชียงใหม่อีก ร้อยตรีพร้อมจากไปแล้ว เครือฟ้าก็ตั้งท้อง ร้อยตรีพร้อมไปรบที่ยุโรป ยิงเครื่องบินเยอรมันตกไปหลายลำ แต่ตัวเองก็ประสบเคราะห์กรรมเครื่องบินตกได้รับบาดเจ็บเช่นกัน พอกลับเมืองไทยก็ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพันตรีหลวงณรงรักษ์ศักดิ์สงคราม แต่ก็ไม่สามารถจำอะไรในอดีตแม้แต่เครือฟ้าและเชียงใหม่
ร้อยตรีพร้อมได้ถูกทางญาติบังคับให้แต่งงานกับจำปา (สุจิตรา ทิพยทัศน์) เป็นลูกผู้ดีมีสกุล จนเกิดรักใคร่ชอบพอกันแล้วก็แต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมาย จนถึงวันที่คุณหลวงพร้อมต้องเอาเครื่องบินไปแสดงบินที่เชียงใหม่ และพอไปก็คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยมาอยู่ที่นี่ แต่ก็โดนคอยขัดขวาง ฝ่ายเครือฟ้าเฝ้ารอสามี เมื่อได้ข่าวว่าสามีเดินทางมาเชียงใหม่ ก็ไปคอยต้อนรับด้วยความดีใจ เมื่อพบว่าร้อยตรีพร้อมแต่งงานแล้ว พร้อมกับพาภรรยามาด้วย แต่คุณหลวงจำไม่ได้และยังโดนจำปาไล่กลับและดูหมิ่นดูแคลนต่าง ๆ นานา เครือฟ้าเสียใจมาก จึงใช้มีดแทงตัวตาย ด้วยหัวใจที่แตกสลาย แต่คุณหลวงจำได้ก็สายเกินไปเสียแล้ว
นักแสดงหลัก
[แก้]รูปแบบการนำเสนอ | เครือฟ้า | ร้อยตรีพร้อม | จำปา | สาวคำเจิด | จ้าวสายน้ำผึ้ง |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2496 | วิไลวรรณ วัฒนพานิช | ชลิต สุเสวี | สุจิตรา ทิพยทัศน์ | รัตนา ทิพยทัศน์ | สมพงษ์ พงษ์มิตร |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2508 | พิศมัย วิไลศักดิ์ | มิตร ชัยบัญชา | เนตร์นภา ดารารัตน์ | น้ำเงิน บุญหนัก | ดิสพงศ์ โอวาทสาร |
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2514 | สหัสษา ศักดิ์ภูวดล | ชนะ ศรีอุบล | เสาวภาคย์ อนันตศัพท์ | ชูศรี มีสมมนต์ | |
ภาพยนตร์ พ.ศ. 2523 | สุพรรษา เนื่องภิรมย์ | นิรุตติ์ ศิริจรรยา | วิยะดา อุมารินทร์ | ชูศรี มีสมมนต์ | เปี๊ยก มีคุณสุต |
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2534 | ปาหนัน ณ พัทลุง | รอน บรรจงสร้าง | มณีนุช เสมรสุต | นิศาลักษณ์ ศรีนาคาร | ชรัส เฟื่องอารมย์ |
ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2539 | กมลชนก โกมลฐิติ | นุติ เขมะโยธิน | เปียเช่อร์ คริสเตนเซ่น | น้อย โพธิ์งาม | ทนงศักดิ์ ศุภการ |
การสร้าง
[แก้]ภาพยนตร์
[แก้]- ในปี พ.ศ. 2495 สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก กำกับโดย ครูมารุต สร้างโดย มารุตฟิล์ม นำแสดงโดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช, ชลิต สุเสวี, สอางค์ ทิพยทัศน์, สุจิตรา ทิพยทัศน์, สมพงษ์ พงษ์มิตร ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างชื่อเสียงให้กับวิไลวรรณ จนได้รับฉายาว่า "นางเอกเจ้าน้ำตา" ได้รับ รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2500 เข้าฉายเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 ที่โรงภาพยนตร์นิวโอเดียน รอบปกติ 16 มกราคม พ.ศ. 2496
- ในปี พ.ศ. 2508 สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ 2 กำกับโดย ครูมารุต เช่นเดิม สร้างโดย มารุตฟิล์ม นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา (ร้อยตรีพร้อม), พิศมัย วิไลศักดิ์ (เครือฟ้า), ประจวบ ฤกษ์ยามดี (พระรามพลพ่าย), น้ำเงิน บุญหนัก (คำเจิด), เนตร์นภา ดารารัตน์ (จำปา), สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม (พลทหารเขียว), ดิสพงศ์ โอวาทสาร (จ้าวสายน้ำผึ้ง)[4] ได้รับ รางวัลตุ๊กตาทอง 3 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และพากย์เสียงยอดเยี่ยม เข้าฉายเมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง [5]
- ในปี พ.ศ. 2523 สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ 3 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า เครือฟ้า กำกับโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ สร้างโดย ละโว้ภาพยนตร์ และ สหมงคลฟิล์ม อำนวยการสร้างโดย หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา กำกับภาพโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และบทภาพยนตร์, ลำดับภาพ , กำกับภาพยนตร์โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ นำแสดงโดย นิรุตต์ ศิริจรรยา, สุพรรษา เนื่องภิรมย์, วิยะดา อุมารินทร์, ชูศรี มีสมมนต์, เปี๊ยก มีคุณสุต, ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้าฉายเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523[6] ได้รับรางวัลสุรรณหงส์ทองคำประจำปี 2523 (แต่งกาย-แต่งหน้ายอดเยี่ยม)
ละครโทรทัศน์
[แก้]- สาวเครือฟ้ามาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2514 ทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7[7] เป็นหนังชุดพากษ์เสียง นำแสดงโดย ชนะ ศรีอุบล, สหัสษา ศักดิ์ภูวดล, เสาวภาคย์ อนันตศัพท์, ชูศรี มีสมมนต์ และ จีระศักดิ์ ปิ่นสุวรรณ รับบท เครือณรงค์
- ในปี พ.ศ. 2534 สร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งที่ 2 เป็นละครร้อง ทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นำแสดงโดย รอน บรรจงสร้าง, ปาหนัน ณ พัทลุง, มณีนุช เสมรสุต, ชรัส เฟื่องอารมณ์, นิศาลักษณ์ ศรีนาคาร
- ในปี พ.ศ. 2539 สร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งที่ 3 เป็นละครสั้นปากกาทองมินิซีรีส์ ทาง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 นำแสดงโดย นุติ เขมะโยธิน, กมลชนก โกมลฐิติ, ทนงศักดิ์ ศุภการ, เฉลิมพร พุ่มพันธ์วงศ์, เปียเชอร์ คริสเตนเซ่น, น้อย โพธิ์งาม, ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา , แรม วรธรรม, รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง, บุญส่ง ดวงดารา
เพลงสาวเครือฟ้า
[แก้]เพลงประกอบภาพยนตร์ ชื่อเพลงสาวเครือฟ้า แต่งคำร้องและทำนองโดย พยงค์ มุกดา ขับร้องครั้งแรกโดย พรทิพา บูรณกิจบำรุง นำมาขับร้องใหม่โดย บุษยา รังสี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เบื้องหลังหนังแท้ โดย แท้ ประกาศวุฒิสาร
- ↑ แท้ ประกาศวุฒิสาร. สุภาพบุรุษเสือแท้. กรุงเทพ : มูลนิธิหนังไทย, พ.ศ. 2544. 368 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-88613-8-4
- ↑ Patase, Chutipong (2018-11-29). "สาวเครือฟ้าและมิสไซ่ง่อน ผลผลิตจากละครเวทีแม่แบบ…มาดามบัตเตอร์ฟลาย" [Sao Krua Fah and Miss Saigon product from the original stage play…Madame Butterfly]. Art & Culture. สืบค้นเมื่อ 2021-08-23.
- ↑ ผลงานการแสดงของ "พิศมัย วิไลศักดิ์"[ลิงก์เสีย]
- ↑ สาวเครือฟ้า (2508)[ลิงก์เสีย]
- ↑ เครือฟ้า - สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล[ลิงก์เสีย]
- ↑ กระทู้จาก thaicine
- ฐานข้อมูลภาพยนตร์เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ฐานข้อมูลภาพยนตร์เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แท้ ประกาศวุฒิสาร, หนังแท้ - ดีวีดีข่าวภาพยนตร์ เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์ เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
หมวดหมู่:ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2514 หมวดหมู่:ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2534
- ภาพยนตร์ไทย
- ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2496
- ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2508
- ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2523
- ภาพยนตร์ที่กำกับโดย มารุต
- ภาพยนตร์ที่กำกับโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
- ละครโทรทัศน์ไทยในปี พ.ศ. 2539
- ละครโทรทัศน์ช่อง 3
- ละครโทรทัศน์ช่อง 5
- ละครโทรทัศน์ช่อง 7
- ผู้ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพระสุรัสวดี
- บทความเกี่ยวกับ ภาพยนตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์