วิกิพีเดีย:บทความคัดสรรประจำเดือน/พ.ศ. 2555

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


บทความคัดสรรแบ่งตามปี
2548 - 2549 - 2550 - 2551 - 2552 - 2553 - 2554 - 2555 - 2556 - 2557 - 2558 - 2559 - 2560 - 2561 - 2562 - 2563 - 2564 - 2565 - 2566 - 2567


มกราคม 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (พ.ศ. 2351พ.ศ. 2425) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของไทย โดยเริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่ง "สมเด็จเจ้าพระยา" เป็นคนสุดท้าย นอกจากนี้ ท่านยังมีบทบาทในการอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองสิริราชสมบัติและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2416 ด้วย

นอกจากด้านการปกครองแล้ว ท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านวรรณกรรม การละคร และดนตรี รวมถึงเป็นแม่กองในการก่อสร้าง บูรณะ ซ่อมแซม สถานที่ต่าง ๆ มากมาย เช่น พระนครคีรี พระอภิเนาว์นิเวศน์ คลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีชีวิตยืนยาวถึง 5 รัชกาล ตั้งแต่เกิดในปลายรัชกาลที่ 1 และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมขณะที่กำลังเดินทางกลับจากราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2425 ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 โดยมีอายุยืนยาวถึง 75 ปี (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: อาร์คิมิดีสสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาระบบสุริยะ


กุมภาพันธ์ 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

ซิลเวอร์แชร์
ซิลเวอร์แชร์

ซิลเวอร์แชร์ เป็นวงอัลเทอร์เนทีฟร็อกจากออสเตรเลีย แรกเริ่มรวมตัวกันในชื่อวง อินโนเซนต์คริมินอลส์ ที่นิวคาสเซิล นิวเซาธ์เวลส์ ในปี ค.ศ. 1992 โดยมีสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อนตั้งวงคือ ดาเนียล จอนส์ (ร้องนำและกีตาร์), คริส โจนนาว (กีตาร์เบส) และ เบน จิลลีส์ (กลอง) วงประสบความสำเร็จกลางปี ค.ศ. 1994 เพลงแรกคือ "Tomorrow" ที่ชนะการประกวดระดับท้องถิ่นจากเครือข่ายสถานีโทรทัศน์เอสบีเอส จากนั้นวงก็ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง เมอร์เมอร์ และมีผลงานประสบความสำเร็จดีในออสเตรเลียและระดับนานาชาติ

จากข้อมูลปี ค.ศ. 2011 ซิลเวอร์แชร์ได้รับรางวัล รางวัลอาเรีย ถึง 21 ครั้ง จากการเสนอชื่อ 49 ครั้ง และยังได้รับ 6 รางวัลเอพรา โดยจอห์นส ได้รับ 3 รางวัลสาขานักเขียนในปี ค.ศ. 2008 พวกเขามีผลงานสตูดิโออัลบั้ม 5 ชุดที่ล้วนแต่ขึ้นอันดับ 1 บนอาเรียอัลบั้มส์ชาร์ต ได้แก่ Frogstomp (1995), Freak Show (1997), Neon Ballroom (1999), Diorama (2002) และ Young Modern (2007) นอกจากนั้น 3 ซิงเกิ้ลติดอันดับ 1 บน อาเรียซิงเกิลส์ชาร์ต คือเพลง "Tomorrow" (1994), "Freak" (1997) และ "Straight Lines" (2007) (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อาร์คิมิดีสสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา


มีนาคม 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

กษัตริย์อาเธอร์
กษัตริย์อาเธอร์

กษัตริย์อาเธอร์ เป็นกษัตริย์อังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในตำนานเล่าขานในฐานะวีรบุรุษในยุคกลาง ซึ่งได้ปกป้องเกาะบริเตนจากการรุกรานของชาวแซ็กซอนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 รายละเอียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าขาน ตำนานพื้นบ้าน และวรรณกรรมที่แต่งขึ้น นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ากษัตริย์อาเธอร์มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์จริงหรือไม่ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอาเธอร์ค่อนข้างกระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น Annales Cambriae, Historia Brittonum และในบันทึกของนักบุญกิลดาส นอกจากนี้ชื่อของ อาเธอร์ ยังปรากฏอยู่ในบทกวีเก่าแก่หลายแห่ง เช่นในกวีนิพนธ์ Y Gododdin เป็นต้น ไม่สามารถระบุได้ว่า บทกวี Y Gododdin อยู่ในยุคสมัยใด บทกวีบรรยายถึงเหตุการณ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 แต่ใช้รูปแบบการสะกดแบบยุคคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 ส่วนต้นฉบับที่รอดมาถึงปัจจุบันมีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13

กษัตริย์อาเธอร์ในตำนานได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นบุคคลที่น่าสนใจในระดับนานาชาติก็ด้วยผลงานเขียนอันเปี่ยมด้วยจินตนาการและความเหนือจริงของเจฟฟรีย์แห่งมอนมอธ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เรื่อง Historia Regum Britanniae (ประวัติกษัตริย์แห่งบริเตน) แต่ก็มีนิทานและกวีนิพนธ์ของเวลส์และไบรตันหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์อาเธอร์ และมีอายุเก่าแก่กว่างานชิ้นดังกล่าว ในงานเหล่านั้น อาเธอร์เป็นทั้งนักรบผู้ยิ่งใหญ่ผู้ปกป้องบริเตนไว้จากศัตรูทั้งที่เป็นมนุษย์และสิ่งเหนือมนุษย์ บางครั้งก็เป็นผู้วิเศษในตำนานพื้นบ้าน ทั้งมีเรื่องเล่าถึงโลกหลังความตายในตำนานเวลส์ (คือ Annwn) ด้วย แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าผลงานของเจฟฟรีย์ (ซึ่งเขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1138) ได้ดัดแปลงมาจากตำนานเก่าแก่ดั้งเดิมเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ซิลเวอร์แชร์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อาร์คิมิดีส


เมษายน 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

แผนที่คร่าว ๆ แสดงเส้นทางการเคลื่อนทัพของพม่าจนถึงกรุงศรีอยุธยา
แผนที่คร่าว ๆ แสดงเส้นทางการเคลื่อนทัพของพม่าจนถึงกรุงศรีอยุธยา

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หรือ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งที่สอง ระหว่างราชวงศ์อลองพญาแห่งพม่า กับราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งสยามในสมัยอาณาจักรอยุธยา ในการทัพคราวนี้ กรุงศรีอยุธยา ราชธานีสยามยาวนานเกือบสี่ศตวรรษ ได้เสียแก่พม่า และถึงกาลสิ้นสุดลง เมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศแห่งอาณาจักรอยุธยา และพระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรพม่า

ยุทธนาการนี้เป็นผลพวงของสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อ พ.ศ. 2303 และก่อตัวขึ้นใน พ.ศ. 2308 เมื่อพม่าส่งกองทัพเข้ารุกรานอยุธยาเป็นสองทางแบบคีม ทัพพม่าพิชิตการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่ประกอบด้วยกำลังอันเหนือกว่าแต่ขาดการประสานงานกันได้ และเริ่มปิดล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 14 เดือน กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศทรงยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่พม่าประสงค์ให้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในที่สุด กองทัพพม่าหักเข้าพระนครได้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ แล้วทำลายล้างพระนครอย่างป่าเถื่อน ก่อให้เกิดรอยด่างบนผืนความสัมพันธ์ไทย-พม่าตราบบัดนี้ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: กษัตริย์อาเธอร์ซิลเวอร์แชร์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์


พฤษภาคม 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

สถานีอวกาศนานาชาติ
สถานีอวกาศนานาชาติ

สถานีอวกาศนานาชาติ เป็นห้องทดลองและสถานอำนวยความสะดวกสำหรับงานค้นคว้าวิจัยในระดับนานาชาติซึ่งถูกประกอบขึ้นในวงโคจรต่ำของโลก การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 และมีแผนดำเนินการเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2012 ขณะที่การปฏิบัติการจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ. 2020 หรืออาจเป็นไปได้ถึงปี ค.ศ. 2028 เราสามารถมองเห็นสถานีอวกาศนานาชาติได้ด้วยตาเปล่าจากพื้นโลก เนื่องจากสถานีอวกาศแห่งนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่ในระดับวงโคจรของโลก โดยมีมวลมากกว่าสถานีอวกาศใดๆที่มนุษย์เคยสร้างมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด สถานีอวกาศนานาชาติทำหน้าที่เป็นห้องทดลองวิจัยอย่างถาวรในอวกาศ ทำการทดลองด้านต่าง ๆ ได้แก่ ชีววิทยา ชีววิทยามนุษย์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และ อุตุนิยมวิทยา ซึ่งต้องอาศัยการทดลองในสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงน้อยมากๆ สถานีอวกาศแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่ทดสอบสำหรับระบบกระสวยอวกาศที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้สำหรับปฏิบัติการระยะยาวเพื่อการไปสู่ดวงจันทร์และดาวอังคาร การทดลองและการบริหารสถานีอวกาศนานาชาติดำเนินการโดยคณะนักบินอวกาศซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในระยะยาว สถานีเริ่มปฏิบัติการนับแต่ลูกเรือถาวรคณะแรก คือ เอ็กซ์เพดิชั่น 1 ที่ไปถึงสถานีอวกาศตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2011 คณะลูกเรือชุด เอ็กซ์เพดิชั่น 28 อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ นับรวมแล้วปฏิบัติการนี้ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 10 ปี และถือเป็นสถิติการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอวกาศโดยไม่ขาดความต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดอีกด้วย (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองกษัตริย์อาเธอร์ซิลเวอร์แชร์


มิถุนายน 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมัน
สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมัน

สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (ภาษาตุรกีออตโตมัน: سليمان “Sulaymān”; ตุรกี: Süleyman หรือมักจะเป็น Kanuni Sultan Süleyman; 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1494 - 5/6 กันยายน ค.ศ. 1566) สุลัยมานทรงเป็นประมุขของจักรวรรดิออตโตมันแห่งราชวงศ์ออสมันระหว่างปี ค.ศ. 1520 จนเสด็จสวรรคตเมื่อต้นเดือนกันยายนปี ค.ศ. 1566 สุลัยมานทรงเป็นสุลต่านองค์ที่ 10 และเป็นสุลต่านที่ทรงราชย์นานที่สุดของจักรวรรดิออตโตมัน เป็นเวลานานถึง 46 ปี พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักกันในโลกตะวันตกว่า "สุลต่านสุลัยมานผู้ยิ่งใหญ่" หรือเทียบกับภาษาไทยว่า "สุลต่านสุลัยมานมหาราช" (อังกฤษ: Suleiman the Magnificent) และในโลกตะวันออก ทรงเป็นที่รู้จักกันว่า "ผู้พระราชทานกฎหมาย" (อังกฤษ: the Lawgiver; ในภาษาตุรกีว่า “Kanuni” และ ภาษาอาหรับ “القانونى” (al‐Qānūnī)) เพราะพระราชกรณียกิจในการปฏิรูประบบกฎหมายของจักรวรรดิออตโตมัน

สุลต่านสุลัยมานเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1494 ที่ทราบซอนในประเทศตุรกี ทรงเป็นพระราชโอรสในสุลต่านเซลิมที่ 1 และ ฮาฟซา ฮาทุน (Hafsa Hatun) ทรงเสกสมรสตามกฎหมายกับร็อกเซลานา หรือเฮอร์เรมสุลต่าน พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อราววันที่ 5/6 กันยายน ค.ศ. 1566 ที่ Szigetvár ในประเทศฮังการีปัจจุบัน หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต พระราชโอรสของพระองค์กับเฮอร์เรมสุลต่านก็ขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านเซลิมที่ 2 (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สถานีอวกาศนานาชาติการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองกษัตริย์อาเธอร์


กรกฎาคม 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

สนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์
สนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์

สนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์ เป็นสนามกีฬาในเมืองแมนเชสเตอร์ เป็นสนามกีฬาเหย้าของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี เป็นสนามกีฬาใหญ่เป็นอันดับ 5 ของทีมพรีเมียร์ลีก และใหญ่เป็นอันดับ 12 ในสหราชอาณาจักร มีจำนวนที่นั่ง 47,805 ที่

เดิมทีสนามกีฬามีวัตถุประสงค์สำหรับเป็นสนามแข่งกีฬาหลักในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2000 ที่สหราชอาณาจักรพลาดการประมูลไป จนได้ชนะการประมูลในการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ 2002 หลังจบการแข่งขันได้ลดความจุสนามจาก 80,000 คน ไปเป็น 50,000 คน สนามแห่งนี้ก่อสร้างโดยเลียงคอนสตรักชัน ด้วยงบประมาณ 112 ล้านปอนด์ โดยออกแบบโดยอารัปสปอร์ต

เพื่อแน่ใจว่าจะไม่ใช่โครงการที่เสี่ยง แมนเชสเตอร์ซิตีจึงตัดสินใจรับสนามกีฬาแห่งนี้แทนที่สนามกีฬาเก่า เมนโรด ทันทีที่การแข่งขันจบลง ก็ได้มีการเพิ่มที่นั่งลดหลั่นเจาะลงไปในลู่วิ่งเดิม การปรับปรุงนี้ทางสภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์จ่ายไป 22 ล้านปอนด์ และแมนเชสเตอร์ซิตีจ่ายเพิ่มอีก 20 ล้านปอนด์ และเพิ่มที่จำหน่ายเครื่องดื่ม ร้านอาหาร และพื้นที่สันทนาการอื่น สโมสรย้ายเข้ามาใช้สนามแห่งใหม่ระหว่างช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2003 (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมันสถานีอวกาศนานาชาติการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง


สิงหาคม 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมันสถานีอวกาศนานาชาติ


กันยายน 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา (10 กันยายน พ.ศ. 2405 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (ภายหลังเป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 6) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก ลำดับที่ 60 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์ทรงเป็นพระราชชนนี (แม่) ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย พระมาตุจฉาเจ้า (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: วันอาสาฬหบูชาสนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมัน


ตุลาคม 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

แรดชวา
แรดชวา

แรดชวา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในอันดับสัตว์กีบคี่ในวงศ์แรด อยู่ในสกุลเดียวกันกับแรดอินเดีย เป็นหนึ่งในห้าชนิดของแรดที่ยังเหลืออยู่ ลำตัวยาว 3.1–3.2  ม.สูง 1.4–1.7 ม.มีขนาดใกล้เคียงกับแรดดำ เหนือจมูกมีนอสั้นๆ หนึ่งนอมีขนาดเล็กกว่าแรดทุกชนิด จึงได้อีกชื่อว่า แรดนอเดียว

แรดชวาเป็นแรดเอเชียที่มีการกระจายพันธุ์กว้างที่สุดตั้งแต่เกาะในอินโดนีเซีย ตลอดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และจีน ปัจจุบันแรดชวาถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติ มีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ยังมีประชากรหลงเหลืออยู่ในป่า ไม่มีแรดชวาจัดแสดงในสวนสัตว์ แรดชวาอาจเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่พบได้ยากที่สุดในโลก มีประชากรแรดน้อยกว่า 40-50 ตัวในอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลอนบนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย และประชากรจำนวนเล็กน้อย (ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2550) ไม่เกิน 8 ตัวในอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนในประเทศเวียดนาม แต่ในปัจจุบันมีการยืนยันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว การลดลงของแรดชวาเกิดจากการล่าเอานอซึ่งเป็นสิ่งมีค่าในการแพทย์แผนจีนซึ่งมีราคาถึง $30,000 ต่อกก.ในตลาดมืด การสูญเสียถิ่นอาศัยโดยเฉพาะผลของสงครามอย่างสงครามเวียดนาม มีส่วนในการลดลงและขัดขวางการฟื้นฟูของจำนวนประชากร แม้พื้นที่ถิ่นอาศัยที่เหลือจะได้รับการปกป้องแต่แรดชวายังคงเสี่ยงต่อการถูกล่า โรคภัยไข้เจ็บ และการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งจะนำไปสู่การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าวันอาสาฬหบูชาสนามกีฬาซิตีออฟแมนเชสเตอร์


พฤศจิกายน 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

วงโซนิกยูท
วงโซนิกยูท

พังก์ร็อก เป็นดนตรีร็อกประเภทหนึ่ง (โดยมากมักเรียกสั้นๆว่า พังก์) มีการเคลื่อนไหวและเป็นที่รู้จักในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 พังก์ร็อกได้พัฒนาระหว่างปี 1974 และ 1977 ในสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย โดยมีวงอย่าง เดอะ ราโมนส์, เซ็กซ์ พิสทอลส์ และ เดอะ แคลช ที่เป็นที่รู้จักในฐานะแนวหน้าของดนตรีประเภทนี้

ลักษณะดนตรีแบบพังก์ร็อกมีลักษณะท่วงทำนองที่รุนแรง หยาบกระด้าง ด้วยความขาดทักษะของการเล่นดนตรี ส่วนการร้องก็จะเป็นการ "ตะโกน"หรือ "บ่น" และแฝงนัยของ "การต่อต้าน" และการยกย่อง "ความเป็นเลิศ" เครื่องดนตรีจะประกอบด้วย กีตาร์ไฟฟ้า 1 หรือ 2 ตัว, เบสไฟฟ้า และชุดกลอง มักมีการเล่นแบบ 2 คอร์ด เพลงพังก์มักมีความยาวระหว่าง 2 ถึง 2 นาทีครึ่ง บางเพลงมีความยาวน้อยกว่า 1 นาทีก็มี เพลงพังก์ในช่วงแรกรับอิทธิพลจากร็อกแอนด์โรล คือมีท่อนประสานเสียง (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: แรดชวาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าวันอาสาฬหบูชา


ธันวาคม 2555

ดู - สนทนา - ประวัติ

แถบดาวเคราะห์น้อย
แถบดาวเคราะห์น้อย

แถบดาวเคราะห์น้อย เป็นบริเวณในระบบสุริยะที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ประกอบไปด้วยวัตถุรูปร่างไม่แน่นอนจำนวนมาก เรียกว่าดาวเคราะห์น้อย (asteroid หรือ minor planet) บางครั้งก็เรียกแถบดาวเคราะห์น้อยว่า "แถบหลัก" เพื่อแยกแยะมันออกจากดาวเคราะห์น้อยกลุ่มอื่น ๆ ที่มีอยู่ในระบบสุริยะ เช่น แถบไคเปอร์

มวลกว่าครึ่งหนึ่งของแถบดาวเคราะห์น้อยอยู่ในดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 4 ดวง ได้แก่ ซีรีส, เวสตา, พัลลัส และไฮเจีย ทั้งสี่ดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยมากกว่า 400 กิโลเมตร สำหรับซีรีสซึ่งถือเป็นดาวเคราะห์แคระเพียงดวงเดียวในแถบดาวเคราะห์น้อย มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 950 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือมีขนาดลดหลั่นกันไปจนถึงเศษฝุ่น วัตถุในแถบดาวเคราะห์น้อยกระจายอยู่อย่างเบาบางจนกระทั่งยานอวกาศหลายลำสามารถเคลื่อนผ่านไปได้โดยไม่ชนกับอะไรเลย นอกจากนั้น การชนกันระหว่างดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ได้ทำให้เกิดวงศ์ดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบธาตุและวงโคจรใกล้เคียงกัน การแตกสลายทำให้เกิดเศษฝุ่นละเอียดซึ่งกลายเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของแสงในแนวจักรราศี ดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงในแถบดาวเคราะห์น้อยได้รับการจำแนกตามสเปกตรัม โดยหลักมี 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดคาร์บอน (C-type) ชนิดซิลิเกต (S-type) และชนิดโลหะ (M-type) (อ่านต่อ...)

บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: พังก์ร็อกแรดชวาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า