วิกิพีเดีย:บทความคัดสรรประจำเดือน/พ.ศ. 2556
- มกราคม 2556
นาซีเยอรมนี หรือ จักรวรรดิไรช์ที่สาม เป็นชื่อสามัญเรียกประเทศเยอรมนี สมัยที่ถูกปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคชาติสังคมนิยมกรรมกรแห่งชาติเยอรมัน นาซีเยอรมนีตั้งอยู่ในทวีปยุโรป มีกรุงเบอร์ลินเป็นเมืองหลวง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า จักรวรรดิเยอรมัน (เยอรมัน: Deutsches Reich) และ มหาจักรวรรดิเยอรมัน (เยอรมัน: Großdeutsches Reich) นับตั้งแต่ ค.ศ. 1943 เป็นต้นมา วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี และกำจัดคู่แข่งและขึ้นปกครองเป็นผู้นำแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว รัฐยกย่องฮิตเลอร์ว่าเป็นฟือแรร์ ("ผู้นำ") ผู้รวมอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ ภายใต้ "หลักผู้นำ" คำสั่งของฟือแรร์อยู่เหนือกฎหมายใด ๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายงานต่อฮิตเลอร์และปฏิบัติตามนโยบายของเขา แต่ยังมีอิสระอยู่พอสมควร รัฐบาลมิได้เป็นหน่วยงานที่ประสานร่วมมือกัน หากเสมือนเป็นฝ่ายต่าง ๆ ที่แก่งแย่งกันสั่งสมอำนาจและประจบประแจงฟือแรร์มากกว่า
ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และอีกหลายปัจจัย ส่งผลให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ใน ค.ศ. 1933 รัฐบาลนาซีฟื้นฟูความรุ่งเรืองและยุติการว่างงานขนานใหญ่โดยทุ่มรายจ่ายทางทหารอย่างหนักและใช้เศรษฐกิจแบบผสมระหว่างตลาดเสรีกับการวางแผนจากส่วนกลาง มีการดำเนินการการโยธาสาธารณะอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการก่อสร้างออโตบาห์น การที่ประเทศกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมมหาศาล จนถือได้ว่า เยอรมนีเป็นชาติมหาอำนาจหนึ่งของโลก นาซียังได้มีแนวคิดต่อต้านชาวยิวอย่างหนัก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 เป็นต้นมา ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศของนาซีเยอรมนีอยู่บนพื้นฐานแนวคิด เลเบนสเราม์ (เยอรมัน: Lebensraum) อันเป็นนโยบายก้าวร้าวซึ่งถือได้ว่านำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: แถบดาวเคราะห์น้อย – พังก์ร็อก – แรดชวา
- กุมภาพันธ์ 2556
สมเด็จพระราชินีรานาวาโลนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ (รานาวาโล มันจากาที่ 3) (22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 — 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรเมรีนาหรือประเทศมาดากัสการ์ปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2426 ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 เมื่อทรงถูกเนรเทศโดยฝรั่งเศสที่ได้ยึดครองประเทศนี้เป็นอาณานิคม พระองค์ทรงเป็นที่รักยิ่งของชาวมาลากาซีเนื่องจากทรงพยายามนำพาประเทศต่อต้านการขยายอาณานิคมของฝรั่งเศสในมาดากัสการ์แม้ไม่สำเร็จก็ตาม
ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นเจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตี ทรงถูกคัดเลือกจากเหล่าขุนนางชั้น แอนเดรียนา ให้ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ ซึ่งเสด็จสวรรคต จากธรรมเนียมของพระราชินี พระนางต้องอภิเษกสมรสกับไรนิไลอาริโวนี นายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลทางการเมือง ผู้ซึ่งมีอำนาจในการปกครองราชอาณาจักรและนำประเทศเข้าสู่สากล ในรัชกาลของพระนาง มาดากัสการ์ได้ดำเนินติดต่อทางการค้า รวมทั้งเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่อคานอำนาจการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสได้ยึดชายฝั่งมาดากัสการ์และสามารถเข้ายึดกรุงอันตานานารีโวได้ โดยเข้ายึดครองศูนย์กลางของประเทศคือ พระราชวังหลวงโรวาแห่งอันตานานารีโว ในปีพ.ศ. 2439 นับเป็นจุดจบของราชอาณาจักรมาดากัสการ์ภายใต้ราชวงศ์เมรีนาที่ยืนยาวเก่าแก่กว่า 400 ปี (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: นาซีเยอรมนี – แถบดาวเคราะห์น้อย – พังก์ร็อก
- มีนาคม 2556
การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน เป็นโครงการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังภายในที่สำคัญที่สุดในบรรดาโครงการบูรณะศิลปะของคริสต์ศตวรรษที่ 20
โบสถ์น้อยซิสทีนนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ตุสที่ 4 ทรงให้สร้างขึ้นภายในวังพระสันตะปาปา ณ ด้านเหนือของนครรัฐวาติกัน ติดกับมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ โดยสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1481 ผนังและเพดานภายในโบสถ์น้อยนั้นตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังของจิตรกรหลายคนในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี ซึ่งถือเป็นจิตรกรชั้นปรมาจารย์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในจำนวนนี้รวมถึงโดเมนนิโค เกอร์ลันเดา, เปียโตร เปรูจิโน และซานโดร บอตติเชลลี ในระหว่าง ค.ศ. 1508 ถึง ค.ศ. 1512 โบสถ์ยังได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยจิตรกรรมเพดานของมีเกลันเจโล ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 และด้วยภาพ "การตัดสินครั้งสุดท้าย" ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ทรงว่าจ้างให้มีเกลันเจโลเขียนจนแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1541 นอกจากนี้ จิตรกรรมฝาผนังชั้นล่างของโบสถ์ยังตกแต่งด้วยพรมทอแขวนผนังอันเลื่องชื่อ ซึ่งราฟาเอลออกแบบขึ้นในช่วง ค.ศ. 1515 ถึง ค.ศ. 1516 เป็นอันสิ้นสุดการตกแต่งภายในโบสถ์ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ – นาซีเยอรมนี – แถบดาวเคราะห์น้อย
- เมษายน 2556
วิลเลียม เชกสเปียร์ (รับศีล 26 เมษายน ค.ศ. 1564 - 23 เมษายน ค.ศ. 1616) เป็นกวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ ได้รับยกย่องทั่วไปว่าเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษและของโลก มักเรียกขานกันว่าเขาเป็นกวีแห่งชาติของอังกฤษ และ "Bard of Avon" (กวีแห่งเอวอน) งานเขียนของเขาที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยบทละคร 38 เรื่อง กวีนิพนธ์แบบซอนเน็ต 154 เรื่อง กวีนิพนธ์อย่างยาว 2 เรื่อง และบทกวีแบบอื่นๆ อีกหลายชุด บทละครของเขาได้รับการแปลออกไปเป็นภาษาต่างๆ มากมาย และเป็นที่นิยมนำมาแสดงมากที่สุดในบรรดาบทละครทั้งหมด
เชกสเปียร์เกิดและเติบโตที่เมืองสแตรทฟอร์ด ริมแม่น้ำเอวอน เมื่ออายุ 18 ปี เขาสมรสกับแอนน์ ฮาธาเวย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ ซูซานนา และฝาแฝด แฮมเน็ตกับจูดิธ ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1585-1592 เขาประสบความสำเร็จในการเป็นนักแสดงในกรุงลอนดอน รวมถึงการเป็นนักเขียน ได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนในคณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน (Lord Chamberlain's Men) ซึ่งในภายหลังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในชื่อ King's Men เชกสเปียร์เกษียณตัวเองกลับไปยังสแตรทฟอร์ดในราวปี ค.ศ. 1613 และเสียชีวิตในอีกสามปีต่อมา ไม่ค่อยมีบันทึกใดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเชกสเปียร์มากนัก จึงมีทฤษฎีมากมายที่คาดกันไปต่างๆ นานา เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ความเชื่อทางศาสนา และแรงบันดาลใจในงานเขียนของเขา (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน – สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ – นาซีเยอรมนี
- พฤษภาคม 2556
ชุดกีฬาฟุตบอล หมายถึง อุปกรณ์มาตรฐานและเครื่องแต่งกายของนักฟุตบอล ในภาษาอังกฤษ สำเนียงบริเตนใช้คำว่า "kit" หรือ "strip" และสำเนียงอเมริกันใช้คำว่า "uniform" ตามกติกานั้นกำหนดให้ใช้ชุดกีฬา และห้ามไม่ให้สวมใส่สิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้เล่นอื่น ในการแข่งขันแต่ละแห่งนั้นอาจระบุเงื่อนไขเฉพาะ เช่น กฎบังคับด้านขนาดของโลโก้ที่แสดงบนเสื้อและกล่าวว่า ในการแข่งขันแต่ละนัดระหว่าง 2 ทีมนั้น หากสีของชุดกีฬาเหมือนหรือคล้ายกัน ทีมเยือนจะต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกชุด
โดยปกติแล้วนักฟุตบอลจะมีหมายเลขอยู่ด้านหลังของเสื้อ โดยทีมแรกจะสวมเสื้อตั้งแต่หมายเลข 1 ถึง 11 เพื่อให้พอสอดคล้องกับตำแหน่งการเล่น แต่ในระดับอาชีพแล้ว หมายเลขของผู้เล่นเข้าใหม่มักจะถูกกำหนดจากหมายเลขของผู้เล่นคนอื่นในทีม ซึ่งผู้เล่นแต่ละคนในทีมจะถูกกำหนดหมายเลขตายตัวในฤดูกาลนั้น ๆ สโมสรอาชีพมักจะแสดงนามสกุลหรือชื่อเล่นบนเสื้อ อาจจะอยู่เหนือ (มีบางครั้งที่อยู่ต่ำกว่า) หมายเลขเสื้อ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: วิลเลียม เชกสเปียร์ – การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน – สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์
- มิถุนายน 2556
อะตอม มาจากภาษากรีกว่า ἄτομος/átomos, α-τεμνω ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถแบ่งได้อีกต่อไป หลักการของอะตอมในฐานะส่วนประกอบเล็กที่สุดของสสารที่ไม่สามารถแบ่งได้อีกต่อไปเสนอขึ้นครั้งแรกโดยนักปรัชญาชาวอินเดียและนักปรัชญาชาวกรีก ซึ่งจะตรงกันข้ามกับปรัชญาอีกสายหนึ่งที่เชื่อว่าสสารสามารถแบ่งแยกได้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีสิ้นสุด (คล้ายกับปัญหา discrete หรือ continuum) ในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 นักเคมีเริ่มวางแนวคิดทางกายภาพจากหลักการนี้โดยแสดงให้เห็นว่าวัตถุหนึ่ง ๆ ควรจะประกอบด้วยอนุภาคพื้นฐานที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้อีกต่อไป ระหว่างช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักฟิสิกส์ค้นพบส่วนประกอบย่อยของอะตอมและโครงสร้างภายในของอะตอม ซึ่งเป็นการแสดงว่า "อะตอม" ที่ค้นพบแต่แรกยังสามารถแบ่งแยกได้ และไม่ใช่ "อะตอม" ในความหมายที่ตั้งมาแต่แรก กลศาสตร์ควอนตัมเป็นทฤษฎีที่สามารถนำมาใช้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของอะตอมได้เป็นผลสำเร็จ
ตามความเข้าใจในปัจจุบัน อะตอมเป็นวัตถุขนาดเล็กมากที่มีมวลน้อยมาก เราสามารถสังเกตการณ์อะตอมเดี่ยว ๆ ได้โดยอาศัยเครื่องมือพิเศษ เช่น กล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราดในอุโมงค์ มวลประมาณ 99.9% ของอะตอมกระจุกรวมกันอยู่ในนิวเคลียส โดยมีโปรตอนและนิวตรอนเป็นมวลที่เหลือประมาณเท่า ๆ กัน ธาตุแต่ละตัวจะมีอย่างน้อยหนึ่งไอโซโทปที่มีนิวเคลียสซึ่งไม่เสถียรและเกิดการเสื่อมสลายโดยการแผ่รังสี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการแปรนิวเคลียสที่ทำให้จำนวนโปรตอนและนิวตรอนในนิวเคลียสเปลี่ยนแปลงไป อิเล็กตรอนที่โคจรรอบอะตอมจะมีระดับพลังงานที่เสถียรอยู่จำนวนหนึ่งในลักษณะของวงโคจรอะตอม และสามารถเปลี่ยนแปลงระดับไปมาระหว่างกันได้โดยการดูดซับหรือปลดปล่อยโฟตอนที่สอดคล้องกับระดับพลังงานที่ต่างกัน อิเล็กตรอนเหล่านี้เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติทางเคมีของธาตุ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อคุณสมบัติทางแม่เหล็กของอะตอม (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ชุดกีฬาฟุตบอล – วิลเลียม เชกสเปียร์ – การบูรณะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์น้อยซิสทีน
- กรกฎาคม 2556
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ก่อนที่สมเด็จพระบรมชนกนาถจะเสด็จสวรรคตในอีกหนึ่งวันต่อมา
พระนาม เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่และยังโปรดให้ใช้คำนำหน้าพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกคำนำหน้าพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ และคำนำหน้าพระนามนี้ยังใช้จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
หลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เป็นนิจ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลปัจจุบันทรงเจริญพระวัยและทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ กอปรกับพระองค์มีพระชนมายุสูงขึ้นจึงเสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับสถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งในส่วนที่สืบสานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และโดยส่วนพระองค์เองไว้ในพระอุปถัมภ์มากกว่า 30 แห่ง (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: อะตอม – ชุดกีฬาฟุตบอล – วิลเลียม เชกสเปียร์
- สิงหาคม 2556
อีริก บานาดีโนวิช (อังกฤษ: Eric Banadinovich) หรือรู้จักกันในชื่อ อีริก บานา เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1968 เป็นนักแสดงชาวออสเตรเลียที่มีผลงานทางภาพยนตร์และโทรทัศน์ เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นนักแสดงตลกในละครสเก็ตช์คอเมดี้เรื่อง Full Frontal ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์จากภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง Chopper (2000) หลังจากที่ได้รับคำชมในเสียงวิจารณ์เป็นเวลาร่วม 10 ปี ในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ในประเทศออสเตรเลีย บานาเข้าร่วมแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในบท สิบเอก 'ฮู้ต' กิ๊บสัน ในทหารหน่วยเดลต้า ในภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down (2001) และต่อมาได้รับบทนำในบทบาท บรูซ แบนเนอร์ ในภาพยนตร์การกำกับของอั้งลี่ เรื่อง Hulk (2003)
บานา นักแสดงที่ประสบความสำเร็จในบทบาทการแสดงและการแสดงตลก เขาได้รับรางวัลสูงสุดทางด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์สำหรับการแสดงเรื่อง Chopper และ Full Frontal นอกจากนี้เขายังได้แสดงบทนำในภาพยนตร์ทุนต่ำหลาย ๆ แบบ และแสดงกับสตูดิโอสังกัดใหญ่ ทั้งหนังรัก หนังตลก หนังดราม่า จนถึงนวนิยายวิทยาศาสตร์ หนังเขย่าขวัญ และหนังแอ๊กชัน โดยภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมรวมถึงเรื่อง Black Hawk Down (2001), Hulk (2003), Troy (2004) และ Munich (2005) (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี - อะตอม - ชุดกีฬาฟุตบอล
- กันยายน 2556
ดาวฤกษ์ คือวัตถุท้องฟ้าที่เป็นก้อนพลาสมาสว่างขนาดใหญ่ที่คงอยู่ได้ด้วยแรงโน้มถ่วง ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด คือ ดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก เราสามารถมองเห็นดาวฤกษ์อื่น ๆ ได้บนท้องฟ้ายามราตรี หากไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์บดบัง ในประวัติศาสตร์ ดาวฤกษ์ที่โดดเด่นที่สุดบนทรงกลมท้องฟ้าจะถูกจัดเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มดาว และดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดจะได้รับการตั้งชื่อโดยเฉพาะ นักดาราศาสตร์ได้จัดทำบัญชีรายชื่อดาวฤกษ์เพิ่มเติมขึ้นมากมาย เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการตั้งชื่อดาวฤกษ์
ตลอดอายุขัยส่วนใหญ่ของดาวฤกษ์ มันจะเปล่งแสงได้เนื่องจากปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ฟิวชั่นที่แกนของดาว ซึ่งจะปลดปล่อยพลังงานจากภายในของดาว จากนั้นจึงแผ่รังสีออกไปสู่อวกาศ ธาตุเคมีเกือบทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและหนักกว่าฮีเลียมมีกำเนิดมาจากดาวฤกษ์ทั้งสิ้น โดยอาจเกิดจากการสังเคราะห์นิวเคลียสของดาวฤกษ์ระหว่างที่ดาวยังมีชีวิตอยู่ หรือเกิดจากการสังเคราะห์นิวเคลียสของซูเปอร์โนวาหลังจากที่ดาวฤกษ์เกิดการระเบิดหลังสิ้นอายุขัย นักดาราศาสตร์สามารถระบุขนาดของมวล อายุ ส่วนประกอบทางเคมี และคุณสมบัติของดาวฤกษ์อีกหลายประการได้จากการสังเกตสเปกตรัม ความสว่าง และการเคลื่อนที่ในอวกาศ มวลรวมของดาวฤกษ์เป็นตัวกำหนดหลักในลำดับวิวัฒนาการและชะตากรรมในบั้นปลายของดาว ส่วนคุณสมบัติอื่นของดาวฤกษ์ เช่น เส้นผ่านศูนย์กลาง การหมุน การเคลื่อนที่ และอุณหภูมิ ถูกกำหนดจากประวัติวิวัฒนาการของมัน แผนภาพคู่ลำดับระหว่างอุณหภูมิกับความสว่างของดาวฤกษ์จำนวนมาก ที่รู้จักกันในชื่อ ไดอะแกรมของแฮร์ทสชปรุง-รัสเซลล์ (H-R ไดอะแกรม) ช่วยทำให้สามารถระบุอายุและรูปแบบวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ได้ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: อีริก บานา – สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี – อะตอม
- ตุลาคม 2556
"ซัมติง" เป็นเพลงของวงเดอะบีตเทิลส์ ในปี ค.ศ. 1969 เป็นเพลงที่บรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด แอบบีโรด เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ซิงเกิลหน้าเอที่จอร์จ แฮร์ริสันเขียน และถือเป็นซิงเกิลแรกของเดอะบีตเทิลส์ที่มีเพลงที่มีอยู่แล้วในอัลบั้มบรรจุอยู่ด้วย ทั้งเพลง "ซัมติง" และเพลง "คัมทูเกตเตอร์" ที่อยู่ในอัลบั้ม แอบบีโรด และเพลง "ซัมติง" ถือเป็นเพลงเดียวที่แฮร์ริสันแต่งแล้วขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตอเมริกันขณะที่ยังอยู่ในวงเดอะบีตเทิลส์
จอห์น เลนนอนและพอล แม็กคาร์ตนีย์ ในฐานะสมาชิกหลักผู้เขียนเพลงของวง ทั้งคู่ต่างยกย่องว่าเพลง "ซัมติง" เป็นเพลงที่ดีที่สุดที่แฮร์ริสันเขียนมา ทั้งนี้เพลงยังได้รับการตอบรับที่ดี ซิงเกิลประสบความสำเร็จด้านยอดขาย ติดอันดับ 1 บนบิลบอร์ดฮอต 100 ในสหรัฐอเมริกา และยังติดท็อป 10 ในชาร์ตสหราชอาณาจักร หลังจากวงได้แตกไป ศิลปินอื่นกว่า 150 ศิลปินก็นำเพลงนี้มาทำใหม่ รวมถึง เอลวิส เพรสลีย์, เชอร์ลีย์ บาสเซย์, แฟรงก์ ซินาตรา, โทนี เบนเนตต์, เจมส์ บราวน์, ฮูลิโอ อีเกลเซียส, สโมกีย์ โรบินสัน และโจ ค็อกเกอร์ ถือเป็นเพลงที่ถูกนำมาทำใหม่มากที่สุดของวงเดอะบีตเทิลส์เป็นอันดับ 2 รองจากเพลง "เยสเตอร์เดย์" (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ดาวฤกษ์ – อีริก บานา – สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- พฤศจิกายน 2556
ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 เพื่อแก้ไขปัญหาการชักธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4) กลับด้าน และเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ซัมติง – ดาวฤกษ์ – อีริก บานา
- ธันวาคม 2556
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย โดยถือกำเนิดจาก "แผนกแพทย์ผสมยา โรงเรียนราชแพทยาลัย" หรือ "โรงเรียนปรุงยา" ตามดำริของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยอีกด้วย
เมื่อประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว โรงเรียนปรุงยามีฐานะเป็นแผนกแพทย์ผสมยา ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล) และได้รับการพัฒนาหลักสูตรขึ้น จัดตั้งเป็นแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 มีการโอนย้ายสังกัดไปยังมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นใหม่ จึงได้โอนย้ายคณะเภสัชศาสตร์แห่งนี้กลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้อาคารเภสัชศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะศิลปกรรมศาสตร์) เป็นที่ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้ย้ายอาคารมาทำการเรียนการสอน ณ ที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณสยามสแควร์ ติดกับคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ธงชาติไทย – ซัมติง – ดาวฤกษ์