สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
ประสูติ5 มีนาคม พ.ศ. 2381
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
พิราลัย13 เมษายน พ.ศ. 2447 (66 ปี)
อาณาจักรสยาม
พระสวามีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบุตร
ราชวงศ์จักรี (สถาปนา)
พระบิดาหลวงอาสาสำแดง (แตง)
พระมารดาท้าวสุจริตธำรง (นาค)

สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระนามเดิม เปี่ยม (สกุลเดิม สุจริตกุล; 5 มีนาคม พ.ศ. 2381 – 13 เมษายน พ.ศ. 2447) เป็นพระสนมเอก[1]ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชชนนีของพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 ถึงสามพระองค์คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระปัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[2]

เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เจ้าคุณพระอัยยิกาเปี่ยม และหลังจากพิราลัยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้า ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา[3] โดยสร้อยพระนาม "ศรีพัชรินทรมาตา" มีความหมายว่า เป็นพระมารดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระประวัติ[แก้]

ชีวิตตอนต้นและเข้ารับราชการ[แก้]

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมแต่งกายอย่างตะวันตก เมื่อสมัยแรกรับราชการ

สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ประสูติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2381 เป็นธิดาหลวงอาสาสำแดง (แตง) และท้าวสุจริตธำรง (นาค) ต้นราชินิกูลสุจริตกุล พระองค์สืบเชื้อสายจีนมาแต่ฝ่ายบิดาและมารดา[4][5] ในบันทึกของแอนนา ลีโอโนเวนส์ระบุว่าเจ้าจอมมารดาเปี่ยมนั้นมีเชื้อสายจีนจากบิดา และไม่มีชาติกำเนิดสูงส่งอย่างใด[6]

เบื้องต้น เปี่ยมเข้าเป็นนางฟ้อนในคณะละครหลวง[7] ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมไม่ได้เป็นเจ้า พระราชบุตรจึงมีฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า[7] แม้นางจะไม่มีชาติกำเนิดสูงส่ง ทว่าฉลาด สามารถชักพาญาติพี่น้องรับราชการ และนำคนจีนจำนวนมากให้ไปรู้จักกับกษัตริย์สยาม ดังปรากฏในหนังสือของแอนนา ลีโอโนเวนส์ ความว่า[6]

"สตรีเพียงหนึ่งเดียวซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามัดใจพระองค์ [พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] ได้สำเร็จคือคุณจอมเปี่ยม แม้จะไม่ใช่คนสวยอะไร แต่วางตัวดีและมียุทธวิธีเยี่ยมยอด เธอมิได้มีการศึกษาและชาติกำเนิดสูงส่งเลย ทั้งยังมีเชื้อสายจีนทางฝั่งบิดา กระนั้นกลับมีคุณลักษณะที่น่าชื่นชมโดยเนื้อแท้ เมื่อรู้สึกได้ว่าตนเริ่มมีอิทธิพลเหนือกษัตริย์ เธอวางแผนจะรักษาและใช้ประโยชน์จากอำนาจดังกล่าวอยู่นานหลายปี โดยใช้วิธีบอกปัดบ้างเป็นครั้งคราว ถ่อมตนเกินเหตุจนน่ารำคาญบางครั้งถึงกับถูกกล่าวหาว่าดัดจริต เธอมักหาข้ออ้างไม่ไปเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์อยู่เป็นประจำ โดยอ้างว่าป่วยบ้าง ต้องดูแลลูก ๆ บ้าง อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ญาติบ้าง และจะเต็มใจไปเข้าเฝ้าฯ ถวายงานเองเป็นช่วง ๆ ในช่วงเวลา 6 ปีที่ถวายตัวรับใช้ เธอสะสมทรัพย์สมบัติไว้เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งยังจัดการให้สมาชิกในครอบครัวเธอได้รับราชการตำแหน่งดี ๆ ตลอดจนช่วงชักนำชาวจีนอีกมากมายให้ได้รู้จักกษัตริย์ ในขณะเดียวกันเธอก็ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวตลอดเวลา ต้องยอมอ่อนน้อมถ่อมตนและประนีประนอมกับบรรดาสตรีคู่แข่งซึ่งออกจะสมเพชเธอมากกว่าอิจฉา และต้องอยู่ในอาณัติของเหล่าสตรีผู้ทรงอำนาจแห่งวังหลวง"

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสนมเอกในรัชกาล[1][8] จากการที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นที่สนิทสวาทของพระสวามี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชบุตรที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นพิเศษ ดังจะพบการตั้งพระนามอันแสดงถึงความศิวิไลซ์ ลูกหลวงและบาทบริจาริกาเหล่านี้สวมฉลองพระองค์อย่างยุโรปและเล่าเรียนภาษาอังกฤษจากพระอาจารย์ต่างชาติในวังหลวง[9] และท่านเป็นบาทบริจาริกาที่ถวายการดูแลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงปลายพระชนม์ชีพ[10]

ในฐานะพระสัสสุ[แก้]

หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการเสวยราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาสามพระองค์ในรัชกาลก่อนที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้ถวายตัวเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แก่ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยความบริสุทธิ์ของเชื้อสายหรืออุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณี พระภรรยาร่วมสายเลือดเหล่านี้ถือเป็นพระภรรยาชั้นสูง พระราชโอรสที่เกิดจากพระภรรยาเจ้ามีสิทธิธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์สูงกว่าพระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมสามัญชน[11]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2428 ในพระราชวโรกาสมงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 20 กันยายน ศกนั้น ด้วยเหตุที่เป็นพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในขณะนั้น พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องยศ[12] ได้แก่

  • พานหมากทองคำเครื่องในลงยา
  • หีบหมากลงยา
  • กาทองรองถาด
  • กระโถนทองคำ

เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมได้บริจาคเงินจำนวน 100 ชั่ง หรือ 8,000 บาทสำหรับสร้างถาวรวัตถุเพื่อสาธารณะประโยชน์ อุทิศพระกุศลถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ จัดสรรงบประมาณสมทบเงินจำนวนดังกล่าว ตัดถนนเส้นหนึ่งระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนบำรุงเมือง กรมโยธาธิการสร้างถนนเสร็จในปี พ.ศ. 2443 แล้วถวายเป็นถนนหลวง จึงพระราชทานนามถนนเส้นดังกล่าวว่าถนนอุณากรรณ[13][14]

พิราลัย[แก้]

เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2447 ณ วังสะพานถ่าน ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีพระเมรุ ณ เมรุผ้าขาว ภายในสวนมิสกวัน พระอัฐิถูกบรรจุไว้ ณ ศาลาพระอัยกาในวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[15] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี ถวายพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เนื่องด้วยในรัชกาลนั้นมีพระฐานะเป็นพระอัยยิกา (ยาย) เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466[16]

โดยพระนาม "ปิยมาวดี" นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากพระนามเดิมว่า "เปี่ยม" ซึ่งเป็นคำไทย แปลงรูปสระเอียเป็นเอ กลายเป็นคำบาลีว่า "เปม" แปลว่า "ความรัก" แล้วแปลงเป็นอิยะ เป็น "ปิยมา" มีวนฺตุเป็นปัจจัย รวมเป็นคำว่า "ปิยมาวดี" (บาลี: ปิยมาวตี) ส่วนสร้อยพระนาม "ศรีพัชรินทรมาตา" มาจากพระนามของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับคำว่ามาตา แปลว่าแม่ รวมกันมีความหมายว่า "พระราชชนนีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"[17]

พระราชบุตร[แก้]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช และเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมในฐานะขรัวยาย

เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระชนนีในพระราชโอรส พระราชธิดา จำนวน 6 พระองค์ คือ

  1. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2399 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2416) มีพระโอรสหนึ่งองค์
  2. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2401 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2466) ต่อมาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ มีพระโอรส-ธิดา 40 พระองค์ เป็นพระปัยกาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  3. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423) มีพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์
  4. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (10 กันยายน พ.ศ. 2405 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498) มีพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรส-ธิดา 8 พระองค์ และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  5. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (1 มกราคม พ.ศ. 2407 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462) มีพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรส-ธิดา 14 พระองค์ เป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  6. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (22 ธันวาคม พ.ศ. 2408 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2478) ต่อมาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีพระโอรส-ธิดา 36 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

พระเกียรติยศ[แก้]

พระอิสริยยศ[แก้]

  • 5 มีนาคม พ.ศ. 2381 – ไม่ทราบปี : เปี่ยม
  • ไม่ทราบปี – 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2399 : เจ้าจอมเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4
  • 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2399 – 20 กันยายน พ.ศ. 2428 : เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4
  • 20 กันยายน พ.ศ. 2428 – 13 เมษายน พ.ศ. 2447 : เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : เจ้าคุณพระอัยยิกาเปี่ยม[18]
  • 1 เมษายน พ.ศ. 2466 : สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 60. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-03-15.
  2. อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา (บาลี-ไทย) ภาค 1 (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. 2546. p. 39-40.
  3. คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 20.[ลิงก์เสีย]
  4. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ : รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 305
  5. เผ่าทอง ทองเจือ (19 มกราคม 2555). "ไหว้เจ้าตรุษจีน: เมื่อ 'เจ้า' ไหว้เจ้า". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 ลีโอโนเวนส์, แอนนา แฮร์เรียต (เขียน), สุภัตรา ภูมิประภาสและสุภิดา แก้วสุขสมบัติ (แปล). อ่านสยามตามแอนนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562, หน้า 304
  7. 7.0 7.1 ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 44
  8. ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 45
  9. ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 48
  10. "เปิดเรื่องราวประวัติศาสตร์ จับสลากพระราชมรดก ในคืนสวรรคต ร.4". กระปุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 55-57
  12. สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, กรุงเทพฯ : บรรณกิจ ๑๙๙๑, ๒๕๕๐
  13. กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 439.
  14. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมือง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 9
  15. วรชาติ มีชูบท. "เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่". ศิลปวัฒนธรรม. 37 : 1 พฤศจิกายน 2558, หน้า 79
  16. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา เรื่อง สถาปนาพระนามพระอัฐิ พระอัยยิกา,เล่ม ๔๐, ตอน ๐ ก, ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖, หน้า ๑
  17. อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา (บาลี-ไทย) ภาค 1 (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. 2546. p. 44.
  18. "พระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชทานแด่ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี ในเวลาที่ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐ พระราชประวัติสังเขป". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า,เล่ม ๑๕, ตอน ๓๔, ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑, หน้า ๓๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]