วิกิพีเดีย:บทความคัดสรรประจำเดือน/พ.ศ. 2566
- มกราคม 2566
ธงชาติเบลารุส เป็นธงสีแดงและสีเขียวที่มีลวดลายประดับสีขาวและสีแดงอยู่ที่ปลายรอก (เสาธง) ธงชาติเบลารุสแบบที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นได้รับการแนะนำโดยคณะกรรมการแห่งรัฐว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานของสาธารณรัฐเบลารุสใน พ.ศ. 2555 และดัดแปลงมาจากการออกแบบที่ได้รับอนุมัติในการลงประชามติในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2538 ธงนี้เป็นการดัดแปลงจากธงใน พ.ศ. 2494 ที่ใช้ในขณะที่ประเทศนี้เป็นสาธารณรัฐองค์ประกอบของสหภาพโซเวียต การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธงในสมัยโซเวียตคือการยกเอาสัญลักษณ์คอมมิวนิสต์ค้อนเคียวและดาวแดงออก เช่นเดียวกับการกลับด้านของสีในรูปแบบการประดับ นับตั้งแต่การลงประชามติใน พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ธงขององค์กรและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในเบลารุสหลายแห่งล้วนดัดแปลงจากรูปแบบของธงชาติด้วย
ในอดีต ธงขาวแดงขาวถูกใช้โดยสาธารณรัฐประชาชนเบลารุสใน พ.ศ. 2461 ก่อนที่เบลารุสจะกลายเป็นสาธารณรัฐโซเวียต จากนั้นถูกใช้โดยขบวนการชาติเบลารุสในเบลารุสตะวันตก ตามมาด้วยการใช้อย่างไม่เป็นทางการอย่างแพร่หลายระหว่างการยึดครองเบลารุสของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สองระหว่าง พ.ศ. 2485 ถึง พ.ศ. 2487 และอีกครั้งหลังจากได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2534 จนถึงการลงประชามติใน พ.ศ. 2538 กลุ่มต่อต้านยังคงใช้ธงนี้ต่อไป แม้ว่าการแสดงธงนี้ในเบลารุสจะถูกจำกัดโดยรัฐบาลเบลารุส ซึ่งอ้างว่ามีความเชื่อมโยงกับความร่วมมือของนาซีเนื่องจากการใช้โดยผู้สมรู้ร่วมคิดชาวเบลารุสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ธงขาวแดงขาวถูกนำมาใช้ในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ล่าสุดที่มีการใช้คือการประท้วงในประเทศเมื่อ พ.ศ. 2563–2564 และโดยชาวเบลารุสพลัดถิ่น (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: หลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบกระจาย – สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย – การออกเสียงคำว่า GIF
- กุมภาพันธ์ 2566
โผน กิ่งเพชร (12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525) แชมป์โลกชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ โผนเป็นนักมวยรูปร่างผอมบาง มีช่วงขาที่ยาว ถนัดขวา และเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 3 สมัย แต่ด้วยปัญหาส่วนตัว ทำให้โผนติดสุราจนการชกตกต่ำลง จนเสียแชมป์ไปและไม่มีโอกาสชิงแชมป์คืนได้อีก โผนถือเป็นตำนานของวงการมวยสากลคนหนึ่งของไทย วันที่โผนชิงแชมป์โลกได้ถูกกำหนดให้เป็นวันนักกีฬาไทย และมีการสร้างอนุสรณ์สถานของโผนที่หัวหินหลังจากที่โผนเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี (อ่านต่อ...)
(หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่บทความคัดสรร แต่เป็นบทความคุณภาพ ซึ่งถือว่ามีคุณภาพรองลงมา)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ธงชาติเบลารุส – หลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบกระจาย – สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย
- มีนาคม 2566
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินฮินดู หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)
วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 (อ่านต่อ...)
(หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่บทความคัดสรร แต่เป็นบทความคุณภาพ ซึ่งถือว่ามีคุณภาพรองลงมา)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ธงชาติเบลารุส – หลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบกระจาย – สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย
- เมษายน 2566
สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี เป็นสาธารณรัฐที่มีอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก มีอาณาเขตครอบคลุมดินแดนประมาณ 23% ของดินแดนฮังการีในอดีต ดำรงอยู่ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 1919 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 1919 รวมระยะเวลาทั้งหมดเป็น 133 วัน สาธารณรัฐก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการเสื่อมถอยของสาธารณรัฐฮังการีที่หนึ่งในช่วงต้นปี 1919 สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีมีสถานะเป็นรัฐตกค้างสังคมนิยมขนาดเล็ก มีหัวหน้ารัฐบาลคือซานโดร์ กอร์บอยี แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเบ-ลอ กุน กลับมีอำนาจและอิทธิพลในสาธารณรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีมากกว่า การที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับไตรภาคี ซึ่งยังคงปิดล้อมทางเศรษฐกิจในฮังการี อีกทั้งความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านดินแดน และความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมอย่างถึงแก่น ทำให้สาธารณรัฐโซเวียตล้มเหลวในเป้าหมายที่วางไว้ และถูกล้มล้างในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ก่อตั้ง บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสาธารณรัฐโซเวียตคือ ผู้นำคอมมิวนิสต์เบ-ลอ กุน ถึงแม้ว่าในช่วงแรกโครงสร้างรัฐบาลใหม่ส่วนใหญ่จะมาจากพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมก็ตาม ระบอบใหม่นี้รวบรวมอำนาจอย่างมีประสิทธิผลในสภาปกครอง ซึ่งใช้อำนาจนี้ในนามของชนชั้นกรรมาชีพ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ธงชาติเบลารุส – หลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบกระจาย – สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย
- พฤษภาคม 2566

"สไตล์" เป็นเพลงของนักร้อง นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เทย์เลอร์ สวิฟต์ (ในภาพ) เป็นเพลงลำดับที่สามจากสตูดิโออัลบั้มที่ห้า 1989 (2014) "สไตล์" เป็นเพลงป็อปร็อก เขียนโดยสวิฟต์ แมกซ์ มาร์ติน เชลล์แบ็ก และอาลี พายามี เพลงออกเผยแพร่สูวิทยุโดยสังกัดรีพับลิกเรเคิดส์ พร้อมกับสังกัดหุ้นส่วนของสวิฟต์ที่ชื่อบิกแมชีนเรเคิดส์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 เป็นซิงเกิลที่สามต่อจากเพลง "แบลงก์สเปซ"
"สไตล์" ได้รับคำวิจารณ์ด้านบวกจากนักวิจารณ์เพลง โดยยกย่องการผลิตเพลงแบบยุค 80 และโทนที่น่าตื่นเต้น "สไตล์" ขึ้นถึงอันดับหกบนชาร์ตบิลบอร์ดฮอต 100 เป็นซิงเกิลที่ขึ้นสิบอันดับแรกเป็นเพลงที่สามจากอัลบั้ม 1989 ในประเทศ และในชาร์ตในประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา และแอฟริกาใต้ และขึ้น 40 อันดับแรกในสหราชอาณาจักร ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี – ธงชาติเบลารุส – หลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบกระจาย
- มิถุนายน 2566
ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก เป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชันอเมริกันแนวตลกดรามา ฉายเมื่อปี ค.ศ. 2007 สร้างโดย พิกซาร์ และจัดจำหน่ายโดย วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ เป็นภาพยนตร์เรื่องที่แปดของพิกซาร์ เขียนบทและกำกับโดย แบรด เบิร์ด โดยรับช่วงต่อจาก ยาน พิงคาวา ในปี ค.ศ. 2005 และอำนวยการสร้างโดย แบรด ลูอิส จากความคิดเดิมของยาน พิงคาวา ชื่อเรื่องของภาพยนตร์หมายถึงอาหารฝรั่งเศส ราตาตูย ซึ่งเป็นอาหารที่เสิร์ฟในตอนท้ายเรื่องและยังอ้างอิงถึง หนู ซึ่งเป็นตัวละครหลัก ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของหนูที่มีชื่อว่า เรมี ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟและพยายามบรรลุเป้าหมายด้วยการเป็นพันธมิตรกับเด็กเก็บขยะของร้านอาหารในปารีส
ภาพยนตร์แสดงนำโดยการให้เสียงของ แพตตัน ออสวอลต์ เป็น เรมี หนูที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ ผู้สนใจในการทำอาหาร, ลู โรมาโน เป็น อัลเฟรโด ลิงกวินี เด็กเก็บขยะที่มาเป็นเพื่อนกับเรมี, เอียน โฮล์ม เป็น สกินเนอร์ หัวหน้าพ่อครัวของร้านอาหารของออกุสต์ กุสโต, จานีน กาโรฟาโล เป็น คอลเลตต์ ทาทูว์ เชฟย่างที่ร้านอาหารของกุสโตและเป็นเชฟผู้หญิงคนเดียวในร้าน, ปีเตอร์ โอทูล เป็น แอนทอน อีโก นักวิจารณ์ร้านอาหาร, ไบรอัน เดนเนฮี เป็น จังโก พ่อของเรมีและผู้นำเผ่าของเขา, ปีเตอร์ ซอห์น เป็น เอมิล พี่ชายของเรมี และ แบรด การ์เรตต์ เป็น ออกุสต์ กุสโต พ่อครัวที่เพิ่งเสียชีวิต (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: สไตล์ (เพลงเทย์เลอร์ สวิฟต์) – สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี – ธงชาติเบลารุส
- กรกฎาคม 2566
การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง เป็นการระงับข้อพิพาททางดินแดนระหว่างฮังการีและโรมาเนียในการแบ่งภูมิภาคทรานซิลเวเนีย ซึ่งฮังการีสูญเสียไปภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตามสนธิสัญญาทรียานง โดยมีนาซีเยอรมนีและฟาสซิสต์อิตาลีเป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ย จากผลลัพธ์ของคำตัดสินนี้ บังคับให้โรมาเนียส่งคืนดินแดนทางตอนเหนือของทรานซิลเวเนียแก่ฮังการีในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1940 และทำให้ข้อพิพาททางดินแดนระหว่างสองประเทศดำเนินต่อไปตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ฮังการีสูญเสียดินแดนส่วนใหญ่ในสมัยจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือทรานซิลเวเนียที่เสียไปให้กับโรมาเนีย ตามการสนับสนุนการแบ่งดินแดนของข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย การขยายอาณาเขตของโรมาเนียนำไปสู่ความกังวลในการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนในช่วงระหว่างสงครามและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรมาเนียกับมหาอำนาจผู้ชนะสงครามโลก ซึ่งล้วนเป็นประเทศยุโรปที่สนับสนุนสนธิสัญญาแวร์ซายทั้งสิ้น ในทางกลับกัน ฮังการียังคงยืนหยัดในจุดยืนของการแก้ไขสนธิสัญญาอย่างเข้มข้น เพื่อฟื้นฟูทั้งหมดหรือบางส่วนของภูมิภาคที่สูญเสียไป (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก – สไตล์ (เพลงเทย์เลอร์ สวิฟต์) – สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี
- สิงหาคม 2566
"วีแคนดูอิต!" เป็นโปสเตอร์อเมริกันในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ผลิตโดย เจ. ฮาวเวิร์ด มิลเลอร์ (J. Howard Miller) ในปี 1943 ให้กับบริษัทเวสซิงเฮาส์อิเล็กทริกเพื่อเป็นภาพสร้างแรงบันดาลใจและสร้างขวัญกำลังใจแก่คนงานผู้หญิง
โปสเตอร์นี้มีให้พบเห็นน้อยครั้งในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งได้รับการค้นพบใหม่อีกครั้งในต้นทศวรรษ 1980 และมีการนำมาผลิตใหม่ในหลายรูปแบบ นอกจากจะเรียกชื่อโปสเตอร์นี้ว่า "เราทำได้!" แล้ว ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "โรสซีเดอะริฟเวตเตอร์" (โรสซี คนเจาะหมุด) ตามตัวละครบุคคลรูปคนงานผู้หญิงฝ่ายผลิตที่ดูแข็งแกร่ง ภาพ "เราทำได้!" มีการนำมาใช้เพื่อสนับสนุนคตินิยมสิทธิสตรี และปัญหาทางการเมืองอื่น ๆ เริ่มต้นในทศวรรษ 1980 ภาพนี้กลายมาเป็นภาพปกของนิตยสาร สมิตโซเนียน ในปี 1994 และได้รับการนำไปปรับใช้เป็นดวงตราไปรษณียากรระดับหนึ่งของสหรัฐ (US first-class mail stamp) ในปี 1999 ต่อมาในปี 2008 ภาพนี้ได้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของสื่อรณรงค์ของนักการเมืองอเมริกันหลายคน และในปี 2010 ได้นำมาสร้างสรรค์ใหม่เพื่อเฉลิมฉลองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนแรกที่เป็นผู้หญิง โปสเตอร์นี้เป็นหนึ่งในสิบภาพที่ถูกร้องขอมากที่สุดขององค์การสื่อเสียงและหอสมุดแห่งชาติ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง – ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก – สไตล์ (เพลงเทย์เลอร์ สวิฟต์)
- กันยายน 2566

การบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 7 ของชอสตโกวิชรอบปฐมทัศน์ที่เลนินกราด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2485 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในขณะที่นครเลนินกราด (ปัจจุบันคือเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก) อยู่ภายใต้การปิดล้อมโดยกองกำลังเยอรมนีนาซี
ดมีตรี ชอสตโกวิช ต้องการให้วงเลนินกราดฟิลฮาร์มอนิกออร์เคสตราเป็นวงที่จะมาบรรเลงซิมโฟนีในรอบปฐมทัศน์ แต่เนื่องจากการปิดล้อม กลุ่มคนดังกล่าวได้อพยพออกจากเมืองเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เอง การบรรเลงรอบปฐมทัศน์ของโลกของซิมโฟนีบทนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่คูบืยเชียฟ โดยวงดุริยางค์โรงละครบอลชอย การบรรเลงรอบปฐมทัศน์ดำเนินการโดยนักดนตรีจากวงดุริยางค์วิทยุเลนินกราดที่ยังหลงเหลืออยู่ เสริมด้วยนักดนตรีที่เป็นทหาร โดยมีคาร์ล อีเลียซบูร์ก ทำหน้าที่เป็นวาทยากร นักดนตรีส่วนใหญ่กำลังทุกข์ทรมานจากความอดอยาก ซึ่งทำให้การซ้อมเป็นไปอย่างยากลำบาก นักดนตรีมักจะล้มลงระหว่างการซ้อม และมี 3 คนเสียชีวิต วงออร์เคสตราสามารถเล่นซิมโฟนีได้จนจบคอนเสิร์ตเพียงครั้งเดียว
แม้ว่าสภาพของนักดนตรีจะย่ำแย่ แต่คอนเสิร์ตก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยได้รับการปรบมือนานหนึ่งชั่วโมง คอนเสิร์ตได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพโซเวียตในปฏิบัติการพิเศษ ชื่อรหัสว่า "พายุ" โดยตั้งใจจะหยุดกองทัพเยอรมันในระหว่างการบรรเลง ซิมโฟนีถูกเผยแพร่ไปยังแนวเยอรมันโดยลำโพงเป็นรูปแบบของสงครามจิตวิทยา การบรรเลงรอบปฐมทัศน์ได้รับการพิจารณาโดยนักวิจารณ์ดนตรีให้เป็นหนึ่งในการแสดงศิลปะที่สำคัญที่สุดของสงครามเนื่องจากผลกระทบด้านจิตวิทยาและทางการเมือง วาทยากรกล่าวว่า "ในขณะนั้นเราได้รับชัยชนะเหนือเครื่องจักรสงครามของนาซีที่ไร้จิตวิญญาณ" มีการจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งโดยนักดนตรีที่รอดซีวิตใน พ.ศ. 2507 และ พ.ศ. 2535 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: วีแคนดูอิต! – การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง – ระ-ทะ-ทู-อี่ พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก
- ตุลาคม 2566
ดู - สนทนา - ประวัติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เจตนา นาควัชระ (เกิด 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480) เป็นนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวไทย ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาเยอรมัน มีผลงานสำคัญด้านภาษาและวรรณคดีเยอรมัน วรรณคดีเปรียบเทียบ การวิจารณ์ศิลปะ และการอุดมศึกษา เขาได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักด์จากมหาวิทยาลัยไทยรวม 5 แห่งและมหาวิทยาลัยทือบิงเงินในเยอรมนี และยังได้รับรางวัลที่สำคัญได้แก่ เหรียญเกอเธ่ รางวัลการวิจัยมูลนิธิฮุมโบลท์ ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และรางวัลนราธิป
เจตนาเกิดในครอบครัวที่มีบิดามารดาเป็นครู เขาเป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัว เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาสอบได้อันดับหนึ่งในแผนกอักษรศาสตร์ของประเทศไทย ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อในยุโรปตั้งแต่ปริญญาตรีจนสำเร็จปริญญเอก เขามีโอกาสได้เป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนในสหรัฐอเมริกาและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหลายครั้งด้วยทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ เจตนาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวเชื่อมโลกวิชาการตะวันตกเข้ากับประเทศไทย
ในฐานะนักวิชาการ งานของเจตนาในระยะแรกประกอบด้วยวรรณคดีเปรียบเทียบและวรรณคดีเยอรมัน นอกจากนี้เจตนาเขียนหนังสือ บทความสำหรับผู้อ่านทั่วไป และผู้อ่านทางวิชาการโดยใช้ภาษาไทยอันเป็นภาษาแม่ รวมถึงภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส เขาได้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยในช่วงหลังผ่านงานเขียนและการบรรยายจากผลงานการวิจารณ์ศิลปะ รวมถึงการอาสาเป็นผู้นำทางความคิดในวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ (อ่านต่อ...)
บทความคัดสรรก่อนหน้านี้: การบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 7 ของชอสตโกวิชรอบปฐมทัศน์ที่เลนินกราด – วีแคนดูอิต! – การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง
- พฤศจิกายน 2566
ดู -
สนทนา -
ประวัติ
แม่แบบ:บทความคัดสรร/พฤศจิกายน 2566
- ธันวาคม 2566