วัดคลองเตยนอก
วัดคลองเตยนอก | |
---|---|
![]() | |
ชื่อสามัญ | วัดคลองเตยนอก, วัดกุเกษมคงคาราม, วัดบ้านเล่า |
ที่ตั้ง | เลขที่ 36 ถนนเกษมราษฎร์ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระมหานพโรจน์ ธมฺมิโก (ปธ.๗) |
![]() |
วัดคลองเตยนอก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
ประวัติ[แก้]
วัดคลองเตยนอกเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ตั้งมานาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ถึงกระนั้นจากข้อมูลตั้งวัดของกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2370[1] สำหรับนามของวัด เดิมมีชื่อว่า วัดกุเกษมคงคาราม ตั้งชื่อตามเจ้าของที่ผู้ถวายที่ดินให้สร้างวัดและผู้บริจาคเงินสร้างถาวรวัตถุในวัด กล่าวคือ ผู้ถวายที่ดินมีชื่อว่า "กุ" ส่วนผู้บริจาคเงินสร้างวัดมีชื่อว่า "เกษม" จึงได้นำชื่อของทั้งสองท่านมาต่อเข้ากันเป็น "กุเกษม" และอาศัยว่าสถานที่นั้นอยู่ใกล้แม่น้ำจึงนำคำว่า "คงคาราม" รวมกันเป็น "วัดกุเกษมคงคาราม" แปลได้ความว่า วัดริมแม่น้ำของท่านที่ชื่อว่ากุและเกษมเป็นผู้สร้าง
ต่อมาจะด้วยสาเหตุอันใดไม่ปรากฏชัด ชาวบ้านทั่วไปเรียกชื่อวัดนี้เปลี่ยนไปจากเดิมเป็น วัดบ้านเล่า สันนิษฐานว่าเนื่องมาจากวัดนี้ตั้งอยู่ปากคลองบ้านลาว ณ สถานที่ดังกล่าว มีชาวรามัญและชาวลาวอพยพมาจากที่ใดไม่ทราบ มาตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก ปากคลองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "ปากคลองบ้านลาว" เพราะมีชาวลาวมาอาศัย จึงถูกขนานนามว่า "วัดบ้านลาว" แต่ภายหลังคงเพี้ยนมาเป็น "วัดบ้านเล่า"
ส่วนนามวัดในปัจจุบันที่ชื่อ "วัดคลองเตยนอก" มาจากสถานที่ตั้งวัดอยู่ในท้องที่แขวงคลองเตย แต่เนื่องจากมีวัดคลองเตยอีกแห่งคือวัดคลองเตยใน วัดแห่งนี้จึงชื่อวัดคลองเตยนอก[2][3]
อาคารเสนาสนะ[แก้]
อุโบสถหลังเดิมเป็นแบบทรงไทยที่เรียกกันทรงมนิลา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ช่อฟ้าใช้ปูนปั้นเป็นรูปพญานาคยกหางขึ้นไปจนบรรจบชนกันบนยอดจั่ว ห้อยหัวลงมายังเชิงชายทั้งสองด้าน หน้าบันทั้งด้านหน้าหลังปั้นด้วยปูน เป็นลายเครือเถาและดอกพุดตานประดับด้วยจานเบญจรงค์ลายคราม มีพาไลหลังคายื่นออกมาด้านหน้าอุโบสถ
อุโบสถหลังใหม่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 ทรงไทยหลังคา 3 ชั้น มีซุ้มประตูหน้าต่าง หน้าบัน คันทวย บัวปลายเสาปั้นด้วยปูนลงรักปิดทองประดับกระจก ฝาผนังภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องพุทธประวัติและพระเจ้าสิบชาติ อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ กุฏิสงฆ์ 12 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล และฌาปนสถาน[4]
รายนามเจ้าอาวาส[แก้]
- เจ้าอธิการกลุด
- พระอธิการอยู่
- พระอธิการแก้ว
- พระอธิการขาว
- พระอธิการแฉ่ง
- พระหลุย สิริวฑฺฒโน (รักษาการแทนเจ้าอาวาส)
- พระมหาสิริ
- พระครูนนทวรวัฒน์
- พระมหานพโรจน์ ธมฺมิโก (ปธ.๗) พ.ศ. 2557–ปัจจุบัน
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2021-01-12.
- ↑ ประวัติวัดคลองเตยนอก. 2522.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ กองพุทธศาสนสถาน, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2.
- ↑ "วัดคลองเตยนอก". คอลัมน์ ผู้ตรวจการวัด.
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: วัดคลองเตยนอก |