จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระธรรมฟิลิปปี)

จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปี[1] (อังกฤษ: Epistle of Paul to the Philippians) เป็นหนังสือเล่มที่ 11 ของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่

ในบทแรกของหนังสือเล่มนี้บอกผู้อ่านให้ทราบว่า ผู้เขียนคือเปาโลอัครทูต และจากเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็เป็นรูปแบบการเขียนเฉพาะตัวของเปาโลด้วย ข้อความในจดหมายที่ว่า "จนประจักษ์ทั่วกันในหมู่ผู้คุมและคนอื่น ๆ ว่า การที่ข้าพเจ้าถูกจำจองนั้นก็เพื่อพระคริสต์"[2] บ่งบอกว่า ฟิลิปปี เป็นจดหมายที่ถูกเขียนขึ้นในขณะที่เปาโลถูกจองจำอยู่ในคุกที่กรุงโรม เช่นเดียวกับจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโคโลสี และจดหมายนักบุญเปาโลถึงฟีเลโมน โดยที่ ฟิลิปปี น่าจะถูกเขียนขึ้นราวปีค.ศ. 61

เปาโลอัครทูตเคยเดินทางมายังที่เมือง ฟิลิปปี นี้ เมื่อครั้งที่เดินทางเพื่อการประกาศข่าวดีรอบที่สอง[3] ในระยะแรกได้รับการต้อนรับดีพอสมควร[4] แต่เมื่อได้ขับไล่ผีออกจากทาสหญิงคนหนึ่ง ทำให้นายของทาสหญิงนั้นไม่พอใจ เพราะทาสหญิงของตนไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ อันจะนำเงินมาให้ตนเองได้ จึงหาเหตุปรักปรำจนเปาโลและสิลาสผู้ร่วมเดินทางต้องถูกโบยและติดคุก[5] เมื่อออกมาจากคุกแล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองเธสะโลนิกา[6]

เปาโลอัครทูตเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงมิตรสหายคริสเตียนที่อยู่ในเมือง ฟิลิปปี เพื่อแสดงความขอบคุณต่อความรักและการให้ความช่วยเหลือจากพวกเขา เนื่องจากในการประกาศข่าวดีระยะแรกนั้น มีเพียงคริสตจักรที่ ฟิลิปปี เท่านั้นที่ได้ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย[7] เมื่ออยู่ที่เมืองเธสะโลนิกาก็ส่งของมาช่วยหลายครั้ง[8] จนมาถึงกรุงโรมก็ฝากเอปาโฟรดิทัสนำของมาให้[9] และให้ช่วยอยู่เป็นเพื่อนร่วมงานกับนักบุญเปาโลด้วย[10]

เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้คือ "ชื่นชมยินดี" ดังปรากฏในจดหมายฉบับนี้ว่าเปาโลใช้คำนี้หรือคำอื่นที่มีความหมายในลักษณะนี้ถึง 16 ครั้ง อย่างไรก็ตามเปาโลเตือนคริสตจักรในเมือง ฟิลิปปี ด้วยว่า ต้องระมัดระวังที่จะไม่ประพฤติตามคนอื่นที่สนใจในวัตถุทางโลก เพราะปลายทางนั้นคือความพินาศ[11]

จุดประสงค์หลักที่เปาโลเขียนจดหมายถึงชาวฟิลิปปีมีอยู่ 3 ประการ หนึ่งคือ ต้องการเป็นตัวอย่างให้คริสเตียนวางใจในพระเจ้า และชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา[12] จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นขณะที่เปาโลติดคุกอยู่ในกรุงโรม มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก ขาดอิสระและเสรีภาพ แต่กลับเขียนจดหมายที่มีเนื้อหาชื่นชมยินดีในพระเจ้าได้

ประการที่สองคือ ต้องการให้ผู้อ่านตระหนักถึงความกรุณาของพระเยซูที่มีต่อมนุษย์ เปาโลเขียนบรรยายการที่พระเยซู ซึ่งทรงสภาพเป็นพระเจ้า แต่กลับทรงสละ และทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ถือกำเนิดบนโลกได้อย่างลึกซึ้ง[13]

ประการสุดท้ายคือ ต้องการยกย่องทิโมธีและเอปาโฟรดิทัส เพื่อให้เป็นแบบอย่างในการรับใช้พระเจ้า เปาโลกล่าวถึงทิโมธีว่า ไม่มีใครมีน้ำใจเหมือนทิโมธี และไม่ได้แสวงหาประโยชน์ของตนเอง[14] สำหรับเอปาโฟรดิทัสนั้น เปาโลชื่นชมในความตั้งใจในการทำงานของเขา เอปาโฟรดิทัสรับใช้จนล้มป่วยอย่างหนัก เกือบจะเสียชีวิต เปาโลถึงกับเขียนว่า จงนับถือคนอย่างนี้[15]

โครงร่าง[แก้]

1. ทักทายและคำอธิษฐานเปิด 1:1 - 11

2. ความรู้ของเปาโลอัครทูตกับพระคริสต์ 1:12 - 30

3. ตัวอย่างของพระคริสต์ 2:1 - 11

4. การเตือนสติและการปกป้องตนเอง 2:12 - 3:21

5. เคล็ดลับแห่งความชื่นชมยินดี 4:1 - 23


อ้างอิง[แก้]

  1. "จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวฟิลิปปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 2012-08-28.
  2. ฟิลิปปี 1:13
  3. กิจการของอัครทูต 16:12
  4. กิจการของอัครทูต 16:14 - 15
  5. กิจการของอัครทูต 16:16 - 24
  6. กิจการของอัครทูต 16:40 - 17:1
  7. ฟิลิปปี 4:15
  8. ฟิลิปปี 4:16
  9. ฟิลิปปี 4:18
  10. ฟิลิปปี 2:30
  11. ฟิลิปปี 3:18 - 19
  12. ฟิลิปปี 4:4
  13. ฟิลิปปี 2:5 - 11
  14. ฟิลิปปี 2:20 - 22
  15. ฟิลิปปี 2:29 - 30
  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997


ดูเพิ่ม[แก้]