จดหมายถึงชาวฮีบรู
ส่วนหนึ่งของ |
ศาสนาคริสต์ |
---|
สถานีย่อย |
จดหมายถึงชาวฮีบรู[1] (อังกฤษ: Epistle to the Hebrews) เป็นหนังสือเล่มที่ 19 ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่
หนังสือเล่มนี้แต่แรกเป็นจดหมายขนาดยาวที่ถูกเขียนถึงชาวฮีบรู ผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อตนเองว่าเป็นใคร ซึ่งการทำเช่นนั้นแสดงว่า ผู้รับจดหมายชาวฮีบรูต้องรู้จักผู้เขียนเป็นอย่างดี และจากเนื้อหาในจดหมายที่กล่าวถึงคำสอนในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมด้วยนั้น แสดงว่าผู้เขียนเป็นผู้มีการศึกษาและเข้าใจในเรื่องราวเหล่านั้นดี ประกอบกับผู้เขียนมีความสนิทสนมกับทิโมธีด้วย[2] ทำให้ในยุคแรกเชื่อกันว่านักบุญเปาโลอัครทูต น่าจะเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ แต่หลังจากการปฏิรูปแล้ว มีข้อโต้แย้งว่า ผู้เขียนไม่น่าจะเป็นเปาโล เพราะสไตล์การเขียนจดหมายของนักบุญเปาโล ไม่ใช่แบบที่อยู่ในจดหมายฉบับนี้ อาจจะเป็นอปอลโลมากกว่า ซึ่งอปอลโลก็มีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันได้แน่นอนว่าผู้เขียนเป็นใคร ส่วนช่วงเวลาในการเขียนน่าอยู่ในราวปี ค.ศ. 70 คือก่อนที่กรุงเยรูซาเลมจะล่มสลาย
คริสตจักรยุคแรกถูกกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงจากชาวยิวที่ไม่เชื่อพระเยซู ผู้รับจดหมายฉบับนี้ในยุคนั้นน่าจะเป็นชาวยิวที่กลับใจเป็นคริสเตียน แต่กำลังถูกกดดันอย่างหนัก จนคิดว่าจะละทิ้งความเชื่อและกลับไปประพฤติตามศาสนายูดาห์เหมือนเดิม ผู้เขียนจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ เพื่อกระตุ้นให้ยึดมั่นในความเชื่อต่อไป
เนื้อหาหลักในหนังสือฮีบรูคือ ความสมบูรณ์ของพระเยซู ในฐานะผู้เปิดเผยและผู้นำมาซึ่งพระคุณของพระเจ้า ในพระเยซูทุกสิ่งทุกอย่างบริบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใดอื่นอีก หนังสือฮีบรูถูกเรียกว่า "หนังสือของสิ่งประเสริฐกว่า" เพราะในจดหมายฉบับนี้ มีการใช้คำที่มีความหมายว่า "ประเสริฐกว่า" หรือ "ดีกว่า" ถึง 15 ครั้ง
หนังสือฮีบรูมีจุดประสงค์อยู่ 4 ประการ โดยประการแรกสำคัญที่สุดคือ ต้องการให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระเยซู มีเพียงแค่พระเยซูเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ผู้เขียนแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระเยซู โดยการเปรียบเทียบกับผู้ยิ่งใหญ่อื่น ๆ เช่น มหาปุโรหิต[3] โมเสส[4] หรือแม้แต่ทูตสวรรค์[5]ก็ไม่อาจจะเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่กับพระเยซูได้
ประการที่สองคือ ต้องการให้ยึดมั่นในความเชื่อต่อไป แม้ว่าจะถูกกดขี่ข่มเหงก็ตาม ผู้เขียนยกตัวอย่างบุคคลในอดีตที่มีชื่อเสียงดีด้านความเชื่อ เช่น โนอาห์[6] อับราฮัม[7] โมเสส[8] เป็นต้น ผู้เขียนกล่าวต่อไปอีกว่า บางคนเสียชีวิตไปทั้งที่ยังไม่ได้รับอะไรตอบแทนจากความเชื่อนั้น แต่ก็ยังคงความเชื่ออยู่ เพราะมั่นใจว่าพระเจ้าจะจัดเตรียมสิ่งที่ดีกว่าไว้ให้[9]
ประการที่สามคือ ต้องการอธิบายให้เข้าใจถึงสาเหตุที่พระเจ้าตีสอน อาจจะมีผู้เชื่อบางคนที่ละทิ้งความเชื่อเพราะถูกพระเจ้าตีสอน แต่ผู้เขียนกำลังบอกผู้อ่านว่า "ท่านทั้งหลายจงรับและทนเอาเถอะ เพราะเป็นการตีสอน พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อท่านในฐานะที่ท่านเป็นบุตรของพระองค์ ด้วยว่ามีบุตรคนใดเล่าที่บิดาไม่ได้ตีสอนเขาบ้าง"[10]
ประการสุดท้ายเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้พระเจ้าทรงพอพระทัย ในส่วนท้ายนี้ตรงไปตรงมา เข้าใจได้ไม่ยาก เช่น เน้นให้รักกันฉันพี่น้อง[11] อย่าล่วงประเวณี[12] อย่าเห็นแก่เงิน[13] เป็นต้น
โครงร่าง
[แก้]1. พระสง่าราศีของพระเยซู 1:1 - 4:13
2. การเป็นปุโรหิตในระบบใหม่ของพระเยซู 4:14 - 8:13
3. เปรียบเทียบระหว่างระบบเก่าและระบบใหม่ 9:1 - 10:39
4. สง่าราศีของความเชื่อ 11:1 - 40
5. ชีวิตแห่งความเชื่อ 12:1 - 13:25
อ้างอิง
[แก้]- Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
- Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
- ↑ พระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพ : คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์, 2550, หน้า 715
- ↑ ฮีบรู 13:23
- ↑ ฮีบรู 4:14
- ↑ ฮีบรู 3:3
- ↑ ฮีบรู 1:5 - 14
- ↑ ฮีบรู 11:7
- ↑ ฮีบรู 11:8 - 9
- ↑ ฮีบรู 11:24 - 28
- ↑ ฮีบรู 11:39 - 40
- ↑ ฮีบรู 12:7
- ↑ ฮีบรู 13:1
- ↑ ฮีบรู 13:4
- ↑ ฮีบรู 13:5