ข้ามไปเนื้อหา

จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1[1] (อังกฤษ: The First Epistle of Peter) เป็นหนังสือเล่มที่ 21 ของคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาใหม่ เป็นหนึ่งในเจ็ดจดหมายสากล อันได้แก่ จดหมายของนักบุญยากอบ จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1 จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 2 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 1 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 2 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 3 และจดหมายของนักบุญยูดา เนื่องจากจดหมายเหล่านี้ถูกส่งถึงคริสต์ศาสนิกชนทั่วไป ไม่ได้ระบุว่าเป็นคริสตจักรใด

แต่แรกหนังสือเล่มนี้เป็นจดหมายซึ่งระบุว่าผู้เขียนคือซีโมนเปโตรอัครทูตของพระเยซู เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในจดหมายที่มีการอ้างถึงข้อความในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมหลายข้อ มีการใช้คำศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับพระวรสาร และมีคำกล่าวของอัครทูตเปโตรอยู่หลายตอนแล้ว ก็เป็นข้อสนับสนุนว่าอัครทูตเปโตรได้เขียนจดหมายนี้เอง จดหมายฉบับนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นราวปี ค.ศ. 64

จดหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับ แต่อัครทูตเปโตรเรียกผู้รับจดหมายว่า "พวกที่กระจัดกระจายไป" ซึ่งหมายถึงคริสต์ศาสนิกชนที่ออกไปใช้ชีวิตปะปนอยู่กับกลุ่มคนอื่นที่ไม่ใช่คริสต์ศาสนิกชนในดินแดนของโรม ชาวคริสต์เหล่านี้ต้องทนทุกข์เป็นอย่างมาก เนื่องจากถูกกดขี่ข่มเหงจากกลุ่มคนรอบข้างที่ไม่ใช่คริสต์ศาสนิกชน ท่านเปโตรต้องการหนุนใจพวกเขาจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น

เนื้อหาในจดหมายกล่าวถึงชีวิตและหน้าที่ของคริสต์ศาสนิกชน หลายตอนกล่าวถึงการทนทุกข์แต่ลงท้ายด้วยความหวัง หากอ่านจดหมายตลอดทั้งฉบับจะให้ความรู้สึกทั้งโดดเดี่ยว ทนทุกข์ แล้วเปลี่ยนเป็นความหวัง ความกล้าหาญ และสำนึกในพระคุณของพระเจ้า อัครทูตเปโตรตระหนักดีว่า คริสเตียนเหล่านี้ต้องเผชิญความยากลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้ที่ไม่เชื่อ แต่อัครทูตเปโตรให้มองข้ามสิ่งเหล่านี้และเน้นถึงการดำรงชีวิตอย่างบริสุทธิ์ในช่วงปลายยุคนี้

อัครทูตเปโตรมีจุดประสงค์ในการเขียนจดหมายฉบับนี้อยู่ 3 ประการ ประการแรกคือ ต้องการให้กำลังใจคริสต์ศาสนิกชนที่ตกอยู่ในความยากลำบาก อัครทูตเปโตรบอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คริสต์ศาสนิกชนจะต้องเผชิญความยากลำบาก แต่เป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมทุกข์กับพระคริสต์[2] นอกจากนี้ยังได้ยกพระเยซูเป็นตัวอย่าง เมื่อพระเยซูต้องทนทุกข์ทรมาน พระองค์ไม่ได้ทำบาปเลย[3]

ประการที่สองคือ ต้องการให้คริสต์ศาสนิกชนปฏิบัติตัวต่อกันและกันอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสามีกับภรรยา และพวกผู้ใหญ่กับผู้อ่อนอาวุโส ซึ่งเป็นคริสเตียนสองกลุ่มที่อัครทูตเปโตรกล่าวถึงในจดหมายว่า สำหรับภรรยาที่มีสามีไม่ได้เป็นคริสต์ศาสนิกชน การประพฤตินอบน้อมและดีงามอาจชักจูงใจของสามีได้ โดยไม่ต้องพูดเลย ส่วนสามีต้องให้เกียรติภรรยาของตน[4] ในขณะที่อัครทูตเปโตรกล่าวถึงพวกผู้ใหญ่ว่า ให้เลี้ยงดูผู้ที่อยู่ในความปกครองด้วยความเต็มใจไม่ใช่ฝืนใจ และไม่ข่มขู่ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ[5] ส่วนผู้ที่อ่อนอาวุโสจงเชื่อฟังคำของผู้ใหญ่และถ่อมใจลง[6]

ประการสุดท้ายคือ ต้องการให้ชาวคริสต์ดำเนินชีวิตให้เหมาะสมระหว่างรอคอยการกลับมาของพระเยซู ในส่วนนี้อัครทูตเปโตรเขียนไว้ชัดเจน เช่น จงให้เกียรติทุกคน จงรักบรรดาพี่น้อง[7] จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกัน[8] เป็นต้น


โครงร่าง

[แก้]

1. ลักษณะความรอดของคริสต์ศาสนิกชน 1:1 - 21

2. การเติบโตอย่างคริสต์ศาสนิกชน 1:22 - 2:10

3. คำสั่งสอนการดำเนินชีวิตคริสต์ศาสนิกชน 2:11 - 3:22

4. การเตือนสติด้านจริยธรรม 4:1 - 19

5. การเตือนสติผู้นำคริสตจักร 5:1 - 14


อ้างอิง

[แก้]
  • Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
  • Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997
  1. "จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 2012-08-29.
  2. 1 เปโตร 4:12 - 14
  3. 1 เปโตร 2:21 - 23
  4. 1 เปโตร 3:1 - 7
  5. 1 เปโตร 5:1 - 3
  6. 1 เปโตร 5:5
  7. 1 เปโตร 2:12 - 17
  8. 1 เปโตร 3:8 - 9

ดูเพิ่ม

[แก้]