จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโคโลสี
ส่วนหนึ่งของหมวดหมู่ |
หนังสือใน พันธสัญญาใหม่ |
---|
|
จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโคโลสี[1] (อังกฤษ: Epistle of Paul to the Colossians) เรียกโดยย่อว่าพระธรรมโคโลสี เป็นเอกสารฉบับที่ 12 ของคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่
จากหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่เชื่อได้ว่า ผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้คือ นักบุญเปาโล ซึ่งเดิมพระธรรมเล่มนี้เป็นจดหมายที่นักบุญเปาโลเขียนถึงคริสตจักรในเมืองโคโลสี อันเป็นจดหมายที่ถูกเขียนขึ้นในขณะที่นักบุญเปาโลติดคุกอยู่ในกรุงโรม เช่นเดียวกันกับพระธรรม เอเฟซัส ฟิลิปปี และ ฟีเลโมน เพราะนักบุญเปาโลเขียนไว้ในจดหมายว่า "และอธิษฐานเผื่อเราด้วย เพื่อพระเจ้าจะได้โปรดเปิดประตูไว้ให้เราสำหรับพระวาทะนั้น ให้เรากล่าวความล้ำลึกของพระคริสต์ (ที่ข้าพเจ้าถูกจำจองอยู่ก็เพราะเหตุนี้)"[2] โดยที่ โคโลสี น่าจะถูกเขียนขึ้นราวปีค.ศ. 60
แม้ว่านักบุญเปาโลจะเคยเดินทางไปประกาศข่าวประเสริฐที่เมืองเอเฟซัส และได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่า นักบุญเปาโลเคยไปยังเมือง โคโลสี ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กันกับเมืองเอเฟซัสมาก่อน และก็น่าจะเชื่อได้ว่า นักบุญเปาโลไม่เคยเดินทางไปยังเมืองนี้จริง ๆ ดังที่ปรากฏข้อความในจดหมายฉบับนี้ว่า "เพราะข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านรู้ว่าข้าพเจ้าสู้อุตส่าห์มากเพียงไรเพื่อท่าน เพื่อชาวเมืองเลาดีเซีย และเพื่อคนทั้งปวงที่ยังไม่เห็นหน้าของข้าพเจ้า"[3] แม้ว่าจะไม่เคยไป แต่นักบุญเปาโลก็รู้จักบางคนที่นั่น เช่น อารคิปปัส[4] และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอปาฟรัส[5] ชาวโคโลสีผู้ซึ่งได้เดินทางมายังเมืองเอเฟซัส ได้ยินข่าวประเสริฐจากนักบุญเปาโล จนกลับใจเป็นคริสเตียน แล้วเดินทางกลับไปประกาศข่าวประเสริฐยังเมือง โคโลสี ของตน
หลังจากข่าวประเสริฐถูกประกาศไปในเมือง โคโลสี ก็เริ่มมีคริสเตียนเกิดขึ้น จนมีการตั้งคริสตจักร แต่ในเวลาไม่นาน ผู้ที่ไม่เชื่อได้เริ่มต่อต้าน[6] และผู้เชื่อใหม่บางคนก็กลับไปประพฤติตามโลกียวิสัยเดิม[7] เอปาฟรัสจึงเดินทางมาหานักบุญเปาโลซึ่งกำลังติดคุกอยู่ที่กรุงโรม เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังและเป็นที่มาของการเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น ในบรรดาจดหมายที่นักบุญเปาโลได้เขียนไปถึงคริสตจักรในเมืองต่าง ๆ นั้น โคโลสี นับว่าเป็นจดหมายที่แปลกมาก เพราะในขณะที่เขียนจดหมายฉบับนี้ นักบุญเปาโลทราบแต่เพียงว่า จะส่งไปให้บรรดาคริสเตียนในเมือง โคโลสี อ่าน แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นใครบ้าง เนื่องจากไม่เคยพบกันมาก่อน ด้วยเหตุนี้นักบุญเปาโลจึงเลือกใช้ข้อความที่เป็นทางการ แตกต่างไปจากจดหมายฉบับอื่น ๆ ที่แสดงความรู้สึกส่วนตัวบ้าง
เนื้อหาหลักที่อยู่ในพระธรรมเล่มนี้คือ "ความสมบูรณ์ของพระคริสต์" นักบุญเปาโลต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ในพระเยซู ทุกอย่างสมบูรณ์แบบและเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปรัชญาหรือคำสอนของมนุษย์อื่นใดอีก ดังที่เขียนไว้ว่า "เพราะว่าในพระองค์นั้น สภาพของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์"[8]
จุดประสงค์หลักในพระธรรมเล่มนี้ที่นักบุญเปาโลต้องการจะสื่อถึงผู้อ่าน มีอยู่ 2 ประการ หนึ่งคือ ต้องการให้ผู้อ่านมั่นคงอยู่ในความเชื่อตามหลักของพระเยซู อย่าถูกล่อลวงไปตามคำสอนของมนุษย์ เช่น "จงระวังให้ดี อย่าให้ผู้ใดทำให้ท่านตกเป็นเหยื่อด้วยหลักปรัชญา และด้วยคำล่อลวงอันเหลวไหลตามตำนานของมนุษย์ ตามวิญญาณต่าง ๆ แห่งสากลจักรวาล ไม่ใช่ตามพระคริสต์"[9] หรือกลับไปประพฤติตามวิถีชีวิตเดิมตามทางโลก เช่น "ถ้าท่านตายกับพระคริสต์พ้นจากวิญญาณต่าง ๆ แห่งสากลจักรวาลแล้ว เหตุไฉนท่านจึงมีชีวิตอยู่เหมือนกับว่าท่านยังอยู่ฝ่ายโลก ยอมอยู่ใต้บัญญัติต่าง ๆ อันเป็นหลักธรรมและคำสอนของมนุษย์"[10] เป็นต้น
ประการที่สองคือ ต้องการให้ผู้อ่านทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนเป็นคริสเตียนที่ดี ทิ้งการประพฤติตามโลกียวิสัยเดิม ในส่วนนี้ นักบุญเปาโลได้เขียนไว้ละเอียด[11] แต่สามารถสรุปได้ว่า "เพราะว่าท่านได้ปลดวิสัยมนุษย์เก่ากับการปฏิบัติของมนุษย์นั้นเสียแล้ว และได้สวมวิสัยมนุษย์ใหม่ ที่กำลังทรงสร้างขึ้นใหม่ตามพระฉายของพระองค์ผู้ทรงสร้าง ให้รู้จักพระเจ้า"[12]
โครงร่าง
[แก้]1. คำทักทายและคำอธิษฐาน 1:1 - 12
2. คำสอนเรื่องพระคริสต์ 1:13 - 2:15
3. การนำไปใช้ของศาสนศาสตร์เรื่องพระคริสต์ 2:16 - 4:6
4. ข้อคิดเห็นก่อนจบจดหมายและคำทักทาย 4:7 - 8
อ้างอิง
[แก้]Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997