ถนนราชพฤกษ์

พิกัด: 13°44′59″N 100°26′49″E / 13.749691°N 100.446820°E / 13.749691; 100.446820
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทางหลวงชนบท ปท.1036)
ทางหลวงชนบท นบ.3021
ถนนราชพฤกษ์
แผนที่
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว42.320 กิโลเมตร (26.296 ไมล์)
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2543–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศใต้ถ.กรุงธนบุรี ใน เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
 
ปลายทางทิศเหนือ ทล.346 ใน อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี
ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศไทย
ระบบทางหลวง

ถนนราชพฤกษ์ (อักษรโรมัน: Thanon Ratchaphruek) หรือ ทางหลวงชนบท นบ.3021 สายราชพฤกษ์ เป็นถนนที่ทอดยาวจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดปทุมธานี เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญสายหนึ่ง โดยสามารถเดินทางจากถนนสาทรถึงอำเภอเมืองปทุมธานีได้โดยไม่ต้องผ่านทางแยกสัญญาณไฟจราจรแม้แต่แห่งเดียว

ประวัติ[แก้]

ทางราชการได้ตัดถนนราชพฤกษ์ช่วงตากสิน-เพชรเกษมขึ้นเป็นช่วงแรก ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อลดปัญหาการจราจรและทำให้การคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริเวณรอบนอกขยายตัวอย่างเป็นระบบ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดการจราจรในปี พ.ศ. 2543 หน่วยงานต่าง ๆ ได้ใช้ชื่อถนนในเบื้องต้นว่า ถนนตากสิน-เพชรเกษม

ถนนราชพฤกษ์ช่วงเพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ตัดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 โดยเป็นหนึ่งในโครงการถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ (แนวเหนือ-ใต้) เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การคมนาคม การขนส่ง และการจราจร แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้หมดอายุบังคับใช้ไปก่อนที่กรมโยธาธิการจะสำรวจแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนให้แล้วเสร็จ จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาเดียวกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 หลังจากนั้นจึงเริ่มเวนคืนที่ดินและก่อสร้างเส้นทาง

จนกระทั่งเมื่อการตัดถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ดังกล่าวแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2546 กรมทางหลวงชนบทผู้รับผิดชอบสายทาง (รับโอนมาจากกรมโยธาธิการ) ได้หารือกับกรมศิลปากรเพื่อตั้งชื่อถนนอย่างเป็นทางการ โดยถนนแนวเหนือ-ใต้นี้ กรมทางหลวงชนบทเสนอชื่อ ถนนราชพฤกษ์ โดยให้เหตุผลว่ามีโครงการจะปลูกต้นราชพฤกษ์ (Cassia fistula) เรียงรายตามแนวถนนสายนี้ และนอกจากนี้ชื่อราชพฤกษ์ยังเป็นชื่อที่ไม่ซ้ำซ้อนกับถนนสายใด ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย

ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้ขอให้กรมศิลปากรพิจารณาชื่อถนนตากสิน-เพชรเกษมใหม่ (พร้อมกับถนนแยกตากสิน-เพชรเกษมไปถนนวงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) ซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่าถนนกัลปพฤกษ์) กรมศิลปากรโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์จึงพิจารณาโดยใช้หลักการที่กรมทางหลวงชนบทเคยใช้ตั้งชื่อถนนในโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์และถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์มาแล้ว กล่าวคือ ใช้ชื่อพรรณไม้มงคลตั้งเป็นชื่อถนน ในส่วนของถนนตากสิน-เพชรเกษมให้รวมเป็นสายเดียวกับถนนที่ตัดใหม่จากเพชรเกษมไปรัตนาธิเบศร์ เพราะเป็นถนนขนาดเดียวกัน (6-10 ช่องจราจร) และมีแนวเส้นทางที่ต่อเนื่องกัน ดังนั้นถนนช่วงนี้จึงมีชื่อว่า "ถนนราชพฤกษ์"

ส่วนถนนราชพฤกษ์ช่วงรัตนาธิเบศร์‒ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 สร้างขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2540 ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บริเวณแนวเวนคืนนั้นเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนเมื่อปี พ.ศ. 2543 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างก็เสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดให้ใช้คมนาคมได้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยในเรื่องชื่อถนนนั้น กรมศิลปากรเห็นด้วยกับที่กรมทางหลวงชนบทจะใช้ชื่อ "ถนนราชพฤกษ์" ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อจากถนนราชพฤกษ์เดิม

ส่วนถนนช่วงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345‒อำเภอเมืองปทุมธานี สร้างขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบ้านฉาง ตำบลบางปรอก ตำบลบางหลวง ตำบลบางเดื่อ ตำบลบางคูวัด อำเภอเมืองปทุมธานี ตำบลคูบางหลวง ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2560[1] โดยการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดให้ใช้คมนาคมในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561[2]

รายละเอียดเส้นทาง[แก้]

ช่วงตากสิน-เพชรเกษม[แก้]

ถนนราชพฤกษ์ บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงย่อยบางหว้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส

เริ่มจากถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่แยกตากสิน ในพื้นที่แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่แขวงบุคคโล (โดยเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงบุคคโลกับแขวงบางยี่เรือ จนกระทั่งข้ามคลองบางน้ำชนจึงเป็นเส้นแบ่งแขวงบุคคโลกับแขวงตลาดพลู) ตัดกับถนนรัชดาภิเษกที่สี่แยกรัชดา-ราชพฤกษ์ (อุโมงค์รัชดา - ราชพฤกษ์เปิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565) เข้าพื้นที่แขวงดาวคะนอง (และเป็นเส้นแบ่งแขวงดาวคะนองกับแขวงตลาดพลู) ข้ามคลองบางสะแกเข้าพื้นที่แขวงตลาดพลู มุ่งขึ้นไปทางทิศตะวันตก ตัดผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง ตัดกับถนนวุฒากาศ ข้ามคลองด่าน (บางหลวงน้อย) เข้าสู่พื้นที่แขวงบางค้อ เขตจอมทอง ตัดกับถนนกัลปพฤกษ์ที่ทางแยกต่างระดับสวนเลียบ แล้วข้ามคลองตาม่วงเข้าพื้นที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ จากนั้นวกขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เลียบคลองสวนเลียบ ตัดผ่านถนนเทอดไท (พัฒนาการเดิม) และข้ามคลองภาษีเจริญไปตัดกับถนนเพชรเกษมที่ทางแยกต่างระดับเพชรเกษม

ช่วงเพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์[แก้]

เขตกรุงเทพมหานคร[แก้]

เริ่มจากถนนเพชรเกษมในพื้นที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ ไปทางทิศเดิม ข้ามคลองบางจากเข้าพื้นที่แขวงคูหาสวรรค์ จากนั้นเข้าพื้นที่แขวงบางจากและแขวงบางแวก โค้งขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนบางแวก (จรัญสนิทวงศ์ 13) ที่ทางแยกต่างระดับบางแวก ข้ามคลองบางเชือกหนังเข้าพื้นที่แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน ข้ามคลองบางน้อยเข้าพื้นที่แขวงบางพรม ตัดผ่านถนนปากน้ำกระโจมทอง ตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดผ่านโครงการถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 และตัดผ่านถนนบางพรม (วัดแก้ว-พุทธมณฑล สาย 1) ข้ามคลองบางพรมเข้าพื้นที่แขวงบางระมาด ตัดผ่านถนนอินทราวาส (วัดประดู่) ข้ามคลองบ้านไทรเข้าพื้นที่แขวงฉิมพลี ก่อนตัดกับถนนบรมราชชนนีที่ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี โค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่านถนนฉิมพลี ตัดผ่านทางรถไฟสายใต้เข้าพื้นที่แขวงตลิ่งชัน ตรงขึ้นไปทางทิศเหนือและตัดกับถนนสวนผักที่ทางแยกต่างระดับคลองมหาสวัสดิ์-ถนนสวนผัก ก่อนข้ามคลองมหาสวัสดิ์เข้าเขตจังหวัดนนทบุรี

เขตจังหวัดนนทบุรี[แก้]

ถนนราชพฤกษ์ บริเวณวงเวียนราชพฤกษ์

เริ่มจากสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ในพื้นที่ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย ตรงไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนบางกรวย-จงถนอม ข้ามคลองบางขวาง (บางโคเผือก) เข้าพื้นที่ตำบลบางขนุน จากนั้นเข้าพื้นที่ตำบลบางขุนกอง ก่อนตัดกับถนนนครอินทร์ที่วงเวียนบางขุนกอง (ราชพฤกษ์) ข้ามคลองบางกอกน้อยเข้าพื้นที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี แนวเส้นทางเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยก่อนตัดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อยและตัดผ่านทางหลวงชนบท นบ.5038 ข้ามคลองอ้อมเข้าพื้นที่ตำบลบางรักน้อย เบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนรัตนาธิเบศร์

ช่วงรัตนาธิเบศร์-ทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทย[แก้]

เริ่มจากถนนรัตนาธิเบศร์ในพื้นที่ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี มุ่งขึ้นไปทางทิศเดิม ข้ามคลองวัดแดงเข้าพื้นที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด ข้ามคลองบางบัวทองเข้าพื้นที่ตำบลอ้อมเกร็ด เบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้ง ข้ามคลองบางพลับเข้าพื้นที่ตำบลบางพลับ ตัดกับถนนชัยพฤกษ์ที่แยกต่างระดับสาลีโขฯ (บางพลับ) และไปในทิศเดิมจนกระทั่งข้ามคลองข่อยเข้าพื้นที่ตำบลคลองข่อย จึงโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ที่แยกต่างระดับขุนมหาดไทย (คลองข่อย) ระยะทางรวม 9.55 กิโลเมตร

ช่วงทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทย-ทางแยกต่างระดับปทุมธานี[แก้]

เขตจังหวัดนนทบุรี[แก้]

เริ่มจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ที่ทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทยในพื้นที่ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด แล้วจึงโค้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านข้ามคลองพระอุดม ถึงซอยวัดท่าเกวียน เบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนตรงไปบรรจบแนวระวางโฉนดที่ดินระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดปทุมธานี เข้าเขตจังหวัดปทุมธานี

เขตจังหวัดปทุมธานี[แก้]

ถนนราชพฤกษ์ ช่วงอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

เริ่มจากแนวระวางโฉนดที่ดินระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดปทุมธานี ในพื้นที่ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว ตรงไปจึงโค้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านข้ามคลองเกาะเกรียง บริเวณถนนวัดเกาะเกรียง-คลองพระอุดม จากนั้นตรงไปแล้วเบี่ยงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านข้ามคลองตาทรัพย์ เข้าพื้นที่ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมืองปทุมธานี จากนั้นข้ามคลองบางเดื่อ บริเวณถนนเลียบคลองบางเดื่อ ไปจนถึงทางแยกต่างระดับไพร่ฟ้า รวมถึงทางหลวงชนบท นบ.1036 จากนั้นซอยวัดไพร่ฟ้า ข้ามคลองบางโพธิ์ใต้ เข้าพื้นที่ตำบลบางหลวง ถึงถนนเลียบคลองบางโพธิ์ใต้-บางหลวง จึงโค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นข้ามคลองพระยามหาโยธา แล้วตรงไปถึงซอยบางหลวง-เทคโนแหลมทอง ผ่านข้ามคลองบางหลวง เข้าพื้นที่ตำบลบ้านฉาง ก่อนไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ที่ทางแยกต่างระดับปทุมธานี หรือแยก อบจ. ปทุมธานีเดิม รวมระยะทาง 10.4 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีและบางส่วนอยู่ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว รวมถึงในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

สถานที่สำคัญบนเส้นทาง[แก้]

ศูนย์การค้า[แก้]

  • เดอะเซอร์เคิล ราชพฤกษ์
  • เดอะวอล์ค ราชพฤกษ์
  • เดอะ คริสตัล ราชพฤกษ์
  • โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์
  • เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ [3]
  • โรบินสันไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์

รายชื่อทางแยก[แก้]

รายชื่อทางแยกบน ทางหลวงชนบท นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ทิศทาง: แยกตากสิน–ทางแยกต่างระดับปทุมธานี
จังหวัด อำเภอ/เขต กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนราชพฤกษ์ (แยกตากสิน–ทางแยกต่างระดับปทุมธานี)
กรุงเทพมหานคร ธนบุรี 0+000 แยกตากสิน เชื่อมต่อจาก: ถนนกรุงธนบุรี ไปสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ไปแยกมไหสวรรย์, ดาวคะนอง ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ไปวงเวียนใหญ่
≈1+500 แยกรัชดา-ราชพฤกษ์ ถนนรัชดาภิเษก ไปแยกมไหสวรรย์, สะพานกรุงเทพ ถนนรัชดาภิเษก ไปตลาดพลู, แยกท่าพระ
≈2+400 ถนนวุฒากาศ ไปแยกจอมทอง ถนนวุฒากาศ ไปแยกวุฒากาศ (มะลิทอง)
จอมทอง ≈3+200 ทางแยกต่างระดับสวนเลียบ ถนนกัลปพฤกษ์ ไปทางแยกต่างระดับบางโคลัด,ถนนกาญจนาภิเษก ไม่มี
ภาษีเจริญ ≈4+270 - ถนนเทอดไท ไปแยกกำนันแม้น ถนนเทอดไท ไปตลาดพลู
≈4+270 ทางแยกต่างระดับเพชรเกษม ถนนเพชรเกษม ไปบางแค, อ้อมน้อย ถนนเพชรเกษม ไปแยกท่าพระ, วงเวียนใหญ่
≈6+520 ทางแยกต่างระดับบางแวก ถนนบางแวก ไปถนนพุทธมณฑล สาย 1 ถนนบางแวก ไปแยกพาณิชยการธนบุรี
ตลิ่งชัน ≈8+190 ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ไปถนนกาญจนาภิเษก ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ไปแยกไฟฉาย
≈11+600 ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี ถนนบรมราชชนนี ไปทางแยกต่างระดับฉิมพลี ถนนบรมราชชนนี ไปตลิ่งชัน, พระปิ่นเกล้า
≈12+000 สะพาน ข้ามทางรถไฟสายใต้
≈13+700 ทางแยกต่างระดับคลองมหาสวัสดิ์-ถนนสวนผัก ถนนสวนผัก ไปตลาดกรุงนนท์, ศาลจังหวัดตลิ่งชัน ถนนสวนผัก ไปแยกสวนผัก
≈13+800 สะพาน ข้ามคลองมหาสวัสดิ์
นนทบุรี บางกรวย ≈16+710 วงเวียนราชพฤกษ์ (บางขุนกอง) ถนนนครอินทร์ ไปทางแยกต่างระดับบางคูเวียง ถนนนครอินทร์ ไปแยกบางสีทอง, สะพานพระราม 5
≈17+500 สะพาน ข้ามคลองบางกอกน้อย
เมืองนนทบุรี ≈18+400 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ไปวงเวียนการไฟฟ้าบางใหญ่ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ไปแยกบางกร่าง, ท่าเรือบางศรีเมือง
≈19+200 ทางหลวงชนบท นบ.5038 ไปวัดโบสถ์ดอนพรหม ทางหลวงชนบท นบ.5038 ไปสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
≈20+500 สะพาน ข้ามคลองอ้อมนนท์
≈22+500 ทางแยกต่างระดับบางรักน้อย ถนนรัตนาธิเบศร์ ไปแยกบางพลู, ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ ถนนรัตนาธิเบศร์ ไปแยกไทรม้า, สะพานพระนั่งเกล้า
ปากเกร็ด ≈24+830 สะพาน ข้ามคลองบางบัวทอง
≈28+100 ทางแยกต่างระดับสาลีโข ถนนชัยพฤกษ์ ไปแยกสามวัง, แยกบางบัวทอง ถนนชัยพฤกษ์ ไปสะพานพระราม 4
≈29+700 สะพาน ข้ามคลองข่อย
≈30+750 ทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ไปทางแยกต่างระดับบางบัวทอง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ไปแยกบางคูวัด, สะพานปทุมธานี 2
≈31+950 สะพาน ข้ามคลองพระอุดม
ปทุมธานี เมืองปทุมธานี ≈34+100 สะพาน ข้ามคลองเกาะเกรียง
≈36+600 ทางแยกต่างระดับไพร่ฟ้า ทางหลวงชนบท ปท.1036 บรรจบถนนกาญจนาภิเษก ทางหลวงชนบท ปท.1036 ไป ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 307
≈40+200 สะพาน ข้ามคลองบางหลวง
≈41+200 ทางแยกต่างระดับปทุมธานี ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ไปลาดหลุมแก้ว, กำแพงแสน ถนนปทุมสัมพันธ์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3035 เดิม) เข้าเมืองปทุมธานี
ตรงไป: ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ไปรังสิต
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°44′59″N 100°26′49″E / 13.749691°N 100.446820°E / 13.749691; 100.446820