ถนนนครอินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทางหลวงชนบท นบ.1020
ถนนนครอินทร์
ข้อมูลของเส้นทาง
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2545–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันตก ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี, ถนนติวานนท์, ถนนประชาราษฎร์ ใน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนนทบุรี
 
ปลายทางทิศตะวันออก ถนนกาญจนาภิเษก ใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศไทย
ระบบทางหลวง

ถนนนครอินทร์ (อักษรโรมัน: Thanon Nakhon In) หรือ ทางหลวงชนบท นบ.1020 สายนครอินทร์ เป็นเส้นทางการคมนาคมในพื้นที่อำเภอเมืองนนทบุรีและอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยเป็นถนนขนาด 10 ช่องทางจราจร มีเส้นทางเริ่มต้นที่แยกติวานนท์ ในอำเภอเมืองนนทบุรี ไปบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษกที่ทางแยกต่างระดับบางคูเวียงในอำเภอบางกรวย

ประวัติ[แก้]

ถนนนครอินทร์ตัดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 โดยเป็นหนึ่งในโครงการถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์ (แนวตะวันออก-ตะวันตก) เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การคมนาคม การขนส่ง และการจราจร แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้หมดอายุบังคับใช้ไปก่อนที่กรมโยธาธิการจะสำรวจแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนให้แล้วเสร็จ จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาเดียวกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 หลังจากนั้นจึงเริ่มเวนคืนที่ดินและก่อสร้างเส้นทางถนนรวมทั้งสะพานซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมถนนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน

ในปี พ.ศ. 2545 ทางการได้เริ่มเปิดให้ใช้ถนนสายนี้ (ขณะนั้นแล้วเสร็จเพียงช่วงติวานนท์ถึงบางกรวย-ไทรน้อย) พร้อม ๆ กับเปิดการจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า "สะพานพระราม 5" ประชาชนทั่วไปจึงเริ่มเรียกชื่อถนนว่า ถนนพระราม 5 ตามชื่อสะพาน จนกระทั่งการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งสายในปี พ.ศ. 2546 กรมทางหลวงชนบทผู้รับผิดชอบสายทาง (รับโอนมาจากกรมโยธาธิการ) ได้หารือกับกรมศิลปากรเพื่อตั้งชื่อถนนอย่างเป็นทางการ ในขั้นแรกนั้นทางกรมศิลปากรโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เห็นว่าน่าจะใช้ชื่อมีความสัมพันธ์กับชื่อสะพาน แต่หากนำชื่อสะพานมาใช้เป็นชื่อถนนด้วยนั้นจะซ้ำซ้อนกับถนนที่มีชื่อว่า "พระรามที่ 5" อยู่แล้ว นั่นคือ ถนนพระรามที่ 5 ในพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จึงเห็นชอบกับชื่อถนนที่กรมทางหลวงชนบทเสนอไป โดยนำชื่อวัดนครอินทร์ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงสะพานพระราม 5 มาตั้งโดยอนุโลมเป็น ถนนนครอินทร์

รายละเอียดเส้นทาง[แก้]

ถนนนครอินทร์ แยกบางสีทอง

เริ่มจากแยกติวานนท์ (จุดตัดระหว่างถนนติวานนท์กับถนนประชาราษฎร์) ในพื้นที่ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ข้ามคลองบางตะนาวศรีเข้าสู่ตำบลบางเขน จากนั้นเข้าเขตตำบลตลาดขวัญอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเข้าสู่ตำบลสวนใหญ่และตัดกับถนนพิบูลสงครามที่สี่แยกสะพานพระราม 5 จากนั้นซ้อนกับแนวซอยพิบูลสงคราม 13 (บุรีรังสรรค์) แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (โดยสะพานพระราม 5) เข้าเขตตำบลบางไผ่ ข้ามคลองบางสีทองเข้าเขตตำบลบางศรีเมือง ข้ามแนวคลองวัดสนามเข้าสู่ตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย (บริเวณก่อนถึงจุดกลับรถสี่แยกบางสีทอง ซึ่งตัดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อย) จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันตก ข้ามคลองบางกอกน้อยเข้าเขตตำบลบางขนุน เข้าเขตตำบลบางขุนกอง ข้ามคลองบางขุนกอง ผ่านวงเวียนราชพฤกษ์ (จุดตัดกับถนนราชพฤกษ์) ใกล้กับวัดซองพลู จากนั้นข้ามคลองบางไกรนอก ข้ามคลองบางราวนกเข้าสู่ตำบลบางคูเวียง และข้ามคลองบางคูเวียงไปบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษกที่ทางแยกต่างระดับบางคูเวียง โดยในทุกแยกที่ถนนสายนี้ผ่านจะมีสะพานข้ามแยกขนาด 6 ช่องจราจร รวมระยะทางทั้งหมด 12.4 กิโลเมตร

สถานที่สำคัญบนเส้นทาง[แก้]

รายชื่อทางแยก[แก้]

รายชื่อทางแยกบน ทางหลวงชนบท นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ทิศทาง: แยกติวานนท์–ทางแยกต่างระดับบางคูเวียง
จังหวัด อำเภอ กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนนครอินทร์ (แยกติวานนท์–ทางแยกต่างระดับบางคูเวียง)
นนทบุรี เมืองนนทบุรี 0+000 แยกติวานนท์ เชื่อมต่อจาก: ถนนติวานนท์ ไปแคราย
ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ไปวงศ์สว่าง, เตาปูน ถนนประชาราษฎร์ ไปท่าน้ำนนทบุรี
≈1+600 แยกสะพานพระราม 5 ถนนพิบูลสงคราม ไปสะพานพระราม 7 ถนนพิบูลสงคราม ไปท่าน้ำนนทบุรี
≈2+150 สะพานพระราม 5 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
บางกรวย ≈4+136 แยกบางสีทอง ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ไปบางกรวย ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ไปแยกบางกร่าง, ถนนราชพฤกษ์
≈5+350 สะพาน ข้ามคลองบางกอกน้อย
≈7+300 วงเวียนราชพฤกษ์ (บางขุนกอง) ถนนราชพฤกษ์ ไปถนนบรมราชชนนี ถนนราชพฤกษ์ ไปถนนรัตนาธิเบศร์
12+400 ทางแยกต่างระดับบางคูเวียง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3902,
ถนนกาญจนาภิเษก,
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3901
ไปตลิ่งชัน, บางแค
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3902,
ถนนกาญจนาภิเษก,
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3901
ไปบางใหญ่
ตรงไป: ถนนนครอินทร์ ไปศาลายา
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

รถประจำทางที่ผ่าน[แก้]

  • รถประจำทางสาย 89 (เทคนิคกรุงเทพ-สวนผัก)
  • รถประจำทางสาย 210 (751 เดิม สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า-สะพานพระราม 4)
  • รถประจำทางสาย 208 (710 เดิม วงกลมอรุณอมรินทร์-ถนนราชพฤกษ์)
  • รถประจำทางสาย 114 (นนทบุรี-แยกลำลูกกา)
  • รถประจำทางสาย 117 (ห้วยขวาง-ท่าน้ำนนท์)
  • รถประจำทางสาย 175 ท่าน้ำภาษีเจริญ-ท่าน้ำนนท์
  • รถประจำทางสาย 203 ท่าอิฐ-สนามหลวง
  • รถประจำทางสาย 387 (ศาลายา-ปากเกร็ด)
  • รถตู้ประจำทางสาย ต.119 สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต-บางบัวทอง
  • รถประจำทาง RTC 6028 วงเวียนราชพฤกษ์-ติวานนท์
  • รถประจำทาง Y70e (หมอชิต - ศาลายา) ผ่านช่วงขึ้นบริเวณราชพฤกษ์ก่อนสายใต้ใหม่
  • สองแถว 3 (ท่าน้ำนนท์ - วัดสังฆทาน - บางไผ่ ซอย 5)
  • สองแถว 4 (ท่าน้ำนนท์ - วัดโบสถ์บน)
  • สองแถว 5 (ท่าน้ำนนท์ - วัดไทร)
  • สองแถว 10 (ท่าน้ำนนท์ - คลัสเตอร์ วิลล์ ราชพฤกษ์)
  • สองแถว 1003 (ท่าน้ำบางศรีเมือง - บางกรวย)
  • สองแถว 1010 (โลตัสนครอินทร์ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ)
  • สองแถวฟ้าขาว 1024ข หลังคาฟ้า (พระราม 5 - บางบัวทอง)
  • สองแถว 1102 (เข้าซอยเรวดี - วัดปากน้ำ)
  • สองแถว 6162 (ท่าน้ำนนทบุรี - วัดชลอ)[1]
  1. สองแถว นนทบุรี บริเวณรอบ ๆ ท่าน้ำนนท์ และท่าน้ำบางศรีเมือง ผ่านที่ไหนบ้าง? (Songthaew around Nonthaburi Pier and Bang Si Muang Pier)