ถนนมังกร

พิกัด: 13°44′41″N 100°30′48″E / 13.744709°N 100.513208°E / 13.744709; 100.513208
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ป้ายชื่อถนนมังกร ทางฝั่งถนนเยาวราชตัดเข้าย่านสำเพ็ง
แผนที่เขตสัมพันธวงศ์และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ถนนมังกรปรากฏในชื่อ Mangkon Road

ถนนมังกร (อักษรโรมัน: Thanon Mangkon) ถนนสายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่ตัดผ่านถนนสายอื่น ๆ ในลักษณะของซอย ถนนมังกรมีจุดเริ่มต้นจากถนนกรุงเกษม เลียบคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพง ในพื้นที่แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จากนั้นตัดโค้งลงมาทางใต้ผ่านถนนมิตรพันธ์ บริเวณใกล้กับวงเวียน 22 กรกฎาคม จากนั้นตัดผ่านถนนยี่สิบสองกรกฎาคม เลียบข้างวัดพลับพลาชัย และตัดผ่านถนนไมตรีจิตต์ จากนั้นทอดผ่านถนนพลับพลาไชย และตัดผ่านถนนเจ้าคำรบ ผ่านวัดคณิกาผล ตัดผ่านถนนยมราชสุขุม ออกถนนเจริญกรุง และผ่านหน้าวัดกันมาตุยาราม ในพื้นที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ในย่านเยาวราช จากนั้นตัดผ่านถนนเยาวราช ทอดตัดกับตรอกอิสรานุภาพและซอยผลิตผล ที่ย่านสำเพ็ง พื้นที่แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ ไปสิ้นสุดที่ถนนทรงวาด

ถนนมังกร เป็นหนึ่งในถนนหกสายที่ถูกตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ตำบลตรอกเต้าหู้ เมื่อปี พ.ศ. 2464 เช่นเดียวกับ ถนนเสือป่า หรือถนนเจ้าคำรบ ซึ่งในเอกสารเรื่องตัดถนนในที่เพลิงไหม้ตรอกเต้าหู้ พบแนวถนนสายที่หกที่ตัดขึ้นโดยการถมคลองวัดพลับพลาไชย มีลักษณะเหมือนกับถนนมังกรในปัจจุบัน จึงสันนิษฐานว่าถนนมังกรช่วงตอนบนของถนนเจริญกรุง อาจจะตัดขึ้นบนพื้นที่ของคลองวัดพลับพลาไชยที่ถูกถม ส่วนถนนมังกรช่วงตอนล่างของถนนเจริญกรุง ยังไม่พบข้อมูลว่าตัดขึ้นในช่วงเวลาใด[1]

ถนนมังกร โดยเฉพาะในช่วงที่ตัดผ่านถนนเยาวราชและย่านสำเพ็ง เป็นย่านการค้าที่คึกคักมาก มีสินค้านานาชนิดจำหน่าย และเป็นที่ตั้งของห้างทองตั้งโต๊ะกัง ห้างทองหรือร้านค้าทองแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามในรูปแบบจีน-โปรตุเกส และชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ทองคำ อีกทั้งในฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพ สาขาสำเพ็ง ตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามเช่นเดียวกับห้างทองตั้งโต๊ะกัง ซึ่งอาคารทั้งสองได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นโบราณสถานในกรุงเทพมหานคร[2] [3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน" (PDF). สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
  2. หนุ่มลูกทุ่ง (2008-02-06). "พิพิธภัณฑ์ทองคำฯตั้งโต๊ะกัง ตำนานทองคำแห่งเยาวราช". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-21. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.
  3. "รายงานการศึกษาโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. ๒๕๕๔" (PDF). กรุงเทพมหานคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-07-05. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°44′41″N 100°30′48″E / 13.744709°N 100.513208°E / 13.744709; 100.513208