ข้ามไปเนื้อหา

วัดคณิกาผล

พิกัด: 13°44′39″N 100°30′36″E / 13.74417°N 100.51000°E / 13.74417; 100.51000
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดคณิกาผล
พระอุโบสถวัดคณิกาผล
แผนที่
ชื่อสามัญวัดใหม่ยายแฟง
ที่ตั้งเลขที่ 416 ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร[1]
13°44′39″N 100°30′36″E / 13.74417°N 100.51000°E / 13.74417; 100.51000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายพุทธศาสนามหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดคณิกาผล เป็นวัดไทยในพุทธศาสนามหานิกาย ประเภทวัดราษฎร์[2] ตั้งอยู่ที่ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ตรงกันข้ามกับสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หญิงนางหนึ่งชื่อ แฟง มักเรียกกันว่า ยายแฟง เป็นเจ้าสำนักโสเภณีชื่อ "โรงยายแฟง" อยู่ที่ตรอกเต๊า ถนนเยาวราช มีศรัทธาในพุทธศาสนา จึงชวนหญิงโสเภณีในสำนักของนางเอารายได้จากการค้าประเวณีมาลงขันกันสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2376[2][3]

ในงานสมโภชวัด ยายแฟงนิมนต์ขรัวโต ซึ่งต่อมาได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มาเทศน์ฉลอง หวังจะให้เทศน์สรรเสริญคุณงามความดีของนางในครั้งนี้ต่อที่ชุมชน แต่ขรัวโตเทศน์สั่งสอนว่า ทำบุญเอาหน้า แม้จะเป็นบุญใหญ่ ก็ได้บุญน้อย นอกจากนี้ ขรัวโตยังว่า เงินของยายแฟงได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ ยายแฟงจึงได้บุญไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเปรียบเปรยว่า "ในการที่เจ้าภาพได้จัดการทำบุญเช่นนี้นั้น เป็นการทำบุญที่มีเบื้องหลังอยู่หลายประการ เป็นเหตุให้เหมือนกับว่า ในเงินทำบุญหนึ่งบาทนั้น ยายแฟงจะได้อานิสงส์เพียงแค่สลึงเฟื้องเท่านั้น"[3][4]

วัดนี้ เดิมไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "วัดใหม่ยายแฟง"[2] และนับตั้งแต่สร้าง ก็ได้เปิดทำสังฆกรรมต่อมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่ราชสมบัติแล้ว ลูกหลานของยายแฟงจึงบูรณะ และขอพระราชทานนามวัดจากพระมหากษัตริย์ ก็โปรดให้ว่า "วัดคณิกาผล" แปลว่า วัดที่สร้างขึ้นจากผลประโยชน์ของนางคณิกา คือ นางโสเภณี[2]

ปัจจุบัน วัดนี้ยังมีของหลายสิ่งตั้งแต่แรกสร้างวัด เช่น พระประธาน, พระอุโบสถ, พระวิหาร, พระปรางค์เล็กหนึ่งองค์, ระเบียง, หอระฆังก่ออิฐถือปูนแบบเก่า หลังคาประดับลายปูนปั้นเขียนสี ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ, และตู้ลายรดน้ำของเก่าหลายใบ ซึ่งมีพื้นลายกนกเปลว เขียนเรื่องรามเกียรติ์ แต่ส่วนใหญ่นอกจากนี้เป็นล้วนของใหม่ อนึ่ง ในวัดยังมีรูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ประดิษฐานไว้หน้าวัด และรูปปั้นยายแฟงครึ่งตัว ปิดทอง ตั้งไว้ในซุ้มบริเวณกำแพงหลังพระอุโบสถ ที่ฐานรูปมีจารึกว่า "วัดคณิกาผลนี้สร้างเมื่อพุทธศักราช 2376 โดยคุณยายแฟง บรรพบุรุษของตระกูลเปาโรหิตย์"[5]

วัดนี้ยังเปิดโรงเรียนวัดชื่อ "โรงเรียนวัดคณิกาผล" ด้วย เป็นโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดคณิกาผล". สมุดหน้าเหลือง. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "วัดคณิกาผล". ราชบัณฑิตยสถาน. 29 มีนาคม 2552. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "วัดคณิกาผล วัดที่เป็นผลได้มาจากหญิงโลมเมือง". คมชัดลึก. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  4. "แนวคิดการเปลี่ยนชื่อวัด : กรณีศึกษา "วัดคณิกาผล"". สยามคัลเจอร์. 16 พฤศจิกายน 2553. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. "วัดคณิกาผล". สนุก! ท่องเที่ยว. 1 มกราคม 2552. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)