การสังหารหมู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565
การสังหารหมู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565 | |
---|---|
เครื่องหมายแสดงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์และที่ทำการ อบต.อุทัยสวรรค์ (1), บ้านหนองกุงศรี (2) และ บ้านท่าอุทัย (3) | |
สถานที่ | ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู |
พิกัด | 17°14′10.2″N 102°09′35.5″E / 17.236167°N 102.159861°E |
วันที่ | 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 12:50 น. (UTC+7) |
ประเภท | การสังหารหมู่, การกราดยิงหมู่, การโจมตีด้วยยานพาหนะ, การฆ่ายกครัว, การฆาตกรรม-ฆ่าตัวตาย |
อาวุธ | |
ตาย | 38 คน (รวมผู้ก่อเหตุ)[2] |
ผู้ก่อเหตุ | ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ[3] |
เหตุจูงใจ | สรุปไม่ได้ ดูที่ส่วนแรงจูงใจ |
การสังหารหมู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565 เป็นเหตุกราดยิงและใช้อาวุธมีดไล่ฟันในตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 38 คน (รวมผู้ก่อเหตุ)[4] ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 24 คน[5] ในเหตุการณ์นี้มีเด็กที่รอดชีวิตจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ 1 คน โดยเหตุการณ์นี้ได้เป็นข่าวไปทั่วโลก[6][7] นับเป็นการฆาตกรรมหมู่โดยผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียวที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แซงหน้าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563[8] และติดอันดับเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่ร้ายแรงที่สุดของโลก[9] ผู้ก่อเหตุลงมือใช้มีด[10] และอาวุธปืนประทุษร้ายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์[11][12] ก่อนขับรถยนต์หลบหนี[13]เหตุการณ์ทั้งหมดกินพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 หมู่ 6 หมู่ 10 และหมู่ 12 ระหว่างทางผู้ก่อเหตุยิงผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน[14] ทางการตำรวจได้ส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษหนุมานกองปราบ และอรินทราช 26 ไปยังพื้นที่เกิดเหตุ[15] สุดท้ายผู้ก่อเหตุฆ่าภรรยา ลูกเลี้ยงและฆ่าตัวตายตาม[16]
ผู้นำในและต่างประเทศ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศหลายคนและแห่งแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ทางการไทยมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและญาติ ขณะที่มีการชี้ว่าควรแก้ไขปัญหายาเสพติดและการครอบครองอาวุธปืนโดยผู้มีปัญหาสุขภาพจิต[17] ด้านนายกรัฐมนตรีสั่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปืนและยาเสพติด และกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
เบื้องหลัง
[แก้]ประเทศไทยมีอัตราการครอบครองอาวุธปืนสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[18] และยังมีผู้ครอบครองปืนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาวุธเหล่านั้นส่วนใหญ่มีการซื้อขายกันผ่านชายแดน[7][19] รอยเตอร์สกล่าวว่าแม้อัตราการครองปืนในไทยจะสูง แต่เหตุกราดยิงก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก[20]
อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 แล้ว ยังมีการก่อเหตุกราดยิงอีกหลายกรณี ได้แก่ เหตุกราดยิงที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เหตุกราดยิงที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2565[21] เหตุกราดยิงที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เหตุกราดยิงหัวรถจักร รถเร็วกรุงเทพ-สุไหงโกลก เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565[22] และเหตุกราดยิงที่กรมยุทธศึกษาทหารบกเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565[23] ข้อมูลของเวิลด์ป็อบปูเลชันรีวิวระบุว่าในระยะเวลา 10 เดือนของปี 2565 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนแล้ว 2,804 คน อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก หรือคิดเป็นอัตราตายจากปืน 3.91 ต่อประชากร 1 แสนคน[24]
มีการถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมาปี 2563 ว่าปัญหาเกิดจากพื้นฐานอารมณ์ของผู้ก่อเหตุ การเลี้ยงดู การมีโอกาสลงมือก่อเหตุ และสังคมที่มีการเอาเปรียบ ไม่ใช่พฤติกรรมเลียนแบบ รวมทั้งสื่อไม่ควรเน้นลงข่าวของผู้ก่อเหตุมากจนทำให้กลายเป็นวีรบุรุษ[25] ส่วนในเหตุกราดยิงที่กรมยุทธศึกษาทหารบกก่อนหน้านี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เคยตอบคำถามต่อสื่อมวลชนในประเด็นการป้องกันเหตุกราดยิงในประเทศไทยว่า "ป้องกันยังไง บอกมาซิ บอกมา จะให้ทำอะไรบอกมาเลย โธ่"[26]
การกราดยิง
[แก้]ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์
[แก้]เวลาประมาณ 11:24 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ ขับรถกระบะโตโยต้า วีโก้ สีขาว ป้ายทะเบียน 6กธ 6499 กรุงเทพมหานคร ออกมาจากบ้านพัก และถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์เวลา 12:50 น. จากนั้นผู้ก่อเหตุใช้ปืนซิก ซาวเออร์ พี350 และปืนลูกซองที่ตนได้เตรียมมายิงเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ และบุตรชายของเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวที่อยู่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ เสียชีวิตรวม 2 ราย[27]
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์
[แก้]เวลาประมาณ 12.55 น. ผู้ก่อเหตุเดินเข้าก่อเหตุภายในศูนย์ฯ โดยในขณะนั้นเป็นช่วงพักกลางวันและเด็กกำลังนอนหลับอยู่ภายใต้การดูแลของครูพี่เลี้ยง 6 คน ผู้ก่อเหตุใช้มีดฟันครูพี่เลี้ยงที่เห็นเหตุการณ์และพยายามปิดประตูแต่ไม่สำเร็จเสียชีวิต ผู้ก่อเหตุใช้ปืนกราดยิงต่อภายในศูนย์ฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุรวม 25 ราย แบ่งออกเป็นเด็กในศูนย์ฯ 23 ราย ครูพี่เลี้ยงผู้หญิง 2 ราย หนึ่งในนั้นเป็นครูพี่เลี้ยงที่ตั้งครรภ์ท้องแก่ได้ 8 เดือนใกล้คลอดด้วย หลังได้รับรายงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจออกไล่ล่าตามหาผู้ก่อเหตุ[27][28][29]
3 หมู่บ้าน
[แก้]หลังก่อเหตุที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ หมู่บ้านห้วยนาหลวง หมู่ 6 ผู้ก่อเหตุเดินทางกลับไปที่บ้านพักของตนอีกครั้ง ผู้ก่อเหตุถึง หมู่บ้านหนองกุงศรี หมู่ 10 ซึ่งเป็นทางผ่าน ขับรถกระบะพุ่งชนรถจักรยานยนต์และใช้ปืนยิงผู้สัญจรทางถนนซ้ำ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันทีและที่โรงพยาบาลรวม 7 ราย จากบ้านหนองกุงศรี[27]
ที่ปากซอยคุ้ม 3 บ้านท่าอุทัยสวรรค์ ตำบลอุทัยสววรค์ คนร้ายขับรถชนและใช้มีดฟันแม่ค้าข้าวโพดเสียชีวิต[30]
ต่อมาผู้ก่อเหตุขับรถชนคนที่ หมู่ที่ 12 บ้านท่าอุทัยเหนือเสียชีวิตอีก 1 ราย[31] นอกจากนี้ ผู้เห็นเหตุการณ์ยังเล่าว่าผู้ก่อเหตุใช้มีดฟันซ้ำคนที่ยิงปืนแล้วกระสุนด้าน รวมทั้งขับรถถอยมาทับผู้เสียหาย[32]
ก่อนเข้ามาจอดรถในบ้านพักของตนซึ่งอยู่ภายในหมู่ที่ 1 หมู่บ้านท่าอุทัย ที่หมู่บ้านแห่งนี้เขายังสังหารคนไปอีก 6 คน 3 คนเป็นคนผ่านทาง และอีก 3 คนมีบ้านอยู่ห่างจากบ้านของเขาไม่เกิน 400 เมตร แต่ไม่ลงมือกับเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่ทำอาชีพขายส่งน้ำดื่ม[33] สุดท้ายจุดไฟเผารถยนต์ที่ใช้หลบหนี ยิงสังหารลูกเลี้ยงและภรรยา รวมถึงตนเองจนถึงแก่ความตาย[34]
ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ
[แก้]ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ[35][36][37][38] | |||||
---|---|---|---|---|---|
เสียชีวิตแบ่งตามสถานที่ | เด็กชาย | เด็กหญิง | ผู้ชาย | ผู้หญิง | รวม |
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ | 19 | 3 | – | 2 | 24 |
ที่ทำการ อบต. อุทัยสวรรค์[a] | 1 | – | 1 | – | 2 |
บ้านท่าอุทัย (บ้านผู้ก่อเหตุ) | 1 | – | 1 | 1 | 3 |
กลางบ้านท่าอุทัย | – | – | – | 1 | 1 |
หมู่ที่ 12 บ้านท่าอุทัยเหนือ[39] | – | – | 1 | – | 1 |
บ้านหนองกุงศรี | – | – | 1 | – | 1 |
ถนนบ้านท่าอุทัย | – | – | – | 1 | 1 |
เสียชีวิตที่โรงพยาบาล | – | – | 4 | 1 | 5 |
บาดเจ็บ | 3 | 1 | 2 | 4 | 10 |
ยอดผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 8 ตุลาคม อยู่ที่ 38 ราย รวมผู้ก่อเหตุ รายละเอียดสถานที่แสดงทางด้านขวามือ
ผู้บาดเจ็บถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 15 ราย ผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลนากลาง 3 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู 2 ราย[40]
รายชื่อผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ
[แก้]ผู้เสียชีวิต
[แก้]- เด็กชายกฤษณพงษ์ เถาว์ถาวงษ์
- เด็กชายวรภัทร นวดข้าว
- เด็กชายวีรพล นวดข้าว
- เด็กชายภัทรวุทธ์ ปัดโคทานัง
- เด็กชายชฎายุ มนูศิลป์
- เด็กชายกฤษกร วงมามี
- เด็กชายธวัชชัย ศรีภู
- เด็กชายธีรยุทธ วังคีรี
- เด็กชายวสันต์ สมใจ
- เด็กชายชัยยศ กีเจริญ
- เด็กชายนันท์นภัส ส่งเสริม
- เด็กชายภาคิน เคนดา
- เด็กชายอธิบดินทร์ สีลุ่มใต้
- เด็กชายธนากูล ทองภูบาล
- เด็กชายธนาเทพ กําศร
- เด็กชายภัทรวรรน์ จํานงศ์นิต
- เด็กชายกฤษณะ โสลา
- เด็กหญิงภัทนันท์ มุมการ
- เด็กหญิงธิดาพร โพธิพล
- เด็กหญิงศิริประภา ประเสริฐสุข
- เด็กชายอภิวุฒิ มะโนชาติ
- เด็กชายธนากร การะดี
- นางสาวมะลิวัลย์ ลาโสภา
- นางสาวสุภาภรณ์ ประมงมุข (เสียชีวิตพร้อมกับบุตรในครรภ์)
- นายสันติ ประทุมชัย
- เด็กชายภาณุษิต ประทุมชัย
- นางบัวสอน แสนคุ้ม
- นายวงศ์ธวัช มูลโต
- นายศักดิ์สิทธิ์ รักษาพล
- นายดอน อุตตมะ
- นางเพชรนภา สาระสิทธิ์
- นางสาวนิดา ไชเกริน
- นายวีรชน บุญเทียน
- นายวรัญชัย ประภาสพงษ์
- นายปัญญา คําราบ (ผู้ก่อเหตุ)
- นางคำพันธ์ นรบุตร (ภรรยาผู้ก่อเหตุ)
- เด็กชายวรภัทร นรบุตร (ลูกเลี้ยงของผู้ก่อเหตุ)[41]
- น้องซีวิค (เด็กในครรภ์ของผู้เสียชีวิตรายที่ 24)[42]
แบ่งจำแนกตามจุดเกิดเหตุและสถานที่ที่เสียชีวิต ดังนี้
รายที่ 1-24 เสียชีวิตที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์
รายที่ 25-26 เสียชีวิตที่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์
รายที่ 27-29 เสียชีวิตที่โรงพยาบาลนากลาง
รายที่ 30-31 เสียชีวิตที่บ้านท่าอุทัย
รายที่ 32 เสียชีวิตที่บ้านท่าอุทัยเหนือ เนื่องจากถูกรถชน
รายที่ 33-34 เสียชีวิตที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู
รายที่ 35-37 เสียชีวิตในบ้านท่าอุทัย(ตัวบ้านผู้ก่อเหตุ)
รายที่ 38 เป็นเด็กเพศชาย ซึ่งเป็นบุตรในครรภ์ของผู้เสียชีวิตรายที่ 24
[38]
- เด็กหญิงอุมาพร ม่วมกระโทก
- นางเจริญ ไชยเกริน
- นางสาวเบญจวรรณ พันธุ์เลิศ
- นางสาวชลิตา ทูลธรรม
- นางปราณี สารีแก้ว
- นายรัตน์นิกร สมพาน
- นายกำธร ทองโคตร
- เด็กชายกันตพงศ์ เสือนา
- เด็กชายธนัศชัย สมภาร
- เด็กชายกฤษกร เรืองเจริญ
ผู้ก่อเหตุ
[แก้]ปัญญา คำราบ | |
---|---|
เกิด | 4 มิถุนายน พ.ศ. 2531[44] |
เสียชีวิต | 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 (34 ปี) อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ประเทศไทย |
สาเหตุเสียชีวิต | อัตวินิบาตกรรม |
อาชีพ | อดีตข้าราชการตำรวจ |
เหตุจูงใจ | สรุปไม่ได้ |
สิบตำรวจเอก ปัญญา คำราบ บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 สังกัดสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี[45] ก่อนย้ายมาดำรงตำแหน่งที่สถานีตำรวจภูธรนาวังเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562[46]
แหล่งข่าวระบุว่า ปัญญามีปัญหากับคู่รักของเขาที่ไม่ย้ายถิ่นตามมาด้วย นับจากนั้น ปัญญาเริ่มมีพฤติกรรมที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว พลตำรวจตรี ไพศาล ลือสมบูรณ์ โฆษกตำรวจภูธรภาค 4 ให้สัมภาษณ์กับพีพีทีวีว่าผู้ก่อเหตุมักมีปัญหากับผู้บังคับบัญชาและชาวบ้าน[1] ส่วนเอกสารของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ต้นสังกัดเดิมของปัญญา ระบุว่าเขาเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร และชอบเล่นปืน[45] ส่วนญาติเปิดเผยว่า เขาเคยเป็นเด็กเรียนดี เล่นดนตรีและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมาตั้งแต่สมัยมัธยม[33]
ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2565 ปัญญาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจับหลังได้รับแจ้งพฤติการณ์อันเกี่ยวข้องกับยาเสพติด[47] มติชนรายงานว่าในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังถูกจับกุมในคดียาเสพติด เขายอมรับว่าเริ่มเสพยาเสพติดตั้งแต่ตอนเรียนในระดับมัธยมศึกษา[48] จากการถูกจับกุมในคดีดังกล่าว ตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภูได้มีคำสั่งให้ปัญญาออกจากราชการ[46][49]
หลังเกิดเหตุมารดาของผู้ก่อเหตุเปิดเผยว่าบุตรเป็นบัณฑิตนิติศาสตร์เกียรตินิยมอันดับสองจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนเกิดเหตุยังมาบอกลาด้วยประโยค "แม่ ขอโทษ ป่านนี้ผมยังไม่ได้ตอบแทนพระคุณของแม่เลย" นอกจากนี้ยังบอกว่าแฟนสาวที่เสียชีวิตด้วยกันเป็นแฟนใหม่ที่เพิ่งคบหากันได้ 2–3 ปี ส่วนลูกนั้นเป็นลูกติดของแฟนสาว[50] แฟนสาวคนล่าสุดนั้นเป็นแม่หม้ายลูกติดเคยทำงานร้านคาราโอเกะ[33]
วันที่ 8 ตุลาคม ได้มีพิธีฌาปนกิจศพที่วัดใหม่หนองหิน ตำบลนาดี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี[51]
แรงจูงใจ
[แก้]พลตำรวจโท พิศาล มุขแจ้ง อดีตหัวหน้าภาควิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า ความเครียดจากการถูกให้ออกจากราชการอาจเป็นแรงจูงใจให้ก่อเหตุ และตั้งข้อสังเกตถึงการกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุ[52] พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสนอว่าผู้ก่อเหตุเลือกโจมตีไปที่เป้าหมายอ่อนแอ (soft target) และกล่าวว่า เนื่องจากผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ถูกวิสามัญฆาตกรรม เช่นเดียวกับกรณีนี้ การนำตัวผู้ก่อเหตุมาศึกษาจึงไม่สามารถทำได้[53] พลตำรวจตรี ไพศาล ลือสมบูรณ์ โฆษกกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับต่อศักดิ์โดยกล่าวว่า "[...] คนร้ายเล็งว่าเป้าหมายอ่อนแอ ก่อเหตุสำเร็จง่าย" และ "เบื้องต้น สาเหตุมาจากเครียดอยากระบาย เก็บกด เคียดแค้นจากการถูกไล่ออกจากราชการ ประกอบกับที่ผ่านมามีอาการหลอนยาจากการเสพยาบ้า"[54]
อย่างไรก็ตาม พันตำรวจโท กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่าความเครียดและการเสพยาเสพติดเป็นปูมหลังของผู้ก่อเหตุ แต่ยังต้องวิเคราะห์หาสาเหตุกระตุ้นทำให้ลงมือต่อไป เพราะเป็นการก่อเหตุกับผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เขายังมองว่าผู้ก่อเหตุอาจไม่ได้คิดฆ่าตัวตายตั้งแต่แรกเพราะมีการเผารถตัวเองซึ่งเป็นการทำลายหลักฐาน[55]
พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ตั้งข้อสังเกตว่าการกลั่นแกล้งบุตรของผู้ก่อเหตุ อาจเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง[56] อีสานเรคคอร์ดเปิดเผยบทสัมภาษณ์คนใกล้ชิดของปัญญา ที่เชื่อว่าการที่เขาถูกให้ออกจากงานและถูกคนในท้องถิ่นตั้งคำถามถึงภูมิหลังของแฟนใหม่ทำให้คิดมาก และก่อนหน้านี้ผู้ก่อเหตุไม่ให้ลูกไปสถานเลี้ยงเด็กที่เกิดเหตุมา 1 เดือนแล้วเพราะโดนล้อว่าไม่ใช่ลูกแท้ ๆ นอกจากนี้ปัญญายังรู้สึกอึดอัดกับคำถามว่าเขามียาเสพติดจริงหรือถูกกลั่นแกล้ง[33]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะวางมาตรการปราบปรามยาเสพติดให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และอ้างว่ารัฐบาลได้ดำเนินการมาตลอดอยู่แล้ว[57] แม้ว่าจากการชันสูตรพลิกศพของผู้ก่อเหตุจะไม่พบสารเสพติดในร่างกาย[58][59] ภายใน 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่ที่เริ่มการชันสูตร[59] ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการใช้สารเสพติดก่อนหน้านั้นจะไม่ส่งผลต่อระบบการคิด, สมอง และระบบประสาทของผู้ก่อเหตุ[56]
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน[60] อย่างไรก็ตาม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่ามาตรการเพิ่มความปลอดภัยของศูนย์เด็กเล็กทำได้ยาก พร้อมกับถามนักข่าวกลับว่าจะให้ครูพกปืนหรือไม่[61] และชี้ว่าอย่ามองเฉพาะประเด็นเรื่องอาวุธปืน แต่ให้มองที่ประเด็นสุขภาพจิตของผู้ก่อเหตุ โดยระบุว่า
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องของจิตใจภายใน คนที่ก่อเหตุเช่นนี้ เป็นคนที่มีจิตใจภายใน ข้างในที่ผิดปกติ ซึ่งก็ต้องหามาตรการที่จะควบคุมให้ได้ ที่สำคัญลองคิดดูว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ใช้อาวุธปืนอย่างเดียว แต่มีการใช้มีดด้วย แล้วอย่างนี้จะต้องให้เราห้ามใช้มีดด้วยหรือ อย่าลืมว่าครั้งนี้เขาใช้มีดทำร้ายเด็ก ถ้าเรามองผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้มันไม่ใช่ไปดูเรื่องปืนเพียงอย่างเดียว จะต้องดูว่าทำไมคนถึงมีจิตใจข้างในอย่างนี้ได้ สังคมเราจะต้องทำให้ไม่มีคนเป็นแบบนี้ เพราะเขาไม่รู้จักความมีเมตตาปราณี ไม่รู้ในเรื่องจิตใจของคน ซึ่งเขาไม่มีสิทธิ์จะไปทำร้ายใคร ผมคิดว่าน่าจะเป็นพื้นฐานในตัวของผู้ที่ก่อเหตุ"[62]
ต่อมาพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งเพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาปืนและยาเสพติด โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ[63]
กฤษณพงค์มองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรมีการทบทวนนโยบายเรื่องการประเมินสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ และการพกพาอาวุธปืนของบุคคลที่มีสภาพจิตใจไม่ปกติ รวมทั้งให้คนรอบข้างช่วยกันสังเกตอาการไปส่งให้กับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา[9]
ด้านรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล เสนอข้อปฏิรูปตำรวจและกองทัพ 4 ข้อเพื่อป้องกันเหตุในอนาคต ได้แก่ การปราบปรามการซื้อขายตำแหน่งที่เป็นตัวการชักนำให้เกิดธุรกิจผิดกฎหมาย มีกระบวนการช่วยเหลือและดูแลเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ลดต้นทุนของผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการซื้อขายปืนไปเป็นของส่วนตัว และลดภารกิจที่ไม่จำเป็น เช่น ตำรวจรับใช้ และมีการติดตามหลังเจ้าหน้าที่ต้องออกจากราชการ[64]
ปฏิกิริยา
[แก้]ในประเทศ
[แก้]โรงพยาบาลหนองบัวลำภูประกาศขอรับบริจาคโลหิต ซึ่งมีประชาชนเดินทางไปบริจาคโลหิตกันเป็นจำนวนมาก[65]
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการลดธงครึ่งเสาตามสถานที่ราชการทั่วราชอาณาจักรเป็นเวลา 1 วัน เป็นกรณีพิเศษ เพื่อไว้อาลัยให้กับผู้สูญเสีย[66] พร้อมทั้งกล่าวแสดงความเสียใจและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ[67] ส่วนประวิตรได้สั่งการไปยังพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก เพื่อแสดงความห่วงใยและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กราดยิง พร้อมทั้งสั่งการให้ประกาศเชิญชวนกำลังพล ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูกับพื้นที่ใกล้เคียงร่วมกันบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้[68] ในเหตุการณ์นี้ประวิตรตอบคำถามประเด็นที่ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจว่า "ทำยังไงล่ะฮะ ก็คนมันติดยา"[69] ทำให้รังสิมันต์ โรมวิจารณ์ว่าเป็นการโทษว่าเหตุดังกล่าวเป็นความผิดของคนคนเดียว โดยจะไม่แก้ไขความผิดพลาดของระบบราชการ[70] ส่วนภัทรวดี ปิ่นทองวิจารณ์ว่า "ทำอะไรไม่ได้คิดอะไรไม่ออกก็ออกไปไม่ควรอยู่"[71] ต่อมารัฐบาลเชิญชวนประชาชนให้บริจาคช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์[72]
ด้านอัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าคำพูดของประยุทธ์มีการโทษสังคม โยนปัญหาออกนอกตัว และคำพูดยังไม่มีประเด็น ทำให้ความน่าเชื่อถือในฐานะผู้นำไม่ชัดเจน ขณะที่คำพูดของประวิตร "เราให้การช่วยเหลือแล้ว และให้ประชาชนโทร 1669 191 1597 มีตั้งเยอะคุณจำได้ไหม" ติดภาพลักษณ์เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเป็นการทำลายความคาดหวังของคนที่ต้องการให้ผู้นำแก้ไขปัญหา[73]
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ทราบข่าวระบุว่า "ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งมายังครอบครัว ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ พี่น้องชาวหนองบัวลำภูทั้งหมดขอส่งกำลังใจและความห่วงใยมายังทุก ๆ คน"[74]
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "การสูญเสียลูกคือโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดของพ่อแม่ ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียและผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคน และขอเป็นกำลังใจให้พวกเราทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาที่หดหู่โหดร้ายนี้ไปได้ครับ"[75]
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ทั้งหมด[76] และโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวผู้บาดเจ็บ ณ โรงพยาบาลอุดรธานี[77][78] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเยี่ยมในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565 พระองค์มีพระราชดำรัสระหว่างการทรงเยี่ยมความตอนหนึ่งว่า[79][80]
"รู้สึกเสียใจเศร้าสลดใจมากที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ช่วงเวลาแห่งความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ก็ไม่ทราบจะอธิบายอย่างไรให้เข้าใจ ก็เป็นความรู้สึกร่วม เป็นเหตุที่ไม่ดีเกิดขึ้น ถ้าเกิดมีอะไรเดือดร้อนลำบากให้ช่วยเหลือให้ดูแล ขอแสดงความเสียใจและคงไม่มีคำไหนมาแทนความเสียใจได้ ก็ขอให้กำลังใจพวกเราเข้มแข็งเพื่อให้วิญญาณน้อง ๆ เขาสบายใจ เราก็จะทำพิธีการทำบุญสวดมนต์ เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ที่จากไป แล้วก็เป็นขวัญและกำลังใจให้ทุกคน เราก็เสียใจด้วยมาก เราจะต้องทำยังไงตอนนี้ เราต้องทำอะไรให้ดีที่สุด เป็นกำลังใจให้ทุกคน"
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงโปรดให้เชิญพวงมาลาพระราชทาน และช่อดอกกุหลาบสีขาว จำนวน 26 ช่อ ตามจำนวนผู้เสียชีวิต ไปวางที่บริเวณจุดเกิดเหตุ[81]
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงปลงธรรมสังเวช โปรดประทานผ้าไตร และให้ไวยาวัจกรจัดกัปปิยภัณฑ์รายละ 20,000 บาท ประทานแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ อนึ่ง มีพระบัญชาโปรดให้วัดในพื้นที่อำนวยความสะดวกในการจัดงานศพ และการสงเคราะห์ผู้ได้รับผลกระทบ กับทั้งให้วัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักร เจริญพระพุทธมนต์เป็นกรณีพิเศษหลังการทำวัตรเย็นในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565[82]
สำหรับในสื่อสังคม มีการตั้งคำถามถึงการก่อเหตุดังกล่าว โดยมองว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงทั้งที่นครราชสีมาเมื่อปี 2563 และครั้งนี้ล้วนเป็นข้าราชการทหาร-ตำรวจ และเกิดการตั้งคำถามถึงระบบภายในองค์กรตำรวจ ปัญหายาเสพติด ระบบการเตือนภัย ตลอดจนความปลอดภัยของประชาชน[83] การตอบสนองที่ล่าช้าของตำรวจ การตอบคำถามแบบไร้สามัญสำนึกของผู้มีอำนาจ เช่น ตำรวจที่หัวเราะระหว่างให้สัมภาษณ์เรื่องยอดผู้เสียชีวิต หรือการโทษพฤติกรรมเลียนแบบทั้งที่ยังไม่สอบสวน รวมไปถึงการสนใจพิธีรีตรอง เช่น ให้ผู้ปกครองมาประกอบพิธีการในสถานที่เกิดเหตุ[84] นอกจากนี้ ยังมีผู้วิจารณ์การนำพรมแดงปูเพื่อเตรียมสำหรับการวางพวงมาลาและดอกไม้พระราชทานในสถานที่เกิดเหตุ ก่อนนำออกไป[85]
ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ แร็ปเปอร์ ได้ทวีตถึงการลงพื้นที่ของบุคคลต่าง ๆ ว่า "ไปก็ไปเป็นภาระ ไม่ได้ช่วยเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตเลยสักนิด" หลังจากนั้นไม่นาน #แบนมิลลิ ได้ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์[86][87] ต่อมาเธอได้ทวีตเพื่อขอโทษต่อการกระทำดังกล่าวของตนเอง[88][89]
บทบาทของสื่อมวลชน
[แก้]สุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และพีรวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ให้สื่อใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวไม่ให้ละเมิดผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและญาติ[90] เช่นเดียวกับคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า[91]
เว็บไซต์เดอะเรนเมกเกอร์ วิจารณ์ว่า สื่อมวลชนไทยบางสำนักยังคงให้ความสำคัญกับข่าวสะเทือนใจอย่างไร้จรรยาบรรณอยู่[92] วรัชญ์ ครุจิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่าแม้จะยังเห็นพฤติกรรมดังกล่าวจากสื่อมวลชนไทยเหมือนที่เคยเกิดกับเหตุทำนองนี้ในครั้งก่อน ๆ แต่ภาคประชาสังคมก็มีความตื่นรู้ในการเรียกร้องจรรยาบรรณของสื่อมวลชนมากขึ้น[93]
ศักดิ์สิทธิ์ ไสยสมบัติ ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยของแชนแนล นิวส์ เอเชีย ตั้งข้อสงสัยว่าซีเอ็นเอ็นเข้าไปในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอุทัยสวรรค์หลังเกิดเหตุทั้งที่ปิดอยู่ ต่อมาเขาทวีตภาพทีมข่าวปีนออกจากรั้วของศูนย์ฯ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ติดตาม ด้านธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการตกลงผลประโยชน์[94] แม้ซีเอ็นเอ็นจะอ้างว่าได้รับอนุญาต แต่รายงานข่าวจากหลายสำนักบ่งชี้ตรงกันว่า เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในจุดเกิดเหตุ จึงเรียกร้องให้ต้นสังกัดเร่งสอบสวนและชี้แจง[95] ด้านสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย แถลงการณ์ตำหนิพฤติกรรมดังกล่าวของซีเอ็นเอ็น[96] ต่อมาซีเอ็นเอ็นลบวิดีโอที่ถ่ายทำภายในศูนย์ฯ ออกจากเว็บไซต์[97] ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า ทีมข่าวมีความผิดฐานใช้วีซ่าผิดประเภท[98]
ต่างประเทศ
[แก้]พระประมุข ผู้นำต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งแสดงความเสียพระราชหฤทัยและเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ทวีตข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยทางสหราชอาณาจักรจะอยู่เคียงข้างชาวไทยในช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้[99][100]
- แอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ทวีตข้อความระบุ "เป็นเรื่องน่าสลดที่ไม่สามารถเข้าใจได้ ชาวออสเตรเลียขอส่งความรักและความเสียใจ"[101]
- กระทรวงการต่างประเทศตุรกี ส่งสารแสดงความเสียใจอย่างสูงสุดในนามรัฐบาลตุรกี และให้กำลังใจโดยแสดงจุดยืนร่วมอยู่เคียงข้างกับชาวไทย[102]
- เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ แถลงการณ์ในนาม ทำเนียบขาว ระบุว่า "เราขอประณามการใช้ความรุนแรงในครั้งนี้ และพร้อมที่จะส่งมอบความช่วยเหลือแก่พันธมิตรที่คบค้ากันมายาวนานอย่างประเทศไทยในสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการ"[103]
- โยชิมาซะ ฮายาชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ส่งข้อความแสดงความเสียใจอย่างสูงสุดในนามรัฐบาลญี่ปุ่น และให้กำลังใจโดยแสดงจุดยืนร่วมอยู่เคียงข้างกับชาวไทย[104][105]
- ยอน ทอร์การ์ด เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยและกัมพูชา ทวีตข้อความแสดงความเสียใจและกล่าวว่าเหตุการณ์นี้ "น่าโศกสลด[106]
- นาวาฟ อัลอะห์มัด อัลญาบิร อัศเศาะบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต มีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยอย่างสูงสุด และพระราชทานพรให้ผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคนมีอาการดีขึ้นโดยเร็ว[104]
- จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ทวีตข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในฐานะพ่อ โดยประชาชนชาวแคนาดาจะอยู่เคียงข้างทุกท่าน[107]
- ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ มีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยอย่างสูงสุด และพระราชทานพรให้ผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคนมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติโดยเร็ว[108][109]
- แอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กด้วยข้อความภาษาไทย ระบุว่า "ภายหลังโศกนาฏกรรมอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในประเทศไทย ผมขอแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตทั้ง 37 คน รวมถึงครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดของผู้เสียชีวิต ผมขอร่วมแบ่งปันความโศกเศร้ากับประชาชนชาวไทยซึ่งเป็นมิตรของประเทศฝรั่งเศส"[110][111]
- ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ส่งจดหมายแสดงความเสียใจโดยมีข้อความระบุว่า รู้สึกตกใจและเศร้าโศกใจหลังทราบข่าว ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและขอให้ผู้บาดเจ็บทุกคนมีอาการดีขึ้นในเร็ววัน ทั้งยังระบุว่า เขาขอประณามเหตุการณ์ดังกล่าว และชาวสิงคโปร์ขอยืนเคียงข้างประชาชนชาวไทยในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้[112][113]
- แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ทวีตข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลสหรัฐจะอยู่เคียงข้างประชาชนชาวไทย[114]
- แอนน์ ลินเด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน ได้ทวีตข้อความว่า "ดิฉันรู้สึกตกใจที่ได้ทราบถึงเหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ในประเทศไทย ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมถึงเด็ก ๆ จำนวนมาก ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่งในครั้งนี้"[115]
องค์การระหว่างประเทศ
[แก้]- กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้แถลงการณ์แสดงความเสียใจระบุ "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในการเรียนรู้ เล่น และเติบโตในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา"[116]
- เตโวโดรส อัดฮาโนม ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ทวีตข้อความระบุ "ข่าวสุดสลดจากไทย ผมเศร้าใจมากต่อการเสียชีวิตผู้บริสุทธ์จำนวนมาก ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ขอส่งกำลังใจไปยังครอบครัวเหยื่อและคนไทยทุกคน[106]
- สตีเฟน ดูจาร์ริก โฆษกของอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ เผยว่า กูแตรึชตกใจและเศร้าใจพร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเหยื่อเคราะห์ร้าย และขอให้ผู้บาดเจ็บฟื้นตัวโดยเร็ว[117]
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "แฉ! อดีตตร.คลั่ง กราดยิงหนองบัวลำภู เคยถูกจับคดียาเสพติด จนโดนไล่ออกจากราชการ". PPTVHD. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-06-10.
- ↑ ยอดล่าสุด! เหยื่อกราดยิงศูนย์เด็กเล็กดับ 38 ศพ เผยหนูน้อยหนึ่งเดียวรอดปาฏิหาริย์
- ↑ "กราดยิงหนองบัวลำภู : อดีตตำรวจกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก สังหาร 36 ชีวิต ตำรวจชี้ แรงจูงใจมาจากเครียดสะสมและทะเลาะภรรยา". บีบีซีไทย. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ Mass Shooting in Thailand Leaves 38 Dead, Mostly Children
- ↑ "สรุปตัวเลขผู้เสียชีวิต 37 ราย บาดเจ็บ 10 ราย เหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู (ณ เวลา 20.20 น.)". The Standard. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.
- ↑ "สื่อต่างชาติตีข่าวทั่วโลก เกิดเหตุกราดยิงในไทย ตายสลดกว่า 30 ศพแล้ว". ไทยรัฐ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ 7.0 7.1 "ช็อกโลก! สื่อนอกตีข่าวเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู ดับหลายสิบ". มติชนออนไลน์. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "Mass murder at childcare centre, 35 confirmed slain". Bangkok Post. 6 October 2022. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ 9.0 9.1 "กราดยิงหนองบัวลำภู : เหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไทย ติดอันดับกราดยิงสังหารเด็กร้ายแรงสุดในโลก". BBC News ไทย. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "At least 28 killed in attack on Thai nursery". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "ด่วน! คนร้ายบุกศูนย์เด็กเล็ก ก่อเหตุสลด เสียชีวิตแล้ว 28 ศพ". ข่าวสด. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "ด่วน! กราดยิง "ศูนย์เด็กเล็ก" หนองบัวลำภู เบื้องต้นเสียชีวิตหลายราย". PPTV. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-06-10.
- ↑ "เตือนภัยขั้นสูงสุด! 'อดีตตร.'คลั่งไม่หยุด กราดยิงผู้คนมั่วซั่ว เซ่นชีวิตพุ่ง 29 ศพ". เดลินิวส์. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-06-10.
- ↑ ""หมอวรงค์"เผยนาที มือกราดยิงหนองบัวลำภู ขับรถชนคุณยาย". ฐานเศรษฐกิจ. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.
- ↑ "ตำรวจส่ง "ชุดหนุมานกองปราบปราม" และ "อรินทราช 26" ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ไล่ล่าคนร้ายกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู". ฐานเศรษฐกิจ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "Thailand massacre: ex-cop kills 24 children in knife and gun rampage". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ สื่อต่างชาติรายงานเหตุยิงกราดหนองบัวลำภู-นานาชาติร่วมแสดงความเสียใจ voathai สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2022
- ↑ "Thailand shooting: Children among at least 34 killed at child care center, officials say". CNN (ภาษาอังกฤษ). 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
Gun ownership in Thailand is relatively high compared with other countries in Southeast Asia.
- ↑ "Thailand shooting: 22 children among 34 killed in nursery attack". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2022-10-06.
- ↑ "Thailand mass shooting kills 34 at day-care centre". Reuters. 6 October 2022. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ ตร.เชียงรายเร่งล่าชายคลั่งคว้าลูกซองยิงคนในหมู่บ้านดับ 4 เจ็บ 2 ก่อนหนีเข้าป่าข้างทาง ทล.118
- ↑ "จาก "กราดยิงอุบล" สู่ย้อนรอยเหตุกราดยิงในไทย และโทษ "ครอบครองปืนเถื่อน"". กรุงเทพธุรกิจ. 4 August 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "เหตุกราดยิง : กองทัพชี้ มือยิงในกรมยุทธศึกษาทหารบกตาย 2 ศพ มีอาการประสาท ปัดปมขัดแย้ง". BBC News ไทย. 14 September 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "ไทยรั้งอันดับ 15 ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ปี 2022". THE STANDARD. 6 October 2022. สืบค้นเมื่อ 8 October 2022.
- ↑ "ถอดบทเรียนกราดยิง โคราช เป็นเรื่องของ"คนมองโลกในแง่ร้าย"คิดวางแผนเรื่องนี้ไว้แล้วก่อนลงมือ แนะสังคมอย่าให้ราคา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก". Thai Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ ""นายกฯ ป้อม" ร้องโธ่ ถามสื่อ จะป้องกันเหตุจ่าคลั่งกราดยิงอย่างไร บอกมาเลย". กรุงเทพธุรกิจ. 14 September 2022. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 "เปิดไทม์ไลน์โศกนาฏกรรม "ไอ้แมน" อดีต ตร.คลั่ง! กราดยิงหนองบัวลำภู". เดลินิวส์. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "เปิดไทม์ไลน์ อดีตตำรวจคลั่งกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก หนองบัวลำภู เสียชีวิต 36 ศพ". อมรินทร์ทีวี. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "เปิดไทม์ไลน์เหตุสะเทือนขวัญ อดีตตำรวจคลั่ง "กราดยิงหนองบัวลำภู"". กรุงเทพธุรกิจ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ ตัดเครื่องแบบในฝัน แต่งศพเด็ก สลดเผาร่างวันนี้ นายกฯ-ครม.ร่วมพิธี “น้องมิค” เรียกหาแม่
- ↑ "กราดยิงหนองบัวลำภู หนูน้อยผู้รอดเพียงหนึ่งเดียว ญาติแห่ปลอบขวัญ". ช่อง 7HD. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "เพื่อนบ้านเห็น ตร.คลั่ง ไล่ฆ่าชาวบ้าน เผยเด็กที่ตายเป็นหลานไม่ใช่ลูกแท้ ๆ". ไทยรัฐ. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 8 October 2022.
- ↑ 33.0 33.1 33.2 33.3 แกะรอยชนวนก่อน “ปัญญา คำราบ” ก่อเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู Theisaanrecord สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2022
- ↑ "คนร้ายกราดยิงหนองบัวลำภู เผารถตัวเองก่อนบุกยิงลูกเมีย - ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 36 ราย". กระปุก.คอม. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ ""กราดยิงหนองบัวลำภู" ฌาปนกิจศพครอบครัวผู้สูญเสียเท่านั้น". กรุงเทพธุรกิจ. 2022-10-08. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.
- ↑ "กราดยิงในศูนย์เด็ก ที่หนองบัวลำภู เด็กผู้ใหญ่เสียชีวิต 36 ราย". กรุงเทพธุรกิจ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "เคลื่อนร่างผู้เสียชีวิตเหตุ "กราดยิงหนองบัวลำภู" กลับไปหาครอบครัว". TNN Thailand. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 "รายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กราดยิง". MGR Online. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "กราดยิงหนองบัวลำภู หนูน้อยผู้รอดเพียงหนึ่งเดียว ญาติแห่ปลอบขวัญ". ช่อง 7HD. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "ผอ.รพ.- สสจ.ระบุโรงพยาบาลหนองบัวลำภูไม่ขาดแคลนเลือดแล้ว". The Coverage. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "เผาศพลูกเลี้ยงมือกราดยิง พ่อแท้ๆ เผยอดีตเมียเพิ่งมารับลูกไปอยู่ด้วย ก่อนโทรให้ย่าไปรับกลับ". เรื่องเล่าเช้านี้. 2022-10-12.
- ↑ "ขอมนุษยธรรมให้ลูกผมบ้าง! สามีครูพรเปิดใจ ลูกชายไม่เข้าเกณฑ์เยียวยา หลังสิ้นใจในท้องแม่". เรื่องเล่าเช้านี้. 2022-11-07.
- ↑ "ลำดับเหตุสะเทือนขวัญ 'อดีต ตร.คลั่ง' กราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู ก่อนจบชีวิตพร้อมลูกเมีย". เรื่องเล่าเช้านี้. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "เปิดข้อมูล ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ มือปืนกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก หนองบัวลำภู". The Standard. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ 45.0 45.1 "บช.น. เผยอดีตตำรวจคลั่งยิงกราดหนองบัวลำภู ชอบเล่นปืนไม่สุงสิงใคร". www.ch7.com.
- ↑ 46.0 46.1 "กราดยิงหนองบัวลำภู ตายเกลื่อนกว่า 20 ชีวิต ฝีมืออดีตตำรวจถูกไล่ออกเพราะยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด". 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "เปิดประวัติ อดีต ส.ต.อ. กราดยิงหนองบัวลำภู ถูกให้ออกจากราชการ หลังพัวพันยาเสพติด". สนุก.คอม. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "เผย ส.ต.อ.โหด กราดยิงศูนย์เด็กเล็ก ติดยาตั้งแต่มัธยม ชอบยิงปืนขู่ ฝ่าฝืนคำสั่ง ผบ". มติชน. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "เปิดคำสั่งไล่ออกจากราชการ 'ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ' ก่อนมาก่อเหตุกราดยิงสะเทือนขวัญ". 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "เปิดข้อมูลใหม่ เด็กที่ตายเป็นลูกติดแฟน แม่โชว์ใบปริญญา จบนิติฯ เกียรตินิยมอันดับ 2". มติชนออนไลน์. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ แม่พร้อมญาติเก็บกระดูก ‘อดีต ส.ต.อ.’ มือกราดยิง 37 ศพ เตรียมนำกลับทำบุญบ้านเกิด
- ↑ "แกะรอยอาชญาวิทยา อดีตตำรวจคลั่ง กราดยิงศูนย์เด็ก "หนองบัวลำภู" สตช.ต้องทบทวน!". ไทยรัฐ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เผย #กราดยิงหนองบัวลำภู ใช้เวลา 4 นาทีก่อเหตุ". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "คาดแรงจูงใจ กราดยิงศูนย์เด็กเล็ก ล่าสุดคนร้ายปลิดชีวิตพร้อมลูกเมีย". ไบรต์ทีวี. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "วิเคราะห์ปูมหลังเหตุ "กราดยิงหนองบัวลำภู"". Thai PBS. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ 56.0 56.1 อดีตผู้การกองปราบ สงสัยบูลลี่ ใน รร. มูลเหตุกราดยิง (รวม 2 คน) | คมชัดลึก | NationTV22, สืบค้นเมื่อ 2022-10-07
- ↑ ""บิ๊กป้อม" เสียใจ "กราดยิงหนองบัวลำภู" จ่อ วางมาตรการปราบยาเสพติดเข้มขึ้น". ไทยรัฐ. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "ออกแล้ว! ผลตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย อดีตตำรวจกราดยิงหนองบัวลำภู". ไทยโพสต์. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ 59.0 59.1 "ผบ.ตร.เผยผลตรวจ อดีต ตร. "กราดยิงหนองบัวลำภู" ไม่พบสารเสพติด - เตรียมตรวจซ้ำ". ไทยพีบีเอส. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "กราดยิงหนองบัวลำภู "มหาดไทย" ตื่นคุมขออนุญาตใช้ปืน พร้อมสั่งเพิกถอน". ฐานเศรษฐกิจ. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "'พล.อ.อนุพงษ์' รับเป็นไปได้ยาก เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยศูนย์เด็กเล็ก". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 9 October 2022.
- ↑ "'บิ๊กป๊อก' ชี้มือกราดยิงจิตใจผิดปกติ อย่ามองแค่เรื่องใช้ปืนมุมเดียว". ไทยโพสต์. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 9 October 2022.
- ↑ "นายกฯ ประชุมกำหนดมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 12 October 2022.
- ↑ "โรม ย้ำเหตุกราดยิง ต้องไม่เกิดซ้ำ แนะ 4 ข้อปฏิรูปตร.-กองทัพ ลั่นถ้าไม่ทำ เป็นรบ.จะทำเอง". มติชนออนไลน์. 12 October 2022. สืบค้นเมื่อ 12 October 2022.
- ↑ "ด่วน โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ต้องการเลือดจำนวนมาก". ไทยรัฐ. 6 October 2022. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ "นายกฯ ขอทุกส่วนราชการ ลดธงครึ่งเสา 7 ต.ค. อาลัยเหตุการณ์กราดยิง". ไทยพีบีเอส. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ ""ประยุทธ์" สั่งด่วนรีบระงับเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู กำชับ จนท.จับให้ได้". ไทยรัฐ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ ""ประวิตร" ห่วงใยและเสียใจเหตุกราดยิง สั่งผบ.ทบ.ขอให้กำลังพลขรก.ร่วมบริจาคโลหิต". ผู้จัดการ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ ""ประวิตร" เสียใจเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ย้อนถามสื่อ "ทำยังไงล่ะฮะ ก็คนมันติดยา"". สยามรัฐ. 6 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "'โรม' ติง 'ประวิตร' ทำคนไทยผิดหวัง ให้สัมภาษณ์โยนความผิดกราดยิง เป็นเรื่องคนติดยา". ข่าวสด. 6 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ ""หนูเล็ก" ฟาดใส่ "บิ๊กป้อม" หลังตอบปม "ไอ้แมน" กราดยิงหนองบัวลำภู". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "รัฐบาลชวนคนไทย ร่วมบริจาคช่วยครอบครัวเหยื่อเหตุรุนแรง หนองบัวลำภู". ประชาชาติธุรกิจ. 8 October 2022. สืบค้นเมื่อ 10 October 2022.
- ↑ ""ก็ทำยังไงล่ะ คนมันติดยา" ทำไมภาวะผู้นำถึงสำคัญในภาวะวิกฤต คุยกับนักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง". The MATTER. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ ""ชวน" แสดงความเสียใจ ครอบครัว-ชาวหนองบัวลำภู". กรุงเทพธุรกิจ. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ ""ชัชชาติ เสียใจเหตุกราดยิง เผยสูญเสียลูกคือโศกนาฏกรรมที่รุนแรง"". ช่อง 7. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ "ในหลวง ทรงรับผู้เสียชีวิต บาดเจ็บเหตุกราดยิงไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-05.
- ↑ "ในหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ปธ. องคมนตรี ไปเยี่ยม ครอบครัวผู้บาดเจ็บจากเหตุกราดยิง". กรุงเทพธุรกิจ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-05.
- ↑ Ngampiruntrakul, Sudarat. "'ในหลวง' โปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี เยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์กราดยิง จ.หนองบัวลำภู". เดลินิวส์.
- ↑ "ในหลวง-ราชินี เตรียมเสด็จฯ ให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต "กราดยิงหนองบัวลำภู"". www.thairath.co.th. 2022-10-06.
- ↑ "ในหลวง รับสั่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต 'เสียใจเศร้าสลดใจมาก' พระราชทานกำลังใจให้เข้มแข็ง". มติชน. 2022-10-06.
- ↑ "เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานพวงมาลาวางหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก". เดลินิวส์. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ ""สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระอนุเคราะห์ ผู้ประสบเหตุ กราดยิงหนองบัวลำภู". คมชัดลึก. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ "สรุปเหตุกราดยิงหนองบัวลำภูที่พรากชีวิตคนไปอย่างน้อย 36 ราย สู่คำถามต่อความปลอดภัยของ ปชช". The MATTER. 6 October 2022. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ "explainer : อย่าให้ชีวิตของทุกคนสูญเปล่า สิ่งที่เราเรียนรู้จากเหตุหนองบัว". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 9 October 2022.
- ↑ จนท.ล้อมรั้วปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.อุทัยสวรรค์ แล้ว - กำหนดการในหลวงเสด็จฯ ถึง รพ.หนองบัวลำภู 2 ทุ่ม
- ↑ ป่าน (2022-10-08). "ชาวเน็ตเสียงแตก! แฮสแท็ก #แบนมิลลิ ทะยานสู่เทรนด์ทวิตเตอร์".
- ↑ Teenee.com (2022-10-08). "#แบนมิลลิ ถูกปั่นติดเทรนด์ หลังมิลลิทวิตปมเหตุกราดยิง". teenee.com.
- ↑ matichon (2022-10-11). "มิลลิ ขอโทษ พูดถึงเหตุกราดยิงจนถูกตีความคลาดเคลื่อน แจงวิพากษ์วิธีจัดการพื้นที่เกิดเหตุ". มติชนออนไลน์.
- ↑ ""มิลลิ" ยอมขอโทษ! หลังโพสต์ "ไปก็ไปเป็นภาระ" ชาวเน็ตคาดถูกผู้ใหญ่กดดัน เหตุ #แบนมิลลิ ติดเทรนด์". mgronline.com. 2022-10-11.
- ↑ "2 สมาคมสื่อขอความร่วมมือนำเสนอข่าว "กราดยิงหนองบัวลำภู"". Thai PBS. 6 October 2022. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ กราดยิงหนองบัวลำภู : คณะทำงานฯ เด็กเล็กถ้วนหน้า ขอสื่อเสนอข่าวและภาพเท่าที่จำเป็น - องค์กรวิชาชีพแนะเลี่ยงภาพอุจาด
- ↑ "กรณีศึกษาสื่อไทย จากเหตุการณ์ 'กราดยิงหนองบัวลำภู'". RAiNMaker (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-10-07.
- ↑ ""ดร.วรัชญ์"ยกเหตุกราดยิงปลุก ปชช. เรียกร้องจริยธรรมสื่อ ไม่ให้ส่งต่อภาพผู้เสียชีวิต". สยามรัฐ. 2022-10-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-08. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.
- ↑ "กังขานักข่าว CNN ละเมิด? บุกทำข่าวถึงด้านในศูนย์เด็กเล็ก แพร่ภาพคราบเลือดสดๆ ทั่วโลก". mgronline.com. 2022-10-08.
- ↑ Nilnakorn, Phanit. "ฝ่ายสิทธิ์TJA เรียกร้องภาครัฐ-CNN ชี้แจงปมนักข่าวบุกรุก ที่เกิดเหตุกราดยิง37ศพ". เดลินิวส์.
- ↑ matichon (2022-10-08). "สมาคมผู้สื่อข่าวตปท. แถลงการณ์ตอบโต้ CNN กรณีบุกศูนย์เด็กเล็ก รายงานเหตุกราดยิง". มติชนออนไลน์.
- ↑ "CNN แถลงการณ์ ระงับการเผยแพร่ข่าวกราดยิงหนองบัวลำภู ถอดวิดีโอออกจากเว็บไซต์". mgronline.com. 2022-10-09.
- ↑ "CNN ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ กรณีทีมข่าวเข้าไปในจุดเกิดเหตุ". prachatai.com.
- ↑ "ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทวีตข้อความถึงเหตุ #กราดยิงหนองบัวลำภู". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "นายกฯอังกฤษ ช็อก! เหตุกราดยิงในไทย พร้อมอยู่เคียงข้างคนไทยในช่วงเลวร้าย". มติชน. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "นายกฯ อังกฤษ-ออสเตรเลีย ทวีตข้อความเสียใจต่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในไทย". พีพีทีวี. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "No: 308, 6 October 2022, Press Release Regarding the Shooting at a Preschool in Thailand". mga.gov.tr. 2022-10-06.
- ↑ "ทำเนียบขาว สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ หนองบัวลำภู". เดอะสแตนดาร์ด. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ 104.0 104.1 "นานาชาติร่วมแสดงความเสียใจ เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู". เดลินิวส์. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "สารแสดงความเสียใจจากนายฮายาชิ โยชิมาสะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประเทศญี่ปุ่น ต่อเหตุการณ์กราดยิงในจังหวัดหนองบัวลำภู ประเทศไทย". เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ 106.0 106.1 "ทั่วโลกอาลัยกราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู ผู้นำ-สถานทูตส่งกำลังใจ". Sanook. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ matichon (2022-10-07). "'ทรูโด' ผู้นำแคนาดา ทวีตแสดงความเสียใจเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู". มติชนออนไลน์.
- ↑ ""องค์พระประมุขกาตาร์" ส่งพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย "เหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู"". สยามรัฐ. 2022-10-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.
- ↑ "'พระประมุขแห่งกาตาร์'มีพระราชสาส์นถึงในหลวง เสียพระทัยต่อเหตุกราดยิง". แนวหน้า. 2022-10-08.
- ↑ ""ประธานาธิบดีฝรั่งเศส" เสียใจต่อเหตุอดีตร.คลั่งกราดยิง". เดลินิวส์. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แสดงความเสียใจ เหตุสังหารหมู่ ขอส่งกำลังใจครอบครัวเหยื่อ". ข่าวสด. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.
- ↑ "ผู้นำทั่วโลกร่วมไว้อาลัยเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็กในไทย". MCOT. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.
- ↑ "นานาชาติร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กในไทย". ผู้จัดการ. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.
- ↑ Paibulsin, Pattraporn. "รัฐบาลสหรัฐร่วมแสดงความเสียใจ โศกนาฏกรรมกราดยิงหนองบัวลำภู". เดลินิวส์.
- ↑ "นานาชาติร่วมอาลัยเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู". โพสต์ทูเดย์. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.
- ↑ "ยูนิเซฟร่วมไว้อาลัย เหตุกราดยิงหนองบัวลำภู". ไทยพีบีเอส. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ "เลขาฯ ยูเอ็น แสดงความเสียใจต่อเหตุ "กราดยิงหนองบัวลำภู"". เนชั่นทีวี. 2022-10-07. สืบค้นเมื่อ 2022-10-07.