พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18
เคานต์แห่งพรอว็องส์
พระบรมสาทิสลักษณ์โดย โรแบร์ เลเฟพร์ ราว ค.ศ. 1822
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่ 111 เมษายน 1814 – 20 มีนาคม 1815
ก่อนหน้านโปเลียน (จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1)
ถัดไปนโปเลียน (สมัยร้อยวัน)
ครั้งที่ 27 กรกฎาคม 1815 – 16 กันยายน 1824
ก่อนหน้านโปเลียน (สมัยร้อยวัน)
ถัดไปชาร์ลที่ 10
พระราชสมภพ17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755(1755-11-17)
พระราชวังแวร์ซาย, ฝรั่งเศส
สวรรคต16 กันยายน ค.ศ. 1824(1824-09-16) (68 ปี)
พระราชวังลูฟวร์, ปารีส, ฝรั่งเศส
ฝังพระศพมหาวิหารแซ็ง-เดอนี, ฝรั่งเศส
คู่อภิเษกมารี-โฌเซฟีนแห่งซาวอย
พระนามเต็ม
หลุยส์ สตานีลาส กซาวีเย
ราชวงศ์บูร์บง
พระราชบิดาเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
พระราชมารดามาเรีย โฌเซฟา แห่งซัคเซิน
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Louis XVIII de France; หลุยส์ดีซุยต์เดอฟร็องส์; หลุยส์ สตานิสลาส กซาวีเย, 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 - 16 กันยายน ค.ศ. 1824) ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักว่า "ผู้เป็นที่ปรารถนา" (le Désiré)[1] เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงผู้ครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1814 จนถึง ค.ศ. 1824 เว้นว่างช่วงปี ค.ศ. 1815 ที่เรียก สมัยร้อยวัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงใช้เวลา 23 ปีเสด็จลี้ภัยตั้งแต่ ค.ศ. 1791 ถึง ค.ศ. 1814 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสและจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 และอีกครั้งใน ค.ศ. 1815 ในช่วงสมัยร้อยวัน ซึ่งจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 เสด็จกลับจากเกาะเอลบา

จนทรงสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ทรงถืออิสริยยศเคานต์แห่งพรอว็องส์ในฐานะพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1792 สภากงว็องซียงแห่งชาติเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และถอดถอนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งต่อมาทรงถูกสำเร็จโทษด้วยกิโยตีน[2] เมื่อยุวกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส พระโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สวรรคตในที่คุมขังในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1795 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระนัดดาในฐานะพระมหากษัตริย์ในพระนาม[3]

ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสและสมัยนโปเลียน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงลี้ภัยไปยังปรัสเซีย, สหราชอาณาจักรและรัสเซีย[4] เมื่อสุดท้ายพันธมิตรที่หกปราบนโปเลียนได้ใน ค.ศ. 1814 พระองค์ทรงอยู่ในฐานะที่กษัตริย์นิยมฝรั่งเศสถือว่าชอบธรรม จักรพรรดินโปเลียนทรงหนีจากการเนรเทศในเกาะเอลบาและฟื้นฟูจักรวรรดิฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จลี้ภัยและพันธมิตรที่เจ็ดประกาศสงครามต่อจักรวรรดิฝรั่งเศส พิชิตนโปเลียน และฟื้นฟูพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 สู่ราชบัลลังก์

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นพระมหากษัตริย์เกือบทศวรรษ ระบอบการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ไม่เหมือนกับระบอบเก่าซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ลดลงอย่างมากโดยกฎบัตร ค.ศ. 1814 รัฐธรรมนูญใหม่ของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ไม่มีพระราชบุตร ดังนั้นเมื่อพระองค์สวรรคต ราชบัลลังก์จึงส่งผ่านไปยังชาร์ล ดยุกแห่งอาตัวส์ พระอนุชา[5] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์สุดท้ายที่เสด็จสวรรคตขณะทรงราชย์

วัยเยาว์[แก้]

เคานต์แห่งพรอว็องส์กับเจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ ดยุกแห่งแบร์รี พระเชษฐา (ต่อมาคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16) วาดใน ค.ศ. 1757 โดย ฟร็องซัว-ฮูแบร์ ดรัวอีส

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส ซาเวียร์ พระอิสริยยศ "เคานต์แห่งพรอว็องส์" แต่ประสูติ ประสูติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 ที่พระราชวังแวร์ซาย เป็นพระโอรสในหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศสและเจ้าหญิงมารี-โฌเซฟีนแห่งซาวอย พระชายา พระองค์เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ผู้ทรงราชย์อยู่ขณะนั้น ในฐานะเป็นพระโอรสในโดแฟ็ง พระองค์เป็นฟิลส์เดอฟร็องส์ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเข้าพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนเป็นเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส ซาเวียร์ หกเดือนหลังประสูติตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์บูร์บง ที่ไม่มีพระนามจนเข้าพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน ด้วยพิธีนี้พระองค์ยังทรงเป็นอัศวินแห่งภาคีแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทรงได้พระนาม หลุยส์ เพราะเป็นพระนามปกติของเจ้าชายฝรั่งเศส พระนาม สตานิสลาส ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าสตานิสลอว์ที่ 1 แห่งโปแลนด์ พระปัยกา และพระนาม ซาเวียร์ ได้รับเลือกเพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญฟรันซิสโก คาเบียร์ ผู้ซึ่งพระราชวงศ์ทางฝ่ายพระมารดาทรงยึดเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์[6]

ในช่วงประสูติ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงอยู่ลำดับที่สี่ในการสืบราชสันตติวงศ์ฝรั่งเศส ต่อจากพระบิดาและพระเชษฐาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายหลุยส์ โจเซฟ ซาเวียร์ ดยุกแห่งเบอร์กันดีและเจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ ดยุกแห่งแบร์รี พระเชษฐาองค์โตสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1761 เจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์กลายเป็นรัชทายาทจากการสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรของโดแฟ็ง พระบิดาในปีค.ศ. 1965 การสิ้นพระชนม์ของทั้งสองพระองค์ทำให้เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสอยู่ที่สองในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ ในขณะที่เจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ทรงได้พระอิสริยยศโดแฟ็ง[7]

พระบรมสาทิสลักษณ์เคานต์แห่งพรอว็องส์เมื่อทรงพระเยาว์

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงได้รับความสะดวกสบายภายใต้พระอภิบาล มาดาม เดอ มาร์ซอง พระอภิบาลในพระโอรสธิดาแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นที่โปรดในบรรดาพี่น้องของพระองค์[8] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงถูกนำออกจากพระอภิบาลเมื่อมีพระชนมายุ 7 พรรษา ซึ่งอยู่ในวัยที่ได้รับการศึกษาสำหรับราชนิกุลและชนชั้นขุนนางที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อองตวน เดอ กูวเลน เดอ สเตอร์ เดอ คุสซาด ดยุกแห่งลาวอกูยง พระสหายในพระบิดาของพระองค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองของเจ้าชาย

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นเด็กฉลาด ทรงเป็นเลิศในเรื่องคลาสสิก พระองค์ทรงได้รับการศึกษาแบบเดียวกับพระเชษฐา เจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ แม้ที่จริงแล้วเจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์ทรงเป็นรัชทายาทแต่เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสหาได้เป็น[8] การศึกษาของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสค่อนข้างมีสภาพเกี่ยวข้องกับศาสนา พระอาจารย์หลายคนของพระองค์เป็นนักบวช ลาวอกูยงฝึกฝนเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสและพี่น้องตามวิถีซึ่งเขาคิดว่าเจ้าชายควร "รู้วิธีถอนตัว ให้โปรดการงาน" และ "รู้วิธีให้เหตุผลอย่างถูกต้อง"

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1771 การศึกษาของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสจบลงเป็นทางการและทรงสามารถจัดตั้งครัวเรือนของพระองค์เองอย่างเป็นอิสระ[9] ซึ่งทำให้คนร่วมสมัยประหลาดใจเรื่องความฟุ่มเฟือย ใน ค.ศ. 1773 ทรงมีข้าราชบริพารถึง 390 คน[10] ในเดือนเดียวกับตั้งครัวเรือนของพระองค์ เจ้าชายหลุยส์ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศหลายยศจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระอัยกา ได้แก่ ดยุกแห่งอองชู, เคานต์แห่งเมน, เคานต์แห่งเปอร์เช, เคานต์แห่งซีโนเชส์[11] ในระหว่างช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม เคานต์แห่งพรอว็องส์

ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1773 พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานแห่งภาคีแห่งแซงต์ลาซารัส

เสกสมรส[แก้]

หลุยส์ เคานต์แห่งพรอว็องส์

ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1771 เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสเสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย จูเซปปินาแห่งซาวอย เจ้าหญิงมารี โฌเซฟีน (เป็นพระนามที่รู้จักกันในฝรั่งเศส) เป็นพระราชธิดาในวิกเตอร์ อมาเดอุส ดยุกแห่งซาวอย (ต่อมาคือ พระเจ้าวิกเตอร์ อมาเดอุสที่ 3 แห่งซาร์ดิเนีย) กับเจ้าหญิงมาเรีย อันโตเนีย เฟอร์ดินันดาแห่งสเปน พระชายา

มีงานเต้นรำหรูหราหลังพิธีเสกสมรสในวันที่ 20 พฤษภาคม[12] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงรังเกียจพระชายา เนื่องจากทรงเห็นว่าพระนางอัปลักษณ์ น่าเบื่อหน่ายและละเลยประเพณีราชสำนักแวร์ซาย ชีวิตสมรสยังคงไม่สมบูรณ์หลายปี นักชีวประวัติไม่เห็นด้วยกับเหตุผลนี้ ทฤษฎีซึ่งเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดคือ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงถูกกล่าวว่าทรงไร้สมรรถภาพทางเพศ (ตามการศึกษาของแอนโทเนีย ฟราเซอร์) หรือเหตุที่ไม่เต็มพระทัยในการบรรทมกับพระชายาเนื่องจากพระนางสุขอนามัยไม่ดี พระนางไม่ทรงเคยแปรงพระทนต์ ดึงพระขนง หรือใช้น้ำหอม[13] ในช่วงที่เสกสมรส เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงพระเจริญมากและทรงดำเนินเตาะแตะแทนดำเนินปกติ พระองค์ไม่ทรงเคยออกกำลังกายและยังเสวยมาก[14]

แม้ข้อเท็จจริงว่าเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสไม่ทรงหลงใหลในพระชายา แต่พระองค์ทรงโอ้อวดว่ายังคงรักษาความสัมพันธ์สมรสอย่างเหนียวแน่น แต่การประกาศนั้นเกิดเมื่อหมู่ข้าราชบริพารที่แวร์ซายลดความนับถือ นอกจากนี้ยังทรงประกาศว่าพระชายาทรงพระครรภ์เพียงเพื่อทำร้ายความรู้สึกเจ้าชายหลุยส์ ออกุสต์และอาร์กดัชเชสมารี อ็องตัวแน็ตแห่งออสเตรีย พระชายา ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ในชีวิตสมรส[15] โดแฟ็งและเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงมีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นและมักทรงทะเลาะกัน[16] เช่นเดียวกับชายาของทั้งคู่[17] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทำให้พระชายาทรงพระครรภ์ใน ค.ศ. 1774 หลังทรงเอาชนะความเกลียดชังพระชายาได้ แต่สุดท้ายทรงแท้ง[18] การตั้งพระครรภ์ครั้งที่สองเกิดใน ค.ศ. 1781 ซึ่งทรงแท้งเช่นเดียวกัน และการเสกสมรสครั้งนี้ยังไร้ทายาท[6][19]

ในราชสำนักของพระเชษฐา[แก้]

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส เคานต์แห่งพรอว็องส์ ในช่วงรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส

ในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1774 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงพระประชวรด้วยโรคฝีดาษและสิ้นพระชนม์ในหลายวันต่อมา วันที่ 10 พฤษภาคม[20] ดอแฟ็ง หลุยส์ ออกุสต์ ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระอัยกาในฐานะ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16[21] ในฐานะที่เป็นพระอนุชาองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงได้รับพระยศเป็นมองซิเออร์ (Monsieur) พระองค์ทรงปรารถนามีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมาก พระองค์พยายามขอพระบรมราชานุญาตเข้าร่วมสภาของพระมหากษัตริย์ในปีค.ศ. 1774 แต่ล้มเหลว เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงถูกปล่อยไว้ในสภาวะถูกลืมเลือนทางการเมืองที่พระองค์ทรงเรียกว่า "เป็นช่องว่าง 12 ปีในชีวิตทางการเมืองของข้าพเจ้า"[22] พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระราชทานรายได้จากดัชชีแห่งอาล็องซงแก่เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1774 การพระราชทานดัชชีนี้ให้เพื่อเสริมเกียรติภูมิเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส แต่ที่ดินดังกล่าวมีรายได้เพียง 300,000 ลีฟเรอ (livre) ต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่เคยสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 14 มาก[11]

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสเสด็จทั่วฝรั่งเศสมากกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ ที่แทบไม่เคยเสด็จจากแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ ใน ค.ศ. 1774 พระองค์เสด็จกับคลอทิลด์ไปแชมเบรีเพื่อพบกับเจ้าบ่าวของพระนางคือ ชาร์ลส์ เอ็มมานูเอล เจ้าชายแห่งพีดมอนต์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ซาร์ดิเนีย ใน ค.ศ. 1775 พระองค์เสด็จเยือนลียงพร้อมกับพระปิตุจฉาที่ยังไม่ได้เสกสมรสของพระองค์คือ เจ้าหญิงอาเดลาอีดและเจ้าหญิงวิกตัวร์ในขณะไปผ่อนคลายอิริยาบถในโรงอาบน้ำที่วีชี[10] การเสด็จพระราชดำเนินภูมิภาคสี่หนของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสมีก่อนปีค.ศ. 1791 รวมระยะเวลาสามเดือน[23]

ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1778 นายแพทย์ลาซอน แพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตยืนยันว่าพระนางทรงพระครรภ์[24] ในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1778 สมเด็จพระราชินีมีพระประสูติกาลพระราชธิดา ทรงพระนาม เจ้าหญิงมารี-เตแรซ ชาร์ล็อตแห่งฝรั่งเศสและทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นเกียรติ มาดามรัวยาล การประสูติของพระราชธิดาได้คลายความกังวลพระทัยของเคานต์แห่งพรอว็องส์ ผู้ซึ่งยังอยู่ในสถานะรัชทายาทในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพราะกฎหมายแซลิกตัดสิทธิหญิงในการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[25][26] แต่เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นรัชทายาทอยู่อีกไม่นานนัก ในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1781 สมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตมีพระประสูติกาลพระราชโอรสคือ ดอแฟ็ง หลุยส์ โจเซฟ เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสและพระอนุชาคือ เคานต์แห่งอาตัวส์ เป็นพระบิดาอุปถัมภ์ในฐานะตัวแทนของจักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเชษฐาในสมเด็จพระราชินี[27] เมื่อสมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตมีพระประสูติกาลพระราชโอรสองค์ที่สองคือ เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ล ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1785 ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสก็เลื่อนอีก[28]

เจ้าหญิงมารี โฌเซฟีน เคานต์เตสแห่งพรอว็องส์ พระชายาในเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส วาดโดยฌอง-แบ็ฟติสต์-อังเดร เกาติเยร์ ดี อโกที ในปีค.ศ. 1775

ใน ค.ศ. 1780 อานน์ นอมปาร์ เดอ เคามองต์ เคานต์เตสแห่งบัลบี เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของเจ้าหญิงมารี โฌเซฟีน เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงตกหลุมรักนางสนองพระโอษฐ์คนใหม่ของพระชายาและตั้งเธอให้เป็นพระสนม[29] ส่งผลให้ความรักที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วของทั้งสองหมดลงโดยสิ้นเชิง[30] เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสได้ตั้งศาลาสำหรับพระสนมบนที่ดินซึ่งจะเป็นที่รู้จักในนามว่า Parc Balbi ที่แวร์ซาย[31]

เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงใช้พระชนม์ชีพอย่างเงียบ ๆ และกิจวัตรประจำ ทรงไม่มีกิจนับแต่พระองค์ทรงประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเองใน ค.ศ. 1774 พระองค์มักประทับในห้องสมุดขนาดใหญ่ของพระองค์ที่มีหนังสือกว่า 11,000 เล่มที่พลับพลาของบัลบี พระองค์ทรงอ่านหนังสือหลายชั่วโมงของเช้าทุกวัน[32] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1780 พระองค์ยังทรงเป็นหนี้รวมฃมากถึงสิบล้านลีฟเรอ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระเชษฐาทรงจ่ายให้[33]

เจ้าชายหลุยส์ทรงร่วมทุนในเครื่องถ้วยเปลือกไข่ลายหนักซึ่งถูกเรียกว่า "ปอร์ชเลนเดอเมอซีเยอ" (Porcelaine de Monsieur) ในภาพตัวอย่างมาจากค.ศ. 1780

มีการประชุมสภาชนชั้นสูง (สมาชิกประกอบด้วยแมจิสเทรต, นายกเทศมนตรี, ขุนนางและนักบวช) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787 เพื่อให้สัตยาบันการปฏิรูปด้านการคลังตามข้อเสนอของเสนาบดีการคลัง ชาร์ล อเล็กซองดร์ เดอ คาโลน เหตุการณ์นี้ให้เคานต์แห่งพรอว็องส์ ผู้ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปมูลวิวัติของคาโลน มีโอกาสที่รอคอยมานานในการสถาปนาพระองค์เองในการเมือง[34] การปฏิรูปนี้เสนอภาษีทรัพย์สินใหม่[35] และสภาส่วนภูมิภาคที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ซึ่งจะมีสิทธิมีเสียงในการเก็บภาษีอากรท้องถิ่น[36] ญัตติของคาโลนถูกบุคคลสำคัญปฏิเสธโดยสิ้นเชิงและเป็นผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงปลดเขา อาร์กบิชอปแห่งตูลูซ เอเตียง ชาร์ล เดอ โลมีนี เดอ เบรียง สืบกระทรวงของคาโลน เบรียงพยายามกอบกู้การปฏิรูปของคาโลน แต่ที่สุดก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้บุคคลสำคัญอนุมัติการปฏิรูป พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงผิดหวังและทรงยุบสภา[37]

จากนั้น การปฏิรูปของเบรียงถูกส่งให้ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสด้วยหวังว่าการปฏิรูปจะได้รับอนุมัติ (ปาร์เลเมนต์รับผิดชอบต่อการให้สัตยาบันพระราชกฤษฎีกา แต่ละแคว้นมีปาร์เลเมนต์ของตนเอง แต่ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสสำคัญที่สุด) ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสปฏิเสธยอมรับข้อเสนอของเบรียงและประกาศว่า การเก็บภาษีอากรใหม่ใด ๆ จะต้องได้รับอนุมัติจากสภาฐานันดร (รัฐสภาในนามของฝรั่งเศส) พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และเบรียงวางพระองค์เป็นปรปักษ์กับการปฏิเสธนี้ และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องทรงนำ "ลีเดอจัสติส" (Lit de justice) มาใช้ ซึ่งจดทะเบียนพระราชกฤษฎีกาในปาร์เลเมนต์แห่งปารีสโดยอัตโนมัติ เพื่อให้สัตยาบันการปฏิรูปที่ต้องการ วันที่ 8 พฤษภาคม สมาชิกชนชั้นสูงของปาร์เลเมนต์แห่งปารีสสองคนถูกจับกุม เกิดการจลาจลในแคว้นเบรอตาญ แคว้นพรอว็องส์ แคว้นบูร์กอญและแคว้นเบอาร์นเป็นปฏิกิริยาต่อการจับกุมพวกเขา ขุนนางและแมจิสเทรตท้องถิ่นวางแผนการความไม่สงบดังกล่าว ซึ่งล่อลวงประชาชนให้ต่อต้านลีเดอจัสติส ซึ่งค่อนข้างไม่เป็นที่โปรดปรานของขุนนางและแมจิสเทรตท้องถิ่น นักบวชก็เข้าร่วมอุดมการณ์ภูมิภาคและประณามการปฏิรูปภาษีของเบรียงเช่นกัน เบรียงยอมแพ้ในเดือนกรกฎาคมและตกลงเรียกประชุมสภาฐานันดรใน ค.ศ. 1789 เขาลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม และแทนที่ด้วยเสนาบดีการคลังชาวสวิส ฌาคส์ เน็คเกร์[38]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1788 มีการประชุมสภาชนชั้นสูงครั้งที่สองโดยเน็คเกร์ เพื่อพิจารณาการประชุมสภาฐานันดรในลำดับต่อไป[39] ปาร์เลเมนต์แห่งปารีสได้แนะนำว่าฐานันดรควรจะเป็นเช่นเดิมนับตั้งแต่การประชุมครั้งสุดท้ายในปีค.ศ. 1614 (ซึ่งหมายความว่าพระและขุนนางสามารถมีผู้แทนมากกว่าฐานันดรที่สาม) [40]ชนชั้นสูงปฏิเสธข้อเสนอ "ผู้แทนร่วม" เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาสทรงเป็นชนชั้นสูงเพียงพระองค์เดียวที่ลงคะแนนเสียงให้เพิ่มจำนวนผู้แทนฐานันดรที่สาม[41] เน็คเกร์เพิกเฉยการตัดสินของชนชั้นสูงและเชื่อว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะมีพระบรมราชานุญาตให้เพิ่มผู้แทนเป็นการพิเศษ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ทรงทำอย่างที่คาดไว้ในวันที่ 27 ธันวาคม[42]

การเกิดขึ้นอย่างรุนแรงของการปฏิวัติฝรั่งเศส[แก้]

การประชุมสภาฐานันดรได้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 ในการให้สัตยาบันที่จะปฏิรูปทางการคลัง[43] เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงมีจุดยืนอย่างหนักแน่นในการต่อต้านฐานันดรที่สามและข้อเรียกร้องในการปฏิรูปภาษี ในวันที่ 17 มิถุนายน ฐานันดรที่สามได้ประกาศตนเองเป็น สมัชชาแห่งชาติ เป็นสภาที่ไม่ใช่สำหระบฐานันดรแต่สำหรับประชาชน

เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ดำเนินการต่อต้านการประกาศตนครั้งนี้อย่างแข็งขัน ในขณะที่เสนาบดีที่มีชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ ฌาคส์ เน็คเกร์ ได้มีความตั้งใจที่จะประนีประนอมกับสภาใหม่ที่ถูกประกาศขึ้นนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงลังเลพระทัยอย่างที่เป็นมา ในวันที่ 9 กรกฎาคม สมัชชาได้ประกาศตั้งตนเองเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ในวันที่ 11 กรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงปลดเน็คเกร์ออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วกรุงปารีส ในวันที่ 12 กรกฎาคม ได้มีการใช้ดาบเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่สวนตุยเลอรีส์โดยกองทหารของชาร์ล เออแฌน เจ้าชายแห่งล็องแบ็สก์ได้จุดชนวนทำให้เกิดเหตุการณ์การทลายคุกบัสตีย์ในสองวันถัดมา[44][45]

ในวันที่ 16 กรกฎาคม เคานต์แห่งอาตัวส์เสด็จออกจากฝรั่งเศสพร้อมพระชายาและพระโอรส รวมทั้งข้าราชบริพารมากมาย[46] เคานต์แห่งอาตัวส์และครอบครัวเสด็จไปพำนักที่ตูริน เมืองหลวงของพระสัสสุระ ราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย และพำนักด้วยกันกับครอบครัวของเจ้าชายแห่งกงเด[47]

เคานต์แห่งพรอว็องส์ตัดสินพระทัยที่จะยังประทับอยู่ที่แวร์ซาย[48] เมื่อพระราชวงศ์วางแผนที่จะหลบหนีออกจากแวร์ซายไปยังแม็ส เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงแนะนำไม่ให้พระมหากษัตริย์เสด็จไป ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำตามคำแนะนำ[49]

พระราชวงศ์ถูกบังคับให้เสด็จออกจากแวร์ซายเมื่อเกิดเหตุการณ์การเดินขบวนของสตรีไปยังแวร์ซายในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789[50] พระราชวงศ์กลับมาประทับที่ปารีสอีกครั้ง ซึ่งเคานต์แห่งพรอว็องส์และพระชายาได้เข้าประทับในพระราชวังลุกซ็องบูร์ ในขณะที่พระราชวงศ์ที่เหลือประทับที่พระราชวังตุยเลอรีส์[51] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1791 สมัชชาแห่งชาติได้ผ่านกฎหมายจัดตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแก่หลุยส์ ชาร์ลในกรณีที่พระราชบิดาสวรรคต ในการที่ทรงครองราชย์เมื่อขณะทรงพระเยาว์ กฎหมายนี้ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการจากพระญาติฝ่ายชายที่ใกล้ชิดหลุยส์ ชาร์ลที่สุดในฝรั่งเศส (ในขณะนั้นคือเคานต์แห่งพรอว็องส์) และคนต่อมาคือหลุยส์ ฟิลิปที่ 2 ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (ข้ามเคานต์แห่งอาตัวส์) ถ้าหากดยุกแห่งออร์เลอ็องไม่สามารถปฏิบัติราชกิจได้ คณะผู้สำเร็จราชการจะมาจากการเลือกตั้ง[52]

เคานต์แห่งพรอว็องส์และพระชายาเสด็จหนีไปยังเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียร่วมกับพระราชวงศ์ แต่พระราชวงศ์ได้ล้มเหลวในเหตุการณ์การเสด็จสู่วาแรนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1791[53]

ลี้ภัย[แก้]

ช่วงแรก[แก้]

เมื่อเคานต์แห่งพรอว็องส์เสด็จถึงกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ พระองค์ได้ประกาศตนเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งฝรั่งเศสโดยพฤตินัย พระองค์ใช้ประโยชน์จากเอกสารที่พระองค์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเขียนไว้[54] ก่อนที่จะล้มเหลวในเหตุการณ์การเสด็จสู่วาแรน เอกสารนี้ได้แต่งตั้งให้พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระเชษฐาสวรรคตหรือไม่สามารถประกอบราชกิจในฐานะกษัตริย์ได้ พระองค์ทรงร่วมกับเจ้าชายองค์อื่น ๆ ที่เสด็จลี้ภัยที่โคเบลซ์เวลาไม่นานหลังจากที่พระองค์ทรงลี้ภัย ซึ่งรวมทั้งเคานต์แห่งอาตัวส์และเจ้าชายแห่งกงเดได้ประกาศเจตจำนงค์ที่จะบุกฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกคุกคามด้วยการกระทำของพระอนุชาอย่างมาก เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงส่งผู้แทนไปยังราชสำนักต่าง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงิน ทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงได้รับปราสาทสำหรับลี้ภัยในรัฐผู้คัดเลือกเทรียร์ ซึ่งเจ้าชายคลีเมนซ์ เวนสเลาสแห่งแซกโซนี ผู้เป็นพระมาตุลา ทรงเป็นอาร์กบิชอปผู้คัดเลือกในขณะนั้น กิจกรรมของคณะผู้พลัดถิ่นก็ได้ผลเมื่อพระประมุขแห่งปรัสเซียและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้มารวมตัวกันที่เดรสเดิน ได้มีการออกประกาศแห่งพิลล์นิตซ์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1791 ซึ่งกระตุ้นให้ยุโรปเข้าไปแทรกแซงฝรั่งเศสถ้าหากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชวงศ์ถูกคุกคาม การสนับสนุนในประกาศนี้ของเคานต์แห่งพรอว็องส์ไม่ได้รับการตอบรับในทางที่ดีนักในฝรั่งเศสทั้งจากประชาชนธรรมดาหรือแม้กระทั่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เอง[55]

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1792 สภานิติบัญญัติได้ประกาศว่าผู้พลัดถิ่นทุกคนเป็นผู้ทรยศฝรั่งเศส ทรัพย์สินและตำแหน่งของบุคคลเหล่านี้จะถูกยึด[56] สถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสถูกยกเลิกโดยสภากงว็องซียงแห่งชาติในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1792[57]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกตัดสินประหารชีวิตในเดือนมกราคม ค.ศ. 1793 ทำให้เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ล พระโอรสกลายเป็นพระมหากษัตริย์เพียงในนาม เหล่าเจ้าชายผู้พลัดถิ่นได้ประกาศให้เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลทรงเป็น "พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส" ในช่วงนี้เคานต์แห่งพรอว็องส์ทรงประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่งตั้งพระองค์เองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระราชนัดดา ซึ่งทรงพระเยาว์เกินไปในฐานะประมุขแห่งราชวงศ์บูร์บง[58]

หลุยส์ ชาร์ลสวรรคตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1795 พระเชษฐภคินีพระองค์เดียวที่ยังทรงพระชนม์อยู่คือ เจ้าหญิงมารี-เตแรซ ซึ่งไม่ถูกพิจารณาในฐานะผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์เพราะความยึดมั่นในกฎหมายแซลิกตามโบราณราชประเพณีฝรั่งเศส ดังนั้นในวันที่ 16 มิถุนายน เหล่าเจ้าชายผู้พลัดถิ่นได้ประกาศให้เคานต์แห่งพรอว็องส์เป็น "พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส" พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงได้รับการยอมรับหลังจากการประกาศนั้น[59] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงร่างแถลงการณ์ตอบสนองต่อการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แถลงการณ์นี้รู้จักกันในชื่อ "การประกาศแห่งเวโรนา" ซึ่งเป็นความพยายามของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระองค์ต่อประชาชนชาวฝรั่งเศส การประกาศแห่งเวโรนาได้เรียกร้องให้ฝรั่งเศสกลับเข้าสู่ร่มเงาของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ "ซึ่งเป็นเวลากว่าสิบสี่ศตวรรษที่รุ่งโรจน์ของฝรั่งเศส"[17]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเจรจาให้ปล่อยเจ้าหญิงมารี-เตแรซออกจากที่คุมขังในปารีสในปีค.ศ. 1795 พระองค์ปรารถนาให้เจ้าหญิงเสกสมรสกับพระญาติของพระนางคือ หลุยส์ อ็องตวน ดยุกแห่งอ็องกูแลม พระโอรสในเคานต์แห่งอาตัวส์ พระเจ้าหลุยส์ทรงกล่าวเท็จต่อพระราชนัดดาโดยทรงบอกพระนางว่าความปรารถนาสุดท้ายของพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระนางคือ การให้พระนางเสกสมรสกับหลุยส์ อ็องตวน และเจ้าหญิงทรงตอบรับที่จะปฏิบัติตามความปรารถนาของพระปิตุลา[60]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงถูกบังคับให้เสด็จออกจากเวโรนาเมื่อนโปเลียน โบนาปาร์ตเข้ารุกรานสาธารณรัฐเวนิสในปีค.ศ. 1796[61]

ค.ศ. 1796 - 1807[แก้]

พระราชวังเยลกาวา ที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ตั้งแต่ค.ศ. 1798 ถึงค.ศ. 1801 และตั้งแต่ค.ศ. 1804 ถึงค.ศ. 1807

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงพยายามเข้าแย่งชิงสิทธิในการดูแลพระราชนัดดา เจ้าหญิงมารี-เตแรซ นับตั้งแต่ที่พระนางทรงถูกปล่อยพระองค์ออกมาจากเทมเปิลทาวเวอร์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1795 พระเจ้าหลุยส์ทรงประสบความสำเร็จเมื่อจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตกลงที่จะสละสิทธิในการดูแลในปีค.ศ. 1796 เจ้าหญิงประทับอยู่ในเวียนนาพร้อมกับพระญาติราชวงศ์ฮับส์บูร์กนับตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1796[61] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงย้ายไปประทับที่บลานเคนบูร์กในดัชชีเบราน์ชไวก์หลังจากที่ที่เสด็จออกมาจากเวโรนา พระองค์ประทับในอพาร์ทเมนต์เล็ก ๆ ขนาดสองห้องนอนบนร้านค้า[62] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงถูกบังคับให้เสด็จออกจากบลานเคนบูร์กเมื่อพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซียสวรรคต ในช่วงเวลานี้เจ้าหญิงมารี-เตแรซทรงตัดสินพระทัยที่จะรอเพียงชั่วครู่ก่อนที่จะไปประทับกับพระปิตุลา[63]

ในปีค.ศ. 1798 พระเจ้าซาร์พอลที่ 1แห่งจักรวรรดิรัสเซียได้เสนอให้พระเจ้าหลุยส์สามารถประทับที่พระราชวังเยลกาวาในคลาวแลนด์ (ปัจจุบันคือลัตเวีย) พระเจ้าซาร์พอลที่ 1 ทรงรับรองความปลอดภัยของพระเจ้าหลุยส์และทรงมอบพระราชทรัพย์ช่วยเหลืออย่างพระทัยกว้าง[62] แต่ในภายหลังพระเจ้าซาร์ก็ทรงยกเลิกการมอบพระราชทรัพย์ส่วนนี้ให้[64] เจ้าหญิงมารี-เตแรซเสด็จมาประทับร่วมกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้ในที่สุดที่เยลกาวาในปีค.ศ. 1799[65] ในฤดูหนาว ปีค.ศ. 1798 - 1799 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้พระราชนิพนธ์พระประวัติของพระนางมารี อ็องตัวแน็ตในชื่อว่า Réflexions Historiques sur Marie Antoinette พระองค์พยายามสร้างราชสำนักแวร์ซายที่เยลกาวา ที่ซึ่งมีข้าราชบริพารเก่าแก่ร่วมอาศัยอยู่ด้วย มีการรื้อฟื้นประเพณีราชสำนักขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้งพิธี lever และ coucher (ประเพณีที่มาพร้อมกับการตื่นบรรทมและการเข้าบรรทมตามลำดับ) [66]

เจ้าหญิงมารี-เตแรซเสกสมรสกับหลุยส์ อ็องตวน พระญาติ ในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1799 ที่พระราชวังเยลกาวา พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มีพระบัญชาให้พระมเหสีเข้าร่วมพิธีเสกสมรสในคลาวแลนด์โดยไม่มีพระสหายสนิทอย่างยาวนานของพระนาง (และเล่าลือกันว่าเป็นคู่รักของพระนาง) คือ มาร์เกอริต เดอ โกบิยง สมเด็จพระราชินีมารี โฌเซฟีนประทับแยกกับพระสวามีที่ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงให้โลกได้เห็นครอบครัวราชวงศ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน สมเด็จพระราชินีทรงปฏิเสธที่จะเสด็จไปโดยทิ้งพระสหายของพระนางไว้เบื้องหลังโดยทรงเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดผลที่ไม่น่าพอใจหากจะกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในพิธีเสกสมรส[67] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงทราบดีว่าหลุยส์ อ็องตวน พระนัดดาไม่ทรงเข้ากันได้กับเจ้าหญิงมารี-เตแรซ อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงผลักดันให้เกิดการเสกสมรสขึ้น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเป็นชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุขและไม่มีทายาทร่วมกัน[68]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงพยายามริเริ่มติดต่อกันทางจดหมายกับนโปเลียน โบนาปาร์ต (ในช่วงนี้เขาเป็น กงสุลฝรั่งเศสคนที่หนึ่ง) ในปีค.ศ. 1800 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงกระตุ้นให้โบนาปาร์ตฟื้นฟูราชบัลลังก์บูร์บงแก่พระองค์ แต่จักรพรรดิในอนาคตก็ไม่สนใจคำขอของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 และยังคงรวบอำนาจของเขาในฐานะประมุขของฝรั่งเศสต่อไป[69]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงสนับสนุนให้เจ้าหญิงพระนัดดาทรงนิพนธ์บันทึกความทรงจำของพระนาง เพื่อที่พระองค์จะใช้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อสำหรับราชวงศ์บูร์บง ในปีค.ศ. 1796 และค.ศ. 1803 พระเจ้าหลุยส์ยังทรงใช้บันทึกประจำวันของผู้ดูแลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ครั้งสุดท้ายในทางเดียวกันด้วย[66] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1801 พระเจ้าซาร์พอลตรัสกับพระเจ้าหลุยส์ว่าพระองค์คงอยู่ในรัสเซียไม่ได้อีกต่อไป ราชสำนักเยลกาวามีทุนทรัพย์น้อยมากซึ่งจะต้องมีการประมูลขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อที่จะมีเงินทุนในการเดินทางออกจากรัสเซีย แม้กระทั่งเจ้าหญิงมารี-เตแรซยังทรงขายสร้อยพระศอเพชรที่จักรพรรดิพอลประทานให้เป็นของกำนัลวันเสกสมรสของพระนาง[64]

เจ้าหญิงมารี-เตแรซทรงชักจูงให้สมเด็จพระราชินีหลุยส์แห่งปรัสเซียมีพระอนุญาตให้พระราชวงศ์ของพระนางลี้ภัยในดินแดนปรัสเซีย สมเด็จพระราชินีหลุยส์ทรงยินยอมแต่เชื้อพระวงศ์บูร์บงต้องใช้นามแฝง โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงใช้พระยศ "กงเดเดอไอเล" (Comte d'Isle; ซึ่งเป็นยศที่ตั้งตามทรัพย์สินของพระองค์ในล็องก์ด็อก) และบางครั้งทรงใช้พระยศ "กงเดเดอลีล" (Comte de Lille) [70] พระองค์และพระราชวงศ์ได้ประทับอยู่ในวอร์ซอ ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นปรัสเซียใต้พระราชวังลาเซียนกีตั้งแต่ปีค.ศ. 1801 ถึงค.ศ. 1804 หลังจากเดินทางมาจากเยลกาวาอย่างยากลำบาก[71] ตามบันทึกของวีรีเดียนนา ฟิสเซโรวา ซึ่งมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยนั้น เจ้าหน้าที่ของปรัสเซียซึ่งต้องการถวายพระเกียรติหลังจากที่เสด็จมาถึง ได้จัดให้มีการแสดงดนตรี โดยต้องการจะบรรเลงเพลงชาติและเพลงปลุกใจในความรักชาติ ได้เลือกเพลงลามาร์แซแยซซึ่งเป็นเพลงประจำสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 เพื่อพาดพิงถึงทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 โดยตรง แต่ในภายหลังพวกเขาก็ขออภัยโทษในความผิดพลาดครั้งนี้[70]

พระราชวังลาเซียนกี ที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ตั้งแต่ค.ศ. 1801 ถึงค.ศ. 1804

เวลาไม่นานหลังจากที่เสด็จมาถึง พระราชวงศ์ก็ได้รับข่าวการสวรรคตของพระเจ้าซาร์พอลที่ 1 พระเจ้าหลุยส์ทรงหวังว่าผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าซาร์พอล คือ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 จะยกเลิกการเนรเทศราชวงศ์บูร์บงที่พระราชบิดาของพระองค์ได้กระทำไว้ (ในภายหลังพระองค์ทรงยกเลิกจริง) พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงตั้งพระทัยที่จะออกเดินทางไปยังราชอาณาจักรเนเปิลส์ เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงขอให้พระเจ้าหลุยส์ส่งพระราชโอรสของพระองค์ หลุยส์ อ็องตวนและเจ้าหญิงมารี-เตแรซ พระสุนิสา มาพบพระองค์ที่เอดินบะระ แต่ในช่วงนี้ก็ไม่ได้เสด็จไป เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงได้รับพระราชทานทรัพย์จากพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรและทรงส่งทรัพย์บางส่วนไปให้พระเจ้าหลุยส์ ราชสำนักพลัดถิ่นของพระเจ้าหลุยส์ได้ถูกสอดแนมโดยเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส[72] ราชสำนักพลัดถิ่นได้รับการสนับสนุนทางการเงินส่วนใหญ่จากดอกเบี้ยจากหนี้ที่จักรพรรดิฟรานซิสที่ 2 ทรงติดค้างต่อพระนางมารี อ็องตัวแน็ต พระปิตุจฉาของพระองค์ ซึ่งได้ถูกเอาออกไปจากฝรั่งเศสและมีการตัดค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ[73]

ในปีค.ศ. 1803 นโปเลียนพยายามบังคับให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 สละสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส แต่พระเจ้าหลุยส์ปฏิเสธ[74] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1804 นโปเลียน โบนาปาร์ตสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 และพระนัดดาเดินทางไปยังสวีเดนในเดือนกรกฎาคมเพื่อทำการประชุมเชื้อพระวงศ์บูร์บง ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เคานต์แห่งอาตัวส์และดยุกแห่งอ็องกูแลมออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินใจของนโปเลียนในการสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ[75] กษัตริย์ปรัสเซียทรงออกแถลงการณ์ให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จออกไปจากแผ่นดินปรัสเซียซึ่งก็คือต้องเสด็จออกจากวอร์ซอ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงเชิญให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จมาประทับที่เยลกาวาดังเดิม พระเจ้าหลุยส์ต้องทรงดำรงพระชนม์ชีพในเงื่อนไขที่ใจกว้างน้อยกว่าในสมัยของพระเจ้าซาร์พอลที่ 1 ที่ทรงมีความสุข และพระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จไปยังอังกฤษโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้[76]

เมื่อเวลาผ่านไป พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงตระหนักว่าฝรั่งเศสไม่ยอมรับในความพยายามกลับไปสู่ระบอบเก่า หรือ อองเซียงเรฌีม ดังนั้นพระองค์จึงทรงสร้างนโยบายอีกครั้งในปีค.ศ. 1805 ด้วยมุมมองในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์โดยมีคำประกาศซึ่งมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าแผนการครั้งก่อนหน้าของพระองค์ ซึ่งเป็นการปฏิเสธคำประกาศแห่งเวโรนา โดยสัญญาว่าจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ยังคงรักษาระบบการบริหารและตุลาการแบบจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มีการลดภาษี การกำจัดเรือนจำทางการเมือง และรับประกันว่าจะนิรโทษกรรมทุกคนที่ไม่ได้ต่อต้านการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง การแสดงความคิดเห็นต่อประกาศนี้มีจำนวนมากรวมทั้ง เคานต์แห่งอวาเรย์ ผู้ช่วยเหลือพระเจ้าหลุยส์ขณะลี้ภัยที่ทรงสนิทที่สุด[77]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงถูกบังคับให้เสด็จออกจากเยลกาวาอีกครั้งเมื่อพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์แห่งรัสเซียตรัสกับพระองค์ว่าไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของพระองค์บนภาคพื้นทวีปยุโรปได้ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1807 พระเจ้าหลุยส์ทรงขึ้นเรือฟริเกตของสวีเดนไปยังสต็อกโฮล์ม โดยเสด็จไปกับดยุกแห่งอ็องกูแลม เพียงพระองค์เดียว พระเจ้าหลุยส์ไม่ประทับอยู่ที่สวีเดนนานนัก พระองค์เสด็จถึงเกรทยาร์เมานท์ นอร์ฟอล์ก อังกฤษ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1807 พระองค์ประทับที่กอสฟิลด์ฮอล โดยทรงเช่าจากมาควิสแห่งบักกิงแฮม[78]

อังกฤษ[แก้]

บ้านฮาร์ทเวล บักกิงแฮมเชอร์ ราชสำนักพลัดถิ่นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ประทับที่นี่ตั้งแต่ค.ศ. 1808 จนกระทั่งการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง

พระเจ้าหลุยส์ทรงพาพระมเหสี สมเด็จพระราชินีมารี โฌเซฟีนมาจากยุโรปภาคพื้นทวีปในปีค.ศ. 1808 พระเจ้าหลุยส์ประทับที่กอสฟิลด์ฮอลไม่นานนัก พระองค์ได้ย้ายไปประทับที่บ้านฮาร์ทเวลในบักกิงแฮมเชอร์ ซึ่งมีข้าราชบริพารมากกว่าร้อยคนอาศัยร่วมด้วย[79] พระองค์ทรงจ่ายค่าเช่าจำนวน 500 ปอนด์ทุกปีแก่เจ้าของบ้านคือ เซอร์จอร์จ ลี เจ้าชายแห่งเวลส์ (อนาคตคือ พระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร) ทรงเห็นพระทัยแก่เชื้อพระวงศ์บูร์บงที่ลี้ภัยมาก ในฐานะที่ทรงเป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ พระองค์ได้มอบสิทธิให้ที่ลี้ภัยถาวรและทรงมอบเบี้ยค่าใช้จ่ายประจำอย่างเต็มที่[80]

เคานต์แห่งอาตัวส์ไม่ได้ทรงร่วมราชสำนักพลัดถิ่นที่ฮาร์ทเวล ทรงเลือกที่จะใช้พระชนม์ชีพเรียบง่ายในลอนดอน พระสหายของพระเจ้าหลุยส์ เคานต์แห่งอวาเรย์ ได้ออกจากฮาร์ทเวลไปยังมาเดราในปีค.ศ. 1809 และถึงแก่กรรมที่นั่นในปีค.ศ. 1811 ผู้ที่มาแทนอวาเรย์คือ กงเดเดอบลากาส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเมืองของพระองค์ สมเด็จพระราชินีมารี โฌเซฟีนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1810[81] ในฤดูหนาวเดียวกัน พระเจ้าหลุยส์ทรงทรมานจากโรคเกาต์อย่างมากซึ่งเป็นอาการประชวรที่เกิดขึ้นเมื่อประทับที่ฮาร์ทเวลและพระองค์ต้องประทับบนรถเข็น[82]

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้เข้ารุกรานรัสเซียในปีค.ศ. 1812 สงครามครั้งนี้ได้เป็นตัวพิสูจน์ถึงจุดเปลี่ยนในโชคชะตาของพระองค์ เนื่องจากการรุกรานที่ล้มเหลวอย่างน่าทุกข์ใจและจักรพรรดินโปเลียนจำต้องถอนทัพกลับในสภาพยับเยิน

ในปีค.ศ. 1813 พระเจ้าหลุยส์ทรงออกประกาศที่ฮาร์ทเวล "คำประกาศแห่งฮาร์ทเวล"มีความเป็นเสรีนิยมมากกว่า "คำประกาศในปีค.ศ. 1805" โดยทรงยืนยันว่าทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่แก่นโปเลียนหรือสาธารณรัฐจะไม่ต้องรับผลจากการปฏิบัติหน้าที่ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ถือครอง Biens nationaux (ที่ดินที่ยึดมาจากขุนนางและพระในช่วงการปฏิวัติ) ที่จะได้รับการชดเชยในสิ่งที่สูญเสียไป[83]

กองทัพพันธมิตรได้เข้าสู่กรุงปารีสในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1814[84] ถึงแม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ไม่ทรงสามารถพระดำเนินได้ แต่พระองค์ก็ส่งเคานต์แห่งอาตัวส์ไปยังฝรั่งเศสในเดือนมกราคม ค.ศ. 1814 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มีพระราชหัตถเลขาแต่งตั้งเคานต์แห่งอาตัวส์เป็นนายพลแห่งราชอาณาจักรในช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 สละราชบัลลังก์ในวันที่ 11 เมษายน ห้าวันถัดมา วุฒิสภาฝรั่งเศสได้ทูลเชิญพระราชวงศ์บูร์บงเสด็จกลับคืนสู่ราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[85]

การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง[แก้]

การฟื้นฟูครั้งที่หนึ่ง[แก้]

ภาพอุปมานิทัศน์การกลับมาของราชวงศ์บูร์บงในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1814 : พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงยกฝรั่งเศสขึ้นมาจากซากปรักหักพัง วาดโดย หลุยส์-ฟิลิปป์ เครปิน

เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงปกครองในฐานะนายพลแห่งราชอาณาจักรจนกระทั่งพระเชษฐาเสด็จถึงปารีสในวันที่ 3 พฤษภาคม เมื่อเสด็จกลับ พระมหากษัตริย์ทรงแสดงพระองค์ต่อข้าราชบริพารโดยทรงจัดขบวนเสด็จผ่านเมือง พระองค์ประทับที่พระราชวังตุยเลอรีส์ในวันเดียวกัน ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม พระราชนัดดาทรงหมดสติเมื่อทอดพระเนตรเห็นตุยเลอรีส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระนางประทับในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส[86]

วุฒิสภาของนโปเลียนได้เชิญพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 คืนสู่ราชบัลลังก์ด้วยเงื่อนไขว่าพระองค์จะต้องยอมรับรัฐธรรมนูญที่นำมาซึ่งการรับรองสาธารณรัฐและจักรวรรดิ ยอมรับการเลือกตั้งในระบบสองสภาทุกปี และยอมรับในธงไตรรงค์ของระบอบการปกครองดังกล่าว[87] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงต่อต้านรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาและทรงระบุว่าพระองค์ทรง "กำลังยุบวุฒิสภาปัจจุบันในอาชญากรรมทั้งหมดที่ก่อขึ้นโดยโบนาปาร์ตและทรงทำตามเสียงเรียกร้องของชาวฝรั่งเศส" รัฐธรรมนุญฉบับวุฒิสภาถูกเผาในโรงละครโดยกลุ่มกษัตริย์นิยมบอร์โดซ์ และสภาเทศบาลแห่งลียงได้ลงคะแนนในสุนทรพจน์ที่สบประมาทวุฒิสภา[88]

มหาอำนาจผู้ยึดครองปารีสได้เรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ[89] พระเจ้าหลุยส์ทรงตอบสนองด้วยกฎบัตรปีค.ศ. 1814 ซึ่งมีบทบัญญัติที่แสดงถึงความก้าวหน้าจำนวนมาก เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา, ฝ่ายนิติบัญญัติที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร[90]และสภาขุนนาง[91], สื่อพึงพอใจในเสรีภาพ และบทบัญญัติ Biens nationaux[92]ที่จะยังคงอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเจ้าของปัจจุบัน[93] รัฐธรรมนูญมี 76 มาตรา การจัดเก็บภาษีต้องมีการลงมติโดยสภา ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกจะเป็นศาสนาประจำชาติฝรั่งเศส การที่จะมีสิทธิเป็นสมาชิกสภาผู้แทน คนหนึ่ง ๆ ต้องจ่ายเงินจำนวน 1,000 ฟรังก์ต่อปีเป็นภาษี และต้องมีอายุครบ 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งขุนนางเข้าไปยังสภาขุนนางตามพื้นฐานการสืบสายโลหิตหรือดำรงอยู่ตลอดชีพตามดุลยพินิจของพระองค์ ผู้แทนจะมีการเลือกตั้งทุก ๆ 5 ปี และหนึ่งในห้าจะมีการเลือกตั้งทุกปี[94] มีพลเมือง 90,000 คนมีสิทธิลงคะแนนเสียง[95]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ลงพระนามในสนธิสัญญาปารีสในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1814 สนธิสัญญาได้ให้พรมแดนฝรั่งเศสอยู่ตามปีค.ศ. 1792 ซึ่งมีพรมแดนขยายไปทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์ ประเทศไม่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามและการยึดครองของพันธมิตรที่หกจะถอนตัวทันทีจากแผ่นดินฝรั่งเศส ข้อตกลงที่ใจกว้างนี้จะถูกย้อนกลับมาใช้ในสนธิสัญญาปารีสครั้งต่อไปหลังสมัยร้อยวัน (นโปเลียนกลับคืนสู่ฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1815) [96]

ในเวลาไม่นานนัก พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงกลับไปคำนึงถึงหนึ่งในสิ่งที่พระองค์สัญญาไว้มากมาย พระองค์และผู้ดูแลการคลังคือ บารอนหลุยส์ได้ถูกวิเคราะห์ว่าพยายามไม่ให้การคลังขาดดุล (ซึ่งมีหนี้สินจำนวน 75 ล้านฟรังก์ที่สืบต่อมาจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 1) และมีการใช้มารตรการทางการคลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มั่นพระทัยว่าชาวฝรั่งเศสไม่พอใจในการเก็บภาษียาสูบ ไวน์และเกลือ และภาษีในสินค้าเหล่านี้จะถูกยกเลิกเมื่อพระองค์ทรงได้รับการฟื้นฟูราชบัลลังก์ แต่พระองค์ไม่ประสบความสำเร็จในการยกเลิกภาษีนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการจลาจลในบอร์โดซ์ ค่าใช้จ่ายของกองทัพถูกตัดในงบประมาณประจำปีค.ศ. 1815 ในปีค.ศ. 1814 ค่าใช้จ่ายของกองทัพได้คิดเป็น 55% ของค่าใช้จ่ายรัฐบาล[97]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มีพระบรมราชานุญาตให้เคานต์แห่งอาตัวส์และพระนัดดาของพระองค์ คือ ดยุกแห่งอองกูแลมและแบร์รี เข้าร่วมประชุมสภาขุนนางในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1814 เมื่อมีการก่อตั้งสภาขึ้น สภามีผู้นำอย่างไม่เป็นทางการคือ เจ้าชายตาแลร็อง[98] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงมีความสนพระทัยอย่างยิ่งในพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้ใจของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (ที่มีการวาดแผนที่ยุโรปใหม่หลังการสิ้นสุดนโปเลียน) ตาแลร็องเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ทรงตกพระทัยในความตั้งใจของปรัสเซียที่จะผนวกราชอาณาจักรแซกโซนี ที่พระองค์สนพระทัยเนื่องจากพระมารดาของพระองค์ทรงเป็นเจ้าหญิงแซกโซนี และพระองค์ก็ทรงหวั่นเกรงอิทธิพลของปรัสเซียที่พยายามยึดครองเยอรมนี พระองค์ทรงหวังให้ดัชชีปาร์มาฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงสายปาร์มา และต้องไม่ฟื้นฟูสิทธิของจักรพรรดินีมารี หลุยส์แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตัวเลือกได้รับการแนะนำจากพันธมิตร[99] พระเจ้าหลุยส์ทรงประท้วงการเพิกเฉยของพันธมิตรต่อเนเปิลส์ ที่ซึ่งผู้ช่วงชิงราชบัลลังก์อย่าง ฌออากีม มูว์รา ฝ่ายนโปเลียนได้ช่วงชิงราชบัลลังก์บูร์บงสายเนเปิลส์

ในนามของพันธมิตร ออสเตรียตกลงที่จะทรงกองทัพไปยังเนเปิลส์และถอดถอนพระเจ้าฌออากีม มูว์ราออกจากราชบัลลังก์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 เมื่อเป็นที่เห็นได้ชัดว่ากษัตริย์มูว์ราทรงพยายามให้ความช่วยเหลืออดีตจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามอย่างชัดเจนตามสนธิสัญญา ในความเป็นจริงกษัตริย์มูว์ราไม่เคยทรงเขียนถึงนโปเลียน แต่พระเจ้าหลุยส์มีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงสายเนเปิลส์ด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทรงปลอมแปลงจดหมายและทรงให้เงินทุนสนับสนุนการเดินทัพของออสเตรียจำนวน 25 ล้านฟรังก์[100]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูราชบัลลังก์เนเปิลส์แก่ราชวงศ์บูร์บงในทันที ปาร์มาถูกมอบให้กับจักรพรรดินีมารี หลุยส์ตลอดพระชนม์ชีพ และราชวงศ์บูร์บงสายปาร์มาจะได้รับดัชชีลุกกาจนกระทั่งการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดินีมารี หลุยส์

สมัยร้อยวัน[แก้]

ยุทธการที่วอเตอร์ลูนำไปสู่จุดจบของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตในการพยายามกลับมาฝรั่งเศส และเป็นการรับประกันการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 นโปเลียน โบนาปาร์ตหลบหนีออกจากที่คุมขังที่เกาะเอลบาและขึ้นชายฝั่งฝรั่งเศส นโปเลียนมาถึงพร้อมกับทหารจำนวน 1,000 นายใกล้เมืองกานในวันที่ 1 มีนาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงกังวลในการมาถึงของนโปเลียน เนื่องจากกำลังทหารเหล่านั้นมีน้อยเกินกว่าจะเอาชนะพระองค์ได้ง่าย ๆ แต่มีปัญหาสำคัญสำหรับราชวงศ์บูร์บง พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงล้มเหลวในการล้างแนวคิดโบนาปาร์ตนิยมในหมู่ทหาร สิ่งนี้นำไปสู่การเอาใจออกห่างของกองทัพบูร์บงไปเข้ากับกองทัพฝ่ายโบนาปาร์ต นอกจากนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงเข้าร่วมกองทัพในการต่อสู้กับนโปเลียนจากทางภาคใต้ของฝรั่งเศสเนื่องจากทรงพระประชวรด้วยโรคเกาต์[101] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม นายพลซูลต์ ได้ส่งหลุยส์ ฟีลิป ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (ต่อมาคือ พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1), เคานทฺ์แห่งอาตัวส์และนายพลแม็กโดนัลด์ไปจับกุมนโปเลียน[102]

การประมาณค่าของนโปเลียนต่ำเกินไปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้นำมาซึ่งหายนะ ในวันที่ 19 มีนาคม กองทัพที่ประจำการนอกกรุงปารีสได้แปรพักตร์ไปเข้ากับโบนาปาร์ต ปล่อยให้เมืองหลวงเสี่ยงต่อการถูกโจมตี[103] ในวันเดียวกัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงหลบหนีออกจากเมืองหลวงพร้อมองครักษ์จำนวนเล็กน้อย พระเจ้าหลุยส์ตัดสินพระทัยไปยังลีล จากนั้นทรงข้ามพรมแดนเข้าไปในสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และประทับที่เกนต์[104] ผู้นำคนอื่น ๆ ที่เด่นชัดที่สุดคือ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียทรงถกเถียงในเรื่องชัยชนะครั้งที่สองของจักรวรรดิฝรั่งเศส โดยทรงประกาศว่าดยุกแห่งออร์เลอองควรจะเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระเจ้าหลุยส์ที่ 18[105]

อย่างไรก็ตาม จักรพรรดินโปเลียนปกครองฝรั่งเศสไม่นานนัก เนื่องจากความพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อกองทัพภายใต้การนำของดยุกแห่งเวลลิงตันและจอมพลบลือเชอร์ในยุทธการที่วอเตอร์ลูในวันที่ 18 มิถุนายน ฝ่ายพันธมิตรได้มีฉันทามติให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กลับคืนสู่ราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[106]

ค.ศ. 1815 - 1824[แก้]

ภาพ Old Bumblehead the 18th trying on the Napoleon Boots – or, Preparing for the Spanish Campaign, โดย จอร์จ ครูค์ชังค์ ล้อเลียน เหตุการณ์การแทรกแซงสเปนของฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จกลับฝรั่งเศสทันทีหลังการพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียนเพื่อให้แน่พระทัยว่าการฟื้นฟูราชบัลลังก์ครั้งที่สองของพระองค์นั้นอยู่ใน "รถไฟสัมภาระของศัตรู" ซึ่งก็คือ ทหารของเวลลิงตัน[107] ดยุกแห่งเวลลิงตันได้ใช้ตัวพระเจ้าหลุยส์ในฐานะใบเบิกทางไปยังกรุงปารีส ซึ่งผู้คนได้ตั้งป้อมปราการที่ปฏิเสธจะยอมจำนนต่อพันธมิตร แต่ยินยอมจำนนต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขา พระเจ้าหลุยส์เสด็จถึงคองเบรในวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งพระองค์ทรงออกประกาศคองเบร โดยระบุว่าคนทุกคนที่ทำงานรับใช้จักรพรรดิในสมัยร้อยวันจะไม่ถูกประหัตประหาร ยกเว้น "ผู้ยุยงปลุกปั่น" นอกจากนั้นยังเป็นการยอมรับว่ารัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 อาจจะทำผิดพลาดในช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งที่หนึ่ง[108] ในวันที่ 29 มิถุนายน ผู้แทน 5 คนจากสภาผู้แทนและสภาขุนนางได้เข้าพบเวลลิงตันโดยพูดคุยเกี่ยวกับการแต่งตั้งเจ้าชายต่างชาติให้ขึ้นครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศส เวลลิงตันปฏิเสธคำร้องของพวกเขาและประกาศทันทีว่า "[พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็น] ทางเลือกที่ดีที่สุดในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของฝรั่งเศส"[109] เวลลิงตันสั่งให้สภาสนับสนุนพระเจ้าหลุยส์[110] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จเข้ากรุงปารีสในวันที่ 8 กรกฎาคม ด้วยการต้อนรับที่อึกทึก สวนพระราชวังตุยเลอรีส์เนืองแน่นไปด้วยผู้คน ตามคำบอกเล่าของดยุกแห่งเวลลิงตันที่ว่า มีเสียงไชโยโห่ร้องของฝูงชนดังไปทั่วซึ่งทำให้ในตอนเย็นเขาไม่สามารถพูดคุยกับกษัตริย์ได้เลย[111]

บทบาททางการเมืองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 นับตั้งแต่สมัยร้อยวันได้ลดลงอย่างมากด้วยความสมัครใจของพระองค์เอง พระองค์ทรงสละราชกิจส่วนมากให้แก่สภาของพระองค์ พระองค์และคณะรัฐมนตรีได้ริเริ่มปฏิรูปในฤดูร้อนปีค.ศ. 1815 ในสภาของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีกลุ่มของรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการที่ให้คำปรึกษาพระมหากษัตริย์ ได้ถูกยุบและแทนที่ด้วยองคมนตรีสภาที่เรียกว่า "Ministère de Roi" ดยุกแห่งอาตัวส์ ดยุกแห่งอ็องกูแลม และดยุกแห่งแบร์รีได้ถูกปลดออกจากคณะ "ministère" ชุดใหม่ และตาแลร็องได้รับการแต่งตั้งเป็น Président du Conseil คนแรก ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีแห่งฝรั่งเศส[112] ในวันที่ 14 กรกฎาคม คณะรัฐมนตรีได้ยุบกรมกองทัพที่ดูเหมือนว่าจะเป็น "กบฏ" ตำแหน่งขุนนางที่สืบตามสายโลหิตได้ถูกจัดตั้งขึ้นอีกครั้งตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์โดยคณะรัฐมนตรี[113]

ในเดือนสิงหาคม มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนซึ่งกลับส่งผลที่ไม่เอื้ออำนวยต่อตาแลร็อง คณะรัฐมนตรีหวังให้เกิดผู้แทนราฎรสายกลาง แต่ผลการเลือกตั้งได้เอื้ออำนวยให้แก่พวกคลั่งเจ้า (Ultra-Royalist) เป็นเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า "Chambre introuvable" ดัชเชสแห่งอ็องกูแลมและเคานต์แห่งอาตัวส์ทรงกดดันให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงปลดคณะรัฐมนตรีที่หัวโบราณหรือล้าสมัย ตาแลร็องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 20 กันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงแต่งตั้งดยุกแห่งรีเชอลีเยอเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รีเชอลีเยอถูกเลือกเนื่องจากเขาได้รับการยอมรับจากพระราชวงศ์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายปฏิกิริยา หรือ ฝ่ายขวา[114]

ความรู้สึกต่อต้านนโปเลียนมีอย่างมากในบริเวณภาคใต้ของฝรั่งเศสและนี่เป็นสิ่งที่ปรากฏเด่นชัดในฐานะ ความน่าสะพรึงกลัวขาว ซึ่งเป็นการกวาดล้างข้าราชการคนสำคัญที่รับราชการในสมัยนโปเลียนและมีการดำเนินการประหารชีวิตบุคคลเหล่านี้ ชาวฝรั่งเศสปฏิบัติการกวาดล้างอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้กับเจ้าหน้าที่ทางการเหล่านี้ กีโยม มารี อานน์ บรูเน (นายพลสมัยนโปเลียน) ถูกลอบสังหารอย่างทารุณและศพของเขาถูกโยนลงไปในแม่น้ำโรน[115] พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเสียพระทัยต่อการกระทำนอกกฎหมายดังกล่าว แต่พระองค์ก็ยังทรงสนับสนุนให้ดำเนินคดีต่อนายพลเหล่านี้ที่คอยช่วยเหลือนโปเลียนในสมัยร้อยวันต่อไป[116][117] รัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้ตัดสินประหารชีวิต มีแชล แน นายพลของนโปเลียนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1815 ด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นทุรยศ พระสหายของพระองค์คือ ชาร์ล ฟร็องซัวส์ มาควิส เดอ บอนเนและดยุกแห่งลาชาร์เตร ได้แนะนำให้พระองค์ลงโทษเขาในฐานะ "กบฏ"

พระเจ้าหลุยส์ทรงลังเลที่จะดำเนินการนองเลือด และสิ่งนี้ทำให้สภาผู้แทนราษฎรฝ่ายขวาไม่พอใจพระองค์อย่างมาก ซึ่งรู้สึกว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่ทรงดำเนินการประหารชีวิตมากพอ[118] รัฐบาลได้ประกาศนิรโทษกรรมให้แก่ "กบฏ" ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1816 แต่คดีที่มีการดำเนินการไต่สวนแล้วกำหนดให้ดำเนินการจนครบกำหนดเวลา ในประกาศเดียวกันยังห้ามสมาชิกราชวงศ์โบนาปาร์ตในการถือครองทรัพย์สินหรือเสด็จกลับมายังฝรั่งเศส[119] เป็นที่คาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ประมาณ 50,000 - 80,000 คนถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลในระหว่างเหตุการณ์ความน่าสะพรึงกลัวขาวครั้งที่สอง[120]

พระบรมวงศานุวงศ์ จากซ้ายไปขวา: ชาร์ล ดยุกแห่งอาตัวส์, พระเจ้าหลุยส์ที่ 18, มารี แคโรไลน์ ดัชเชสแห่งแบร์รี, มารี เตแรซ ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม, หลุยส์ อ็องตวน ดยุกแห่งอ็องกูแลม และชาร์ล เฟอร์ดินานด์ ดยุกแห่งแบร์รี

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1815 รัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้ลงนามในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งเป็นจุดจบสมัยร้อยวันของจักรพรรดินโปเลียนอย่างเป็นทางการ สนธิสัญญาก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ได้รับความชื่นชอบในฝรั่งเศส แต่สนธิสัญญานี้ได้สร้างความตึงเครียด โดยพรมแดนของฝรั่งเศสได้ลดลงมาอยู่ในเขตแดนที่ระบุไว้ในค.ศ. 1790 ฝรั่งเศสต้องจ่ายเงินสำหรับกองทัพที่เข้าไปครอบครองดินแดนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ในจำนวนเงิน 150 ล้านฟรังก์ต่อปี ฝรั่งเศสยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศพันธมิตรจำนวน 700 ล้านฟรังก์[121]

ในปีค.ศ. 1818 สภาได้ผ่านกฎหมายทหารโดยเพิ่มจำนวนทหารในกองทัพมากกว่า 100,000 นาย ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ดยุกแห่งรีเชอลีเยอประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้มหาอำนาจถอนกองทัพออกไปในช่วงต้นเพื่อแลกกับเงินจำนวนมากกว่า 200 ล้านฟรังก์[122]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงเลือกรัฐมนตรีสายกลางจำนวนมาก ในฐานะที่พระองค์ทรงอยากเอาใจประชาชน สิ่งนี้ได้สร้างความตกตะลึงอย่างมากแก่พระอนุชาของพระองค์ เคานต์แห่งอาตัวส์ ซึ่งทรงเป็นกลุ่มคลั่งเจ้า[123] พระเจ้าหลุยส์ทรงหวั่นพระทัยถึงในวันที่เสด็จสวรรคต ทรงเชื่อว่า เคานต์แห่งอาตัวส์ พระอนุชาซึ่งเป็นรัชทายาทของพระองค์ จะทรงยุบรัฐบาลสายกลางเพื่อนำไปสู่ระบอบเผด็จการของพวกคลั่งเจ้า ซึ่งเป็นระบอบที่ไม่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี[124]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่โปรดเจ้าชายสืบสายพระโลหิต เจ้าชายหลุยส์ ฟิลิปป์ ดยุกแห่งออร์เลออง และมักจะทรงหาโอกาสดูถูกเจ้าชายโดยตลอด[125] ทรงปฏิเสธพระอิสริยยศ "รอยัลไฮเนส" ของเจ้าชาย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่พอพระทัยบทบาทของพระบิดาในดยุกที่ทรงลงคะแนนเสียงให้ประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ดยุกแห่งแบร์รี พระนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ถูกลอบปลงพระชนม์ที่โรงละครโอเปราปารีสในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1820 พระราชวงศ์โศกเศร้าเสียพระทัยอย่างมาก[126] และพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงละทิ้งกฎโบราณราชประเพณีโดยทรงร่วมพระพิธีฝังพระศพพระนัดดา ซึ่งในขณะที่ก่อนหน้านี้พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสไม่สามารถมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตใด ๆ ได้[127] การสิ้นพระชนม์ของดยุกแห่งแบร์รีทำให้ราชตระกูลออร์เลอองมีแนวโน้มที่จะสืบราชบัลลังก์มากขึ้น

ที่ประดิษฐานพระบรมศพพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี กรุงปารีส

ดยุกแห่งแบร์รีเป็นพระราชวงศ์เพียงองค์เดียวที่ทรงสามารถให้กำเนิดพระบุตรได้ พระชายาของพระองค์ได้ตั้งพระนามโอรสที่ประสูติในเดือนกันยายน หลังจากที่บิดาสิ้นพระชนม์ว่า อ็องรี ดยุกแห่งบอร์โดซ์[126] มีพระนามลำลองว่า "ดิเยอดองเน" (Dieudonné; พระเจ้าประทาน) โดยพระราชวงศ์บูร์บงเพราะพระองค์ถูกคิดว่าจะเป็นผู้สร้างความปลอดภัยแก่ราชวงศ์ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์บูร์บงก็ยังคงเป็นที่คลางแคลง รัฐสภาได้เสนอให้แก้กฎหมายแซลิกเพื่อให้ดัชเชสแห่งอ็องกูแลมทรงขึ้นสืบราชบัลลังก์[128] ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1820 รัฐสภาได้ยอมรับกฎหมายเพิ่มจำนวนผู้แทนราษฎรจาก 258 ที่นั่งเป็น 430 ที่นั่ง สมาชิกสภาพิเศษจะได้รับเลือกจากย่านที่มั่งคั่งที่สุดในแต่ละจังหวัด บุคคลเหล่านี้จะมีคะแนนเสียงคนละสองคะแนน[129] ในช่วงเวลาเดียวกันในฐานะที่เป็น "กฎหมายสองคะแนนเสียง" พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงรับการเข้าเฝ้าทุกวันพุธจากสุภาพสตรีที่มีชื่อว่า โซอี ทาลอง และมีรับสั่งไม่ให้ใครรบกวนขณะที่ทรงอยู่กับเธอ มีข่าวลือว่าพระองค์ทรงสูบยานัตถุ์ผ่านทางหน้าอกของเธอ[130] ซึ่งทำให้เธอได้รับฉายาว่า "tabatière" (กล่องยานัตถ์) [131] ในปีค.ศ. 1823 ฝรั่งเศสลงมือแทรกแซงทางการทหารในเหตุการณ์การแทรกแซงสเปนของฝรั่งเศส ซึ่งเกิดการกบฏต่อต้านพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 แห่งสเปน ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการปราบปรามกบฏ[132]โดยการนำของดยุกแห่งอ็องกูแลม[133]

สวรรคต[แก้]

พระพลานามัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรุดลงในฤดูใบไม้ผลิ ปีค.ศ. 1824 พระองค์ทรงทุกข์ทรมานจากโรคอ้วน, โรคเกาต์และเนื้อตายเน่า ทั้งเปียกและแห้ง ในพระเพลา (ขา) และกระดูกสันหลัง พระเจ้าหลุยส์เสด็จสวรรคตในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1824 โดยทรงแวดล้อมด้วยเหล่าพระราชวงศ์และข้าราชการบางคน ผู้สืบราชบัลลังก์ต่อคือ พระอนุชาของพระองค์ เคานต์แห่งอาตัวส์ทรงครองราชย์ในฐานะ พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส[134]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์สุดท้าย และเป็นเพียงพระองค์เดียวหลังจากค.ศ. 1774 ที่เสด็จสวรรคตขณะที่ทรงครองราชย์ พระบรมศพของพระองค์ถูกฝังที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี ซึ่งเป็นสุสานของเหล่าพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส

พระราชตระกูล[แก้]

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
16. เจ้าชายหลุยส์ เลอกร็องโดฟิน
 
 
 
 
 
 
 
8. หลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ดยุกแห่งเบอร์กันดี
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
17. ดัชเชสมาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย
 
 
 
 
 
 
 
4. พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
18. พระเจ้าวิตโตรีโอ อาเมเดโอที่ 2 แห่งซาร์ดิเนีย
 
 
 
 
 
 
 
9. เจ้าหญิงมารี อาเดลาอีดแห่งซาวอย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
19. เจ้าหญิงอานน์ มารีแห่งออร์เลออง
 
 
 
 
 
 
 
2. หลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
20. ราฟาล เลชชินสกี
 
 
 
 
 
 
 
10. พระเจ้าสตานิสลอว์ที่ 1 แห่งโปแลนด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
21. แอนนา จาโบลโนว์สกา
 
 
 
 
 
 
 
5. เจ้าหญิงมารี เลชชินสกาแห่งโปแลนด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
22. ยาน คาโรล โอปาลินสกี
 
 
 
 
 
 
 
11. แคทเทอรีน โอปาลินสกา
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
23. โซเฟีย ซาร์นโกสกา
 
 
 
 
 
 
 
1. พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
24. จอห์น จอร์จที่ 3 อิเล็กเตอร์แห่งแซ็กโซนี
 
 
 
 
 
 
 
12. พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งโปแลนด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
25. เจ้าหญิงแอนน์ โซฟีแห่งเดนมาร์ก
 
 
 
 
 
 
 
6. พระเจ้าออกัสตัสที่ 3 แห่งโปแลนด์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
26. คริสเตียน เอิร์นส์ มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบรอยท์
 
 
 
 
 
 
 
13. คริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
27. โซฟี หลุยส์แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
 
 
 
 
 
 
 
3. เจ้าหญิงมาเรีย โจเซฟาแห่งแซกโซนี
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
28. จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
 
 
 
 
 
 
 
14. จักรพรรดิโยเซฟที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
29. เอเลโอโนเรอ-มักดาเลเนอแห่งนอยบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
7. อาร์คดัชเชสมาเรีย โจเซฟาแห่งออสเตรีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
30. โยฮัน ฟรีดิช ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์-ลือเนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
15. วิลเฮลมีน อามาเลียแห่งเบราน์ชไวก์-ลือเนบูร์ก
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
31. เจ้าหญิงเบเนติกตา เฮนเรียตตาแห่งพาลาทิเนต
 
 
 
 
 
 

ในนิยาย[แก้]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ปรากฏตัวช่วงสั้น ๆ ในนิยาย ชีวิตพลิกผันของเคานต์แห่งมองเต กรีสโต ของอเล็กซองดร์ ดูมาส์

เคานต์แห่งพรอว็องส์ในวัยหนุ่ม รับบทโดยเซบาสเตียน อาร์เมสโต ในไม่กี่ฉากของภาพยนตร์ในปีค.ศ. 2006 เรื่องมารี อองตัวเน็ต โลกหลงของคนเหงา (Marie Antoinette) เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติที่เขียนบทและกำกับโดยโซเฟีย คอปโปลา ซึ่งมีฐานมาจากหนังสือ Marie Antoinette: The Journey ของเลดี แอนโทเนีย ฟราเซอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างข้อผิดพลาดครั้งใหญ่โดยกล่าวว่าพระองค์เป็นพระบิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 19 หรือ ดยุกแห่งอ็องกูแลม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นพระโอรสในพระเจ้าชาร์ลที่ 10 พระอนุชาของพระองค์

ในภาพยนตร์ปีค.ศ. 1970 เรื่องวอเตอร์ลู พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 รับบทโดยออร์สัน เวลส์

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูล[แก้]

  • Artz, Frederick Binkerd (1931). France Under the Bourbon Restoration, 1814-1830. Harvard University Press.
  • Artz, Frederick B. (1938). Reaction and Revolution 1814-1830. Harper & Row.
  • Frederking, Bettina. "‘Il ne faut pas être le roi de deux peuples’: strategies of national reconciliation in Restoration France." French History 22.4 (2008): 446-468. in English
  • Holroyd, Richard. "The Bourbon Army, 1815-1830." Historical Journal 14, no. 3 (1971): 529-52. online.
  • Mansel, Philip. "From Exile to the Throne: The Europeanization of Louis XVIII." in Philip Mansel and Torsten Riotte, eds. Monarchy and Exile (Palgrave Macmillan, London, 2011). 181-213.
  • Weiner, Margery. The French Exiles, 1789-1815 (Morrow, 1961).
  • Wolf, John B. France 1814-1919: the Rise of a Liberal Democratic Society (1940) pp 1-58.

อ้างอิง[แก้]

  1. "Louis XVIII (1755 - 1824) Le "Roi-fauteuil"" (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 12 August 2013.
  2. Hibbert, Christopher, The French Revolution, Penguin Books (London), 1982, ISBN 978-0-14-004945-9, pp. 331–332
  3. Nagel, Susan, Marie-Thérèse: Child of Terror Bloomsbury, USA, Reprint Edition 2008, ISBN 1-59691-057-7, pp. 152–153
  4. Fraser, Antonia, Marie Antoinette: The Journey, ORION, London 2002, ISBN 978-0-7538-1305-8, p. 532.
  5. Fraser, 532
  6. 6.0 6.1 Mansel, 10
  7. Fraser, 41
  8. 8.0 8.1 Mansel, 11
  9. Mansel, 12
  10. 10.0 10.1 Mansel, 20
  11. 11.0 11.1 Mansel, 24
  12. Mansel, 3
  13. Mansel, 13–14
  14. Fraser, 114
  15. Fraser, 115
  16. Fraser, 120
  17. 17.0 17.1 Mansel, 111
  18. Mansel, 14–15
  19. Louis XVII. John Murray. pp. 13–14. ISBN 0-7195-6709-2
  20. Fraser, 136–138
  21. Fraser, 143
  22. Mansel, 16
  23. Mansel, 21
  24. Castelot, André, Madame Royale, Librairie Académique Perrin, Paris, 1962, p. 15, ISBN 2-262-00035-2, (French).
  25. Fraser, 199
  26. Fraser, 201
  27. Fraser, 221 – 223
  28. Fraser, 224  –225
  29. Mansel, 28
  30. Mansel, 30
  31. Mansel, 29
  32. Mansel, 34
  33. Fraser, 178
  34. Hibbert, p 38
  35. Mansel, 40
  36. Mansel, 41
  37. Hibbert, 39
  38. Hibbert, 40
  39. Mansel, 44
  40. Hibbert, 329
  41. Mansel, 45
  42. Hibbert, 44
  43. Fraser, 326
  44. Le Petit Robert 2, Dictionnaire universel des noms propres, Dictionnaires Le Robert, Paris, 1988, p. 1017.
  45. Lever, Evelyne, Louis XVI, Fayard, Paris, 1985, p. 508.
  46. Fraser, 338
  47. Nagel, 65
  48. Fraser, 340
  49. Fraser, 342
  50. Fraser, 357
  51. Fraser, 361–362
  52. Fraser, 383
  53. Fraser, 412
  54. Nagel, 113
  55. Nagel 113–114
  56. Nagel, 118
  57. Hibbert, 180
  58. Nagel, 136
  59. Nagel, 152–153
  60. Nagel, 165
  61. 61.0 61.1 Nagel, 190
  62. 62.0 62.1 Nagel, 203
  63. Nagel, 201
  64. 64.0 64.1 Nagel, 216
  65. Nagel, 206
  66. 66.0 66.1 Nagel, 213
  67. Nagel, 210–211
  68. Nagel, 208
  69. Mansel, 128
  70. 70.0 70.1 Fiszerowa, Wirydianna (1998). Dzieje moje własne. Warsaw.
  71. Nagel 218–219
  72. Nagel, 220
  73. Nagel, 222
  74. Nagel, 223
  75. Nagel, 227 – 228
  76. Nagel, 228–229
  77. Mansel, 119
  78. Nagel, 233–234
  79. Nagel, 235
  80. Nagel, 243
  81. Nagel, 241
  82. Mansel, 147
  83. Mansel, 162
  84. Price, Munro, The Perilous Crown, Pan Books, 2 May 2008, ISBN 978-0-330-42638-1, p. 143
  85. [1], [2]
  86. Price, 113
  87. Mansel, 175
  88. Mansel, 176
  89. Price, 52
  90. สภาผู้แทนเปรียเสมือนสภาสามัญในอังกฤษ ในการที่จะมีสิทธิลงคะแนนเสียงให้สภาผู้แทนราษฎร ผู้มีสิทธิจะต้องเป็นชายที่บรรลุนิติภาวะและชำระเงินภาษี 300 ฟรังก์ต่อปี
  91. สภาขุนนางเป็นสภาสูงในฝ่ายนิติบัญญัติ และมีความคล้ายคลึงกับสภาขุนนางของอังกฤษ
  92. biens nationaux คือที่ดินและสินทรัพย์ รวมทั้งผลงานศิลปะ ที่สาธารณรัฐยึดมาจาก "พระ" "ขุนนาง" และ "ผู้ลี้ภัย" ผู้ซึ่งต้องสูญเสียที่ดินและสิ่งของมีค่าของพวกเขานั้นก็ได้รับชดเชยในรัชสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ 10 พระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 18
  93. Price, 53
  94. Price, 54
  95. Price, 55
  96. Price, 69
  97. Mansel, 190
  98. Mansel, 192
  99. Mansel, 196
  100. Mansel, 197
  101. Price, 75
  102. Mansel, 222
  103. Price, 79
  104. Price, 80
  105. Price, 81
  106. Price, 82–83
  107. Price, 83
  108. Mansel, 253
  109. Mansel, 254
  110. Mansel, 255
  111. Mansel, 256
  112. Mansel, 260
  113. Mansel, 261
  114. Mansel, 266
  115. Lever, Évelyne, Louis XVIII, Fayard, Paris, 1988, p. 417.
  116. Price, 84
  117. Mansel, 424
  118. Mansel, 425
  119. Mansel, 426
  120. Mansel, 427
  121. Price, 95–96
  122. Price, 95–96
  123. Price, 93
  124. Price, 94
  125. Price, 98
  126. 126.0 126.1 Price, 106–107
  127. Mansel, 194
  128. Nagel, 287
  129. Price, 108
  130. Price, 109
  131. Lever, Louis XVIII, 537
  132. Price, 110
  133. Nagel
  134. Nagel, 297–298


ก่อนหน้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ถัดไป
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1
ในฐานะจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส

พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่หนึ่ง

(11 เมษายน ค.ศ. 1814 – 20 มีนาคม ค.ศ. 1815)
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1
ในฐานะจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1
ในฐานะจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส

พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่สอง

(7 กรกฎาคม ค.ศ. 1815 – 16 กันยายน ค.ศ. 1824)
พระเจ้าชาร์ลที่ 10
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1
ผู้ปกครองร่วมแห่งอันดอร์รา
(7 กรกฎาคม ค.ศ. 1815 – 16 กันยายน ค.ศ. 1824)
พระเจ้าชาร์ลที่ 10
ว่าง
ลำดับก่อนหน้า
ฟิลิป

ดยุกแห่งอ็องฌู
(ค.ศ. 1771 – ค.ศ. 1790)
ว่าง
ลำดับถัดไป
ฌาคส์
พระเจ้าหลุยส์ที่ 17
ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่หนึ่ง
เหตุจากการปฏิวัติฝรั่งเศส

(8 มิถุนายน ค.ศ. 1795 – 11 เมษายน ค.ศ. 1814)
เป็นพระมหากษัตริย์
การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งที่หนึ่ง
สูญเสียอิสริยยศ
การกลับมาของนโปเลียน

ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสและนาวาร์
ครั้งที่สอง
เหตุจากสมัยร้อยวัน

(20 มีนาคม – 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1815)
กลับคืนอิสริยยศ
การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งที่สอง