การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
“การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา” โดยฌ็อง-บาติสต์ อีซาแบ ราว ค.ศ. 1819 แม้ว่าผู้แทนจากทุกรัฐที่เข้าร่วมสงครามจะได้รับการเชิญมาประชุม แต่การต่อรองที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นไปโดย “สี่มหาอำนาจ” ซึ่งได้แก่บริเตน รัสเซีย ฝรั่งเศส และออสเตรีย

การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (อังกฤษ: Congress of Vienna) คือ การประชุมราชทูตจากรัฐต่าง ๆ ในยุโรป มีรัฐบุรุษออสเตรีย เคลเมนส์ เวนเซิล ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens Wenzel von Metternich) เป็นประธาน ประชุมกันที่เวียนนาระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1814 จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1815[1] จุดประสงค์ของการประชุม คือ ตกลงกันในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส, สงครามนโปเลียน และการยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จุดประสงค์เป็นผลให้แผนที่ทางการเมืองของยุโรปต้องร่างใหม่หมด เป็นการก่อตั้งเขตแดนฝรั่งเศส, วอร์ซอของนโปเลียน, เนเธอร์แลนด์, รัฐต่าง ๆ ที่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐแห่งไรน์, จังหวัดแซกโซนีของเยอรมนีและดินแดนต่าง ๆ ของอิตาลี และก่อตั้งเขตอิทธิพล (spheres of influence) ซึ่งประกอบด้วยฝรั่งเศส ออสเตรีย รัสเซีย และบริเตนผู้มีหน้าที่ตัดสินปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค "การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา" เป็นกลายมาเป็นโครงร่างแบบอย่างของการก่อตั้งสันนิบาตชาติและสหประชาชาติต่อมา ตามจุดประสงค์ของการแสวงหาความสันติสุขจากบรรดาภาคีสมาชิก

สาเหตุของการประชุมมาจากการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสและการยอมแพ้อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1814 ที่เป็นการยุติสงครามที่ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาร่วมยี่สิบปี การต่อรองก็ยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าจะเกิดการต่อสู้ที่เกิดจากการเดินทางกลับมายึดอำนาจการครอบครองฝรั่งเศสคืนของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ระหว่างสมัยร้อยวัน (Hundred Days) ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1815 "กิจการสุดท้าย" ของการประชุมคือการลงนามเก้าวันก่อนที่จักรพรรดินโปเลียนจะทรงพ่ายแพ้ในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1815

สิ่งที่เป็นความพิเศษของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาก็คือเป็นการชุมนุมที่มิใช้การประชุมอย่างเป็นทางการ ที่มิได้มีการประชุมเต็มคณะ (plenary session) การพบปะกันส่วนใหญ่เป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ การพบกันตัวต่อตัว หรือการประชุมระหว่างมหาอำนาจฝรั่งเศส ออสเตรีย รัสเซีย และบริเตน และบางครั้งก็รวมปรัสเซียกับผู้แทนผู้เข้าร่วมประชุมผู้อื่น แต่จะอย่างไรก็ตาม การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาก็เป็นเหตุการณ์แรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นการประชุมระดับทวีปที่พยายามหาทางตกลงสนธิสัญญาร่วมกัน แทนที่จะใช้ผู้ถือสาส์นติดต่อกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าข้อตกลงจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างหลังจากนั้น แต่ก็กลายเป็นโครงสร้างทางการเมืองระดับนานาชาติของยุโรปมาจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1914

ที่มา[แก้]

ความตกลงบางอย่างเริ่มขึ้นแล้วก่อนหน้าที่จะมีการประชุมในสนธิสัญญาปารีสระหว่างฝรั่งเศสกับสัมพันธมิตรที่หก (Sixth Coalition) และในสนธิสัญญาคีลซึ่งครอบคลุมปัญหาที่เกี่ยวกับสแกนดิเนเวีย สนธิสัญญาปารีสริเริ่มความคิดของการ "ประชุมทั่วไป" ที่ควรจะจัดขึ้นในกรุงเวียนนา และกล่าวว่าคำเชิญควรจะออกให้แก่ "ประเทศอำนาจทุกประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายในสงครามนี้"[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bloy, Marjie (30 April 2002). "The Congress of Vienna, 1 November 1814 — 8 June 1815". The Victorian Web. สืบค้นเมื่อ 2009-01-09.
  2. Article XXXII. See Harold Nicolson, The Congress of Vienna, chap. 9.

ดูเพิ่ม[แก้]