พระเจ้าโลแทร์แห่งฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าโลแทร์แห่งฝรั่งเศส
พระมหากษัตริย์แฟรงก์
รัชสมัย954 – 986
ก่อนหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 แห่งฝรั่งเศส
ถัดไปพระเจ้าหลุยส์ที่ 5 แห่งฝรั่งเศส
ประสูติ941
สวรรคต986 (พระชนมายุ 45 พรรษา)
พระนามเต็ม
พระเจ้าโลแทร์แห่งฝรั่งเศส
ราชวงศ์ราชวงศ์การอแล็งเฌียง
พระราชบิดาพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 แห่งฝรั่งเศส
พระราชมารดาเจอร์เบอร์กาแห่งแซกโซนี่

พระเจ้าโลแทร์แห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Lothaire de France) (941 - 986) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชนแฟรงค์ตะวันตก พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 14 ในราชวงศ์การอแล็งเฌียง

พระเจ้าโลแทร์ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 แห่งฝรั่งเศสกับเจอร์เบอร์กาแห่งแซกโซนี่[1] พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสในขณะที่มีพระชนมายุได้ 13 พรรษา[2]

ขึ้นครองบัลลังก์[แก้]

โลแธร์เสด็จพระราชสมภพในล็องช่วงใกล้สิ้นปี ค.ศ. 941 ทรงเป็นพระโอรสคนโตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 กับแกร์แบร์กาแห่งซัคเซิน[3] พระองค์สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระบิดาในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 954 ด้วยพระชนมายุ 13 พรรษา และได้รับการสวมมงกุฎที่วิหารแซ็งต์เรมีโดยอาร์ทูด์แห่งแร็ง อาร์ชบิชอปแห่งแร็งในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 954[4]


พระราชินีแกร์แบร์กาทำข้อตกลงกับอูกมหาราช ดยุคของชาวแฟรงก์และเคานต์แห่งปารีส น้องเขยผู้เป็นที่ปรึกษาของพระบิดาของพระเจ้าโลแธร์[5] โดยขอให้อูกสนับสนุนการปกครองของพระเจ้าโลธาร์แลกกับการที่อูกจะได้ปกครองดัชชีอากีแตนและพื้นที่หลายแห่งของราชอาณาจักรบูร์กอญ[6] ในฐานะกึ่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระเจ้าโลแธร์ได้รับราชอาณาจักรที่แตกเป็นเสี่ยงเป็นมรดก ผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มใหญ่ยึดที่ดิน, สิทธิ์ชอบธรรม และตำแหน่งต่างๆ เป็นของตนโดยแทบไม่สนใจพระราชอำนาจของกษัตริย์[7] ผู้ทรงอิทธิพลอย่างอูกมหาราชกับแอร์แบต์ที่ 2 เคานต์แห่งแวร์ม็องดัวส์มักคอยคุกคามอยู่ลับหลัง[8]


ในปี ค.ศ. 955 พระเจ้าโลแธร์กับอูกมหาราชร่วมกันปิดล้อมปัวติเยส์จนได้เมืองมา เมื่ออูกมหาราชสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 956 พระเจ้าโลแธร์ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษาตกอยู่ภายใต้การพิทักษ์ของบรูโน อาร์ชบิชอปแห่งโคโลญ พระอนุชาของพระเจ้าออทโทที่ 1 แห่งราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออกซึ่งเป็นพระมาตุลา พระเจ้าโลแธร์เป็นคนไกล่เกลี่ยสงบศึกระหว่างบุตรชายทั้งสองของอูก คือ อูก กาแปกับออทโท ดยุคแห่งบูร์กอญ ตามการแนะนำของบรูโน กษัตริย์พระราชทานปารีสและตำแหน่งดยุคของชาวแฟรงก์ให้อูก กาแป และยกดัชชีบูร์กอญให้บรูโนในปี ค.ศ. 956

ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เลวร้ายลง[แก้]

การเป็นผู้พิทักษ์ของอาร์ชบิชอปบรูโนแห่งโคโลญดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 965 และคอยชี้แนะแนวทางด้านการเมืองให้พระเจ้าโลแธร์สวามิภักดิ์ต่อราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออกซึ่งวิวัฒนาการเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเยอรมัน แม้จะยังเด็ก แต่พระเจ้าโลแธร์ต้องการปกครองเพียงผู้เดียวและต้องการมีอำนาจเหนือข้าราชบริพารมากกว่าที่มีอยู่ ความต้องการเป็นเอกราชทางการเมืองทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพระญาติฝั่งมารดาตกต่ำลงจนนำไปสู่การทำสงครามกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา แต่กระนั้นพระเจ้าโลแธร์ก็ยังอยากรักษาสายสัมพันธ์กับจักรพรรดิออทโทที่ 1 ไว้ จึงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอ็มมาแห่งอิตาลี (พระธิดาคนเดียวของจักรพรรดินีอาเดล์ไฮด์แห่งบูร์กอญ พระมเหสีคนที่สองของจักรพรรดิออทโทที่ 1 ทรงเป็นพระธิดาจากการอภิเษกสมรสครั้งแรกกับพระเจ้าโลแธร์ที่ 2 แห่งราชวงศ์โบโซนิดของจักรพรรดินี) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 966[9]


ในปี ค.ศ. 962 เบาด์วินที่ 3 เคานต์แห่งฟลานเดอส์ บุตรชาย, ผู้ปกครองร่วม และทายาทของอาร์นูล์ฟที่ 1 เคานต์แห่งฟลานเดอส์ เสียชีวิต อาร์นูล์ฟจึงยกฟลานเดอส์ให้พระเจ้าโลแธร์ เมื่ออาร์นูล์ฟเสียชีวิตในปี ค.ศ. 965 พระเจ้าโลแธร์บุกฟลานเดอส์และยึดหลายเมืองมาได้ แต่สุดท้ายก็ถูกผู้สนับสนุนของอาร์นูล์ฟที่ 2 เคานต์แห่งฟลานเดอส์ขับไล่ พระเจ้าโลแธร์พยายามเพิ่มอิทธิพลในโลธาริงเจียที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในการครอบครองของตระกูลของพระองค์ จักรพรรดิออทโทที่ 2 ได้สนับสนุนการต่อต้านการรุกรานของพระเจ้าโลแธร์[10]


ในปี ค.ศ. 976 เรนเญร์ที่ 4 เคานต์แห่งมงส์กับล็อมแบต์ที่ 1 เคานต์แห่งลูแว็ง สองพี่น้องที่ถูกจักรพรรดิออทโทที่ 2 ปลดลงจากตำแหน่งที่ได้รับสืบทอดต่อจากบิดาหันไปสานสัมพันธไมตรีกับชาร์ลส์ (พระอนุชาของพระเจ้าโลแธร์) และออทโท เคานต์แห่งแวร์ม็องดัวส์ และเดินทัพเพื่อมาต่อสู้กับกองทหารจักรวรรดิ สมรภูมิครั้งใหญ่ที่ยังคงชี้ขาดผลแพ้ชนะไม่ได้เกิดขึ้นในมงส์[11][12] แม้พระเจ้าโลแธร์จะแอบสนับสนุนการทำสงครามครั้งนี้ แต่พระองค์ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาแทรกแซงช่วยเหลือสองพี่น้องโดยตรง


ชาร์ลส์อาศัยสถานการณ์นี้สถาปนาตนเองในโลธาริงเจีย[13] เป้าหมายหลักของพระองค์คือการทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพระเจ้าโลแธร์กับตระกูลอาร์เด็นส์ที่ภักดีต่อจักรพรรดิออทโทและทรงอำนาจมากในโลธาริงเจีย


ในปี ค.ศ. 977 ชาร์ลส์กล่าวหาว่าพระราชินีเอ็มมาคบชู้กับบิชอปอาดัลเบโรนแห่งล็อง เนื่องด้วยขาดหลักฐาน ทั้งพระราชินีและบิชอปจึงพ้นข้อกล่าวหา แต่ชาร์ลส์ที่ยังคงปล่อยข่าวลือไม่เลิกถูกพระเจ้าโลแธร์ขับไล่ออกจากราชอาณาจักร ตระกูลอาร์เด็นส์และกลุ่มชาวโลธาริงเจียที่ทำข้อตกลงกับจักรพรรดิออทโทที่ 2 ครองอำนาจเบ็ดเสร็จในราชสำนักของพระเจ้าโลแธร์


ทว่าจักรพรรดิออทโทที่ 2 โทษว่าเป็นความผิดพลาดของเรนเญร์ที่ 4 กับล็อมแบต์ที่ 2 ที่ไม่สามารถกอบกู้เคานตีแอโนต์กลับคืนมาได้ จึงแต่งตั้งชาร์ลส์เป็นดยุคแห่งโลร์เรนล่าง แคว้นที่รับผิดชอบดูแลครึ่งทางตอนเหนือของโลธาริงเจียซึ่งแยกตัวออกมาจากโลร์เรนล่างมาตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 950 การให้รางวัลชาร์ลส์ที่คลางแคลงในเกียรติของพระมเหสีของกษัตริย์ของชาวแฟรงก์ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กษัตริย์[14]

สงครามกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[แก้]

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 978 พระเจ้าโลแธร์เดินทัพไปโลร์เรนพร้อมกับอูก กาแป ข้ามแม่น้ำเมิซเข้ายึดอาเคิน แต่ไม่สามารถจับกุมตัวจักรพรรดิออทโทที่ 2 หรือชาร์ลส์ได้ จากนั้นะพระเจ้าโลแธร์ปล้นทำลายพระราชวังอาเคินของจักรพรรดิเป็นเวลาสามวัน ก่อนเปลี่ยนทิศทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกแทนทิศตะวันตก[10][15]


เพื่อเป็นการเอาคืน จักรพรรดิออทโทที่ 2 กับชาร์ลส์บุกราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 978 ทำลายแร็ง, ซัวส์ซงส์ และล็อง[16] พระเจ้าโลแธร์หนีพ้นเงื้อมมือของกองทัพจักรวรรดิ แต่ชาร์ลส์ได้รับการประกาศให้เป็นกษัตริย์ของชาวแฟรงก์[17] ในล็องโดยบิชอปดีทริชที่ 1 แห่งเมตซ์ พระญาติของจักรพรรดิออทโทที่ 1 กองทัพจักรวรรดิมุ่งหน้าไปปารีสและได้เผชิญหน้ากับกองทัพของอูก กาแป วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 978 จักรพรรดิออทโทที่ 2 และชาร์ลส์ไม่สามารถยึดปารีสได้ จึงล้มเลิกการปิดล้อมเมืองและถอยทัพกลับ กองทัพกษัตริย์แฟรงก์ซึ่งนำโดยพระเจ้าโลแธร์ไล่ล่าและปราบกองทหารจักรวรรดิได้ขณะกำลังข้ามแม่น้ำแอส์น[10] และกอบกู้ล็องกลับคืนมาได้ สถานการณ์บังคับให้จักรพรรดิออทโทหนีลี้ภัยไปอยู่ที่อาเคินกับชาร์ลส์

สงบศึกกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[แก้]

ความร่วมมือกันต่อกรกับจักรพรรดิออทโทที่ 2 ของชาวแฟรงก์ตะวันตกทำให้ราชวงศ์รอแบเตียงขึ้นมามีอำนาจพอๆ กับอูก กาแปที่คนในยุคนั้นให้ความเห็นว่ารับใช้พระเจ้าโลแธร์ด้วยความภักดี[18] การต่อสู้กับจักรพรรดิเพิ่มความแข็งแกร่งทางอำนาจให้อูก กาแป อำนาจของเขาชัดเจนขึ้นเมื่อได้ยึดมงเทรยล์ซูร์แมร์มาจากอาร์นูล์ฟที่ 2 เคานต์แห่งฟลานเดอส์ในปี ค.ศ. 980


พระเจ้าโลแธร์ต้องการหยุดยั้งความทะเยอทะยานของชาร์ลส์ พระอนุชาที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศ และตัดสินใจจะเจริญรอยตามพระบิดาในการรักษาการสืบทอดตำแหน่งไว้ให้พระโอรสของตน ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 979 เจ้าชายหลุยส์ได้รับการสวมมงกุฎเป็นผู้ปกครองร่วมหรือยุวกษัตริย์[19] แต่ไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริงจนกระทั่งพระเจ้าโลแธร์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 986[20][21] นับเป็นครั้งที่สองที่มีการปฏิบัติตามธรรมเนียมแบบใหม่นี้ในราชอาณาจักรของชาวแฟรงก์ตะวันตก ซึ่งต่อมาราชวงศ์กาแปเตียงได้รับเอาธรรมเนียมนี้มาใช้


หลังเหตุการณ์ดังกล่าว พระเจ้าโลแธร์เริ่มเข้าหาจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ บิชอปแห่งแร็งและบิชอปแห่งล็องกับตระกูลอาร์เด็นสนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์ครั้งนี้ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 980 พระเจ้าโลแธร์กับจักรพรรดิออทโทที่ 2 เจอกันที่มาร์กุตซูร์แชร์ในพรมแดนของชาวแฟรงก์ และบรรลุข้อตกลงในการทำสนธิสัญญาสันติภาพ[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. Detlev Schwennicke, Europäische Stammtafeln: Stammtafeln zur Geschichte der Europäischen Staaten, Neue Folge, Band II (Marburg, Germany: J. A. Stargardt, 1984), Tafel 1
  2. The Annals of Flodoard of Reims, 916–966, eds & trans. Steven Fanning: Bernard S. Bachrach (New York; Ontario, Can: University of Toronto Press, 2011), p. 60
  3. Detlev Schwennicke, Europäische Stammtafeln: Stammtafeln zur Geschichte der Europäischen Staaten, Neue Folge, Band II (Marburg, Germany: J. A. Stargardt, 1984), Tafel 1
  4. The Annals of Flodoard of Reims, 916–966, eds & trans. Steven Fanning: Bernard S. Bachrach (New York; Ontario, Can: University of Toronto Press, 2011), p. 60
  5. The Annals of Flodoard of Reims, 916–966, eds & trans. Steven Fanning: Bernard S. Bachrach (New York; Ontario, Can: University of Toronto Press, 2011), p. xix
  6. Bourchard, Constance Brittain (1999). "Burgundy and Provence: 879–1032". In Reuter, Timothy; McKitterick, Rosamond; Abulafia, David. The New Cambridge Medieval History: Vol. III, c.900 – c.1024. III (first ed.). Cambridge: Cambridge University Press. pp. 328–345, page 336.
  7. George Holmes, The Oxford Illustrated History of Medieval Europe (Oxford; New York: Oxford University Press, 1988), p. 163
  8. George Holmes, The Oxford Illustrated History of Medieval Europe (Oxford; New York: Oxford University Press, 1988), p. 163
  9. Jim Bradbury, The Capetians: Kings of France, 987–1328, (London: Hambledon Continuum, 2007), p. 42
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Jim Bradbury, The Capetians: Kings of France, 987–1328 (London: Hambledon Continuum, 2007), p. 43
  11. Lecouteux 2004, p. 11.
  12. Lecouteux 2004, p. 11.
  13. Sassier 1995, p. 161.
  14. Sassier 1995, p. 162.
  15. Sassier 1995, p. 163.
  16. Pierre Riché, The Carolingians; A Family Who Forged Europe, trans. Michael Idomir Allen (Philadelphia: University of Pennsylvania Press, 1993), pp. 276–77
  17. Thérèse Charmasson, Anne-Marie Lelorrain, Martine Sonnet: Chronologie de l'histoire de France, 1994, p. 90 online.
  18. Sassier 1995, pp. 164–165.
  19. Carlrichard Brülh: Naissance de deux peuples, Français et Allemands (10th‑11th siècle), Fayard, August 1996, p. 247.
  20. Bradbury, Jim (2007). "Chapter 3: The new principalities, 800–1000". The Capetians: Kings of France, 987–1328. London: Hambledon Continuum. p. 45.
  21. Sullivan, Richard E. (1989). "The Carolingian Age: Reflections on Its Place in the History of the Middle Ages". Speculum. 64: 267–306