ธีรัตถ์ รัตนเสวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธีรัตถ์ รัตนเสวี
ธีรัตถ์ ใน พ.ศ. 2557
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 – 31 มกราคม พ.ศ. 2557
(0 ปี 255 วัน)
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ก่อนหน้าทศพร เสรีรักษ์
ถัดไปยงยุทธ มัยลาภ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 (53 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองเพื่อไทย (2551–2561,2566–ปัจจุบัน)
ญาติพ.อ.หญิง ลาวัณย์ รัตนเสวี (มารดา)

ธีรัตถ์ รัตนเสวี (เกิด 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513) ชื่อเล่น เก๋ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายรายการและสื่อดิจิตอล สถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , อดีตผู้ดำเนินรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน, อดีตบรรณาธิการบริหาร อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์ และอดีตผู้ประกาศข่าว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส , อดีตผู้อำนวยการผลิต (Producer) และอดีตผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี

ประวัติ[แก้]

ธีรัตถ์เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513[1] ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายของ นายพิษณุ รัตนเสวี กับ พันเอกหญิง ลาวัณย์ รัตนเสวี [2] สำเร็จการศึกษานิเทศศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นเดียวกับ ตวงพร อัศววิไล ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ไก่ สมพล ปิยะพงศ์สิริ ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ , นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต(เกียรตินิยม) จาก New York Institute of Technology นอกจากนี้ธีรัตถ์ ยังได้เรียนต่อด้านประกาศนียบัตรการตลาดจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และประกาศนียบัตรด้านการบริหารโทรคมนาคม จาก San Francisco State University

ธีรัตถ์เริ่มการทำงานครั้งแรก ร่วมกับนิรมล เมธีสุวกุล โดยเป็นผู้ช่วยผู้ควบคุมการผลิต (Co-Producer) และผู้เขียนบท(Script Writer) ที่บริษัท ป่าใหญ่ครีเอชัน จำกัด ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ทุ่งแสงตะวัน เมื่อปี พ.ศ. 2534 ต่อมาเมื่อเข้าศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมทำงานเป็นทั้งผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ของรายการข่าวทางโทรทัศน์ ลองไอส์แลนด์นิวส์ทูไนต์ ที่นิวยอร์กเมื่อปี พ.ศ. 2535

การทำงาน[แก้]

เมื่อกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ธีรัตถ์ได้เริ่มงานกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2539 โดยเริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่เป็นผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และผู้ดำเนินรายการเศรษฐกิจ คือ สายตรงเศรษฐกิจ เส้นทางนักลงทุน และพิชิตธุรกิจ ร่วมกับ สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ จิรายุ ห่วงทรัพย์ กรุณา บัวคำศรี วิศาล ดิลกวณิช, ต่อมาขึ้นเป็นผู้ประกาศข่าวภาคหลัก และผู้อำนวยการผลิต (Producer) ในหลายรายการ อาทิ ข่าวเช้าสุดสัปดาห์ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เขาก็ยังเป็นผู้ประกาศข่าวค่ำ และหน้าที่เดิมจากยุคก่อนหน้า จนกระทั่งทีไอทีวียุติการออกอากาศ เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551 ระหว่างนั้น เขารับงานเป็นอาจารย์พิเศษ ให้กับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี พ.ศ. 2539 จนถึงปี พ.ศ. 2548 ไปพร้อมกันด้วย

ต่อมา ธีรัตถ์เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักโทรทัศน์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เขารับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมคิด ร่วมสร้าง ไทยพีบีเอส ก่อนจะเข้าเป็นบรรณาธิการบริหาร และผู้ประกาศข่าวเที่ยง และ ข่าวค่ำของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตั้งแต่เริ่มต้นออกอากาศ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน จนถึงสิ้นสุดปี พ.ศ. 2552 เขาจึงลาออกมารับงานพิธีกร ให้กับรายการMoney Wake Up ทางสถานีโทรทัศน์เพื่อเศรษฐกิจและการเงิน (Money Channel) อยู่ประมาณ 3 เดือน พร้อมๆ กับเริ่มทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียมวอยซ์ทีวี ตั้งแต่ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการข่าว และพิธีกรข่าวในรายการเศรษฐกิจ แคชโฟลว, มาร์เก็ตเพลส, วอยซ์มาร์เก็ต ตามลำดับ ในรายการสนทนาเชิงวิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบัน อินเทลลิเจนซ์ และรายการวิเคราะห์ข่าวภาคเช้า เวคอัปไทยแลนด์ ต่อมาบริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานใหม่ โดยมอบหมายให้เขารับตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายอินเทอร์เน็ตและรายการไลฟ์สไตล์ (Internet and Lifestyle Manager) ซึ่งกำกับดูแลทางออนไลน์และสื่อใหม่ และหัวหน้าฝ่ายอำนวยการผลิต (Head of Production) ซึ่งกำกับดูแลภาพรวมของการผลิตรายการต่างๆ รวมทั้งยังเป็นพิธีกรข่าวตามเดิม

นับจากต้นปี พ.ศ. 2555 ธีรัตถ์เข้าเป็นผู้ดำเนินรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ซึ่งออกอากาศในทุกวันเสาร์ เวลา 08:00-09:00 น. ผ่านทางเครือข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ และเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เขาลาออกจากทุกตำแหน่งในวอยซ์ทีวี ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม[3] และลาออกจากตำแหน่งโฆษกรัฐบาล ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2557[4]

หลังจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ธีรัตถ์ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อจนลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557[5] เพื่อกลับไปทำงานที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีที่เพิ่งประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดิน โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายรายการและสื่อดิจิตอล ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยเข้าร่วมดำเนินรายการต่างๆ เช่น วอยซ์นิวส์ เวคอัปนิวส์ วอยซ์อินไซท์ และทูไนท์ไทยแลนด์ ก่อนจะยุติบทบาทลงหลังจากวอยซ์ทีวีปรับโครงสร้างองค์กรในปลายปี พ.ศ. 2560 แต่ได้กลับมาดำเนินรายการทูไนท์ไทยแลนด์อีกครั้ง ภายหลังจากการปรับโครงสร้างอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2561

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. รู้จัก "ธีรัตถ์ รัตนเสวี" โฆษกรัฐบาลป้ายแดง ให้มากขึ้น
  2. รับรอง พ.อ.หญิง ลาวัณย์ รัตนเสวี และครอบครัว. 3-5 มิถุนายน พ.ศ. 2555[ลิงก์เสีย] สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจำกรุงปารีส
  3. "ครม.ตั้ง 'ธีรัตถ์ รัตนเสวี' นั่งโฆษกรัฐบาล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-13. สืบค้นเมื่อ 2013-05-21.
  4. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้าราชการการเมืองลาออกจากตำแหน่ง (นายธีรัตถ์ รัตนเสวี)
  5. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้าราชการการเมืองลาออกจากตำแหน่ง
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๖ เก็บถาวร 2022-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๐ ข หน้า ๒๒๑, ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า ธีรัตถ์ รัตนเสวี ถัดไป
ทศพร เสรีรักษ์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 - 31 มกราคม พ.ศ. 2557)
ยงยุทธ มัยลาภ