โฉมหน้าศักดินาไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โฉมหน้าศักดินาไทย  
หน้าปกหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2550) โดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญา
ผู้ประพันธ์จิตร ภูมิศักดิ์
ประเทศไทย
ภาษาไทย
หัวเรื่องศักดินา, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
ประเภทสารคดี
สำนักพิมพ์สภาหน้าโดม ธรรมศาสตร์, สภากาแฟ, เกตรศาสตร์, แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่ และชมรมคนรุ่นใหม่ รามคำแหง
วันที่พิมพ์พ.ศ. 2500 (บทความวารสาร)
พ.ศ. 2517 (รวมเล่มครั้งแรก)
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์
571 จ433ฉ

โฉมหน้าศักดินาไทย เป็นผลงานโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ "โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน" ในวารสาร นิติศาสตร์ฉบับศตวรรษใหม่ พ.ศ. 2500 ก่อนที่ตีพิมพ์ครั้งที่สองใน พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เชียงใหม่และรามคำแหง[1] จัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทสารคดี

ผลงานดังกล่าวเขียนขึ้นในยุคที่ประเทศไทยยังมีสภาพกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา[2] ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเนื่องจากเสนอประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองที่แตกต่างไปจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก ปฏิกิริยาต่อหนังสือนี้ทำให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเขียนหนังสือ "ฝรั่งศักดินา" โต้[2] จิตรใช้วิธีวิเคราะห์แบบวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ในสำนักลัทธิมากซ์[3]: 19, 24  ทั้งนี้ เป็นผลงานที่ต้นฉบับไม่สมบูรณ์[3]: 24  หนังสือมีเนื้อหากล่าวถึงศักดินาทั่วไปและศักดินาไทย ตลอดจนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทยโดยคร่าว ๆ ตั้งแต่บรรพกาลจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ที่พัฒนาจากสังคมทาสมาเป็นสังคมศักดินา ตลอดจนการดำรงอยู่ของพระมหากษัตริย์ไทยที่สร้างปัญหาให้แก่รัฐและสังคม[2] ชี้ให้เห็นลักษณะขูดรีดของชนชั้นศักดินา หลักฐานยืนยันลำดับชั้นทางสังคมของไทยที่สามารถเปลี่ยนลำดับชั้นทางสังคมได้ยาก สภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของชนชั้นไพร่และทาส

เนื้อหา[แก้]

ในส่วน "กล่าวนำ" จิตรกล่าวว่า จักรวรรดินิยมและศักดินาเป็นตัวการกดขี่ขูดรีดประชาชน กล่าวถึงความหมายของคำว่าจักรวรรดินิยม และชี้ให้เห็นถึงความหมายของศักดินาโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ในการผลิต

ส่วน "ลักษณะระบบการผลิตศักดินาโดยทั่วไป" นิยาม "ศักดินา" ว่าเป็น "อำนาจที่กำหนดรูปแบบของชีวิตที่มีมากตามปริมาณที่ดิน"[4] กล่าวถึงลักษณะทางเศรษฐกิจในสมัยศักดินา ซึ่งได้แก่ การที่ผู้ทำงานในที่ดินจะต้องเสียค่าเช่าแก่เจ้าศักดินา และอยู่ภายใต้ระบบแรงงานเกณฑ์ กล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ในสมัยศักดินา และกล่าวถึงลักษณะทางวัฒนธรรมในสมัยนั้น อันประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแบบเหลื่อมล้ำ การเหยียดสตรีและเด็ก การผูกขาดทางวัฒนธรรมของชนชั้นศักดินา

ธรรมเกียรติ กันอริ เขียนว่า เนื้อหาของวิทยานิพนธ์ The Organization of Thai Society in the Early Bangkok Period 1782–1873 ของหม่อมราชวงศ์อคิน รพีพันธ์ เห็นพ้องกับเนื้อหาในหนังสือนี้อยู่มาก[3]: 24 

บทวิจารณ์[แก้]

เครก เรโนลส์เขียนว่า แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวไทยในคริสต์ทศวรรษ 1970 จะสอบสวนได้ไกลกว่าจิตร ภูมิศักดิ์แล้ว แต่ผลงานนี้ยังทรงพลังอยู่เพราะเป็นผลงานชิ้นแรกที่บอกเล่าถึงศักดินา[5]: 143 

มีบทวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ระบุว่าจิตรเขียนหนังสือนี้โดยไม่ได้ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นการตีความโดยใช้ลัทธิมากซ์เข้าไปตีความหมายทุกกรณี และวิจารณ์ต่อไปว่า ผู้อ่านหนังสือนี้คงต้องมีพื้นฐานลัทธิมากซ์มาก่อน[3]: 22 

การดัดแปลง[แก้]

หนังสือนี้ได้รับการแปลโดยเครก เรโนลส์ (Craig Reynolds) เป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า The Real Face of Thai Feudalism Today ทำให้หนังสือดังกล่าวเป็นที่รู้จักในหมู่นักวิชาการนอกประเทศไทยมากขึ้น[6]: 105–6 

อ้างอิง[แก้]

  1. จิตร ภูมิศักดิ์. หน้า 6.
  2. 2.0 2.1 2.2 จิตร ภูมิศักดิ์ : นักคิดฝ่ายซ้ายผู้ไม่มีวันตาย[ลิงก์เสีย]. สืบค้น 13-5-2554.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 กันอริ, ธรรมเกียรติ. "โฉมหน้าศักดินาไทยในสายตาของจิตร ภูมิศักดิ์". โฉมหน้าศักดินาไทย (9 ed.).
  4. จิตร ภูมิศักดิ์. หน้า 43-44.
  5. Reynolds, Craig J. (1985). "Feudalism as a Trope or Discourse for the Asian Past with special reference to Thailand". Sydney Studies in Society and Culture. 2. doi:10.20495/seas.7.1_103. สืบค้นเมื่อ 2020-7-19. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  6. Chonlaworn, Piyada (April 2018). "Jit Phumisak and His Images in Thai Political Contexts". Southeast Asian Studies. 7 (1). doi:10.20495/seas.7.1_103. สืบค้นเมื่อ 2020-7-19. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งปฐมภูมิ