อำเภออู่ทอง
อำเภออู่ทอง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe U Thong |
ที่ว่าการอำเภออู่ทอง | |
คำขวัญ: แหล่งรอยพระพุทธบาท เกียรติประกาศเรื่องทอผ้า เจ้าพ่อพระยาจักร ถิ่นรักไทยทรงดำ ถ้ำเสือพระดี มีคอกช้างดิน ถิ่นเก่าน้ำตก | |
แผนที่จังหวัดสุพรรณบุรี เน้นอำเภออู่ทอง | |
พิกัด: 14°22′32″N 99°53′32″E / 14.37556°N 99.89222°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | สุพรรณบุรี |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 630.29 ตร.กม. (243.36 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 120,436 คน |
• ความหนาแน่น | 191.08 คน/ตร.กม. (494.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 72160, 72220(เฉพาะตำบลสระยายโสม สระพังลาน และดอนมะเกลือ) |
รหัสภูมิศาสตร์ | 7209 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภออู่ทอง หมู่ที่ 6 ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
อู่ทอง เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี แต่เดิมมีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า อำเภอจรเข้สามพัน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 ตำบล ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณท้าวอู่ทอง และเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น "อำเภออู่ทอง" ในปี 2482 ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป้น 13 ตำบล
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอดอนเจดีย์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสองพี่น้อง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอพนมทวน อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ (จังหวัดกาญจนบุรี)
ประวัติศาสตร์
[แก้]เมืองโบราณอู่ทองตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจระเข้สามพัน มีลักษณะเป็นรูปวงรีขนาด 1,850 x 820 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทิศตะวันตกเป็นเขารางกะปิด เขาคำเทียม และเขาพระ ทิศตะวันออกเป็นที่ราบกักเก็บน้ำ นอกเมืองมีแนวคันดินเป็นถนนโบราณเรียกว่า "ถนนท้าวอู่ทอง" และแนวคันดินรูปเกือกม้าเรียกว่า "คอกช้างดิน" คงจะเป็นเพนียดคล้องช้างโบราณหรือสระเก็บน้ำในศาสนาพราหมณ์
เมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย 2,500-2,000 ปีมาแล้ว โดยพบเครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา แวปั่นด้ายดินเผา เป็นต้น ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนาตนเองไปสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 5-9 ทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองออกแก้ว (ทางภาคใต้ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ได้พบลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิวิกโตรีนุส เป็นต้น อู่ทองได้รับรูปแบบทางศาสนาและศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย ได้พบปฏิมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 รูปอุ้มบาตร และพระพุทธรูปปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี เป็นต้น ศาสตราจารย์ชอง บวสลีเย เชื่อว่าเมืองอู่ทองน่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงส่งพระสมณทูตเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ. 270-311 นายพอล วิตลีย์เชื่อว่า เมืองจินหลินตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง เป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมันแห่งอาณาจักรฟูนันปราบได้ในพุทธศตวรรษที่ 9
เมื่ออาณาจักรฟูนันสลายลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 รัฐทวารวดีได้เจริญขึ้นมาแทนที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและรุ่งเรืองสูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 โดยมีบันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจังได้กล่าวถึงอาณาจักรโตโลโปตี้ (หมายถึง "ทวารวดี") และได้พบเหรียญเงินจารึกว่า "ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ" เป็นการยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี โดยมีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ วัฒนธรรมทวารวดี ประชาชนนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นหลัก ใช้ภาษามอญ ยึดคติทางศาสนารูปแบบศิลปะคุปตะจากอินเดีย โบราณสถานโบราณวัตถุที่พบในเมืองอู่ทองเป็นศิลปกรรมในสมัยทวารวดี เช่น เศียรพระพุทธรูปทองคำ เจดีย์ พระพุทธรูปปางประทานธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปะศรีวิชัยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ได้เผยแพร่เข้ามา โดยได้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ
เมืองอู่ทองได้หมดความสำคัญและร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 16 จึงรอดพ้นจากอิทธิพลเขมรที่เข้ามามีอำนาจมากในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในรัชสมัยของกษัตริย์ขอมนักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยปรากฏเมืองโบราณสุพรรณบุรีเจริญขึ้นมาแทนที่
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นมณฑล เมือง อำเภอ และตำบล อำเภออู่ทองจึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 โดยมีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า อำเภอจรเข้สามพัน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 ตำบล ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า ท้องที่อำเภอจรเข้สามพันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่เรียกว่า "เมืองท้าวอู่ทอง" จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากหมู่บ้านจรเข้สามพันมาตั้ง ณ บริเวณเมืองโบราณท้าวอู่ทอง และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอจรเข้สามพันเป็น อำเภออู่ทอง เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482[1]
ภูมิประเทศ
[แก้]พื้นที่ในอำเภออู่ทอง แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ
- ภูมิประเทศแบบภูเขาและที่สูง สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดสลับกับลอนชันจนถึงเทือกเขาสูงชัน ภูเขาที่พบส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานทำการระเบิดหินอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านโข้ง ตำบลดอนคา ตำบลหนองโอ่ง ตำบลพลับพลาไชย ตำบลอู่ทอง
- ภูมิประเทศแบบลูกคลื่นลอนลาด ลักษณะเป็นพื้นที่ถัดจากเขตภูเขา ได้แก่ พื้นที่ในเขตตำบลบ้านโข้ง ตำบลดอนคา ตำบลหนองโอ่ง ตำบลอู่ทอง ตำบลจรเข้สามพัน
- ภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน เป็นบริเวณมีความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ พื้นที่ในเขตตำบลอู่ทอง ตำบลจรเข้สามพัน ตำบลสระยายโสม ตำบลสระพังลาน ตำบลดอนมะเกลือ ตำบลยุ้งทลาย ตำบลเจดีย์
สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นภูเขาและมีพื้นที่สูงทางด้านตะวันตกขึ้นไปจนถึงทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ราบอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีลำน้ำสายหลักคือ ลำน้ำจรเข้สามพัน และลำน้ำสายย่อย ปัจจุบันลำน้ำส่วนใหญ่ตื้นเขิน
ภูมิอากาศ
[แก้]สภาพภูมิอากาศมีลักษณะคล้ายกับบริเวณพื้นที่อื่นในพื้นที่ราบภาคกลาง คือ มี 3 ฤดูกาล คือ
- ฤดูร้อน ประมาณ 3 เดือน (กุมภาพันธ์ - เมษายน)
- ฤดูฝน ประมาณ 6 เดือน (พฤษภาคม - ตุลาคม)
- ฤดูหนาว ประมาณ 3 เดือน (พฤศจิกายน - มกราคม)
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภออู่ทองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 ตำบล 154 หมู่บ้าน
1. | อู่ทอง | (U Thong) | 8. | ดอนคา | (Don Kha) | |||||||||
2. | สระยายโสม | (Sa Yai Som) | 9. | พลับพลาไชย | (Phlapphla Chai) | |||||||||
3. | จรเข้สามพัน | (Chorakhe Sam Phan) | 10. | บ้านโข้ง | (Ban Khong) | |||||||||
4. | บ้านดอน | (Ban Don) | 11. | เจดีย์ | (Chedi) | |||||||||
5. | ยุ้งทะลาย | (Yung Thalai) | 12. | สระพังลาน | (Sa Phang Lan) | |||||||||
6. | ดอนมะเกลือ | (Don Makluea) | 13. | กระจัน | (Krachan) | |||||||||
7. | หนองโอ่ง | (Nong Ong) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภออู่ทองประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลอู่ทอง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลอู่ทอง
- เทศบาลตำบลสระยายโสม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลสระยายโสม
- เทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระยายโสม (นอกเขตเทศบาลตำบลสระยายโสม)
- เทศบาลตำบลบ้านดอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านดอนทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอู่ทอง (นอกเขตเทศบาลตำบลอู่ทอง)
- เทศบาลตำบลบ้านโข้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านโข้งทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลกระจัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกระจันทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลเจดีย์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเจดีย์ทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลจรเข้สามพัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจรเข้สามพันทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลยุ้งทะลาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลยุ้งทะลายทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะเกลือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนมะเกลือทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโอ่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองโอ่งทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนคาทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพลับพลาไชยทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสระพังลาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระพังลานทั้งตำบล
การคมนาคม
[แก้]การเดินทางมายังอำเภออู่ทองนั้นสามารถมาได้หลายเส้นทาง เช่น
- ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 321 (ถนนมาลัยแมน) ที่จังหวัดนครปฐม ผ่านนครปฐม-อำเภอกำแพงแสน-บ้านทุ่งคอก-บ้านสระยายโสม-อู่ทอง ระยะทางประมาณ 128 กิโลเมตร
- ทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง-ชัยนาท) แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 357 (ทางเลี่ยงเมืองสุพรรณบุรี) แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 321 ผ่านบางบัวทอง-อำเภอลาดบัวหลวง-อำเภอบางปลาม้า-สุพรรณบุรี-บ้านสวนแตง-อู่ทอง ระยะทางประมาณ 122 กิโลเมตร
การศึกษา
[แก้]ในเขตอำเภออู่ทองประกอบไปด้วยสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา 5 แห่ง ได้แก่
- โรงเรียนอู่ทอง ตำบลอู่ทอง
- โรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย ตำบลอู่ทอง
- โรงเรียนสระยายโสมวิทยา ตำบลสระยายโสม
- โรงเรียนดอนคาวิทยา ตำบลดอนคา
- โรงเรียนรัตนศึกษา ตำบลอู่ทอง
ระดับประถมศึกษา ในเขตตำบลอู่ทอง 5 แห่ง ได้แก่
- โรงเรียนอนุบาลบ้านท่าพระยาจักร
- โรงเรียนปรีดาวิทย์
- โรงเรียนวัดปทุมสราวาส
- โรงเรียนภาวนาภิมณฑ์พิทยา
- โรงเรียนยอเซฟอุปถัมป์
วิทยาลัย 1 แห่ง ได้แก่
ระดับอุดมศึกษา 2 แห่ง ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ตำบลจรเข้สามพัน และ บางส่วนของอำเภอห้วยกระเจา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ศูนย์การศึกษา อู่ทองทวารวดี
แหล่งท่องเที่ยว
[แก้]- วัดเขาดีสลัก
- วัดเขาพระศรีสรรเพชรญาราม(วัดเขาพระ)
- วัดเขาทำเทียม
- วัดเขากำแพง
- วัดเขาถ้ำเสือ
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง
- วนอุทยานแห่งชาติพุม่วง
- คอกช้างดิน
- ป่าพุหางนาค
- ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง(สวนสวรรค์สุพรรณบุรี)
สถานพยาบาล
[แก้]เขตอำเภออู่ทองมีโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่
- โรงพยาบาลอู่ทอง โรงพยาบาลชุมชนขนาด 134 เตียง[2]
- โรงพยาบาลธนบุรี-อู่ทอง โรงพยาบาลเอกชนขนาด 60 เตียง
- โรงพยาบาลวิภาวดีปิยราษฎร์ โรงพยาบาลเอกชนขนาด 60 เตียง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๒" (PDF). Royal Gazette. 56 (0 ก): 354–364. April 17, 1939. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 2010-08-15.
- ↑ http://www.waterforthai.go.th/disaster-info-country/disaster-info-province/?pcode=SPB[ลิงก์เสีย]