ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
ถ้วยรางวัลแชมป์ยุโรป | |
ผู้จัด | ยูฟ่า |
---|---|
ก่อตั้ง | 1958 |
ภูมิภาค | ยุโรป |
จำนวนทีม | 24 (รอบสุดท้าย) 54 (รอบคัดเลือก) |
ผ่านเข้าไปเล่นใน | คอนเมบอล–ยูฟ่าคัพออฟแชมเปียนส์ |
ทีมชนะเลิศปัจจุบัน | สเปน (สมัยที่ 4) |
ทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุด | สเปน (4 สมัย) |
เว็บไซต์ | uefa.com/uefaeuro |
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (อังกฤษ: European Football Championship[1]) หรือที่นิยมเรียกทั่วไปว่า ฟุตบอลยูโร[2][3] เป็นการแข่งขันฟุตบอลที่จัดโดยสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เป็นการแข่งขันของทีมชาติชายชุดใหญ่ของสมาชิกยูฟ่าเพื่อหาทีมผู้ชนะเลิศแห่งทวีปยุโรป[4][5] เป็นการแข่งขันฟุตบอลที่มีผู้ชมมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากฟุตบอลโลก ซึ่งยูโร 2016 รอบชิงชนะเลิศ มีผู้ชมทั่วโลกประมาณ 600 ล้านคน[6] การแข่งขันจัดขึ้นทุก ๆ สี่ปี นับตั้งแต่ปี 1960[7][8][9] ยกเว้นครั้งปี 2020 ที่ถูกเลื่อนไปจัดในปี 2021 สืบเนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19 ในทวีปยุโรปแต่ยังคงใช้ชื่อว่า ยูโร 2020 มีกำหนดการแข่งขันเป็นในปีเลขคู่สลับระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก เดิมเรียกว่า ยูโรเปียนเนชันส์คัพ (อังกฤษ: European Nations' Cup) ก่อนเปลี่ยนเป็น ยูโรเปียนฟุตบอลแชมเปียนชิพ ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ครั้งปี 1968
ก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน ทุกทีมนอกเหนือจากทีมเจ้าภาพ (เจ้าภาพผ่านการคัดเลือกโดยอัตโนมัติ) จะแข่งขันกันในรอบคัดเลือก จนถึงปี 2016 ผู้ชนะการแข่งขันสามารถแข่งขันฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพในปีถัดไปได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น[10] ตั้งแต่ครั้งปี 2020 เป็นต้นไป ผู้ชนะจะได้แข่งขันในคอนเมบอล–ยูฟ่าคัพออฟแชมเปียนส์
การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 17 ครั้ง ชนะโดยทีมชาติ 10 ทีม ได้แก่ สเปน 4 สมัย เยอรมนี 3 สมัย อิตาลีและฝรั่งเศส 2 สมัย และสหภาพโซเวียต เชโกสโลวะเกีย เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก กรีซ และโปรตุเกส ชนะอย่างละหนึ่งสมัย จนถึงครั้งปัจจุบัน ทีมชาติสเปนเป็นทีมเดียวที่คว้าแชมป์ติดต่อกันได้ โดยทำได้ในปี 2008 และ 2012
ยูโร 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่เยอรมนี ทีมชนะเลิศตกเป็นของทีมชาติสเปนซึ่งคว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 4 เป็นประวัติการณ์หลังจากเอาชนะทีมชาติอังกฤษ 2–1 ในรอบชิงชนะเลิศที่สนามโอลึมพีอาชตาดีอ็อนที่เบอร์ลิน[11]
ประวัติ
[แก้]ยุคแรกเริ่ม 4 ทีม
[แก้]เริ่มมีการแข่งขันครั้งแรกขึ้นมาในปี 1960 ในชื่อว่า ฟุตบอลยูโรเปี้ยน เนชั่นส์ คัพ โดยเริ่มต้นรูปแบบการแข่งขันยังเป็นระบบการเล่นเหย้า-เยือนในรอบต้นๆ ก่อนที่จะเล่นแบบน็อกเอาต์ในรอบรองชนะเลิศ บุคคลที่ผลักดันให้มีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ในชาติเป็นกลางขึ้นมาคือ อองรี เดอลาเน่ย์ จากสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส และ ทำให้การแข่งขันรอบสุดท้ายครั้งแรกมีขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1960 โดยเป็นการพบกันระหว่าง สหภาพโซเวียต กับ ยูโกสลาเวีย ซึ่งผลลงเอยด้วยชัยชนะของทีมจากแดนหลังม่านเหล็กในช่วงต่อเวลาพิเศษ 2-1 ในปี 1964 ได้มีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวในเกมกีฬา เมื่อ กรีซ ปฏิเสธที่จะเล่นกับ แอลเบเนีย หลังมีสงครามระหว่างประเทศ โดยการเล่นรอบชิงชนะเลิศ จัดที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน และแชมป์ก็ตกเป็นของเจ้าภาพที่เอาชนะ สหภาพโซเวียต 2-1
เพิ่มเป็น 8 ทีม
[แก้]จากนั้นในปี 1968 ได้เปลี่ยนชื่อการแข่งขันจากฟุตบอลยูโรเปี้ยน เนชั่นส์ คัพ มาเป็น ยูฟ่า ยูโรเปี้ยน แชมเปี้ยนชิพ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันเป็นแบบแบ่งกลุ่มโดยมี 8 สาย และแชมป์ของแต่ละกลุ่มจะเข้ามาเล่นในรอบก่อนรองชนะเลิศ ที่ต้องแข่ง 2 นัด ก่อนเข้ารอบตัดเชือก โดยแชมป์ครั้งนี้เป็นของเจ้าภาพ อิตาลี ที่เอาชนะ ยูโกสลาเวีย 2-0 ในนัดรีเพลย์ หลังเกมแรกเสมอกัน 0-0 ฟุตบอลยูโร 1972 รอบสุดท้าย ที่ประเทศเบลเยียม ยังคงใช้รูปแบบการแข่งขันเหมือนที่ผ่านมา โดยแชมป์ตกเป็นของ เยอรมัน ตะวันตก ที่ถล่ม สหภาพโซเวียต ไปอย่างขาดลอย 3-0 จากการทำประตูของ แกร์ด มุลเลอร์ คนเดียว 2 ลูก จากนั้นอีก 4 ปีต่อมา รอบชิงชนะเลิศมีขึ้นที่ยูโกสลาเวีย โดยที่ เชโกสโลวะเกีย เสมอ เยอรมัน 2-2 ก่อนที่จะมีการดวลจุดโทษครั้งแรก และแชมป์ก็ตกเป็นของ ขุนพลเช็กในที่สุด
มาถึงศึกยูโร 1980 ได้เริ่มใช้ระบบการแข่งแบบใหม่ โดย 8 ทีมจะต้องมาเล่นรอบสุดท้าย ที่ประเทศอิตาลี และแบ่งการเล่นออกเป็น 2 กลุ่ม นำแชมป์ของแต่ละกลุ่มมาเล่นรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งปรากฏว่า เยอรมันตะวันตก คว้าแชมป์ไปครองหลังเฉือนชนะ เบลเยียม 2-1 จนกระทั่งในศึกยูโร 1984 ที่ฝรั่งเศส ได้มีการเปลี่ยนระบบการแข่งขันให้ 2 ทีมที่มีคะแนนดีที่สุดของทั้ง 2 กลุ่ม เข้ามาเล่นในรอบ ตัดเชือก และในที่สุดเจ้าบ้านซึ่งนำทีมโดย มิเชล พลาตินี่ ก็ชนะ สเปน 2-0 ในรอบชิงชนะเลิศ พร้อมกับคว้าแชมป์ได้อย่างงดงาม จาก
นั้นในปี 1988 เยอรมันตะวันตก ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบ้างโดยใช้รูปแบบเหมือนครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แฟนบอลเมืองเบียร์ต้องอกหัก ปล่อยให้ ฮอลแลนด์ ที่มีนักเตะชั้นเยี่ยมอย่าง มาร์โก แวน บาสเท่น, แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด และ รุด กุลลิท คว้าแชมป์ไปครอง หลังเอาชนะ สหภาพโซเวียต 2-0 ในรอบชิงชนะเลิศ มาถึงปี 1992 ที่สวีเดน ได้เกิดตำนานเทพนิยายเดนส์ขึ้นมา หลังจากทีมชาติเดนมาร์ก ได้เข้าร่วมการแข่งขันกะทันหัน เนื่องจาก ยูโกสลาเวีย ถูกตัดสิทธิ์ โดยขุนพลเมือง "โคนม" สร้างผลงานยอดเยี่ยมคว้าแชมป์ไปครองได้อย่างเหลือเชื่อทั้งที่มีเวลา เตรียมตัวไม่นานนัก
เพิ่มเป็น 16 ทีม
[แก้]ถึงศึกยูโร 1996 ที่อังกฤษ ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันอีกครั้ง โดยมี 16 ทีมเข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 4 ทีม และ 2 อันดับแรกของแต่ละสายจะได้เข้ามาเล่นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย นอกจากนั้น ยังมีการนำกฎ โกลเด้นโกล์มาใช้ครั้งแรกอีกด้วย และกฎนี้ก็ได้ใช้ตัดสินในรอบชิงชนะเลิศทันที โดยที่ โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟ หัวหอกเยอรมัน ซัดดับชีพ สาธารณรัฐเช็ก 2-1
จากนั้นในปี 2000 ก็เป็นครั้งแรกที่มีเจ้าภาพร่วมโดย เบลเยียม และ ฮอลแลนด์ รับหน้าเสื่อคู่กัน จุดไคลแมกซ์ของการแข่งขัน ครั้งนี้อยู่ที่การทำประตูโกลเด้นโกล์ของ ดาวิด เทรเซเก้ต์ ที่พาฝรั่งเศส เอาชนะ อิตาลี พร้อมกับคว้าแชมป์ไปครองได้อย่างยอดเยี่ยม การชิงชัย 11 สมัยที่ผ่านมา ทำให้ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป กลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่แฟนบอลพูดกันว่าเพียงเติมบราซิล และอาร์เจนตินาลงไปในบรรดาทีมที่เข้ารอบสุดท้ายของศึกยูโรแต่ละครั้ง เราก็จะพบกับฟุตบอลโลกอีกเวอร์ชันดีๆ นี่เอง
เพิ่มเป็น 24 ทีม
[แก้]ในครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) ทีมชาติในรอบสุดท้ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 24 ทีมชาติ จัดการแข่งขันที่สาธารณรัฐโปแลนด์และประเทศยูเครน การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีทีมลงแข่งขันในรอบสุดท้าย 24 ทีม เปลี่ยนจากการแข่งขันเดิมที่มี 16 ทีม ซึ่งเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ 1996 ภายใต้การจัดการแข่งขันแบบใหม่นั้น จะแบ่งเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม รอบแพ้คัดออกจะมี 3 รอบ และนัดชิงชนะเลิศ โดย 24 ทีมแบ่งเป็น 19 ทีม (แชมป์กลุ่มและรองแชมป์กลุ่มของรอบคัดเลือก 9 กลุ่ม รวมไปถึงทีมอันดับที่ 3 ทีมีคะแนนดีที่สุด)
ผลการแข่งขัน
[แก้]หมายเหตุ
- ↑ ไม่มีการเล่นต่อเวลา
- ↑ ไม่มีการแข่งชิงที่สามตั้งแต่ ค.ศ. 1980; ผู้ที่แพ้ในรอบก่อนชิงชนะเลิศเรียงตามอักษร
- ↑ เลื่อนแข่งใน ค.ศ. 2021 เนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19 ในทวีปยุโรป
- ↑ การแข่งขันรวมยุโรปมีเจ้าภาพ 11 ประเทศ ได้แก่: อาเซอร์ไบจาน, เดนมาร์ก, อังกฤษ, เยอรมนี, ฮังการี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, โรมาเนีย, รัสเซีย, สกอตแลนด์ และสเปน
ความสำเร็จในฟุตบอลยูโร
[แก้]ทีมชาติ | ชนะเลิศ | รองชนะเลิศ |
---|---|---|
สเปน | 4 (1964*, 2008, 2012, 2024) | 1 (1984) |
เยอรมนี1 | 3 (1972, 1980, 1996) | 3 (1976, 1992, 2008) |
อิตาลี | 2 (1968*, 2020*) | 2 (2000, 2012) |
ฝรั่งเศส | 2 (1984*, 2000) | 1 (2016*) |
รัสเซีย2 | 1 (1960) | 3 (1964, 1972, 1988) |
เช็กเกีย3 | 1 (1976) | 1 (1996) |
โปรตุเกส | 1 (2016) | 1 (2004*) |
สโลวาเกีย3 | 1 (1976) | — |
เนเธอร์แลนด์ | 1 (1988) | — |
เดนมาร์ก | 1 (1992) | — |
กรีซ | 1 (2004) | — |
เซอร์เบีย4 | — | 2 (1960, 1968) |
อังกฤษ | — | 2 (2020*, 2024) |
เบลเยียม | — | 1 (1980) |
- * เจ้าภาพ
- 1 แข่งขันในชื่อเยอรมนีตะวันตกจนถึง ค.ศ. 1990
- 2 รวมผลรวมที่เป็นตัวแทนสหภาพโซเวียต
- 3 ทั้งเช็กเกียและสโลวาเกียสืบทอดตำแหน่งของเชโกสโลวาเกียใน ค.ศ. 1976[12]
- 4 รวมผลรวมที่เป็นตัวแทนยูโกสลาเวีย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Regulations of the UEFA European Football Championship 2018–20". UEFA.com. Union of European Football Associations. 9 March 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 May 2021. สืบค้นเมื่อ 11 May 2021.
- ↑ Horn, Nicolas (3 June 2024). "Euro 2024 team guides part one: Germany". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 5 June 2024.
- ↑ Ostlere, Lawrence (4 June 2024). "England's Euro 2024 squad: Who's on the plane, who's in contention and who will miss out?". The Independent. สืบค้นเมื่อ 5 June 2024.
- ↑ Pandit, Rupa (2022-02-23). Physical Education: Textbook for ICSE Class 10 (ภาษาอังกฤษ). Oswal Publishers. ISBN 978-93-90278-47-3.
- ↑ Authors, Panel of. Arun Deep's 10 Years Solved Papers For ICSE Class 10 Exam 2023 - Comprehensive Handbook Of 15 Subjects - Year-Wise Board Solved Question Papers, Revised Syllabus 2023 (ภาษาอังกฤษ). Ravinder Singh and sons. p. 1558.
- ↑ "Euro 2016 seen by 2 billion on TV; 600m watch final". ESPN. 15 December 2016. สืบค้นเมื่อ 16 February 2024.
- ↑ "UEFA EURO 24 – The biggest European football tournament is here again after four years! | EXIsport Eshop EU". www.exisport.eu (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-03-21.
- ↑ Pyta, W.; Havemann, N. (2015-03-25). European Football and Collective Memory (ภาษาอังกฤษ). Springer. p. 59. ISBN 978-1-137-45015-9.
- ↑ Dunmore, Tom (2011-09-16). Historical Dictionary of Soccer (ภาษาอังกฤษ). Scarecrow Press. p. 250. ISBN 978-0-8108-7188-5.
- ↑ "2005/2006 season: final worldwide matchday to be 14 May 2006". FIFA.com. Fédération Internationale de Football Association. 19 December 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 July 2012. สืบค้นเมื่อ 13 January 2012.
- ↑ Morse, Ben (14 July 2024). "Spain wins Euro 2024, defeating England 2–1 in a dramatic final to win record fourth European Championship". CNN. สืบค้นเมื่อ 14 July 2024.
- ↑ "Most titles | History | UEFA EURO". UEFA.com. สืบค้นเมื่อ 5 June 2024.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- UEFA European Championship history at Union of European Football Associations
- European Championship results at the RSSSF