นิวรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นิวรณ์(อ่านว่า นิ-วอน) (บาลี: nīvaraṇāna) แปลว่า เครื่องกั้น ( hindrances ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ทางความคิดที่เป็นเครื่องปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ไม่ให้เข้าถึงจิต เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้ หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป

นิวรณ์มี 5 อย่าง คือ

  1. กามฉันทะ ความพอใจในกาม ( sensual desire ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท ความลุ่มหลง ความรักใคร่ ความต้องการทางเพศ การติดใจ ความต้องการ ความปรารถนา ความหลงใหลใฝ่ฝัน เป็นต้น
  2. พยาบาท ความปองร้าย ( illwill ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท ความโกรธ ความเกลียด ความแค้น ความริษยา ความดูหมิ่น ความผูกใจเจ็บ ความขัดเคืองใจ เป็นต้น
  3. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหดหู่ ( sloth and torpor ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท ความเกียจคร้าน ท้อแท้ เศร้าซึม หมดหวัง เสียใจ หมดอาลัย ไร้กำลังใจ ไม่ฮึกเหิม เบื่อ เซ็ง เป็นต้น
  4. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ( distraction and remorse; flurry and worry; anxiety ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท วิตกกังวล ระแวง กลัว ความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใด ๆ เป็นต้น
  5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ( doubt; uncertainty) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ เป็นต้น

กรรมฐานที่เหมาะสมแก่นิวรณ์[แก้]

  • กามฉันทะ ให้ภาวนากายคตาสติ อสุภะ 10 อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพื่อทำลายความอยากในกามเสีย
  • พยาบาท ให้ภาวนาอัปมัญญาหรือพรหมวิหาร 4 วรรณกสิน 4 เพื่อเพิ่มความเมตตา
  • ถีนมิทธะ ให้ภาวนาอนุสสติ 7 คือพุทธานุสสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ อุปสมานุสสติ และอาโลกสัญญา (แสงสว่างเป็นอารมณ์) เพื่อเสริมสร้างศรัทธาและความเพียร
  • อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ภาวนากสิน 6 คือ ปฐวีกสิน อาโปกสิน วาโยกสิน เตโชกสิน อากาสกสิน อาโลกกสิน เพื่อเพิ่มกำลังสมาธิ (อานาปานสติ เอามาเพิ่มทีหลังไม่เกี่ยวกับที่อ้างอิง แต่เป็นตัวระงับความฟุ้งซ่าน)
  • วิจิกิจฉา ให้ภาวนาจตุตธาตุววัตถาน (พิจารณาธาตุ 4) อานาปานสติ มรณานุสสติ เพื่อละความสงสัย

ลักษณะ[แก้]

  • กามฉันทะ เหมือนน้ำที่ถูกสีย้อม
  • พยาบาท เหมือนน้ำที่กำลังเดือด
  • ถีนมิทธะ เหมือนน้ำที่มีจอกแหนปกคลุมอยู่
  • อุทธัจจะกุกกุจจะ เหมือนน้ำที่เป็นคลื่น
  • วิจิกิจฉา เหมือนน้ำที่มีเปือกตม

บุคคลย่อมไม่อาจมองเห็นใต้น้ำได้สะดวกฉันใด เมื่อจิตมีนิวรณ์ บุคคลย่อมไม่อาจเห็นจิตตามจริงได้สะดวกฉันนั้น

ศีล 5 ที่สามารถควบคุมนิวรณ์[แก้]

  • พยาบาท ให้ควบคุมด้วย การไม่ฆ่าสัตว์
  • อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ควบคุมด้วย การไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้
  • กามฉันทะ ให้ควบคุมด้วย การไม่ประพฤติผิดในกาม
  • วิจิกิจฉา ให้ควบคุมด้วยการไม่พูดเท็จ
  • ถีนมิทธะ ให้ควบคุมด้วย การไม่เสพสิ่งเสพติดอันเป็นเหตุให้ประมาท

องค์ฌานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์[แก้]

เมื่อจิตเป็นอัปปนาสมาธิจนเกิดองค์ฌานทั้ง 5 ย่อมทำลายนิวรณ์ลงได้ ชั่วคราว คือในขณะอยู่ในฌาน และนอกฌาน เมื่อยังทรงอารมณ์ฌานไว้ได้อยู่ (ฌานยังไม่เสื่อม)

พละ 5 ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์[แก้]

อาหารของนิวรณ์[แก้]

ร่างกายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด นิวรณ์ทั้งห้า ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
อาหารของนิวรณ์ในที่นี้ หมายถึง ปัจจัยอันนำมาซึ่งผลคือ นิวรณ์ (ซึ่งอาหารของนิวรณ์ทั้งหมดนั้น ถ้าสังเกตดูจะพบว่ามี การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย หรือ อโยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบด้วยเสมอ)

อาหารของกามฉันท์[แก้]

สิ่งที่เป็นอาหารให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกามฉันท์ที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งสวยๆงามๆ (ศุภนิมิต) หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้ พบสิ่งสวย ๆ งาม ๆ

อาหารของพยาบาท[แก้]

สิ่งที่เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือพยาบาทที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งที่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจ ขัดใจ (ปฏิฆนิมิต)

อาหารของถีนมิทธะ[แก้]

สิ่งที่เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งเหล่านี้ คือ

  1. ความไม่ยินดี ในที่อันสงัด หรือในธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล
  2. ความเกียจคร้าน
  3. ความบิดกายด้วยอำนาจกิเลส (บิดร่างกาย เอียงไปมา รู้สึกไม่สบาย ด้วยอำนาจกิเลส)
  4. ความเมาอาหาร
  5. ความที่ใจหดหู่

อาหารของอุทธัจจกุกกุจจะ[แก้]

สิ่งที่เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย ในความไม่สงบใจ
เปรียบเสมือนกองไฟที่คุกร่น แม้ไม่เห็นเปลวไฟแล้ว เหลือแต่ถ่านดำๆ ก็ยังมีความร้อนออกมาอยู่ ให้คนที่นั่งผิงไฟรู้สึกร้อนได้

อาหารของวิจิกิจฉา[แก้]

สิ่งที่เป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือวิจิกิจฉาที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]