ถีนมิทธะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถีนมิทธะ (อ่านว่า ถี-นะ-มิด-ทะ; บาลี: ถีนมิทฺธ) แปลว่า ความหดหู่และเคลิบเคลิ้ม (ถีนะ ความหดหู่ มิทธะ ความเคลิบเคลิ้ม) หมายถึง อาการที่จิตเกิดความห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหวัง และเศร้าซึม ง่วงเหงา หาวนอน เป็นเหตุให้เกิดความหมดอาลัย ความเกียจคร้าน ไม่กระตือรือร้น ปล่อยปละละเลยไปตามยถากรรม จัดเป็น นิวรณ์ คือเครื่องปิดกั้นขัดขวางมิให้บรรลุถึงสมาธิและปิดกั้นสมาธิมิให้เข้าถึงจิต

ถีนมิทธะ เกิดจาก อรติ คือ ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน และความเมาอาหาร คืออิ่มเกินไป แก้ได้ด้วยอนุสติ คือระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย เป็นต้น

ถีนมิทธะ เป็นหนึ่งในนิวรณ์ 5 อันเป็นสิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม ทำให้จิตเศร้าหมอง และทำปัญญาให้อ่อนกำลัง ซึ่งมีห้าอย่าง คือ กามฉันทะ, พยาบาท, ถีนมิทธะ, อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

เหตุให้ละความง่วงได้[แก้]

ในพระไตรปิฏกโมคคัลลานสูตร บรรยายเหตุให้ละความง่วงได้ ไว้มีดังนี้

  • เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก (ในพระไตรปิฎก อักษรโรมัน เพิ่มคำว่า มา ซึ่งแปลว่า อย่า ในประโยคหลัง)
  • ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณา ถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ
  • ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร
  • ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว
  • ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์
  • ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา (ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด นึกถึงแสงสว่าง)
  • ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก
  • ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบ ความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ

ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิก[แก้]

ในพระอภิธรรมได้บรรยาย ถีนมิทธะ ในลักษณะของเจตสิก (คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) โดยแบ่งเป็น ถีนเจตสิก และ มิทธเจตสิก
ถีนเจตสิก
ถีนเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ทำให้จิตหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์ ได้แก่สภาพที่ จิตคลายลงจากอำนาจ ความขะมักเขม้นต่ออารมณ์ มีลักษณะดังนี้

  • มีการไม่อุตสาหะ เป็นลักษณะ
  • มีการทำลายความเพียร เป็นกิจ
  • มีความท้อถอย เป็นผล
  • มีการกระทำใจต่ออารมณ์อย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) เป็นเหตุใกล้


มิทธเจตสิก
มิทธเจตสิก คือ ความโงกง่วง ได้แก่ สภาพที่ทำให้จิตเซื่องซึม ท้อถอยจากอารมณ์ มีลักษณะ

  • มีความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
  • มีการกั้น กำบังสัมปยุตตธรรม เป็นกิจ
  • มีความท้อถอย หรือ การโงกง่วง เป็นผล
  • มีการกระทำใจต่ออารมณ์อย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) เป็นเหตุใกล้


ถีนเจตสิก มีหน้าที่ ทำให้จิตที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์ ส่วน มิทธเจตสิก มีหน้าที่ ทำให้เจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน ท้อถอยจากอารมณ์
สำหรับ วิตก (วิตกเจตสิก) อันเป็นหนึ่งในองค์ฌาน เป็นปรปักษ์กับ ถีนมิทธะ (ถีนเจตสิก และ มิทธเจตสิก)

อาหารของถีนมิทธะ[แก้]

ร่างกายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด ถีนมิทธะ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
อาหารของถีนมิทธะในที่นี้ หมายถึง ปัจจัยอันนำมาซึ่งผลคือ จิตเกิดความห่อเหี่ยว และเศร้าซึม ง่วงเหงา
สิ่งที่เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งเหล่านี้ คือ

  1. ความไม่ยินดี ในที่อันสงัด หรือในธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล
  2. ความเกียจคร้าน (อ้างว่า ร้อนนัก หนาวนัก หิวกระหายนัก เป็นต้น)
  3. ความบิดกายด้วยอำนาจกิเลส (บิดร่างกาย เอียงไปมา รู้สึกไม่สบาย ด้วยอำนาจกิเลส)
  4. ความเมาอาหาร เช่น รับประทานมากไป อาหารย่อยยาก หรือร่างกายอ้วนเนื่องจากรับประทานมาก
  5. ความที่ใจหดหู่ ความไม่ควรแก่การงานของจิตเนื่องจากใจหดหู่ ท้อแท้

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]