ชาวพม่า
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สตรีชาวพม่าในชุดแบบดั้งเดิม | |
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
ประมาณ 35 ล้านคน | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
พม่า 34,110,000 | |
ไทย | ~890,000[1] |
ออสเตรเลีย | 107,112 |
สิงคโปร์ | 72,368 |
สหรัฐ | 96,420 |
ญี่ปุ่น | 15,800 |
เกาหลีใต้ | 22,000 |
มาเลเซีย | 66,500 |
สหราชอาณาจักร | 9,800 |
เยอรมนี | 7,300 |
ฮ่องกง | 5,400 |
กัมพูชา | 4,700 |
ภาษา | |
พม่า | |
ศาสนา | |
พุทธเถรวาท | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
ยะไข่, Marma, Chakma, Yi, น่าซี, ทิเบต, Meitei และชาติพันธ์ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต |
พม่า (พม่า: ဗမာလူမျိုး; เอ็มแอลซีทีเอส: ba. ma lu myui:; สัทอักษรสากล: [bəmà lùmjó] บะหม่า หลุ มฺโย้, คำเมือง: ᨾᩣ᩠᩵ᨶ) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในประเทศพม่า ชาวพม่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ชาวพม่าส่วนใหญ่ใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาที่พูดกันในชีวิตประจำวัน
ถิ่นกำเนิด
[แก้]การศึกษาทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่าชาวพม่ามีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับชาวเอเชียตะวันออกและอินเดีย[2][3] พูดภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เวลาหลายสหัสวรรษต่อมาชาวพม่าได้แผ่ขยายครอบคลุมเขตพม่าตอนกลางและพม่าตอนล่างทั้งหมด พวกเขาได้เข้ามาแทนที่และดูดกลืนกลุ่มชนชาติมอญและชาวปยูซึ่งอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้[4]
ภาษา
[แก้]ภาษาพม่า เป็นภาษาหลักของประเทศพม่า เป็นภาษาทางการใช้กันในหมู่ชาวพม่า และได้ใช้เป็นภาษากลางในการติดต่อระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย คำศัพท์หลักในภาษาพม่าประกอบด้วย คำศัพท์ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แต่คำศัพท์หลายคำที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและศิลปะนั้นได้มาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ส่วนคำศัทพ์ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาอังกฤษจะเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการใช้คำทับศัพท์
การแผ่กระจาย
[แก้]ชาวพม่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า ชาวพม่าบางส่วนแผ่กระจายไปตั้งถิ่นฐานในทวีปยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร ชาวพม่าพลัดถิ่นเป็นปรากฏการณ์มากสุดในประวัติศาสตร์คือช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สองที่ส่วนใหญ่มีความขัดแย้งจากการปกครองทางทหารและความหลากหลายของชาติพันธุ์ในพม่า
ช่วงต้นพม่าของสหราชอาณาจักรจนได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1948 ชาวพม่าเริ่มย้ายไปอยู่ที่สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ทวีปอเมริกาเหนือ, มาเลเซีย, สิงค์โปร์, ฮ่องกง,ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่นและไทย[ต้องการอ้างอิง]
สังคมและวัฒนธรรม
[แก้]วัฒนธรรมของพม่าได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ ด้านภาษา อาหาร ดนตรี การเต้นรำ และศิลปะการแสดง ในด้านศิลปะและวรรณกรรมได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ในชีวิตประจำวัน วัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพม่า โดยมีพระสงฆ์เป็นที่สักการะบูชาและได้รับการสนับสนุนจากฆราวาส ชาวพม่าให้ความสำคัญกับพิธีกรรมทางศาสนามาก เช่นพิธี ชีน-บยุ (ရှင်ပြု)
การแต่งกาย
[แก้]ชาวพม่าจะนิยมนุ่งโสร่ง ชายชาวพม่าจะนุ่งโสร่งที่เรียกกันว่า โลนจี (လုံချည်) ส่วนผู้หญิงจะนิยมนุ่งโสร่งแบบ ทะบี (ထဘီ) และทาแป้งทานาคา (သနပ်ခါး) ทั้งชายและหญิงจะใส่รองเท้าแตะแบบพม่า ญะพะนะ (ကတ္တီပါဖိနပ်)
ในโอกาสที่เป็นทางการหรืองานพิธีการ ชายชาวพม่าจะใส่เสื้อคอจีนสีขาว ที่เรียกว่า ไตปอน (တိုက်ပုံ) นุ่งโสร่งแบบโลนจีสีโทนเข้มและใช้ผ้าโพกหัว ที่เรียกว่า กองบอง (ခေါင်းပေါင်း) ส่วนหญิงชาวพม่าจะใส่ผ้าซิ่นและนุ่งโสร่งแบบทะบี
อาหาร
[แก้]อาหารพม่ามีหลากหลายแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่อาหารพม่าได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนและอาหารอินเดีย การปรุงอาหารของพม่านั้นจะใช้การผัดแบบจีน การแกงแบบอินเดีย ซึ่งใช้ความร้อนแต่อาจจะปรุงเผ็ดเล็กน้อย ส่วนใหญ่มักจะใช้กะปิในการปรุง รวมทั้ง หัวหอม กระเทียม ขิง พริกแห้งและขมิ้น ส่วนข้าว (ထမင်း ทมีน) เป็นวัตถุดิบหลัก ชาวพม่านิยมใช้ชาในการต้มเพื่อดื่มและนำมาทำสลัดหรือกินเป็นเมี่ยง ละแพะ (လက်ဖက်သုပ်) จัดเป็นอาหารประจำชาติพม่า ส่วน ก๋วยเตี๋ยว (ခေါက်ဆွဲ ฮกุ๊ก ซเว) ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน โมนฮีนกา (မုန့်ဟင်းခါး) เป็นอีกหนึ่งอาหารประจำชาติของพม่า ส่วนโรตี จปาตี ก็ได้รับความนิยมในพม่าด้วย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย
ดนตรี
[แก้]ดนตรีของพม่าแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ประกอบด้วยเครื่องตีและเครื่องเป่าลมเป็นหลัก แต่ ซองเกาะ (စောင်းကောက်) เป็นพิณลักษณะรูปร่างคล้ายเรือ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวพม่า เครื่องดนตรีแบบอื่น ๆ ได้แก่ ปัตตะลา (ระนาดพม่า) วาลัตก๊อก แล๊กวิน และ ปัตเหวี่ยง เพลงพม่าสมัยใหม่มักได้รับอิทธิพลแบบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีคันทรีจากสหรัฐ อย่างไรก็ตามแร็พและฮิปฮอปก็ยังได้รับความนิยม
เทศกาล
[แก้]เทศกาลทางศาสนาพุทธและวันหยุดจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวพม่า ตะจาน (သင်္ကြန်) หรือเทศกาลน้ำซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นปีใหม่ของพม่าในเดือนเมษายน ตัวอย่างหนึ่งเช่น ตะดิงยุต ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของวันเข้าพรรษา จะมีการเฉลิมฉลองกับเทศกาลแห่งแสงในเดือนตุลาคม กะตีนา (ကထိန်) หรือ กฐิน พิธีถวายผ้าไตรจีวรบูชาพระสงฆ์จะจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมและอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน
ศาสนาและความเชื่อ
[แก้]ชาวพม่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท ผู้คนนิยมถือศีลห้า ให้ทาน และ วิปัสสนา ส่วนเด็กชายชาวพม่าก็จะเข้าร่วมพิธีชีน-บยุ ในขณะเดียวกันชาวพม่าก็นับถือบูชานะ ซึ่งเป็นศาสนาพื้นบ้านเคียงคู่ศาสนาพุทธไปด้วย นะที่ชาวพม่านับถือเป็นผีหรือวิญญาณที่สิงสถิตตามธรรมชาติหรือตามสถานที่ต่าง ๆ โดยศาสนาพื้นบ้านนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับศาสนาชินโตของญี่ปุ่น การบูชานะของชาวพม่านั้นจะนับถือนะทั้งหมด 37 ตน ในแต่ละบ้านของชาวพม่าจะมีศาลเทพนะเล็ก ๆ ไว้บูชาเพื่อความเป็นมงคลและช่วยคุ้มครองจากสิ่งชั่วร้าย
การตั้งชื่อ
[แก้]ในอดีต ชาวพม่ามักนิยมใช้ชื่อสั้น ๆ มักจำกัดเพียงหนึ่งหรือสองพยางค์เท่านั้น อย่างไรก็ตามการตั้งชื่อตามเทรนด์จะนิยมตั้งชื่อให้ยาว (4 หรือ 5 พยางค์ สำหรับเพศหญิงและ 3 พยางค์ สำหรับผู้ชาย) ได้รับความนิยมมากขึ้น ชื่อแบบพม่ามักใช้คำยืมมาจากภาษาบาลี ชาวพม่ามักใช้วันเกิด (ปฏิทิน 8 วันแบบดั้งเดิมซึ่งรวมถึง ยาฮู, บ่ายวันพุธ) เป็นพื้นฐานสำหรับการตั้งชื่อ แม้ว่าการปฏิบัตินี้ไม่ได้เป็นสากล[5] ตัวอักษรชื่อมักจะมาจากกลุ่มที่อยู่ในตัวอักษรพม่า[6]
ชาวพม่ามักจะตั้งชื่อดังตัวอย่างต่อไปนี้:
วัน | เขียน |
---|---|
วันจันทร์ (တနင်္လာ) | က (กะ), ခ (ขะ), ဂ (ะ ค/ก), ဃ (ฆะ), င (งะ) |
วันอังคาร (အင်္ဂါ) | စ (ซา), ဆ (ฮา), ဇ (ซ่า), ဈ (ซ่า), ည (ย่าห์) |
วันพุธ (ဗုဒ္ဓဟူး) | လ (รา), ဝ (วา) |
ยาฮู (บ่ายวันพุธ) (ရာဟု) | ယ (ยา), ရ (ยา, ลา) |
วันพฤหัสบดี (ကြာသပတေး) | ပ (พา), ဖ (ฮพา), ဗ (บา), ဘ (บา), မ (มา) |
วันศุกร์ (သောကြာ) | သ (ต่ะห์), ဟ (ฮา) |
วันเสาร์ (စနေ) | တ (ตะ), ထ (ฮตะ), ဒ (ดะ), ဓ (ดะ), န (นะ) |
วันอาทิตย์ (တနင်္ဂနွေ) | အ (อะ) |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ CIA World Factbook – Thiland เก็บถาวร 2010-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; 1.3% of the estimated 68.41 million people in July 2017.
- ↑ https://www.researchgate.net/publication/259954928_Large-scale_mitochondrial_DNA_analysis_in_Southeast_Asia_reveals_evolutionary_effects_of_cultural_isolation_in_the_multi-ethnic_population_of_Myanmar
- ↑ http://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0076748
- ↑ (Myint-U 2006, pp. 51–52)
- ↑ Scott 1882, p. 4.
- ↑ Scott 1882, p. 4-6.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- The Silken East – A Record of Life and Travel in Burma by V. C. Scott O'Connor 1904
- Wai, Kyi (2007-06-15). "Burmese Women's Hair in Big Demand". The Irrawaddy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-11.