จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 3
ส่วนหนึ่งของหมวดหมู่ |
หนังสือใน พันธสัญญาใหม่ |
---|
|
จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 3[1] (อังกฤษ: Third Epistle of John) เป็นหนังสือเล่มที่ 25 ของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ เป็นหนึ่งในเจ็ดจดหมายทั่วไป อันได้แก่ ยากอบ 1 เปโตร 2 เปโตร 1 ยอห์น 2 ยอห์น 3 ยอห์น และ ยูดา เนื่องจากจดหมายเหล่านี้ถูกส่งถึงคริสเตียนทั่วไป ไม่ได้ระบุว่าเป็นคริสตจักรใด
พระธรรมเล่มนี้แต่แรกเป็นจดหมาย ส่งถึงผู้รับที่มีชื่อว่า กายอัส (ผู้ซึ่งถูกอ้างถึงครั้งหนึ่งใน กิจการของอัครทูต 19:29) ส่วนชื่อผู้เขียนไม่ได้ระบุ แต่ผู้เขียนเรียกตนเองว่า ข้าพเจ้าผู้ปกครอง เช่นเดียวกันกับใน 2 ยอห์น คริสตจักรในยุคแรกเชื่อสืบกันมาว่าผู้เขียนคือนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารซึ่งประพันธ์พระวรสารนักบุญยอห์น 1 ยอห์น และ2 ยอห์น อันเป็นจดหมายฉบับก่อนหน้านี้ด้วย จากการวิเคราะห์เนื้อหาในจดหมายโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วพบว่า ใน 2 ยอห์น และ 3 ยอห์น มีเนื้อหาภายในจดหมายบางตอนที่ใช้ข้อความเดียวกัน เช่น "รักเนื่องในสัจจะ" ใน 2 ยอห์น 1 กับ 3 ยอห์น 1 หรือข้อความคล้ายกัน เช่น "ดำเนินตามสัจจะ" ใน 2 ยอห์น 4 กับ "ประพฤติตามสัจธรรม" ใน 3 ยอห์น 4 เป็นต้น นอกจากนี้รูปแบบของจดหมายยังเหมือนกันอีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญจึงสรุปตรงกันว่าเป็นผู้เขียนคนเดียวกัน ช่วงเวลาในการเขียนจดหมายฉบับนี้น่าจะใกล้เคียงกับสองฉบับแรก นั่นคือช่วงปลายศตวรรษแรก หรือราวปีค.ศ. 90
กายอัสเป็นผู้นำในคริสตจักรแห่งหนึ่งและเป็นเพื่อนกับยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารด้วย ในจดหมายยอห์นได้เขียนชมเชยถึงความมีน้ำใจในการรับรองแขกของเขา[2] ซึ่งแขกในความหมายของยอห์นหมายถึง ครูสอนพระคัมภีร์และผู้ที่เดินทางไปประกาศข่าวประเสริฐยังที่ต่าง ๆ ในขณะที่ผู้นำคริสตจักรในเอเชียที่ชื่อ ดิโอเตรเฟส ไม่ยอมรับรองพี่น้องเหล่านั้น แต่ได้กีดกันคนที่ต้องการจะรับรองเขา และไล่คนเหล่านั้นออกจากคริสตจักร นอกจากนี้ยังใส่ความยอห์นด้วยคำเลวทรามอีกด้วย[3]
ยอห์นมีจุดประสงค์สองประการในการเขียนจดหมายฉบับนี้ ประการแรกคือ ต้องยกย่องชมเชยผู้ที่ประพฤติดี ซึ่งในจดหมายกล่าวถึงสองคน คนแรกคือ กายอัส เพราะมีน้ำใจในการรับรองแขก คนที่สองคือ เดเมตริอัส แม้ว่าในจดหมายจะไม่ได้ระบุว่า เดเมตริอัส ประพฤติดีเรื่องใด แต่คาดว่าน่าจะดีมากจนสามารถเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จากที่ยอห์นกล่าวว่า ทุกคนก็เป็นพยานให้เดเมตริอัส ข้าพเจ้าเองก็เป็นพยานด้วย[4]
ประการที่สองคือ ต้องการต่อว่าผู้ที่ประพฤติไม่ดี ในจดหมายกล่าวถึง ดิโอเตรเฟส เพราะไม่ยอมต้อนรับพี่น้องที่เดินทางไปประกาศข่าวประเสริฐ ยอห์นถึงกับกล่าวว่า ถ้าข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าจะเผยพฤติกรรมของเขา[5]
โครงร่าง
[แก้]1. คำทักทาย 1 - 4
2. เตือนสติให้ดำเนินชีวิตอย่างคริสเตียน 5 - 12
3. บทสรุป 13 - 14
อ้างอิง
[แก้]- Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
- Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997