ข้ามไปเนื้อหา

ตลาดโบ๊เบ๊

พิกัด: 13°45′12″N 100°30′57″E / 13.753468°N 100.515938°E / 13.753468; 100.515938
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โบ๊เบ๊)
ทางเข้าตลาดโบ๊เบ๊สะพาน 4 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับมัสยิดมหานาค

ตลาดโบ๊เบ๊ หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า โบ๊เบ๊ เป็นตลาดแห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนถนนกรุงเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ระหว่างแยกกษัตริย์ศึก (ยศเส) กับแยกสะพานขาว โดยเลียบไปกับคลองผดุงกรุงเกษมตัดกับคลองมหานาค เป็นตลาดที่เป็นที่รู้จักกันดีจากการเป็นตลาดขายส่งเสื้อผ้าราคาถูก

ชื่อ

[แก้]

โดยชื่อตลาดโบ๊เบ๊ สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "บ๊งเบ้ง" โดยชื่อนี้มีที่มาจากอดีตขณะที่ยังเป็นตลาดขายเสื้อผ้าเก่าอยู่ ผู้คนที่มาค้าขายมักจะส่งเสียงดังหนวกหูจนกระทั่งแถบนี้ได้ชื่อเรียกว่า "ตลาดบ๊งเบ้ง"[1]

ทั้งนี้คำว่า "โบ๊เบ๊" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้นิยามไว้ว่า "ว. มีเสียงเอ็ดอึงจนฟังไม่ได้ศัพท์."[2]

ประวัติ

[แก้]

ตลาดโบ๊เบ๊ เดิมเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นราว พ.ศ. 2470 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวชุมชนตรงนี้มีอาชีพที่หลากหลาย เช่น ย้อมผ้า หรือขายชา, กาแฟ หรือน้ำมะพร้าว ต่อมามีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนตั้งแผงขายของกันอยู่ในบริเวณถนนดำรงรักษ์ (ตรอกขี้เถ้า) โดยนำสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคสารพัดชนิดมาวางขายกันแบบแบกะดิน นอกจากนี้ยังเป็นตลาดขายส่งเสื้อผ้าราคาถูก บริเวณลานวัดบรมนิวาสราชวรวิหารด้านติดกับคลองแสนแสบ จนกระทั่งเกิดสงครามโลก สินค้าอุปโภคบริโภคขาดเแคลนเนื่องจากภาวะสงคราม เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จึงมีการนำมาขาย เสื้อผ้าที่นำมาขายระยะแรกส่วนหนึ่งเป็นเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดในสงคราม โดยนำมาซักทำความสะอาดและขายลักษณะแบกะดิน หรือเสื้อผ้ามือสองที่ใช้แล้ว จึงทำให้มีราคาถูกมาก และได้ย้ายที่ขายมาเป็นริมทางรถไฟข้างวัด จนกลายมาเป็นตลาดอย่างถาวร[1]

ต่อมาเมื่อมีพ่อค้าแม่ค้าเพิ่มมากขึ้นจนพื้นที่ขายไม่พอทำให้บางส่วนต้องอาศัยพาดผ้ากับแขนแล้วเดินขายให้ลูกค้าทั่วไป เมื่อตลาดเริ่มคึกคักจนเป็นที่รู้จักมากขึ้นจึงได้เปลี่ยนลักษณะการขายแบกะดินมาเป็นแผงลอย และอาคารพาณิชย์ดังเช่นปัจจุบัน

พื้นที่และการดำเนินการ

[แก้]

ในย่านตลาดโบ๊เบ๊ ตรงข้ามกับตลาดโบ๊เบ๊สะพาน 4 คือ มัสยิดมหานาค อันเป็นมัสยิดและชุมชนชาวมุสลิมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ติดกับคลองมหานาค ใกล้กับสะพานเจริญราษฎร์ 32[3][4]

ตลาดโบ๊เบ๊แบ่งเวลาขายออกเป็น 2 ช่วง คือ เวลากลางวันตั้งแต่เวลา 09.00–15.00 น. และเวลากลางคืนตั้งแต่เวลา 23.00–05.00 น.[5] โดยเฉพาะกลางคืนจะมีความคึกคักมาก จนกระทั่งถึงรุ่งสาง จากนั้นแผงลอยและอาคารพาณิชย์ซึ่งตั้งอยู่ด้านในก็จะกลับมาเปิดขายอีกครั้ง โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าจากต่างจังหวัด เสื้อผ้าสำเร็จรูปยังเป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วนตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดคือประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่าส่งออกถึงปีละหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี [6]

การเดินทางรถโดยสารประจำทาง

[แก้]

ถนนกรุงเกษม

[แก้]

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

[แก้]
  • Handicapped/disabled access เส้นทางที่มีรถรองรับวีลแชร์
สายที่ จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด ประเภทของรถที่ให้บริการ ผู้ให้บริการ หมายเหตุ
53 (1) วงกลม: สนามหลวง เทเวศร์ 1.รถโดยสารประจำทางสีครีม-แดง ขสมก.

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 หนุ่มลูกทุ่ง (2011-06-14). "เที่ยว"โบ๊เบ๊" ต้องมนต์เสน่ห์ชุมชนเก่า". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-26. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.
  2. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  3. ทรงศิริ, วลัยลักษณ์ (2016-04-26). ""ชุมชนมุสลิมมหานาค" (๑)". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.
  4. ทรงศิริ, วลัยลักษณ์ (2016-04-26). ""ชุมชนมุสลิมมหานาค" (๒)". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.
  5. "กทม.จัดระเบียบตลาดโบ๊เบ๊วันแรก แบ่งขายเช้า-ค่ำ". ไทยรัฐ. 2014-11-04. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.
  6. "ตลาดโบ๊เบ๊ แหล่งขายส่งเสื้อผ้า สินค้าราคาถูก". smeleader.com.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′12″N 100°30′57″E / 13.753468°N 100.515938°E / 13.753468; 100.515938