ข้ามไปเนื้อหา

หัวโขน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มงกุฏสามกลีบขององคต สีเขียว ปากหุบ ตาโพลง

หัวโขน เป็นงานศิลปะชั้นสูง ใช้สำหรับสวมครอบศีรษะ ปิดบังส่วนหน้าของผู้แสดงโขนอย่างมิดชิด เป็นศิลปวัตถุประเภทประณีตศิลป์ และงานศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกาย ประณีตบรรจงตามแบบช่างไทย มีรูปลักษณะสวยงาม ลักษณะคล้ายหน้ากาก แตกต่างตรงที่เป็นการสร้างจำลองรูปทรงใบหน้าและศีรษะทั้งหมด เจาะช่องเป็นรูกลมที่นัยน์ตาของหัวโขน ให้ตรงกับนัยน์ตาของผู้แสดงเพื่อการมองเห็น[1] แบ่งเป็น 2 ประเภทคือหัวโขนสำหรับใช้ในการแสดง หมายความถึงหัวโขนที่สื่อถึงตัวละครนั้น ๆ เช่น พระ ยักษ์ เทวดา วานรและสัตว์ต่าง ๆ สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ตามเอกลักษณ์ของหัวโขนที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบของศิลปะไทย[2] และหัวโขนที่ใช้สำหรับเป็นของประดับตกแต่งหรือของที่ระลึก หมายความถึงหัวโขนที่ทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยพลาสติกหรือกรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก[3]

ประเภทของหัวโขน

[แก้]

หัวโขนที่ใช้สำหรับแสดง แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของตัวละครคือ หัวโขนพงศ์นารายณ์ ประกอบด้วยเผ่าพงศ์วงศ์กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา หัวโขนพรหมพงศ์และอสูรพงศ์ ประกอบด้วยพรหมผู้สร้างกรุงลงกาและอสูรพงศ์ในกรุงลงกา หัวโขนมเหศวรพงศ์ ประกอบด้วยพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมและเทวดาต่าง ๆ หัวโขนฤๅษี ประกอบด้วยฤๅษีผู้สร้างกรุงอโยธยา ฤๅษีที่พระราม พระลักษมณ์และนางสีดาพบเมื่อคราวเดินดง หัวโขนวานรพงศ์ ประกอบด้วยพญาวานร วานรสิบแปดมงกุฎ เสนาวานร วานรเตียวเพชร วานรจังเกียงและพลลิงหรือเขนลิง

หัวโขนคนธรรพ์ ประกอบด้วยเทพคนธรรพ์และคนธรรพ์ หัวโขนพญาปักษา ประกอบด้วยพญาครุฑ พญาสัมพาที พญาสดายุ และหัวโขนแบบเบ็ดเตล็ด ประกอบด้วยหัวสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น และอาจแบ่งตามประเภทของหัวโขนที่ใช้สวมอย่างละ 2 ประเภทคือ ยักษ์ยอด ยักษ์โล้น ลิงยอดและลิงโล้น[4] นอกจากนี้ยังแบ่งตามชนิดของมงกุฎ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป แบ่งเป็นฝ่ายลงกาคือ มงกุฎยอดกระหนก มงกุฎยอดจีบ มงกุฎยอดหางไก่ มงกุฎยอดน้ำเต้า มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม มงกุฎยอดน้ำเต้าเฟื่อง มงกุฎยอดกาบไผ่ มงกุฎยอดสามกลีบ มงกุฎยอดหางไหล มงกุฎยอดนาคา มงกุฎตามหัวหรือหน้า พวกไม่มีมงกุฎ พวกหัวโล้น พวกหัวเขนยักษ์หรือพลทหารยักษ์และตัวตลกฝ่ายยักษ์

ถึงแม้มีการบัญญัติและประดิษฐ์หัวโขนให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน ยังคงมีหัวโขนบางประเภทที่มีมงกุฎยอดเหมือนกัน จึงมีการทำหน้าโขนให้ปากและตาแตกต่างกันไป แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ ประเภทปากแสยะตาโพลง ประเภทปากแสยะตาจระเข้ ประเภทปากขบตาโพลง และประเภทปากขบตาจระเข้ เป็นต้น[5] ฝ่ายพลับพลาคือ มงกุฎยอดบัด มงกุฎยอดชัยหรือยอดแหลม มงกุฎยอดสามกลีบ พวกไม่มีมงกุฎแต่เป็นลิงพญามีฤทธิ์เดช พวกไม่มีมงกุฎแต่เรียกมงกุฎ พวกเตียวเพชร จังเกียง หัวลิงเขนหรือพลทหารลิงและหัวตลกฝ่ายลิง สำหรับพวกพญาวานรที่ไม่มีมงกุฎและพวกสิบแปดมงกุฎ มักนิยมเรียกรวมกันว่าลิงโล้น[6]

จำแนกตามใบหน้า

[แก้]
สีหน้าและมงกุฏยอดแบบต่าง ๆ ของหัวโขน

การจำแนกตามใบหน้าของโขน เป็นการจำแนกหน้าของหัวโขนจำนวนมากออกจากกัน แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่หน้ามนุษย์ หน้าเทวดาและหน้าอมนุษย์ ในส่วนของหน้ามนุษย์ฯ ช่างทำหัวโขนจะนิยมปั้นเค้าโครงหน้าให้มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์ มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยตรงบริเวณหู ดวงตา จมูกและปาก ซึ่งจะปั้นออกมาเป็นลักษณะกลาง ๆ ไม่เหมือนกับรูปหน้าของหุ่นและมนุษย์จริงมากนัก ดังนั้นใบหน้าของหัวโขนประเภทหน้ามนุษย์ฯ จะมีเค้าโครงหน้าเหมือนกันทุกหัว นิยมเขียนระบายสีสันบนใบหน้าให้ยิ้มแย้มอยู่ในหน้าด้วยอารมณ์ร่าเริง วาดเส้นโค้งกลับขึ้นบริเวณส่วนปากกับไพรหนวด ดวงตาทั้งสองข้างโค้งงอนขึ้น สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในหน้าของฤๅษี

สำหรับหน้าอมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นหน้ายักษ์ ปั้นเค้าโครงจากใบหน้ามนุษย์ทั่ว ๆ ไปเช่นเดียวกับหน้ามนุษย์ฯ ในการปั้นหัวโขนหน้าอมนุษย์นั้น ช่างทำหัวโขนจะต้องมีความชำนาญ ศึกษาเรียนรู้ภูมิหลังและประวัติความเป็นมาของตัวละครยักษ์แต่ละตัวอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถปั้นหัวโขนให้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวละครมากที่สุดเช่น ทศกัณฐ์ซึ่งลักษณะนิสัยตามเนื้อเรื่องที่ดุร้าย โกรธง่าย มีสิบหน้าสิบมือและมีฤทธิ์มาก จึงเลือกเอาลักษณะความโหดร้าย หน้าตาถมึงทึงที่เป็นเอกลักษณ์มาใช้ นำมาเขียนสีและระบายสีสันเขียนลงบนใบหน้าของทศกัณฐ์ หรือพิเภกที่มีลักษณะนิสัยไม่ดุร้าย เป็นยักษ์ฝ่ายดี ไม่มีฤทธิ์เดชมาก การเขียนสีและระบายบนใบหน้าจึงแลดูไม่ดุร้ายมากนัก[7]

จำแนกตามสีหน้า สีกาย มงกุฎและอาวุธ

[แก้]

การจำแนกหัวโขนตามสีของสีกายและใบหน้า เป็นการแก้ปัญหาของช่างทำหัวโขน เพื่อให้สามารถรู้ถึงชื่อ รูปแบบและเครื่องประดับของหัวโขนแต่ละตัวที่มีเป็นจำนวนมาก ด้วยการเขียนระบายสีพื้นลงบนส่วนใบหน้าของหัวโขนเพื่อให้แยกแยะได้ง่ายขึ้นเช่น พญาวานรที่สวมมงกุฎยอดเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเพียงสีของใบหน้า เช่น พญาวานรที่สวมมงกุฎยอดบัด ถ้าใบหน้าสีเขียวสดคือพาลี แต่ถ้าเป็นสีขาบคือท้าวมหาชมพู หรือสีแดงชาดคือสุครีพ เป็นต้น สำหรับสีที่ใช้ระบายสีหน้าของหัวโขนเช่นสีดำ สีเหลือง สีขาว สีแดงและสีครามหรือเรียกว่าสีเบญจรงค์ ในการระบายสีนั้น เป็นทักษะความรู้และความสามารถเฉพาะตัวของช่างทำหัวโขนแต่ละคน ซึ่งมักหวงแหนวิชาความรู้และเก็บเป็นความลับ ไม่ยอมถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้อื่นนอกจากลูกศิษย์เท่านั้น ซึ่งสีต่าง ๆ ที่นิยมใช้ระบายลงบนพื้นใบหน้าของหัวโขนแต่ละตัว มีดังนี้[8]

  • สีแดง ได้แก่สีแดง สีแดงชาด สีแดงเสน สีดินแดง สีลิ้นจี่ สีหงสบาท สีหงดิน สีหงชาด สีหงเสน
  • สีแสด ได้แก่สีดอกชบา สีฟ้าแลบ
  • สีเหลือง ได้แก่สีเหลืองรง สีเหลืองดิน สีเหลืองอ่อน สีเหลืองเทา สีเลื่อมเหลือง สีเลื่อมประภัสสร สีจันทร์
  • สีคราม ได้แก่สีคราม สีขาบ สีคราอ่อน สีดอกตะแบก สีมอคราม
  • สีน้ำตาล ได้แก่สีน้ำรัก สีผ่านแดง
  • สีม่วง ได้แก่สีม่วง สีบัวโรย สีม่วงแก่ สีม่วงอ่อน
  • สีเขียว ได้แก่สีเขียว สีก้ามปู สีน้ำไหล สีเขียวใบแค สีเขียวตังแช
  • สีดำ ได้แก่สีดำ สีดำหมึก สีผ่านหมึก สีมอหมึก
  • สีเทา ได้แก่สีเทา สีผ่านขาว สีเมฆ

นอกจากการจำแนกหัวโขนตามสีของใบหน้าแล้ว ช่างทำหัวโขนยังมีวิธีจำแนกหัวโขนตามแต่ประเภทของมงกุฏยอด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยหัว ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะให้แตกต่างกันออกไปอีกด้วย ซึ่งแม้จะมีการแยกประเภทของมงกุฎยอดให้แตกต่างกันแล้ว ก็ยังมีบางพวกที่มีสีของกาย ใบหน้าและมงกุฎที่สีซ้ำกัน แต่แตกต่างเพียงอาวุธเช่น ยักษํกายสีม่วงแก่ สวมมงกุฎยอดกระหนก ถือหอกเป็นอาวุธคือพญาทูษณ์ แต่ถ้ากายสีม่วงแก่ สวมมงกุฎยอดกระหนกแต่ถือกระบองเป็นอาวุธคือขุนประหัสต์ วานรกายสีขาวปากอ้า ถือตรีคือหนุมาน แต่ถ้าปากหุบ ถือพระขรรค์คือสัตพลี วานรกายสีดำปากหุบคือพิมลพานร แต่ถ้าปากอ้าคือนิลพัท เป็นต้น ช่างทำหัวโขนจึงต้องกำหนดให้หัวโขน มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันออกไปตามรูปลักษณ์ของหัวโขน เช่น มงกุฎฝ่ายลงกา มีประเภทของสีกายและมงกุฎ ดังนี้

มงกุฎยอดกระหนก
  • ท้าวกุเรปัน กายสีม่วงอ่อน ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • ตรีปักกัน กายสีเขียว ถือศรเป็นอาวุธ
  • พญาทูษณ์หรือทูต กายสีม่วงแก่ ขี่ม้าผ่านดำเป็นพาหนะ
  • ประหัสต์ กายสีม่วงแก่ ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • มัยราพณ์ กายสีม่วงอ่อน ถือกล้องเป่ายาคล้ายพลองยาวเป็นอาวุธ
  • ท้าวไวยตาล กายสีครามอ่อน ถือกระบองตาลเป็นอาวุธ
  • แสงอาทิตย์ กายสีแดงชาด
  • พญาหิรันต์ยักษ์ กายสีทอง
  • อนุราช กายสีจันทร์อ่อน
มงกุฎยอดจีบ
  • กุมภัณฑ์นุราช กายสีแดงเสน ถือคทาเป็นอาวุธ มีนาคเป็นสังวาลคล้องคอ
  • พญาขร กายสีเขียว ถือศรจักรพาฬพัง
  • ปทูตันหรือปทูตทันต์ กายสีหงดิน
  • ท้าวสัตลุง กายสีหงชาด ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ท้าวสัทธาสูร กายสีหงเสน ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • เหรันต์ทูต กายสีม่วงอ่อน
มงกุฎยอดหางไก่
  • จักรวรรดิ กายสีขาว มีสี่หน้า
  • บรรลัยจักร กายสีม่วงอ่อน ถือศรเหราพตเป็นอาวุธ
  • ท้าวมหายมยักษ์ กายสีแดงชาด
  • มารัน กายสีทองหรือสีเหลือง
  • วิรุญจำบัง กายสีมอหมึก
มงกุฎยอดน้ำเต้า
  • กุมภากาศ กายสีหงดิน
  • ชิวหา กายสีหงชาด
  • พิเภก กายสีเขียว
  • วายุภักษ์ กายสีเขียว ยอดมงกุฎมีกาบรับบัวแวง
มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม
  • กุมพล กายสีเขียว
  • กุเวรนุราช กายสีขาว ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ตรีปุรัม กายสีดำหมึก ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • นนยุพักตร์ กายสีเขียว
  • เปาวนาสูร กายสีขาว
  • พัทกาวี กายสีเหลือง
  • ไพจิตราสูร กายสีขาวหรือสีเขียว
มงกุฎยอดน้ำเต้าเฟือง
  • บรรลัยกัลป์ กายสีแดงหรือสีเหลืองอ่อน ขัดคทา ถือศรเป็นอาวุธ
  • ท้าวลัสเตียน กายสีขาว มงกุฎของท้าวลัสเตียนเป็นน้ำเต้าเฟืองปลายสะบัด
  • ไวยวิกหรือวันยุวิก กายสีม่วงแก่
มงกุฎยอดกาบไผ่
  • ทศคีรีวัน กายสีเขียว
  • ทศคีรีธร กายสีหงดิน
  • ปโรต กายสีม่วงแก่
  • รามสูร กายสีเขียว
มงกุฎยอดสามกลีบ
  • ทัพนาสูร กายสีหงดิน ถือศรเป็นอาวุธ
  • สวาหุ กายสีเขียวหรือสีหงดิน ถือกระบองเป็นอาวุธ
  • มารีศ กายสีขาว ถือกระบองเป็นอาวุธ
มงกุฎประเภทเดียวกับอินทรชิต
  • อินทรชิต กายสีเขียว ถือศรเป็นอาวุธ
  • สุริยาภพ กายสีแดง ถือหอกเมฆพัทเป็นอาวุธ
  • ไพนาสุริยวงศ์หรือทศพิน กายสีเขียว ขี่ม้าผ่านแดงเป็นพาหนะ
  • วิรุณพัท กายสีเขียว

การทำหัวโขน

[แก้]
หัวโขนพรหมพงศ์และอสูรพงศ์ เอกลักษณ์เฉพาะของไทย

การทำหัวโขน เป็นการสร้างสรรค์ของช่างทำหัวโขนที่มีความชำนาญ การสืบทอดวิชาแบบครูสอนศิษย์ ที่มีเอกลักษณ์หรือรูปแบบเฉพาะตัวของช่างไทยแบบโบราณ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการค้นพบศีรษะของพระครูและศีรษะของทศกัณฐ์ในคลังหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า การทำหัวโขนนั้นเริ่มต้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในด้านของวรรณกรรมและนาฏศิลป์ของไทย

การทำหัวโขนนั้น มีกระบวนการและขั้นตอนเป็นแบบแผนของช่างทำหัวโขนในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ที่มีการเตรียมหุ่นและแม่แบบเอง ในสมัยโบราณมักใช้ดินเหนียวสำหรับปั้นแบบขึ้นรูป ปั้นใบหน้าหุ่น ติดลวดลาย ปิดทอง ติดพลอยและกระจก เขียนสีและทำยอด ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติและคุณภาพใกล้เคียงดินเหนียวคือกระดาษสา กระดาษข่อย กระดาษฟางและไม้ไผ่สำหรับสานเป็นโครง โดยเลือกใช้กระดาษอย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้วัสดุและอุปกรณ์เช่นเดียวกับช่างทำหัวโขนในสมัยโบราณ มีขั้นตอนและกระบวนการทำหัวโขน ดังนี้[9]

การเตรียมลาย

[แก้]

ขั้นตอนแรกในการทำหัวโขนคือการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม เริ่มจากการเตรียมลวดลายต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับประดับตกแต่งหัวโขนในแต่ละแบบคือ รักตีลายที่ได้จากการนำรักน้ำ เกลี้ยงชัน มาผสมให้เข้ากันและนำไปตั้งไฟอ่อน ๆ เคี่ยวจนส่วนผสมทั้งสองงวดพอที่จะกดลงในแม่พิมพ์ทำเป็นลวดลายเช่น ลายกระจังเป็นต้น ซึ่งรักตีลายนั้น เมื่อแข็งตัวแล้วจะคงรูปเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากเคี่ยวได้ที่แล้ว จะนำมาปั้นเป็นแท่งกลมยาวประมาณหนึ่งคืบ ใช้ปูนแดงผสมน้ำทาหุ้มให้ทั่ว ห่อด้วยใบตองเก็บไว้ให้มิดเก็บสำหรับใช้สำรองต่อไป

การขึ้นโครงเตรียมหุ่น

[แก้]

หลังจากเตรียมลวดลายแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการเตรียมหุ่น ซึ่งหุ่นต้นแบบที่ใช้งานนั้น เป็นหุ่นที่ได้จากการนำกระดาษมาปิดทับให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทแล้วถอดออกมาเป็นหัวโขน วิธีทำแบบโบราณคือใช้ดินเหนียวปั้นเผาไฟให้สุก หรือใช้ไม้กลึงขึ้นรูปอย่างรูปโกลน ปัจจุบันวิธีการทำหุ่นต้นแบบใช้ปูนซิเมนต์หรือปูนปลาสเตอร์แทน จากนั้นใช้กระดาษปิดทับให้ทั่ว แล้วถอดออกเป็นหัวโขนที่ภายกลวง เพื่อใช้สำหรับสวมศีรษะผู้แสดง มีรอยตา จมูก ปาก เป็นต้น หุ่นหัวชฎาหรือมงกุฎมักนิยมทำเป็นรูปทรงกระบอก ด้านบนกลึงรัดเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป เป็นจอมสำหรับใช้เป็นที่สวมยอดมงกุฎแบบต่าง ๆ เช่น ยอดชัย ยอดบัด ยอดทรงน้ำเต้า เป็นต้น[10]

การประดับตกแต่ง

[แก้]

ต่อจากนั้นช่างทำหัวโขนจะเริ่มปิดหุ่น ด้วยการปิดกระดาษทับลายหุ่นหรือเรียกอีกอย่างว่าการพอกหุ่น ปิดกระดาษทับหลาย ๆ ชั้นให้หนาพอเป็นรูปเป็นร่าง แล้วถอดศีรษะออกจากหุ่นโดยใช้มีดปลายแหลม กรีดเปิดหัวหุ่นที่ปิดทับด้วยกระดาษให้ขาด แล้วจึงถอดออกจากต้นแบบ จากนั้นใช้เข็มและด้ายเย็บประสานรอยกรีดให้แน่นสนิท แล้วปิดกระดาษทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งหัวโขนที่เป็นกระดาษจะเรียกว่ากะโหลก แล้วจึงเริ่มปั้นเค้าโครงของใบหน้า ด้วยการใช้รักตีลายที่ทำสำรองเก็บไว้ นำมาปั้นเพิ่มเติมลงบนกะโหลกบริเวณส่วน คิ้ว ตา จมูก ปาก ฯลฯ ให้นูนขึ้นรูปแลดูชัดเจน รวมทั้งแสดงอารมณ์ของใบหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทใบหน้าของหุ่น จากนั้นเริ่มตกแต่งและประดับลวดลายบนตำแหน่งเครื่องศิราภรณ์เช่น ประดับส่วนเกี้ยวรักร้อย ฯลฯ ทำส่วนหูสำหรับตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวพระนางที่ปิดหน้า

การลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก

[แก้]

เมื่อได้หัวหุ่นที่ประดับลวดลายต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นการการปั้นรักตีลาย โดยการใช้รักตีลายพิมพ์เป็นลวดลายละเอียด สำหรับประดับตามตำแหน่งบนกะโหลกที่ติดลวดลายประดับไว้แล้ว ใช้รักน้ำเกลี้ยงทาทับส่วนที่ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่ต้องการให้เป็นสีทองคำ ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทแล้วนำทองคำเปลวมาปิดทับให้ทั่ว ประดับกระจกหรือพลอยกระจกเพื่อให้เกิดประกายแวววาม กระจกที่ใช้เรียกว่ากระจกเกรียง ปัจจุบันหายากมาก ช่างทำหัวโขนจึงเลือกใช้พลอยกระจกประดับแทน จากนั้นเป็นการระบายสีและเขียนส่วนละเอียด ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำหัวโขน มักนิยมใช้สีฝุ่นผสมกาวกระถินหรือยางมะขวิด ที่มีคุณสมบัติสดใสและนุ่มนวล ในขั้นตอนของการการระบายสีและเขียนรูปลักษณ์บนใบหน้าของหัวโขน ช่างทำหัวโขนจะต้องลงสีตามแบบแผนอันเกี่ยวเนื่องกับชาติเชื้อเผ่าพงศ์ของหัวโขนนั้น ๆ ให้ถูกต้องอีกด้วย[11]

การตั้งและการเก็บรักษา

[แก้]
ทวน สำหรับตั้งหัวโขนและครอบป้องกันด้วยลุ้ง

หัวโขนสำหรับใช้สวมใส่ศีรษะในการแสดงโขนนั้น เป็นการแสดงออกทางด้านความสำคัญของตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ มีความประณีตสวยงามตามแบบฉบับของช่างทำหัวโขน ที่สามารถสร้างสรรค์หัวโขนให้มีลักษณะและรูปลักษณ์ที่สื่อถึงเพศ เผ่าพงศ์วงศ์ชาติเชื้อ หรือแม้แต่การแสดงออกด้วยอารมณ์ทางสีหน้า บางหัวสร้างขึ้นเพื่อเป็นการชี้บ่งบุคลิกลักษณะเฉพาะของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ บางหัวถูกสร้างขึ้นให้เปรียบเสมือนศีรษะของเทพผู้เป็นที่เคารพนับถือ กราบไหว้บูชาเช่น หัวโขนพระพรหม พระอิศวร พระนาราย์ พระพิฆเนศวร เป็นต้น ทำให้ได้รับการยกย่องเป็นของสูงและมงคลวัตถุ มีศักดิ์และความสำคัญเหนือกว่าหัวโขนปกติธรรมดาทั่วไป

หัวโขนเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางด้านศิลปะที่มีเอกลักษณ์และทรงคุณค่าของไทย เป็นสิ่งที่ต้องเก็บรักษาให้คงอยู่ในสภาพดีตลอดเวลา ทะนุถนอมไม่ให้ชำรุดทรุดโทรมเสียหายด้วยการเก็บรักษาไว้ในลุ้ง ซึ่งเป็นภาชนะสำหรับใช้เก็บรักษาหัวโขนโดยเฉพาะ ทั้งก่อนและหลังแสดง แต่เดิมทำด้วยเครื่องจักสาน ลงรัก น้ำหนักเบาเคลื่อยย้ายได้สะดวก ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำด้วยสังกะสีแทน ลักษณะรูปทรงกระบอกสั้น ประกอบด้วยตัวลุ้งสำหรับใส่หัวโขนและฝาครอบ กึ่งกลางของลุ้งจะเป็นที่ตั้งทวนหรือหลักเตี้ย ลักษณะเป็นแป้นกลมใช้สำหรับรองรับหัวโขนหรือมงกุฎ ชฎา[12]

ลุ้งแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ลุ้งสำหรับเก็บหัวโขนมีมงกุฎทรงยอดเช่น พญาทูษณ์ มัยราพณ์ พญาขร สัทธาสูร วิรุญจำบัง บรรลัยจักร พิเภก ชิวหา กุเวรนุราช เปาวนาสูร บรรลัยกัลป์ วันยุวิก รามสูร ทศคีรีวัน ทศคีรีธร ทัพนาสูร สวาหุ มารีศ ตรีเมฆ มังกรกัณฐ์ ทศกัณฐ์ ลักษณะของลุ้งชนิดนี้จะเป็นฝารูปกรวยกลมทรงสูงหรือเตี้ย ขึ้นอยู่กับความสูงของมงกุฎ เพื่อให้มีที่ว่างพอสำหรับความสูงของมงกุฎ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายเมื่อปิดฝาลุ้ง และลุ้งสำหรับเก็บหัวโขนไม่มีมงกุฎหรือหัวโล้น ที่ฝาครอบมีลักษณะตัดตรงเช่น พาลี สุครีพ หนุมสน ชมพูพาน ชามพูวราช องคต นิลพัท นิลนนท์ เป็นต้น

การเก็บรักษาหัวโขนที่ใช้ในการแสดงนั้น ถ้าไม่เก็บไว้ในลุ้งเพื่อป้องกันความเสียหาย จะต้องนำหัวโขนหน้าต่าง ๆ มาวางไว้บนทวนที่ทำจากไม้ นำมากลึงขึ้นรูปเป็นหลักทวน ฐานมีลักษณะแป้นกลม ตรงปลายทวนมีแป้นสำหรับรองรับหัวโขน สูงประมาณหนึ่งฟุต และต้องตั้งให้อยู่สูงจากพื้นและทางเดิน ไม่นำไปวางไว้ในที่ต่ำที่สามารถเดินข้ามไปมาได้ ไม่ทำหัวโขนร่วงหล่นลงพื้น ไม่ปล่อยให้หัวโขนถูกแมลงสาบกัดแทะ หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการแสดงออกถึงความไม่เคารพในครูบาอาจารย์

เนื่องจากหัวโขนที่ใช้ในการแสดงนั้นถือเป็นของสูงและมีครู ที่ต้องให้ความเคารพบูชาทั้งในเวลาแสดงและเวลาปกติ มักนิยมจัดเก็บโดยการแบ่งออกเป็นพวก ๆ เป็นส่วนสัดเป็นส่วนเช่น ฝ่ายมนุษย์ ฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิง โดยเฉพาะหัวโขนหน้ายักษ์และหน้าลิงต้องเก็บรักษาไว้คนละด้าน มีหัวพระฤๅษีภรตมุนีหรือหัวพ่อแก่วางคั่นกลาง ห้ามนำมาเก็บรวมกันโดยเด็ดขาด ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ รวมทั้งห้ามนำหัวโขนหรือเครื่องแต่งกายสำหรับแสดง มาเก็บรักษาไว้ที่บ้านโดยเด็ดขาด ต้องนำไปฝากไว้ที่วัดเท่านั้นเพราะถือกันว่าเป็นของร้อน ถ้าผู้ใดเก็บรักษาไว้จะมีแต่เหตุเดือดร้อนวุ่นวายไม่สิ้นสุด หรือแม้กระทั่งห้ามนำรูปวาดของตัวละครใด ๆ ก็ตามในเรื่องรามเกียรติ์มาเก็บไว้เช่นกัน ปัจจุบันข้อห้ามดังกล่าวได้สูญหายไปตามกาลเวลา ทำให้มีผู้นิยมนำหัวโขนไปเป็นของประดับตกแต่งหรือของที่ระลึกแทน[13]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. การทำหัวโขน
  2. "ประวัติหัวโขน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-07. สืบค้นเมื่อ 2011-07-21.
  3. นิยามของหัวโขน[ลิงก์เสีย]
  4. "ประเภทของหัวโขนชนิดต่าง ๆ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-17. สืบค้นเมื่อ 2011-07-21.
  5. "การจำแนกประเภทของหัวโขนตามฝ่ายเสนายักษ์และเสนาลิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-26. สืบค้นเมื่อ 2011-07-21.
  6. หัวโขน, โขน, ธนิต อยู่โพธิ์, องค์การค้าของคุรุสภา, 2538, หน้า 130, เลขหมู่หนังสือ 793. 3209593, ISBN 974-000-849-4
  7. การจำแนกหัวโขนตามใบหน้า ระหว่างหน้ามนุษย์และยักษ์
  8. การจำแนกหัวโขนตามสีที่ใช้สำหรับระบายบนพื้นใบหน้า
  9. ขั้นตอนการทำหัวโขน[ลิงก์เสีย]
  10. "การประดิษฐ์หัวโขน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-04. สืบค้นเมื่อ 2011-07-21.
  11. การทำหัวโขนของ ม.ล. พันธ์สวัสดิ์ ศุขสวัสดิ
  12. หัวโขนจำลอง
  13. ความเชื่อและการเก็บรักษาหัวโขน