ลอมพอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เมื่อ พ.ศ. 2229 วาดโดย ฌ็อง ไฮน์เซลมาน (Jean Hainzelman) จิตรกรชาวเยอรมันที่พำนักในประเทศฝรั่งเศส[1]

ลอมพอก บ้างเรียก พอก หรือ พอกเกี้ยว[2] เป็นเครื่องสวมศีรษะรูปยาว บ้างมียอดแหลม บ้างมียอดมนไม่แหลมมากนัก เมื่อสวมแล้วจะแลดูเหมือนการเกล้าผมขึ้นไปข้างบนเป็นทรงกรวยแหลม แล้วปัดไปด้านหลังเล็กน้อย[1] ใช้เป็นเครื่องทรงของพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นเครื่องแบบขุนนางยุคกรุงศรีอยุธยา[3] ซึ่งลักษณะของลอมพอกสามารถบ่งถึงตำแหน่งสูงต่ำของขุนนางได้[4][5] นอกจากนี้เหล่าโขนละครเองก็เคยใช้ลอมพอกในการแสดง ก่อนพัฒนาเป็นชฎาหรือมงกุฎในภายหลัง[3]

ลอมพอกเป็นเครื่องสวมศีรษะของไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากการโพกผ้าของมุสลิมเปอร์เซีย[3][6][7] และมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะรับมาตั้งแต่ก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยา[1] ลอกพอกมักสวมใส่พร้อมกับเสื้อเยียรบับและสวมเสื้อครุยทับอีกที โดยลอมพอกเป็นเครื่องบ่งบอกยศและตำแหน่งของผู้สวม โดยลอมพอกของราชทูตประดับด้วยแถบทองคำกว้างสองถึงสามนิ้วทำเป็นเสวียนรอบหมวก มีดอกไม้ทำด้วยทองคำบาง ๆ กลางดอกไม้เป็นเกสรที่ทำจากทับทิมสองถึงสามเม็ดติดประดับ แต่เนื่องจากแผ่นทองคำที่ใช้ทำดอกไม้นั้นมีน้ำหนักเบามาก จึงไหวติงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ลอมพอกของตรีทูตมีแต่แถบทองคำสลักประดับ ไม่มีดอกไม้ตกแต่ง และลอมพอกของผู้ติดตาม ไม่มีแถบทองคำประดับอยู่เลย[8]

มงซีเออร์ เดอ วีเซได้เขียนคำอธิบายเกี่ยวกับการแต่งกายของคณะทูตสยามที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นำโดยออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) เมื่อปี พ.ศ. 2229 ความว่า "....สิ่งที่สำคัญซึ่งทำให้ดูราชทูตไทยผิดกว่าราชทูตเมืองอื่นมากนั้นก็คือหมวก หมวกไทยนั้นเป็นหมวกมียอดแหลมซึ่งเขาเรียกว่า ลอมพอก สูงกว่าหมวกเราเป็นไหน ๆ เรียวขึ้นไปเป็นชั้น ๆ สัณฐานคล้ายกับมงกุฎ แต่ละชั้นล้วนประดับด้วยเครื่องเงินทองเพชรพลอยและนิลจินดาเป็นอย่างหนึ่ง ๆ และชั้นต่อ ๆ ไปก็ประดับด้วยวิธีอื่นอีก ดูแปลกเข้าที..."[9] ส่วนซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2230 ได้กล่าวถึงลอมพอกในจดหมายเหตุ ความว่า "...พระลอมพอกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ประดับขอบหรือเสวียนเกล้าด้วยพระมหามงกุฎเพชรรัตน์..." และกล่าวถึงลอมพอกขุนนางว่า "ของพวกขุนนางนั้นประดับเสวียนทองคำ, เงิน, หรือกาไหล่ทองมากน้อยตามยศ ลางคนก็ไม่มีเสวียนเลย พวกขุนนางจะใช้ลอมพอกนี้ชั่วเวลาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ หรือเพลาประชุมคณะขุนศาลตุลาการ หรือในพิธีลางอย่างเท่านั้น เขาใช้แถบผูกโยงยึดไว้ใต้คาง และเมื่อแสดงการเคารพก็มิได้ถอดออก..."[3]

ลอมพอกได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นชฎาและมงกุฎสำหรับเจ้านายและนักแสดงโขนในยุคหลัง[3][6][10] และยังเป็นเครื่องสวมศีรษะในบางท้องถิ่นด้วย ดังปรากฏที่บ้านชอนไพร และบ้านป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเครื่องสวมศีรษะที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกับลอมพอก เรียกว่า ตะลอมพอก ถือเป็นชฎาแบบหนึ่ง เมื่อมีการอุปสมบทในท้องถิ่น ก็จะให้นาคสวมตะลอมพอก ซึ่งโครงทำจากตอก ประดับด้วยหนังสัตว์และกระดาษสีแกะลวดลาย ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชุมชน[11]

ศัพทมูล[แก้]

ลอมพอก ประกอบมาจากคำสองคำ ได้แก่[1][3]

  • ลอม แปลว่า "กองเรียงขึ้นไปให้สูงเป็นจอม เช่น ลอมฟาง ลอมฟืน"
  • พอก แปลว่า "เพิ่ม, พูน, โพก เช่น โพกหัว โพกผ้าขาวม้า"

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สุจิตต์ วงษ์เทศ (17 เมษายน 2555). ""เทริด" เครื่องสวมหัวละคร". สุวรรณภูมิ. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) (2558). สมปักปูม ภูมิผ้าเขมร ◆ ไทย จากราชสำนักสู่สามัญชน (PDF). กรุงเทพฯ: เนติกุลการพิมพ์. p. 15.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 สุจิตต์ วงษ์เทศ (9 มิถุนายน 2559). "ชฎา, มงกุฎ โขนละคร ได้จาก "ลอมพอก" ของเปอร์เซีย (อิหร่าน)". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ข้อกำหนดของการใช้เครื่องประดับสำหรับฝ่ายในและชนชั้นสูงในราชสำนัก". สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-10. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "พระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (14 มิถุนายน 2555). ""แขก" มุสลิมในความเป็นไทย". สุวรรณภูมิ. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "เรื่องหนักหัว". มิวเซียมสยาม. 5 พฤศจิกายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-16. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ภูธร ภูมะธน. โกษาปาน ราชทูตกู้แผ่นดิน. กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. 2555, หน้า 79
  9. มองซิเออร์ เดอ วีเซ (เขียน) เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ (แปล). จดหมายเหตุโกศาปานไปฝรั่งเศส. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2560, หน้า 72
  10. "พัฒนาการของเครื่องแต่งกายและศิลปะการแต่งหน้าโขนละคอนไทยในยุคใหม่สืบทอดมาจากอดีต". ลักษณะไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-11. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. ประเพณีการใส่ตะลอมพอก (PDF). สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์. 2560. p. 4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-05-27. สืบค้นเมื่อ 2023-05-27.