จะปิ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เด็กชาวกรุงเทพมหานครสวมชฎาใบลานและจะปิ้ง ช่วง พ.ศ. 2470

จะปิ้ง หรือ จับปิ้ง (ภาษาปากเรียก กระจับปิ้ง และตะปิ้ง) เครื่องประดับสำหรับเด็กอย่างหนึ่ง ใช้สวมใส่เพื่อปกปิดอวัยวะเพศของเด็กโดยใช้ผูกที่บั้นเอว พบทั่วไปในดินแดนอินเดียตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และทุกภาคของประเทศไทย

ในอินเดียตอนใต้ มีเครื่องประดับของชาวทมิฬที่มีลักษณะและการใช้งานคล้ายจะปิ้ง ที่เรียกว่า Araimudi หรือ Araimuti ในภาษาทมิฬเป็นแผ่นโลหะเงินหรือทองคำขนาดเล็ก รูปหัวใจ ใช้อวัยวะเพศของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย เป็นเครื่องรางที่คุ้มครองผู้สวมใส่จากวิญญาณร้ายและอันตรายต่าง ๆ จะปิ้งยังพบแพร่หลายในคาบสมุทรมลายูในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7-13 พบทางตอนเหนือและชายฝั่งทะเลตะวันออกของมาเลเซีย ยังพบในหมู่เกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย โดยใช้สวมใส่ให้กับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเมื่อสามารถยืนหรือเดินได้ จะปิ้งในแถบนี้มีลักษณะคล้ายรูปหัวใจหรือใบโพ ลวดลายที่สลักตกแต่งลงลงบนจับปิ้งมี 2 รูปแบบ คือ ลายพันธุ์พฤกษาใช้สลักบนจับปิ้งสำหรับเด็กผู้หญิง ส่วนลายกากบาท (เครื่องหมาย +) ใช้สลักบนจับปิ้งสำหรับเด็กผู้ชาย ในราชสำนัก จะปิ้งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านายในราชตระกูล ทำด้วยโลหะมีค่า เช่น ทองคำ และมีการสงวนการใช้เชือกสีขาว สีเหลือง สีแดง สีเขียว และสีม่วง[1]

จะปิ้งในประเทศไทย[แก้]

จะปิ้งในประเทศไทย ใช้สำหรับเด็กผู้หญิง ปกติธรรมเนียมสำหรับทารกแต่สมัยก่อน โดยเฉพาะเด็กหญิงนับตั้งแต่โกนผมไฟเป็นต้นไป จะปิ้งมีลักษณะเป็นแผ่น รูปร่างต่าง ๆ กัน เช่น รูปทรงทะนาน รูปกระเบื้องเกล็ดเต่า รูปหน้าแว่น เป็นต้ำ ทำด้วยกะลา เงิน นาคและทองคำ ก็มี เด็กหญิงตามพื้นบ้านทั่วไปมักผูกจะปิ้งทำด้วยกะลาโดยฝานกะลาตอนข้างลูกขนาดครึ่งฝ่ามือ ตัดเจียนเป็นรูปอย่างทรงทะนานบ้าง รูปอย่างหน้าแว่นบ้าง เกลาผิวทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้เรียบเกลี้ยงขัดให้มันขึ้น เจาะรูเล็ก ๆ ที่ริมขอบตอนบนไว้ 2 รู ห่างกันพอสมควร ไว้สำหรับร้อยเชือกผูกเอวเด็ก ปล่อยให้ชิ้นจะปิ้งกะลาห้อยลงปิดบังที่ลับได้มิดชิดพอสมควร จะปิ้งกะลานี้อาจเลี่ยมขอบด้วยเงิน นาก และทองคำ ก็มี ตามฐานะของบิดามารดา

เด็กหญิงลูกผู้มีฐานะดีมักใช้จะปิ้งเงิน จะปิ้งนาก ทำเป็นจะปิ้งอ่อนอย่างหนึ่งกับจะปิ้งแข็งอีกอย่าง

จะปิ้งอย่างอ่อน ทำด้วยห่วงเล็ก ๆ ถักขึ้นเป็นแผ่นค่อนข้างโปร่งอย่างหนึ่ง กับถักเป็นแผ่นทึบอีกอย่างหนึ่ง รูปร่างอย่างกระเบื้องเกล็ดเต่า รูปสามเหลี่ยมหรือรูปสี่เหลี่ยมชายแหล ตอนบนแผ่นจะปิ้งชนิดนี้มีห่วงสำหรับร้อยสร้อยเงินหรือนากเป็นสายผูกจะปิ้งกับบั้นเอว

จะปิ้งอย่างแข็ง มีรูปพรรณคล้ายกับจะปิ้งกะลา ทำด้วยเงิน นาก และทอง ก็มี มักทำเป็นแผ่นรูปทรงทะนาน คือ ตอนบนกลมป้อม ตอนกลางรวบเรียวแหลม กลางแผ่นจะปิ้งดุนให้นูนเป็นกระเปาะกลมมนขึ้นพอสมควร ขอบจะปิ้งมักเลี่ยมให้มนเพื่อกันขอบไว้มิให้บาดเนื้อเด็ก ที่ขอบนี้ถ้าเป็นจะปิ้งเงิน มักเลี่ยมด้วยนากและจะปิ้งนากมักเลี่ยมด้วยทองคำ ที่ขอบตอนบนของจะปิ้งทำเป็นหลอดคล้ายตะครุดติดไว้สำหรับร้อย สร้อยเงิน นากหรือทอง แขวนจะปิ้งผู้กบั้นเอวเด็ก

อ้างอิง[แก้]

  1. "จับปิ้ง : อาภรณ์ของเยาวสตรีในอดีต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-07. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.