ราชปะแตน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสวมฉลองพระองค์แบบราชปะแตน

ราชปะแตน (เดิมเรียกว่า ราชแปตแตน มาจากคำบาลีผสมอังกฤษว่า Raj pattern แปลว่า แบบหลวง)[1] คือ เครื่องแต่งกายชายไทย ประกอบด้วยเสื้อสูทสีขาว คอตั้งสูง และมีกระดุมห้าเม็ด โจงกระเบน สวมถุงเท้ายาวถึงเข่า และรองเท้าหุ้มส้น

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินเดีย ผู้ตามเสด็จแต่งเครื่องแบบเสื้อฝรั่ง เวลาปกติก็เปิดอกผูกเน็กไท แต่นุ่งโจงกระเบนไม่นุ่งกางเกงแบบฝรั่ง ที่เมืองกัลกัตตามีช่างฝีมือดี โปรดเกล้าฯ ให้ตัดฉลองพระองค์ใส่เล่นแบบปิดตั้งแต่คอ มีดุมกลัดตลอด เพื่อไม่ต้องผูกเน็กไท เป็นที่พอพระราชหฤทัย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนายราชานัตยานุหาร ในฐานะราชเลขานุการ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตคิดชื่อถวายว่า ราชแพตเทิร์น (Raj pattern) แต่ต่อมาเพี้ยนมาเป็น ราชปะแตน

ราชปะแตนเป็นเสมือนเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนไป โดยส่วนมากสวมกับผ้านุ่งโจงสีกรมท่า ผ้านุ่งโจงนั้นเรียกกันสั้น ๆ ว่า ผ้าม่วง บ้างก็ตัดด้วยแพร ผ้าลายบ้าง ต่อมาไม่สวมแต่เฉพาะกับผ้าม่วง หากแต่สวมกับกางเกงแพรด้วยเสื้อราชปะแตนเป็นที่นิยมอยู่นาน จนยุคต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีประกาศกฎหมายวัฒนธรรม ห้ามนุ่งผ้าม่วง และกางเกงแพร เสื้อราชปะแตนจึงหายไปตั้งแต่นั้น ต่อมาในสมัยที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยแนวคิดของการกำหนดรูปแบบเครื่องแต่งกายไทยให้มีลักษณะเฉพาะแต่ยังเป็นสากล จึงได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานแบบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ได้พระราชทานแบบเสื้อตามที่เคยทรงอยู่บ่อย ๆ โดยเป็นเสื้อสูทคอตั้งที่เรียกกันว่าคอแมนดาริน (Mandarin Collar) หรือคอเหมา (Mao Collar) โดยมี 3 แบบคือ แบบแขนสั้นสำหรับงานกลางวัน แบบแขนยาวสำหรับงานกลางคืน และแบบแขนยาวมีผ้าคาดเอวสำหรับงานที่เป็นทางการ หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สวมเสื้อพระราชทานนี้แทนชุดสากลนับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2523 แต่ยังมีลักษณะพิเศษเพิ่มเติมแตกต่างจากเสื้อราชปะแตนเดิม คือให้เลือกใช้ผ้าตามแต่ละท้องถิ่น ทำให้ชุดมีสีสันและลวดลายแปลกตากว่าเดิม[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
  2. พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ, ชุดราชปะแตน เหตุใดคนไทยทึกทักเอาว่าเป็นของตน? นิตยสารจีคิว