สถานการณ์ฉุกเฉิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ภาวะฉุกเฉิน)

สถานการณ์ฉุกเฉิน (อังกฤษ: state of emergency) คือ สถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งรัฐ หรืออันอาจทำให้รัฐตกอยู่ในภาวะคับขันหรือภาวะการรบหรือการสงคราม[1] ซึ่งฝ่ายบริหารรัฐมีอำนาจประกาศว่าพื้นที่ใดกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นว่าโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของรัฐนั้น ๆ ซึ่งให้อำนาจพิเศษในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน และมักเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อย่างไรก็ดี กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ไม่เบ็ดเสร็จเท่ากฎอัยการศึกหรือกฎหมายที่ใช้ในสภาวะสงคราม

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมักมีภายหลังจากการเกิดภัยธรรมชาติ การก่อความไม่สงบ หรือการประกาศสงคราม ซึ่งอาจมีผลให้เจ้าหน้าที่บางฝ่ายต้องหยุดการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ลงชั่วคราว โดยอำนาจหน้าที่เช่นว่านั้นอาจรวมศูนย์ไปยังเจ้าหน้าที่อีกฝ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกในการควบคุมสถานการณ์โดยไม่ชักช้า และอาจนำไปสู่การห้ามออกจากเคหสถาน (อังกฤษ: curfew) หรือการห้ามมั่วสุมชุมนุมกันเพื่อการใด ๆ ก็ดี ณ พื้นที่นั้นในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

การใช้คำผิด[แก้]

ในประเทศไทยมีการใช้คำผิดเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่า รัฐบาลได้ประกาศหรือประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นต้น[2] ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะตัว พ.ร.ก. ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทยนั้นได้ประกาศอยู่แล้วใน รก. หากสิ่งที่รัฐบาลประกาศคือสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว หาใช่การประกาศ พ.ร.ก. ไม่

อนึ่ง ยังมีการเรียกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ว่า การประกาศหรือประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นต้น เป็นการเติม "ที่มีความร้ายแรง" ไปให้ชื่อพระราชกำหนดเข้าอีก ทั้ง ๆ ที่ ม.1 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ว่า "พระราชกำหนดนี้เรียกว่า 'พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548'" หาได้มีคำ "ที่มีความร้ายแรง" ไม่[3] และในความนี้ต้องว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ไม่ใช่ประกาศหรือประกาศใช้ พ.ร.ก.

นอกจากนี้ สำหรับการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ยังมีการกล่าวกันอีกว่า การยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นต้น[4] ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะนี่คือการยกเลิกประกาศ ไม่ใช่การยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจประกาศ การยกเลิกกฎหมายไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะตรา พ.ร.บ. มายกเลิก หรือคณะรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก. มายกเลิก พ.ร.ก. ดังกล่าว ดังนั้น ในความนี้ต้องว่า การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หาใช่การยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินไม่ เพราะหากเป็นการยกเลิก พ.ร.ก. เสียทีเดียวก็จะไม่มีกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่อาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีก

ซ้ำร้าย ยังพบว่ามีการแปลกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินของต่างประเทศ เช่น ประเทศฟิจิ ว่า "พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน" อีกด้วย[5] ทั้ง ๆ ที่ประเทศฟิจิไม่ได้มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กฎหมายของประเทศนั้นจะเรียก "พระราช" หาได้ไม่ กับทั้งกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีศักดิ์เป็น ร.ฐ.ก., ร.ฐ.บ. หรืออย่างอื่น ก็หาทราบไม่ ด้วยข่าวทั่ว ๆ ไปเรียก "law" ซึ่งเป็นการเรียกรวม ๆ[6] [7] [8] [9] แต่ในภาษาไทยกลับเรียก "พ.ร.ก." ซึ่งไม่ถูกต้อง

ประเทศไทย[แก้]

ตัวอย่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทย ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551

ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับปัจจุบันคือ "พ.ร.ก. ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548" ซึ่งรัฐบาลอันมีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้ โดยประกาศใน รก. เล่ม 122 ตอนที่ 58 ก วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 และมีผลใช้บังคับในวันถัดมา[3]

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มี "พ.ร.บ. ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495" ซึ่งประกาศใช้ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยประกาศใน รก. เล่ม 69 ตอนที่ 16 วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2495 และมีผลใช้บังคับในวันถัดมา[10]

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่าง ๆ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบให้ยุติลงได้โดยเร็ว รวมทั้งไม่อาจนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะและการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย และเนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้ สมควรต้องกำหนดมาตรการในการบริหารราชการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. นี้[3]

สถานการณ์ฉุกเฉิน[แก้]

สถานการณ์ฉุกเฉิน หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปรกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง (ม.4 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

ส่วน สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้แก่ กรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที (ม.11 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

การประกาศและการยกเลิกประกาศ[แก้]

การประกาศว่าท้องที่ใดกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เข้าร่วมกันเยียวยาสถานการณ์นั้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยจะประกาศทั้งราชอาณาจักรหรือบางท้องที่ก็ได้ และประกาศนี้มีอายุใช้บังคับสามเดือนนับแต่วันประกาศ แต่นายกรัฐมนตรีอาจขยายอายุดังกล่าวได้คราวละไม่เกินสามเดือนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ม.5 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

ในบางสถานการณ์ หากไม่อาจขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจประกาศไปก่อน ค่อยขอความเห็นชอบทีหลังภายในสามวันนับแต่วันประกาศ หากคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ ประกาศเช่นว่าจะเป็นอันสิ้นสุดลง (ม.5 ว.1 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้วก็ดี เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบก็ดี หรือเมื่ออายุของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับหนึ่ง ๆ สิ้นสุดลงก็ดี นายกรัฐมนตรีจะมีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น (ม.5 ว.3 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

ทั้งนี้ ในกฎหมายเดิมกำหนดให้การประกาศและยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกัน (ม.21 พ.ร.บ. ฉุกเฉิน)

การจัดการสถานการณ์[แก้]

การรวมศูนย์อำนาจ[แก้]

ท้องที่ใดที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือหลายกระทรวง หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายใดก็ตาม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน จะโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว (ม.7 ว.1 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีอำนาจกำหนดให้อำนาจหน้าที่บางส่วนหรือทั้งหมดที่กฎหมายมีให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด กลายมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวด้วย (ม.7 ว.2 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนหนึ่งหรือหลายคน เป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีแทน หรือมอบหมายให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการของผู้เกี่ยวข้องได้ โดยในกรณีหลังนี้ ให้ถือว่าเขาเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว (ม.7 ว.6 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

พนักงานเจ้าหน้าที่[แก้]

พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นบุคคลที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติการตามที่กฎหมายกำหนดและตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย (ม.7 ว.3 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ หรือทหารซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ผู้บัญชาการตำรวจ แม่ทัพ หรือเทียบเท่า เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดให้เขาเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เขาจะมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการทุกกรมกองและบรรดาพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อการนี้ ทั้งนี้ การปฏิบัติการทางทหารจะคงดำเนินไปตามระเบียบปฏิบัติเดิม แต่ต้องสอดคล้องกับที่เขากำหนด (ม.7 ว.4 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนดด้วย (ม.15 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

อนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อปฏิบัติการใดตามอำนาจหน้าที่แล้ว หากการนั้นกระทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินกว่าเหตุหรือความจำเป็นแล้ว ก็ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไผู้ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติการดังกล่าวคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่อยู่ (ม.17 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

อำนาจออกข้อกำหนดและประกาศ[แก้]

เพื่อจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้ (ม.9 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) โดยในข้อกำหนดเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีจะระบุเงื่อนไขหรือระยะเวลาในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติมในการปฏิบัติการก็ได้ (ม.9 ว.2 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

  1. ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น เช่น ทูตหรือผู้แทนต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ
  2. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
  3. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
  4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
  5. ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
  6. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

อนึ่ง ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจดังต่อไปนี้อีกด้วย (ม.11 ว.2 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

  1. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ใดซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็ดี ว่าเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้นก็ดี หรือว่าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็ดี ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อกันมิให้ผู้นั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจทวีความรุนแรง หรือเพื่อระงับความรุนแรงโดยไม่ชักช้า
  2. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเรียกมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อกระทำหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
  4. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
  5. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด ๆ เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง ในกรณีนี้ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม
  6. ประกาศห้ามบุคคลมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้บุคคลกระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
  7. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประเทศ
  8. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ต้องให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
  9. ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบ หรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือต้องดำเนินไปโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ หากสิ่งดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ใช้เพื่อการสื่อสาร นายกรัฐมนตรีอาจประกาศให้ใช้มาตรการเช่นว่าทั่วราชอาณาจักรหรือในท้องที่อื่นซึ่งมิได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้ (ม.13 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)
  10. ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อเข้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใดให้เป็นไปตาม เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก

บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งข้างต้น เมื่อมีผลใช้บังคับแล้วต้องประกาศใน รก. ด้วย (ม.14 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย[แก้]

ในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ใดซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็ดี ว่าเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้นก็ดี หรือว่าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็ดี พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องขออนุญาตศาลที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกินเจ็ดวัน แต่อาจร้องขอต่อศาลเพื่อขยายเวลาดังกล่าวได้คราวละเจ็ดวัน แต่รวมกันทุกคราวแล้วต้องไม่เกินกว่าสามสิบวัน (ม.12 ว.1 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ซึ่งหากครบกำหนดสามสิบวันเช่นว่าแล้วยังต้องการควบคุมตัวต่อไปอีก พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้

ในการขออนุญาตจากศาลเพื่อดำเนินการข้างต้น จะนำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกหมายอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม (ม.12 ว.3 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

ในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย จะปฏิบัติต่อเขาในลักษณะว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ โดยเขาจะต้องถูกควบคุมตัวไว้ในสถานที่ที่กำหนด ซึ่งต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ (ม.12 ว.1 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) กับทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาลที่มีคำสั่งอนุญาต และจัดสำเนารายงานนั้นไว้ ณ ที่ทำการของตนเพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ด้วย (ม.12 ว.2 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

องค์กรช่วยเหลือการปฏิบัติการ[แก้]

คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม ม.6 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ, และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมีอำนาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีว่ามีความจำเป็นแล้วหรือยังที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และสมควรใช้มาตรการใดในการจัดการสถานการณ์นั้นโดยเหมาะสม (ม.6 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) แต่การปฏิบัติการของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินไม่กระทบกระเทือนการปฏิบัติการของนายกรัฐมนตรีในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ม.6 ว.2 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

ที่ปรึกษา เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เพื่อให้คำปรึกษาหรือเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ สำหรับประโยชน์ในการประสานการปฏิบัติการในท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ม.8 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีอาจให้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก. นี้เป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ม.7 ว.5 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) เช่น ใน พ.ศ. 2553 มีการจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน" (อังกฤษ: Centre for Resolution of Emergency Situation) หรือเรียกโดยย่อว่า "ศอฉ." (อังกฤษ: CRES)[11]ใน พ.ศ. 2557 มีการจัดตั้ง "ศูนย์รักษาความสงบ" (อังกฤษ: The Center for Maintaining Peace and Order) หรือเรียกโดยย่อว่า "ศรส." (อังกฤษ: CMPO) [12] ใน พ.ศ. 2563 มีการจัดตั้ง"ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19" เพื่อการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย[13]

ความผิดและโทษ[แก้]

ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพื่อจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ม.18 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

นอกจากนี้ ในกฎหมายเดิมยังว่า ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ใดสะสมอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดไว้โดยผิดกฎหมาย จะต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นทวีคูณ (ม.19 พ.ร.บ. ฉุกเฉิน) และถ้าผู้กระทำความผิดดังกล่าวเป็นคนต่างด้าว เมื่อพ้นโทษแล้วก็ให้เนรเทศออกไปเสียให้พ้นจากราชอาณาจักรด้วย (ม.19 ว.2 พ.ร.บ. ฉุกเฉิน)

ประเทศอื่น[แก้]

แคนาดา[แก้]

"พ.ร.บ. การฉุกเฉิน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528)" (อังกฤษ: Emergencies Act, 1985)[14] ซึ่งตราขึ้นแทนที่ "พ.ร.บ. มาตรการทางการยุทธ์ ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513)" (อังกฤษ: War Measures Act, 1970)[15] นั้น รัฐบาลกลางแห่งแคนาดามีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในท้องที่ใด ๆ โดยมีอายุเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ซึ่งสามารถขยายอายุนี้ได้โดยความเห็นชอบของสภาองคมนตรีแห่งพระราชินี (ม.35) กฎหมายดังกล่าวกำหนดขั้นความร้ายแรงของ "การฉุกเฉิน" (อังกฤษ: emergencies) ไว้ต่าง ๆ กัน เช่น การฉุกเฉินเกี่ยวกับสวัสดิการสาธารณะ การฉุกเฉินเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การฉุกเฉินระหว่างประเทศ และการฉุกเฉินเหตุสงคราม (ม.5) นอกจากนี้ ยังมีการให้อำนาจราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนอาณาเขต ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตอำนาจตนได้ด้วย

ทั้งนี้ มีการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. มาตรการทางการยุทธ์ ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ประกาศการฉุกเฉินสามครั้งในประวัติศาสตร์ชาติแคนาดา โดยครั้งที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดคือในวิกฤตการณ์เดือนตุลาฯ (อังกฤษ: October Crisis)

เดนมาร์ก[แก้]

ในประเทศเดนมาร์ก ตามกฎหมายว่าด้วยกิจการตำรวจ (เดนมาร์ก: Lov om politiets virksomhed)[16] ผู้บังคับการตำรวจแห่งท้องที่ใดก็ดีมีอำนาจประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดเขตพิเศษเพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถนำพาบุคคลไปยังที่รโหฐานแล้วเปลื้องผ้าออกทั้งหมดเพื่อตรวจค้นได้แม้ไม่มีเหตุต้องสงสัยก็ตาม โดยในประกาศดังกล่าวต้องกำหนดระยะเวลาการมีอยู่ของเขตพิเศษนั้นด้วย (ม.6) นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องการตรวจค้นคนเป็นหมู่ ก็สามารถจับกุมคนทั้งหมู่นั้นได้และมีอำนาจกักตัวไว้ไม่เกินหกชั่วโมง

นิวซีแลนด์[แก้]

กฎหมายของนิวซีแลนด์อนุญาตให้รัฐบาลกลางและสภาเทศบาล (อังกฤษ: local city council) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามเขตอำนาจของตน เมื่อมีประกาศเช่นว่าแล้ว ผู้ประกาศอาจสั่งให้มีการควบคุมพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น ในการประกอบอาชีพหรือในการให้บริการอันจำเป็นตามที่เขาเห็นสมควร ทั้งนี้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนิวซีแลนด์ไม่มีวันหมดอายุ แต่นายกรัฐมนตรีหรือนายกเทศมนตรี แล้วแต่กรณี อาจสั่งให้ประกาศสิ้นสุลงได้

ออสเตรเลีย[แก้]

แต่ละรัฐของเครือรัฐออสเตรเลียมีกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินแตกต่างกันไป

สำหรับรัฐวิกตอเรียแล้ว ตามกฎหมายเรียก "พ.ร.บ. รักษาความปลอดภัยสาธารณะ" (อังกฤษ: Public Safety Preservation Act) ระบุว่า สถานการณ์ฉุกเฉินคือกรณีที่เป็นหรืออาจเป็นภัยต่อระบบการทำงาน ความปลอดภัย หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นของนายกรัฐมนตรี และแต่ละฉบับมีอายุสามสิบวันนับแต่วันประกาศ แต่สามารถถูกเพิกถอนเมื่อใดก็ได้โดยมติของสภาใดก็ดีแห่งรัฐสภา ซึ่งเมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในท้องที่ใดแล้ว นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกระเบียบข้อกำหนดใด ๆ ตามที่เห็นจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างทันท่วงที และเช่นเดียวกัน ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ระเบียบหรือข้อกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบด้วยก็จะสิ้นสุดลง และตามกฎหมายเรียก "พ.ร.บ. การให้บริการอันสำคัญ" (อังกฤษ: Essential Services Act) นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายยังมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการหรือห้ามดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับบริการสำคัญด้วย เช่น บริการเกี่ยวกับการขนส่ง น้ำมันเชื้อเพลิง ทรัพยากรน้ำ พลังงาน แก๊ส ฯลฯ

อียิปต์[แก้]

กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศอียิปต์ เรียก "ร.ฐ.บ. ที่ 162 ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501)" (อังกฤษ: Law No. 162 of 1958) และในสงครามระหว่างอาหรับและอิสราเอล พ.ศ. 2510 ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และประกาศอีกครั้งหลังจากประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) ถูกลอบสังหาร ต่อมาใน พ.ศ. 2524 ก็ประกาศอีกครั้ง และต่ออายุประกาศเรื่อยมาทุก ๆ สามปี ในการนี้มีผู้ถูกจับกุมตัวกว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันคน และมีนักโทษการเมืองสูงถึงสามหมื่นคนโดยประมาณ[17]

ตาม ร.ฐ.บ. ดังกล่าว ในท้องที่ที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีอำนาจพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยสิทธิและเสรีภาพบางประการของพลเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะถูกจำกัด และเจ้าหน้าที่สามารถตรวจพิจารณาสื่อต่าง ๆ ก่อนเผยแพร่และอาจสั่งห้ามการชุมนุมในทางการเมืองของกลุ่มเอกชนได้

ระหว่างประเทศ[แก้]

ข้อ 4 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บัญญัติว่า รัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศนี้สามารถจำกัดสิทธิของพลเมืองที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศดังกล่าวได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะ แต่มาตรการในการจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องเป็นไปโดยไม่เกินกว่าความจำเป็นรีบด่วนของสถานการณ์ฉุกเฉิน และรัฐภาคีนั้นต้องรายงานต่อเลขาธิการสหประชาชาติด้วย[18]

ทัศนคติต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน[แก้]

ในรัฐที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่พึงมองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องปรกติ ในทางตรงกันข้าม รัฐที่ใช้ระบอบเผด็จการมักประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นว่าเล่นเพื่อประคองอำนาจของผู้ปกครองไว้[ต้องการอ้างอิง]

นักทฤษฎีการเมืองบางคน เช่น คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) เสนอความเห็นว่า อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจโดยพื้นฐานของรัฐบาล และการรู้ว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในท้องที่ใดบอกเราว่า อำนาจที่แท้จริงในท้องที่นั้นอยู่ที่ใด แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนไว้อีกอย่างหนึ่ง[19]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  2. กูเกิล, 11 เมษายน 2552 : ออนไลน์.
  3. 3.0 3.1 3.2 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2552 : ออนไลน์.
  4. กูเกิล, 15 เมษายน 2552 : ออนไลน์.
  5. ไทยรัฐ, 2552 : ออนไลน์.
  6. BBC News, 2006 : Online.
  7. Guardian.co.uk, 2006 : Online.
  8. SAPA, 2009 : Online.
  9. The Independent World, 2000 : Online.
  10. พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการฯ, 2495 : ออนไลน์.
  11. คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ ๑/๒๕๕๓ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
  12. คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ
  13. คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๕/๒๕๖๓ เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
  14. Emergencies Act, 1985; 2009 : Online.
  15. The War Measures Act, 1970; 1999 : Online.
  16. Lov om politiets virksomhed, 2004 : Online.
  17. Enough is still enough, 2005 : Online.
  18. Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights, 2007 : Online.
  19. Carl Schmitt, 2005.

อ้างอิง[แก้]

ภาษาไทย[แก้]

  • กูเกิล.
    • (2552, 11 เมษายน). ประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 เมษายน 2552).
    • (2552, 15 เมษายน). ยกเลิกพระราชกำหนด [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 15 เมษายน 2552).
  • ไทยรัฐ. (2552, 17 เมษายน). "ฟิจิไม่สนทั่วโลกกดดัน เลื่อนเลือกตั้งไปปี 57". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 17 เมษายน 2552).
  • "พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495". (2495, 11 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 69, ตอนที่ 16, หน้า 278). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 เมษายน 2552).
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 เมษายน 2552).
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2552, 16 มีนาคม). พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 เมษายน 2552).

ภาษาต่างประเทศ[แก้]

  • BBC News. (2006, 6. December). "Fiji imposes state of emergency". [Online]. Available: <click>. (Accessed: 17 April 2009).
  • "Enough is still enough". (2005, 8-15 September). Al-Ahram Weekly Online, (no. 759). [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2015-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 11 April 2009).
  • Carl Schmitt. (2005). "The Dictature and Political Theology." n.p.
  • "Emergencies Act, 1985". (2009, 14 April). [Online]. Available: <click[ลิงก์เสีย]>. (Accessed: 15 April 2009).
  • Guardian.co.uk. (2006, 6 December). "State of emergency declared in Fiji". [Online]. Available: <click>. (Accessed: 17 April 2009).
  • "Lov om politiets virksomhed". (2004, 9 juni). [Online]. Tilgængelig: <click>. (Tilgængeligt på: 15 april 2009).
  • Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights. (2007). "International Covenant on Civil and Political Rights." [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2012-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 11 April 2009).
  • SAPA. (2009, 11 April). "Fiji under state of emergency". [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2009-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 17 April 2009).
  • The Independent World. (2000, 31 July). "Hostage crisis prolongs Fiji's state of emergency". [Online]. Available: <click>. (Accessed: 17 April 2009).
  • "The War Measures Act, 1970". (1999). [Online]. Available: <click>. (Accessed: 15 April 2009).