ปลาหลดจุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระวังสับสนกับ ปลาหลดหลังจุด
ปลาหลดจุด
Macrognathus siamenis.jpg
ปลาหลดจุดแบบธรรมดา
Macrognathus aff. siamensis.jpg
ปลาหลดงวงช้างหรือปลาหลดจมูกยาว เป็นปลาหลดชนิดใหม่ที่ยังมิได้มีการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ (ภาพโดยชวลิต วิทยานนท์)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Synbranchiformes
วงศ์: Mastacembelidae
สกุล: Macrognathus
สปีชีส์: M.  siamensis
ชื่อทวินาม
Macrognathus siamensis
(Günther, 1861)

ปลาหลดจุด เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macrognathus siamensis ในวงศ์ปลากระทิง (Mastacembelidae) มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย จะงอยปากยื่นแหลมยาว ครีบหางเล็กปลายมนแยกจากครีบหลังและครีบก้นที่ยาว ครีบอกเล็กกลม ตัวมีสีเทาอ่อน ด้านบนมีสีคล้ำ ด้านท้องสีจาง ครีบหลังคล้ำมีจุดเล็กสีจางประและมีดวงสีดำขอบขาวแบบดวงตา 4–5 ดวงเรียงตามยาว โคนครีบหางมีอีก 1 ดวง มีความยาวประมาณ 12–15 เซนติเมตร ใหญ่สุดพบ 25 เซนติเมตร

ปลาหลดจุดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งทั่วไป และแม่น้ำลำคลองของทุกภาค รวมถึงพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในภาคอีสาน[1] บริโภคโดยปรุงสด ทำปลาแห้ง และรมควัน นอกจากนี้ยังจับขายเป็นปลาสวยงามด้วย[2]

ปลาหลดงวงช้าง[แก้]

ปลาหลดงวงช้างหรือปลาหลดจมูกยาวเป็นปลาที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อกลางปี พ.ศ. 2554 นี้[3] เป็นปลาที่ถูกค้นพบและศึกษาโดยวอลเตอร์ เรนโบธ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันในปี พ.ศ. 2539 ที่ออกสำรวจปลาในลุ่มแม่น้ำโขงที่ประเทศกัมพูชา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปลาหลดชนิดใหม่เพราะมีความแตกต่างในเชิงอนุกรมวิธานจากปลาหลดจุดอยู่พอสมควร จากนั้น ไอ.จี. แบร์ด ได้ทำการสำรวจพบปลาชนิดนี้จากบริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง ทางตอนใต้ของแขวงจำปาศักดิ์ในประเทศลาว ในปี พ.ศ. 2542 ได้บรรยายลักษณะตรงกับของเรนโบธ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2544 มอริส ก็อตลา ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Fishes of Laos ได้อ้างถึงปลาชนิดนี้ตามรายงานของเรนโบธ และลงตีพิมพ์ภาพ และสรุปว่าปลาชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์บริเวณตอนใต้ของน้ำตกคอนพะเพ็งในพื้นที่ประเทศลาวและกัมพูชา

ในทัศนะของชัยวุฒิ กรุดพันธ์ นักมีนวิทยาแห่งคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้ทำการวิจัยโดยการลงพื้นที่สำรวจและรายงานสถานะความหลากหลายของปลาในลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกับคณะทำงานต่างชาติอีก 4 ประเทศ เห็นว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาพื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำโขงชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากปลาหลดจุดซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ง่ายและแพร่กระจายพันธุ์กว้างขวาง และอาจถือเป็นลักษณะเฉพาะทางนิเวศวิทยาประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีปลาในสกุลปลาหลดอีกหลายชนิดที่มีลักษณะของจมูกหรือส่วนหน้าที่ยื่นยาวออกมาเช่นนี้เหมือนกัน ปัจจุบัน ปลาหลดงวงช้างหรือปลาหลดจมูกงวงยังมิได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด จึงอาจใช้ชื่อว่า Macrognathus aff. siamensis ไปก่อน[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. หน้า 7, ทุ่งกุลาฯร้างปลาหลด โดย ไชยรัตน์ ส้มฉุน. ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21668: วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 แรม 6 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา
  2. หนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (กรุงเทพ พ.ศ. 2544) ISBN 974-475-655-5
  3. "พบ"ปลาหลดงวงช้าง"แม่น้ำโขงชนิดใหม่ของโลก". กรุงเทพธุรกิจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-07. สืบค้นเมื่อ 2011-09-28.
  4. ชัยวุฒิ กรุดพันธ์, ปลาหลดจุดจมูกยาว (ปลาหลดงวงช้าง) ปลาไทยชนิดใหม่ของโลก ?. คอลัมน์ Wild Ambition หน้า 42-45 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 13 ปีที่ 2: กรกฎาคม 2011

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]