ปลาก้างพระร่วง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาก้างพระร่วง
สถานะการอนุรักษ์
Not recognized (IUCN 3.1)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลาหนัง
วงศ์: วงศ์ปลาเนื้ออ่อน
สกุล: ปลาเพียว
Ng & Kottelat, 2013[1][2]
ชื่อทวินาม
Kryptopterus vitreolus

ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในสกุล Kryptopterus นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากกว่าจะนำมาบริโภค พบได้ทั่วไปในตลาดซื้อขายปลาน้ำจืดสวยงามโดยเป็นปลาส่งออกที่ขึ้นชื่อชนิดหนึ่ง แต่อนุกรมวิธานของปลาชนิดนี้เป็นที่สับสนกันมานานและเพิ่งได้รับการจำแนกอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2556[1][3]

ศัพทมูลวิทยาและการอนุกรมวิธาน[แก้]

ก่อนปี พ.ศ. 2525 ปลาก้างพระร่วงเคยถูกจัดให้เป็นปลาชนิดเดียวกับ K. bicirrhis ซึ่งเป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่กว่า ดุกว่า และพบไม่บ่อยในตลาดปลาสวยงาม[1][2] ต่อมาเชื่อกันว่าปลาก้างพระร่วงชนิดที่พบบ่อยในตลาดปลาเป็นชนิดเดียวกันกับ K. minor แต่ในปี พ.ศ. 2556 มีข้อสรุปว่าตัวอย่างปลาที่พบในตลาดปลานั้นเป็นชนิดต่างหากอีกชนิดหนึ่ง จึงได้รับการบรรยายชนิดใหม่โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า K. vitreolus[1][3] ส่วนชนิด K. minor ที่แท้จริงมีถิ่นอาศัยจำกัดอยู่ที่เกาะบอร์เนียวเท่านั้น และแทบไม่เคยถูกนำเข้ามาในตลาดปลาสวยงามเลย[1][3][4]

ชื่อชนิด vitreolus แผลงมาจากคำคุณศัพท์ vitrevs ในภาษาละตินซึ่งแปลว่า "ที่ใสหรือมีคุณสมบัติอย่างแก้ว"[1] ส่วนชื่อสามัญในภาษาไทยมีที่มาจากนิทานพื้นบ้านภาคกลางที่เล่าต่อกันมาว่า พระร่วงได้เสวยปลาชนิดนี้จนเหลือแต่ก้าง จึงทิ้งลงน้ำและกล่าววาจาสิทธิ์ว่าขอให้ปลาตัวนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา ปลาตัวดังกล่าวก็กลับมีชีวิตขึ้นใหม่จริง ๆ จึงได้ชื่อว่า "ก้างพระร่วง" นับแต่นั้น นอกจากชื่อปลาก้างพระร่วงแล้ว ยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาผี", "ปลาก้าง", "ปลากระจก", "ปลาเพียว" เป็นต้น[5]

ถิ่นที่อยู่[แก้]

ปลาก้างพระร่วงเป็นปลาประจำถิ่นของไทย อาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลแรงในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ ปัจจุบันพบมากที่สุดตามลำน้ำทางตอนใต้ของคอคอดกระที่ไหลลงสู่อ่าวไทยและตามลำน้ำแถบทิวเขาบรรทัดในภาคตะวันออก[1][2] นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเห็นที่รัฐปีนังของมาเลเซียด้วย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน[6] ทั้งนี้ ปลาที่พบในแม่น้ำลำคลองจะมีลำตัวสีขุ่นกว่าปลาที่พบในแหล่งน้ำบริเวณเชิงเขา เชื่อว่าเป็นเพราะปลาต้องปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงศัตรู

ลักษณะ[แก้]

ปลาก้างพระร่วง มีหนวดคู่ 2 คู่อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง โดยหนวดคู่บนจะยาวกว่าคู่ล่างมาก ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากจนแทบมองไม่เห็น ครีบทวารเป็นแนวยาวจรดโคนหาง หางมีลักษณะเว้าลึก ลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมาก ความยาวทั้งหมดโดยปกติอยู่ที่ราว 6.5 เซนติเมตร (2.6 นิ้ว)[1][3] แต่อาจพบยาวได้ถึง 8 เซนติเมตร (3.1 นิ้ว)[2] ลำตัวโปร่งใส จนสามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าเป็น "ปลาที่ตัวใสที่สุดในโลก" ก็ว่าได้ ทั้งนี้เนื่องจากปลาก้างพระร่วงเป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด และไม่มีเม็ดสีในร่างกาย อวัยวะส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับหัว หากส่องด้วยแว่นขยายจะมองเห็นหัวใจปลาเต้นได้ และถ้ามีแสงกระทบในมุมที่ถูกต้องก็จะเห็นตัวปลาเป็นสีเหลือบรุ้ง[2]

นอกจากปลาก้างพระร่วงแล้ว มีปลาในสกุล Kryptopterus อีกเพียงสองชนิดที่มีลำตัวโปร่งใสอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ K. minor และ K. piperatus แต่แทบไม่พบปลาทั้งสองชนิดในตลาดปลาน้ำจืดสวยงาม[1][3] ส่วนปลาชนิดอื่น ๆ รวมทั้ง K. bicirrhis จะมีลำตัวค่อนข้างโปร่งแสงหรือทึบแสงเท่านั้น[1][3]

พฤติกรรม[แก้]

ปลาก้างพระร่วงอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่จำนวน 100 ตัวขึ้นไป ชอบเกาะกลุ่มในแหล่งน้ำไหล โดยจะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ และหันหน้าสู้กระแสน้ำไปในทิศทางเดียวกันหมด เป็นปลาขี้ตื่นตกใจมาก เมื่อตกใจจะว่ายกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จากนั้นก็จะกลับมาเกาะกลุ่มตามเดิม อาหารได้แก่ แมลงน้ำขนาดเล็กและแพลงก์ตอนสัตว์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 Ng, H-H. and M. Kottelat (2013). After eighty years of misidentification, a name for the glass catfish (Teleostei: Siluridae) Zootaxa 3630: 308-316.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "Kryptopterus vitreolus". Cat-eLog Data Sheets. PlanetCatfish. 18 July 2014. สืบค้นเมื่อ 18 July 2014.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 SeriouslyFish: Kryptopterus vitreolus. Retrieved 18 July 2014.
  4. "Kryptopterus minor". Cat-eLog Data Sheets. PlanteCatfish. 18 July 2014. Retrieved 18 July 2014.
  5. สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล. สารานุกรมปลาไทย. กรุงเทพฯ, 2540. ISBN 9789748990026
  6. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2014). "Kryptopterus vitreolus" in FishBase. July 2014 version.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Kryptopterus vitreolus ที่วิกิสปีชีส์