ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513)
บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โปรดเพิ่มพารามิเตอร์ reason หรือ talk ลงในแม่แบบนี้เพื่ออธิบายปัญหาของบทความ |
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
ราชอาณาจักรกัมพูชา ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា พฺระราชาณาจกฺรกมฺพุชา | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2496–พ.ศ. 2513 | |||||||||||||
สถานะ | ราชอาณาจักร | ||||||||||||
เมืองหลวง | ราชธานีพนมเปญ | ||||||||||||
ภาษาราชการ | ภาษาเขมร | ||||||||||||
ภาษาประจำชาติ | ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจาม | ||||||||||||
ศาสนา | ศาสนาพุทธ (ศาสนาประจำชาติ) | ||||||||||||
เดมะนิม | ชาวเขมร (เชื้อชาตินิยม) | ||||||||||||
การปกครอง | รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (1953–1955) รัฐพรรคการเมืองเดียวภายใต้ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (1955–1970) | ||||||||||||
พระมหากษัตริย์ | |||||||||||||
• พ.ศ. 2494 - 2498 | พระนโรดม สีหนุ¹ | ||||||||||||
• พ.ศ. 2498 - 2503 | พระนโรดม สุรามฤต | ||||||||||||
• พ.ศ. 2503 - 2513 | ราชินีสีสุวัตถิ์ กุสุมะ | ||||||||||||
นายกรัฐมนตรี | |||||||||||||
• พ.ศ. 2498 | สมเด็จแปน นุต | ||||||||||||
• พ.ศ. 2498 | หลวง เลง เงต | ||||||||||||
• พ.ศ. 2512 - 2513 | ลน นล | ||||||||||||
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา | ||||||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | สงครามเย็น | ||||||||||||
• ได้รับเอกราช | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 | ||||||||||||
18 มีนาคม พ.ศ. 2513 | |||||||||||||
• สถาปนาสาธารณรัฐ | 9 ตุลาคม พ.ศ. 2513 | ||||||||||||
ประชากร | |||||||||||||
• พ.ศ. 2505[3] | 5,728,771 | ||||||||||||
สกุลเงิน | เรียล | ||||||||||||
รหัส ISO 3166 | KH | ||||||||||||
| |||||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ประเทศกัมพูชา | ||||||||||||
¹ เป็นทั้งผู้นำรัฐและผู้นำรัฐบาล |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
---|
ประวัติศาสตร์กัมพูชา |
ประวัติศาสตร์ยุคแรก |
ยุคมืด |
สมัยอาณานิคม |
เอกราชและความขัดแย้ง |
กระบวนการสันติภาพ |
กัมพูชายุคใหม่ |
ตามหัวข้อ |
ราชอาณาจักรกัมพูชา ในช่วง พ.ศ. 2496–2513 เป็นการบริหารประเทศในช่วงแรกของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ตั้งแต่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ในช่วงแรกพระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศในฐานะพระมหากษัตริย์ ต่อมาทรงสละราชสมบัติมาเล่นการเมือง จัดตั้งพรรคสังคมราษฎร์นิยม ประวัติศาสตร์กัมพูชาในช่วงนี้มักถูกเรียกว่า สมัยสังคมราษฎรนิยม (សម័យសង្គមរាស្ត្រនិយម) หรือ กัมพูชาภายใต้การปกครองของพระสีหนุ อันเนื่องมาจากเป็นยุคที่พระนโรดม สีหนุได้ทรงรวมทั้งตำแหน่งพระมหากษัตริย์และผู้นำรัฐบาลในคราวเดียวกัน
ภายใต้การบริหารประเทศของพระนโรดม สีหนุ ถือเป็นยุคที่กัมพูชาเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้านและชาวกัมพูชาถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของชาวกัมพูชา
แม้ปกครองของสมเด็จนโรดมสีหนุคือยุคสมัยอันรุ่งเรืองแต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งแนวทางนโยบายช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงนิยมตะวันตก ต่อต้านคอมมิวนิสต์และเวียดนาม และดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับไทย ทั้งกรณีพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และการกวาดล้างชาวไทยเกาะกงในจังหวัดเกาะกง ภายหลังทรงหันไปเป็นมิตรกับจีนและเกาหลีเหนือมากขึ้น จนถูกรัฐประหาร โดยจอมพลลน นล เมื่อ พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นที่รู้จักในการรัฐประหารปี พ.ศ. 2513 ทำให้ราชอาณาจักรกัมพูชาภายใต้ระบอบสังคมราษฎร์นิยมของพระนโรดม สีหนุต้องสิ้นสุดลงและได้มีการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ โดยจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรขึ้นแทน ส่วนพระนโรดม สีหนุต้องเสด็จลี้ภัยไปจัดตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
เอกราช การประชุมเจนีวาและการรุกรานของเวียดมิญ
[แก้]หลังจากการรณรงค์ในการเรียกร้องเอกราชอย่างสมบูรณ์ของกัมพูชาในช่วง พ.ศ. 2496 ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ฝรั่งเศสตัดสินใจยินยอมให้เอกราชแก่กัมพูชา แม้ว่ากัมพูชาจะได้รับเอกราชตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2496 แต่สถานะทางการทหารยังไม่มั่นคง กลุ่มที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ของเขมรอิสระเข้าร่วมกับรัฐบาล แต่กลุ่มที่นิยมเวียดมิญและสมาคมเขมรอิสระได้เพิ่มการต่อต้านมากขึ้น แม้ว่ากองทัพสหภาพฝรั่งเศสจะพยายามปราบปราม ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2497 กองทัพเวียดมิญได้บุกข้ามชายแดนเข้ามายังกัมพูชา กลุ่มที่นิยมราชวงศ์พยายามต่อต้านแต่ไม่สามารถบังคับให้ทหารเวียดมิญออกไปได้ทั้งหมด กลุ่มคอมมิวนิสต์ได้พยายามสร้างข้อต่อรองก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุมเจนีวาที่จะเริ่มในปลายเดือนเมษายนของปีนั้น
การประชุมเจนีวามีผู้เข้าร่วมได้แก่ ตัวแทนจากกัมพูชา เวียดนามเหนือ รัฐเวียดนาม (ต่อมาจะเป็นสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้) ลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพโซเวียต ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา จุดประสงค์ของการประชุมเพื่อฟื้นฟูสันติภาพในอินโดจีน การอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับอินโดจีนเริ่มขึ้นเมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เวียดนามเหนือพยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนของฝ่ายต่อต้านในกัมพูชาแต่ล้มเหลว ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 การประชุมได้บรรลุข้อตกลงโดยยอมรับความเป็นเอกราชของกัมพูชา เวียดมิญต้องถอนทหารออกจากกัมพูชา 90 วัน ส่วนกองกำลังฝ่ายต่อต้านในกัมพูชาต้องสลายตัวไปใน 30 วัน ฝรั่งเศสและเวียดมิญจะถอนทหารออกจากกัมพูชาภายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2497
เพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนทหารเวียดมิญออกไป ตัวแทนฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการประชุมเจนีวาต้องการให้ลาวและกัมพูชาเป็นกลางอย่างแท้จริงโดยต้องไม่มีทหารสหรัฐอเมริกาในประเทศเหล่านี้ กัมพูชาได้ประกาศเป็นกลางโดยจะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศใด นอกจากการร่วมมือกับสหประชาชาติ ที่ประชุมยังได้มีมติจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมนานาชาติสำหรับประเทศในอินโดจีน โดยมีตัวแทนจากแคนาดา โปแลนด์และอินเดีย โดยเป็นที่ปรึกษาในการเจรจาสงบศึก การถอนกองทหารต่างชาติ การปลดปล่อยนักโทษ และสิ่งที่ได้ตกลงร่วมกันอื่นๆระหว่างการประชุม ฝรั่งเศสและทหารเวียดมิญส่วนใหญ่ถอนทหารออกไปตามที่กำหนดไว้
ยุคสมัยแห่งสังคมราษฎร์นิยม
[แก้]หลังการประชุมเจนีวาได้มีการเลือกตั้งขึ้นในประเทศกัมพูชาใน พ.ศ. 2498 โดยมีคณะกรรมการควบคุมนานาชาติเป็นผู้สังเกตการณ์เพื่อรับประกันความยุติธรรม พระนโรดม สีหนุได้ทรงตัดสินพระทัยลงเล่นการเมืองอย่างไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2498 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศสละราชสมบัติให้พระบิดาของพระองค์คือพระนโรดม สุรามฤตขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทนพระองค์ พระนโรดม สีหนุทรงเข้ามาเล่นการเมือง พระองค์ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นคือ พรรคสังคมราษฎร์นิยม (សង្គមរាស្ត្រនិយម) หรือเรียกสั้นๆว่าพรรคสังคม สมาชิกส่วนใหญ่เป็นฝ่ายขวา ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยความรุนแรง แนวคิดที่โดดเด่นของพรรคคือ ชาตินิยมเขมร นิยมเจ้า ต่อต้านความอยุติธรรมและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปกป้องพุทธศาสนา การเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้งโดยได้ 83% ของที่นั่งทั้งหมดในสภา มากกว่าพรรคเขมรเอกราชของเซิง งอกทัญและกรมประชาชนของกลุ่มฝ่ายซ้าย
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 พระนโรดม สีหนุได้เชิญผู้นำพรรคประชาธิปไตยเข้าพบที่พระราชวังเป็นเวลา 5 ช.ม.หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของพระองค์ ในช่วงเวลาเดียวกัน กรมประชาชนได้เตรียมการณ์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 5 คนพระนโรดม สีหนุพยายามต่อต้านพรรคนี้ สถานีวิทยุแห่งชาติได้ออกประกาศว่ากรมประชาชนเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม มีการติดโปสเตอร์ต่อต้านกรมประชาชนโดยทั่วไป ทำให้ผู้สมัครของพรรค 4 คนถอนตัวไป ส่วนที่เหลืออีก 1 คนไม่ได้รับการเลือกตั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป องค์กรที่ต่อต้านระบอบของสีหนุถูกผลักดันให้กลายเป็นองค์กรใต้ดิน พรรคประชาธิปไตยถูกคว่ำบาตรเมื่อ พ.ศ. 2500 หลังจากที่หัวหน้าพรรคเข้าร่วมกับระบอบสังคม
พรรคสังคมไม่ได้เป็นองค์กรฝ่ายขวาโดยแท้จริง มีสมาชิกฝ่ายซ้ายจำนวนมากอยู่ในพรรคเพื่อถ่วงดุลกับฝ่ายขวาในจำนวนนี้ มีผู้นำของเขมรแดงคือฮู ยวนและฮู นิมเป็นรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2501 – 2506 และเขียว สัมพันเป็นเลขาธิการทางด้านการค้าเป็นเวลาสั้นๆใน พ.ศ. 2506 แต่พรรคที่เป็นเอกเทศของฝ่ายซ้ายกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2502 นพ โบพัน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ประชาชนรายสัปดาห์ถูกยิงตายที่ด้านนอกสำนักงานด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใน พ.ศ. 2503 ประชาชนร่วมสองพันคนถูกส่งตัวไปอบรมด้วยข้อหาทางการเมือง ในปีเดียวกัน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ l'Observateur ถูกทุบตีข้างถนน ถูกเปลื้องผ้าและถ่ายรูปประจานโดยกลุ่มตำรวจลับ บรรณาธิการได้ไปแจ้งความแต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจ อีกไม่กี่วันต่อมา หนังสือพิมพ์ l'Observateur และหนังสือพิมพ์อื่นที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันถูกสั่งปิด
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2505 ผู้นำฝ่ายซ้ายที่สำคัญคือตู สามุตถูกตำรวจจับกุมตัวขณะอยู่ที่ตลาด และถูกคุมขังไว้หลายวัน ก่อนจะถูกสังหารโดยนำไปถ่วงน้ำในบึงที่สตึงเมียนเจยในพนมเปญ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2506 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศชื่อของฝ่ายซ้ายจำนวน 34 คน ว่าเป็นพวกขี้ขลาด หลอกลวง ก่อวินาศกรรม หัวหน้ากบฏ และเป็นคนทรยศ และให้ตำรวจจับกุมคนเหล่านี้ เมื่อถูกจับ ทั้งหมดถูกส่งตัวเข้าพบพระนโรดม สีหนุและให้ลงนามรับรองว่าพระองค์เป็นประมุขรัฐ หลังจากนั้นจะถูกตำรวจจับตามองตลอดเวลา ผลที่ตามมาทำให้ขบวนการฝ่ายซ้ายต้องออกจากเมืองหลวงไปตั้งมั่นในชนบท
ใน พ.ศ. 2506 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศให้การธนาคาร การค้ากับต่างชาติและการประกันภัยเป็นของรัฐเพื่อลดอิทธิพลของต่างชาติในด้านเศรษฐกิจ ใน พ.ศ. 2507 ได้จัดตั้งบริษัทการค้าของรัฐคือสหกรณ์ส่งออก-นำเข้าแห่งชาติ เพื่อควบคุมการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เน้นชาตินิยมเขมรมากกว่านิยมจีนหรือเวียดนาม ทำให้การลงทุนจากต่างชาติหายไป หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2509 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้ง ลน นลได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ฝ่ายขวามีอิทธิพลในพรรคและรัฐบาลมากขึ้น เมื่อลน นลประอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2510 ซอน ซานได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน
พัฒนาการภายในประเทศ
[แก้]การสนับสนุนการศึกษา
[แก้]หลังจากมีนโยบายดังกล่าวแล้วพระนโรดม สีหนุทรงสนับสนุนให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นในกัมพูชาจำนวนมาก ใน พ.ศ. 2508 ทรงให้จัดตั้งวางระบบมหาลัยวิทยาลัยของกัมพูชาขึ้นโดยยึดการจัดการของมหาวิทยาลัยในไทยเป็นแม่แบบ มีการตั้งมหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางทางด้านศิลปะ ในปีเดียวกันนี้ ในกัมพูชามีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาถึง 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ มหาวิทยาลัยภูมินทร์กำปงจาม มหาวิทยาลัยภูมินทร์ตาแก้ว-กำปอต และมหาวิทยาลัยภูมินทร์ปัจเจกเทศ โดยทุกแห่งมีอธิการบดีเป็นชาวกัมพูชา และพยายามจัดการศึกษาเป็นของตัวเองโดยไม่ตามอย่างฝรั่งเศส [4]
สังคม
[แก้]ดนตรี
[แก้]หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว เจ้านโรดม สีหนุได้ทรงนำดนตรีมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศเกิดใหม่นี้ด้วยการให้การอุปถัมภ์นักดนตรีประจำราชสำนักหลายคนให้สร้างผลงานสไตล์ใหม่ ๆ เช่น สิน ศรีสมุทร ซึ่งเริ่มต้นอาชีพนักดนตรีหลวงด้วยการเป็นนักร้องแนวบัลลาดในพระราชวัง ก่อนจะเป็นที่รู้จักในฉายา ‘ราชาร็อกแอนด์โรลแห่งกัมพูชา’ ในปลายยุค ค.ศ. 1960 เจ้านโรดม สีหนุ นำเข้าดนตรีตะวันตกหลากหลายแนวสู่กัมพูชา ควบคู่กับการนำเข้ามาโดยชาวกัมพูชาที่ร่ำรวยซึ่งสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส ในยุคนั้นมีค่ายเพลงผุดขึ้นมากมายในกัมพูชา และมีไนต์คลับสำหรับการฟังดนตรี-เต้นรำอยู่ทั่วไปในกรุงพนมเปญ[5]
ในยุครุ่งเรืองของดนตรีกัมพูชาช่วงปี ค.ศ. 1960 – 1970 ซุปเปอร์สตาร์ฝ่ายชายที่โด่งดังที่สุดของประเทศในขณะนั้นคือ สิน ศรีสมุทร เจ้าของฉายา ‘ราชาร็อกแอนด์โรลแห่งกัมพูชา’ ส่วนซุปเปอร์สตาร์ฝ่ายหญิงของประเทศคือ รส สิริสุทธา เจ้าของฉายา ‘ราชินีเสียงทอง’[6]
นโยบายเชื้อชาติ
[แก้]รัฐบาลราชอาณาจักรภายใต้การบริหารของพรรคสังคมราษฎร์นิยมได้มีนโยบายเชื้อชาตินิยมในระยะแยกหลังเกิดคดีปราสาทเขาพระวิหารได้มีการต่อต้านชาวไทยหรือคนที่มีเชื้อสายไทยสยามเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก พระนโรดมได้ประกาศให้ถือเชื้อสายชาวเขมรเป็นชาติพันธุ์บริสุทธิ์ ชาวไทยสยามจัดเป็นพลเมืองชั้นสอง โดยถูกห้ามเป็นเจ้าของกิจการ ห้ามแต่งงานกับชาวเขมร นโยบายดังกล่าวยังเป็นผลให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไทยสยามในจังหวัดเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ซึ่งมีประชาการไทยสยามจำนวนมากอาศัยอยู่ในสมัยที่เคยตกเป็นของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนบริเวณจังหวัดเกาะกงมีการกวาดล้างครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดทำให้ชาวไทยเกาะกงจำนวนมากต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว
นโยบายไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด
[แก้]นโยบายไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใดของพระนโรดม สีหนุเกิดขึ้นหลังจากการประชุมที่เจนีวา ก่อนหน้านี้ พระองค์เคยสนใจจะนำกัมพูชาเข้าร่วมกับซีโต้ ซึ่งต้องการรวมกัมพูชา ลาวและเวียดนามใต้เข้าในสนธิสัญญาด้วย แต่หลังจากการพบปะกับเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียและอู นุ นายกรัฐมนตรีพม่า พระองค์จึงตัดสินใจใช้นโยบายไม่ฝักใฝ่กับฝ่ายใดและปฏิเสธการเข้าร่วมกับซีโต้ นอกจากนั้น พระนโรดม สีหนุยังไม่พอใจที่สหรัฐสนับสนุนไทยและเวียดนามใต้มากกว่ากัมพูชา
ในการประชุมบันดุง พ.ศ. 2498 พระนโรดม สีหนุได้พบปะกับโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนและฝั่ม วัน ดง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามเหนือ ทั้งสองประเทศให้การรับรองว่าจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของกัมพูชา ประสบการณ์ที่พระองค์ต่อสู้กับฝรั่งเศส ทำให้พระองค์เห็นว่าสหรัฐเป็นเช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศในอินโดจีน และสนับสนุนการขยายอำนาจของไทยและเวียดนามใต้
ประเทศจีนสนับสนุนนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของกัมพูชาเพราะเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐเข้ามามีอิทธิพลเหนือกัมพูชา เมื่อโจว เอินไหลเดินทางไปพนมเปญใน พ.ศ. 2499 ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนประมาณ 300,000 คนให้เข้าร่วมในการพัฒนาชาติกัมพูชาและได้สิทธิเป็นพลเมืองกัมพูชา ความจงรักภักดีของชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนนี้เป็นจุดที่อ่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและกัมพูชา เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนและสหภาพโซเวียต พระนโรดม สีหนุเลือกเข้าข้างจีน ใน พ.ศ. 2498 พระนโรดม สีหนุเดินทางไปสหรัฐเพื่อเจรจาขอความช่วยเหลือทางทหาร มีการจัดตั้งที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐในพนมเปญ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการฝึกทหารและการใช้อาวุธที่ได้รับจากสหรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2503 ความช่วยเหลือจากสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 30 ของงบประมาณทางทหารของกัมพูชา เนื่องจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐที่เป็นที่ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทหารของกัมพูชา ทำให้พระนโรดม สีหนุระแวงว่าฝ่ายทหารที่นำโดยลน นลจะมีอำนาจมากเกินไป
ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับสหรัฐเกิดจากการที่สหรัฐและเวียดนามใต้ละเมิดอธิปไตยของกัมพูชา โดยข้ามแดนมาโจมตีทหารเวียดกงและทิ้งระเบิดในกัมพูชา นอกจากนั้น พระนโรดม สีหนุยังระแวงว่าสหรัฐจะโค่นล้มรัฐบาลของพระองค์เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่นิยมตะวันตกมากกว่า ดังที่ปรากฏใน พ.ศ. 2502 ที่มีการจับกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดในแผนบางกอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ เช่น ซ็อม ซารี ผู้นำกองทหารเขมรเสรีฝ่ายขวาในเวียดนามใต้เซิง งอกทัญ นักชาตินิยมรุ่นแรกๆที่เคยลี้ภัยเข้ามาในไทย และดาบ ฌวน ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดเสียมราฐ นอกจากนั้นยังกล่าวหาว่าดาบ ฌวนต้องการจัดตั้งรัฐอิสระที่ประกอบด้วยเสียมราฐ กำปงธมและบางส่วนของลาวใต้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ผู้นำลาวฝ่ายขวา
พระนโรดม สีหนุมองว่ารัฐบาลเวียดนามใต้ไม่มีความมั่นคงและสุดท้ายเวียดนามเหนือจะชนะสงคราม ทำให้พระองค์ตัดสินใจสนับสนุนเวียดนามเหนือ นอกจากนั้น กัมพูชายังเป็นชาติแรกที่ยอมรับรัฐบาลของเวียดกงที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 ใน พ.ศ. 2508 พระนโรดม สีหนุได้เจรจากับจีนและเวียดนามเหนือ เมื่อเวียดนามเหนือและเวียดกงถูกบีบจนต้องย้ายฐานที่ตั้งเข้ามาในกัมพูชา พระนโรดม สีหนุอนุญาตให้เวียดกงเข้ามาได้ และยอมให้ใช้ท่าเรือขนส่งอาวุธและอุปกรณ์ทางทหารให้แก่เวียดกง ทำให้กัมพูชาเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนามมากขึ้น
ความขัดแย้งกัมพูชา-ไทย
[แก้]ปี พ.ศ. 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งไทยและกัมพูชามีปัญหากระทบกระทั่งตามแนวชายแดนโดยเฉพาะปราสาทเขาพระวิหารที่เป็นคดีขึ้นสู่ศาลโลก ตลอดสมัยพระนโรดม สีหนุ ไทยและกัมพูชามีการประท้วงเกี่ยวกับการละเมิดเขตแดนกันบ่อยครั้งมาก จนในที่สุด พระนโรดม สีหนุจึงทรงตัดสินพระทัยฟ้องร้องนำคดีความปราสาทเขาพระวิหารสู่ศาลโลกเพื่อเรียกร้องเอาดินแดนพิพาทกับประเทศไทย เมื่อศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาถือเป็นความสำเร็จทางการทูตของกัมพูชาในช่วงยุคนี้ หลังจากนั้นพระนโรดม สีหนุจึงทรงเริ่มนโยบายแข็งกร้าวต่อประเทศไทย โดยเริ่มจัดการปัญหาชาวไทยเกาะกงอย่างโหดร้าย
ปัญหาพรมแดน
[แก้]เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำสหราชอาณาจักร ซัม ซารี เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารลงในนิตยสาร กัมพูชาวันนี้ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า "ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์"[7] จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาพาดพิงเรื่องสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแสทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย[7] ประกอบกับพระนโรดม สีหนุ ได้ทรงปลุกกระแสชาตินิยมต่อต้านไทยทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาเลวร้ายลง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลไทยจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตจังหวัดที่มีพรมแดนใกล้กับกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดตราด, จันทบุรี, ปราจีนบุรี, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีใจความแถลงว่าได้มีโจรผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาทำร้ายร่างกาย ประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น[8] ส่วนทางกัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในปีเดียวกันและได้มีการส่งกองทัพเข้ามาฝึกซ้อมรบประชิดชายแดนไทยเป็นระลอกๆ
กรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร
[แก้]พระนโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้นได้ทรงตัดสินพระทัยนำประเด็นเขาพระวิหารฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 พระนโรดม สีหนุ ทรงมีบันทึกว่า ดินแดนทางขึ้นสู่ปราสาทพระวิหารนั้นไม่ได้เป็นของไทย หากแต่เป็นของกัมพูชาตามสนธิสัญญากับแผนที่ ฝรั่งเศส-สยาม ปี 1904 และ 1907 และทางขึ้นก็ยังหันเข้าสู่ประเทศกัมพูชาอีกด้วย
คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม หลังจากที่ศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ได้มีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งราชอาณาจักรกัมพูชา มีการประกาศวันหยุดราชการ พ.ศ. 2506 สมเด็จเจ้าสีหนุ เสด็จขึ้นปราสาทพระวิหารเพื่อทำพิธีบวงสรวง ทางสะพานโบราณ (ช่องบันไดหัก) เมื่อทรงทราบว่ากัมพูชาชนะคดีปราสาทพระวิหาร[9]
หลังจากได้กัมพูชาได้อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารแล้วในช่วงปลายของราชอาณาจักรกัมพูชาสมัยสังคมราษฎรนิยมได้รับความนิยมจากประชาชนตกต่ำลง พระนโรดม สีหนุจึงทรงพยายามอ้างสิทธิเหนือปราสาทตาเมือนธม บริเวณจังหวัดสุรินทร์และปราสาทสด๊กก๊อกธม บริเวณจังหวัดสระแก้ว ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงซากปราสาทเท่านั้นเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนกลับคืนมา แต่ทว่าหลังจากเกิดรัฐประหารโดยจอมพลลอน นอลทำให้ทรงล้มเลิกการอ้างสิทธิดังกล่าวไป
การกวาดล้างชาวไทยเกาะกง
[แก้]สืบเนื่องจากความขัดแย้งกับในจากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร[10] ประกอบกับการที่พระนโรดม สีหนุน่าจะมีความระแวงไทยสูง[11] ในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลกัมพูชาได้ออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยไว้ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่ค้นพบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก โดยเฉพาะหากพูดภาษาไทยจะถูกปรับคำละ 25 เรียล และเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียลในปีต่อมา[10][12]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พระองค์ได้ประกาศว่า ทรงพบเอกสารคอมมิวนิสต์ที่เกาะกง โดยบางชิ้นเป็นภาษาไทย ทำให้พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่าเขมรแดงได้รับคำสั่งจาก "นาย" ต่างประเทศ เพื่อปลุกระดมให้คนเขมรแปลกแยกจากสังคม [พรรคสังคมราษฎร์นิยม พรรคที่พระองค์จัดตั้งขึ้น] และพระองค์[11]
ความสัมพันธ์เมื่อครานั้นของไทยกับกัมพูชา ปรากฏในหนังสือชุด สามเกลอ-พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต ตอน "เขมรแหย่เสือ" ได้เขียนลงบทนำตอนหนึ่ง ความว่า[11]
"...คนไทยที่มีเชื้อชาติไทยสัญชาติเขมร และชาวเขมรในเกาะกง หรือจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดตราดและจันทบุรี ถูกรัฐบาลเขมรกดขี่ข่มเหงรีดนาทาเร้นด้วยประการต่าง ๆ จึงอพยพเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อนโรดม สีหนุ ทราบข่าวนี้ ก็สั่งให้กองทัพเรือจับชาวประมงในน่านน้ำไทย ยึดเรือและนำตัวไปกักขังไว้ ปฏิบัติต่อคนไทยที่ถูกคุมขังอย่างโหดเหี้ยมทารุณราวกับสัตว์ป่า ชาวประมงหลายคนต้องเสียชีวิตเพราะถูกทารุณ เพราะอดอาหาร หรือเจ็บป่วยก็ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล..."
ในเหตุการณ์ช่วงนั้นจา เรียง อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งกัมพูชาได้ทำการบันทึกไว้ว่า ช่วงปี พ.ศ. 2509 มีชาวเกาะกงเชื้อสายไทยถูกสังหารไปราว 160 คน[11] ส่วนจรัญ โยบรรยงค์ ที่ได้รวบรวมบันทึกของชาวเกาะกงเชื้อสายไทย และนำมาเขียนเป็นหนังสือ "รัฐบาลทมิฬ" ได้อ้างอิงคำพูดของลอน นอล เมื่อครั้งทำงานใกล้ชิดกับสีหนุ และเดินทางมาประชุมที่เกาะกงความว่า "...คนไทยเกาะกง แม้ว่าจะสูญหายตายจากไปสักห้าพันคน ก็ไม่ทำให้แผ่นดินเขมรเอียง"[13] ผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ครั้งนี้คือมีคนเชื้อสายไทยจำนวนมากอพยพออกจากเกาะกงไปจังหวัดตราดของไทย[14] และเกิดปัญหาสถานะบุคคลจนถึงปัจจุบัน[15][16]
นโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
[แก้]พระนโรดม สีหนุได้ประกาศนโยบายเป็นกลางตั้งแต่ก่อนได้รับเอกราชเมื่อได้รับเอกราชแล้วได้ลาออกจากสหภาพฝรั่งเศส ปฏิเสธการต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามนโยบายของสหรัฐแต่ก็รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ กัมพูชาพยายามเป็นมิตรกับทุกฝ่ายและแสวงหาพันธมิตรจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน พร้อมกันนั้น กัมพูชาได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น สหภาพโซเวียตและจีนด้วย ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 รัฐสภากัมพูชาได้ผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง
กัมพูชา-สหรัฐอเมริกา
[แก้]ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐไม่ได้ราบรื่นมากนักเพราะกัมพูชารู้สึกว่าสหรัฐให้ความช่วยเหลือไทยกับเวียดนามใต้ที่เป็นศัตรูของกัมพูชามกกว่า ใน พ.ศ. 2506 สีหนุได้ประกาศไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากสหรัฐ โดยกล่าวว่า สหรัฐให้การสนับสนุนเขมรเสรีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล กัมพูชาเรียกร้องให้สหรัฐรับรองความเป็นกลางของกัมพูชา ชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการโจมตีของสหรัฐและเวียดนามใต้ จากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐเกิดความตึงเครียดจนเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2513
กัมพูชา-สหภาพโซเวียต
[แก้]กัมพูชาสถาปนาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและรับความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ พ.ศ. 2500 อย่างไรก็ตาม หลังจาก พ.ศ. 2506 เมื่อจีนขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต และกัมพูชาเลือกเข้าข้างจีน ทำให้ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตตึงเครียด ใน พ.ศ. 2508 กัมพูชาวิจารณ์โซเวียตเรื่องนโยบายในเวียดนาม ทำให้โซเวียตไม่พอใจมาก แต่ในช่วงปลายปีนั้น โซเวียตได้พยายามปรับความสัมพันธ์ให้เข้าสู่ระดับปกติ จนสิ้นสุดสมัยของพระนโรดม สีหนุ
กัมพูชา-จีน
[แก้]จีนและกัมพูชาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2501 และมีความแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ จุดที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกัมพูชากับจีนมีเพียงเรื่องชาวจีนในกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาระแวงว่าจะนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาเผยแพร่ในกัมพูชา เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2510 พระนโรดม สีหนุสั่งยุบสมาคมมิตรภาพกัมพูชา-จีน ทำให้จีนไม่พอใจ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้ฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2512
กัมพูชา-เวียดนามใต้
[แก้]กัมพูชากับเวียดนามใต้มีปัญหาขัดแย้งทางด้านพรมแดนในบริเวณกัมโพต มีโมดและลัมพัต และอธิปไตยเหนือเกาะในอ่าวไทยอีก 2-3 เกาะ นอกจากนั้น ยังมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากสงครามเวียดนาม คือมีผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามล้ำแดนเข้ามาเป็นจำนวนมากและการที่เวียดนามใต้ล้ำแดนเข้ามาโจมตีเวียดกงในดินแดนกัมพูชา ในที่สุดกัมพูชาหันไปผูกมิตรกับเวียดนามเหนือและรับรองรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราวแห่งเวียดนามใต้
สื่อวิดิโอ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- นภดล ชาติประเสริฐ. เจ้านโรดม สีหนุกับนโยบายความเป็นกลางของกัมพูชา. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย. 2540
- ↑ "Vietnam, Laos, Cambodia. India, Pakistan, Nepal, Ceylon. Pergamon World Atlas. – David Rumsey Historical Map Collection". davidrumsey.com.
- ↑ www.nationalanthems.info
- ↑ Moorthy, Beth. "11.4m Cambodians counted by census | Phnom Penh Post". www.phnompenhpost.com.
- ↑ ธิบดี บัวคำศรี. ประวัติศาสตร์กัมพูชา.พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. เมืองโบราณ. 2555
- ↑ Piyakul Phusri (17 เมษายน 2561). "Saving the seven symbols". They Sang Before They Were Killed เรื่องราวบางเสี้ยวของบทเพลงกัมพูชายุคก่อนเขมรแดง. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Piyakul Phusri (17 เมษายน 2561). "Saving the seven symbols". They Sang Before They Were Killed เรื่องราวบางเสี้ยวของบทเพลงกัมพูชายุคก่อนเขมรแดง. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 7.0 7.1 นิตยสาร สารคดี ปีที่ 24 ฉบับที่ 282 สิงหาคม 2551
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/A/060/1.PDF
- ↑ พระนโรดม สีหนุเสด็จปราสาทเขาพระวิหาร (ภาษาเขมร) ที่ยูทูบ
- ↑ 10.0 10.1 รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ:บ้านพระอาทิตย์, 2551, หน้า 87
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ:บ้านพระอาทิตย์, 2551, หน้า 89
- ↑ นิติภูมิ นวรัตน์. เขตร์เขมรัฐภูมินทร์. ในเปิดฟ้าส่องโลก, 17 สิงหาคม 2543. เรียกดูเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556
- ↑ จรัญ โยบรรยงค์. รัฐบาลทมิฬ. กรุงเทพฯ:จิตติกานต์, 2528, หน้า 122
- ↑ "เส้นทางคืนสัญชาติ (1) ไทยพลัดถิ่น เรื่องราวแสนยาวไกล!" (Press release). เดลินิวส์. 30 เมษายน 2555. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2556.
{{cite press release}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ปัญหาความไร้รัฐของคนเชื้อชาติไทยจากเกาะกง โดยอาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล และคุณภิญโญ วีระสุขสวัสดิ์ (๒). เรียกดูเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556
- ↑ "ผู้อพยพเชื้อสายไทย จ.เกาะกง : เรื่องเล่าบนเส้นทาง พ.ร.บ.สัญชาติ" (Press release). อิศรา. 21 มิถุนายน 2555. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2556.
{{cite press release}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)